xs
xsm
sm
md
lg

ไมโครซอฟท์กางปีก AI Copilot ก้าวใหญ่รับ MOU รัฐบาลไทย


เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดวิชันไมโครซอฟท์เดินก้าวใหม่ลุยขายโซลูชันปัญญาประดิษฐ์ Copilot for Microsoft 365 และ Azure OpenAI Service ทั่วไทย ไม่การันตีความสดใสของตลาดปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในองค์กรไทยช่วงปีหน้าแม้บริษัทไทยจะแห่เริ่มทดสอบ Copilot ใน Microsoft 365 มากกว่าทุกประเทศในอาเซียน ยอมรับดีใจเห็นองค์กรไทยแอ็กทีฟกว่าเพื่อนบ้าน แต่ยังต้องรอดูแนวโน้มการลงทุนของตลาดในเฟสถัดไป วางเป้าเข้าถึงทุกกลุ่มองค์กรไทยที่กว่า 80-90% ยังคงเป็นลูกค้าไมโครซอฟท์

การเปิดตัวโซลูชัน AI ใหม่ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีไทย “เศรษฐา ทวีสิน” นำทีมรัฐบาลไทยเซ็นเอ็มโอยูกับไมโครซอฟท์ระหว่างการเดินทางไปประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 12-17 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา จุดประสงค์หลักของการลงนามบันทึกข้อตกลงนี้มี 3 ส่วน คือ การลงทุนร่วมกันในอนาคต การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศไทย และการฝึกอบรมสอนคนไทยที่จะต้องเข้าไปทำงานกับเทคโนโลยีคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์

ถึงจะไม่มีการประกาศออกมาอย่างโจ่งแจ้งแต่ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ถือเป็นการปูทางให้ประเทศไทย มีโอกาสก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านคลาวด์และ AI ในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะด้านความยั่งยืนซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่โลกให้ความใส่ใจ รวมถึงด้านนวัตกรรมดิจิทัลที่ปลอดภัยเชื่อถือได้ แม้ว่าหลายบริษัทในต่างประเทศจะยังไม่มั่นใจกับการใช้ AI ในกระบวนการทำงานก็ตาม


***ไทยนำร่อง AI Copilot แซงอาเซียน

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวในงาน Microsoft AI Summit ว่าบริการ AI ของไมโครซอฟท์ถูกนำไปทดสอบกับองค์กรรัฐและเอกชนมากกว่า 10 หน่วยงาน โดยสามารถเอ่ยนามได้จำนวน 6 บริษัท ซึ่งแม้จำนวนนี้จะสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค แต่ไม่ได้แปลว่าไทยจะถูกมองเป็นอันดับ 1 เนื่องจากยังต้องรอดูการขยายการใช้งานที่จะเกิดขึ้นจริงในเฟสถัดไป ซึ่งจะเป็นช่วงที่การรองรับภาษาไทยจะพร้อมให้บริการจริงจังต้นปี 67

“หน่วยงานรัฐอาจจะเริ่มได้ที่ 3 กระทรวง ซึ่งเป็นกระทรวงที่ภายในมีหลายกรมกอง คาดว่าจะสามารถเริ่มได้เลยในเฟสแรก สำหรับ 6 ลูกค้าไทยที่เริ่มใช้งานแล้ว ถือว่าเป็นจำนวนที่เด่นกว่าประเทศอื่นในอาเซียนซึ่งมักมี 2-3 หน่วยงาน แต่ไทยค่อนข้างเป็นบริษัทจากหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งโทรคม และออยแอนด์แก๊ซ แผนของเราถัดจากนี้คือมุ่งที่ทุกกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะผู้ใช้งาน 365 ระดับ E3 ขึ้นไป”

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย
ไมโครซอฟท์ไม่ได้เปิดเผยจำนวนบริษัทที่ใช้งาน Microsoft 365 ระดับ E3 ในไทย แต่ระบุว่าวันนี้องค์กร 80-90% ใช้ไมโครซอฟท์อยู่ และทุกคนสามารถต่อยอดด้วย Copilot หรือบริการ Copilot for Microsoft 365 ที่ได้เปิดให้ลูกค้าองค์กรเริ่มใช้งานทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นมา ในฐานะจุดเปลี่ยนทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ และ Copilot จะเป็นผู้ช่วยนักบินที่พร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนองค์กรธุรกิจให้สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น มากขึ้น และเร็วขึ้น

ไมโครซอฟท์บอกว่าความพิเศษของ Copilot คือการทำงานผสานกับแอปพลิเคชันที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันและการทำงานของผู้คนทั่วโลกอย่าง Word, Excel, PowerPoint, Outlook และ Teams ตัวอย่างความสามารถใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาใน Outlook คือฟีเจอร์ช่วยสรุปอีเมลที่ต่อเนื่องกัน ยังมีการร่างข้อความตามรูปแบบที่ต้องการ และติดตามการประชุมผ่าน Teams ได้อย่างสะดวก 

รวมถึง Word ที่จะมีฟีเจอร์ช่วยสรุปเนื้อหาในเอกสาร ร่างเนื้อหาในการเขียนเอกสารใหม่ และการจัดรูปแบบย่อหน้า ขณะที่ Excel จะมี AI ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูล แนะนำสูตรการคำนวณ สร้างกราฟ เป็นต้น เช่นเดียวกับ PowerPoint ที่สามารถออกแบบสไลด์จากหัวข้อและเนื้อหาที่ต้องการได้ในไม่กี่คลิก

องค์กรที่นำ AI ของไมโครซอฟท์มาใช้ในภาคธุรกิจแล้ว ได้แก่ เอไอเอส ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ปตท.สผ. ที่ได้เข้าร่วมโปรแกรม Copilot for Microsoft 365 Early Access Program (EAP) ซึ่งได้นำ AI มาใช้พลิกโฉมการดำเนินงานยังมีองค์กรอย่าง Buzzebees, InnovestX และ PTT Global Chemical (GC) ที่นำบริการ Azure OpenAI Service มาสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อยอดบริการที่มีอยู่ด้วยพลังจาก AI

นอกจากไมโครซอฟท์จะพูดเองว่า Copilot นั้นยอดเยี่ยม แต่เสียงตอบรับจากองค์กรที่นำ Copilot เข้าไปใช้งานจริงก็ขานรับในทางบวก ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นและแนวทางการใช้งาน Copilot ของลูกค้าองค์กรใน 41 ประเทศทั่วโลก พบว่า ผู้ใช้ Copilot ถึง 70% ระบุว่าสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 68% รู้สึกว่าผลงานมีคุณภาพมากขึ้น

Copilot จะแทรกตัวอยู่ใน Word, Excel, PowerPoint, Outlook และ Teams
โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ใช้ Copilot สามารถทำงานประเภทการค้นหาข้อมูล งานเขียน และการสรุปเนื้อหาต่างๆ ได้เร็วขึ้น 29% ผู้ใช้ Copilot สามารถติดตามเนื้อหาและประเด็นสำคัญในการประชุมที่ตนเองไม่ได้เข้าร่วมได้เร็วขึ้นถึง 4 เท่าตัว ผู้ใช้ราว 64% เผยว่าพวกเขาใช้เวลาน้อยลงในการจัดการกับอีเมล ขณะที่ 85% สามารถเขียนงานดราฟท์แรกออกมาได้เร็วขึ้น และ 75% ค้นหาเอกสารที่ต้องการได้เร็วขึ้น โดยผู้ใช้ Copilot 77% ต้องการใช้งานต่อไปในอนาคต

สำหรับองค์กรไทย ธนวัฒน์ ย้ำว่าองค์กรไทยควรกลับมาพิจารณาว่าจะเริ่มใช้ AI Copilot ที่ตำแหน่งงานไหน ก่อนจะเริ่มด้วยการทำเวิร์กชอป ซึ่งในขณะที่ยังไม่เปิดให้องค์กรขอรับบริการได้ การที่ประเทศไทยมีกลุ่มลูกค้าที่ขอเริ่มใช้งานก่อนมากกว่าประเทศอื่นในอาเซียน นั้นแปลว่าลูกค้าไทยมีความตื่นตัวและเห็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ

“ลูกค้าไทยแอ็กทีฟ และเห็นโอกาสที่จะพัฒนาธุรกิจได้ เมื่อเทียบแล้วมากกว่าเราก็ดีใจ แต่เฟส 2 ยังต้องดู เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะขยายได้เท่าไหร่ แต่เน้นทุกกลุ่มลูกค้า วันนี้ Copilot มากับทุกสินค้าของไมโครซอฟท์ ที่เราทำคือพยายามตอบสนองทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นลูกค้าไมโครซอฟท์มาก่อน ก็สามารถใช้ Copilot ได้ แต่ถ้าเป็นลูกค้าแล้ว สามารถซื้อใช้ได้เลย ถ้าไม่เป็น ก็ต้องซื้อแพกพื้นฐาน”

***MOU เข็นประเทศไทยเป็นฮับคลาวด์และ AI

การเปิดตลาด AI Copilot ในไทยถือว่าเกิดขึ้นในเดือนเดียวกับการเยือนสหรัฐอเมริกาของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อดึงบริษัทยักษ์ใหญ่มาลงทุนตั้งศูนย์ข้อมูลหรือดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยเพื่อสร้างทั้งเม็ดเงิน-โครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศได้ประโยชน์มหาศาล หลังจากไทยขาดการลงทุนในด้านนี้มาตลอด ประเด็นนี้เอ็มดีไมโครซอฟท์ประเทศไทยยอมรับว่าดีใจที่เห็นรัฐบาลไทยออกนโยบายคลาวด์เฟิร์ส และยินดีที่ได้เป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าให้ข้อมูล และนำเอายูสเคสต่างประเทศมาแบ่งปันกับกระทรวงดีอี

การสำรวจของ IDC ที่ได้รับการสนับสนุนจากไมโครซอฟท์ ชี้ว่าบริษัทมากกว่า 2,000 แห่งทั่วโลก ได้สัมผัสถึงการลงทุนใน AI ที่ส่งถึงผลกำไรของบริษัทอย่างชัดเจน
เบื้องต้น ธนวัฒน์ไม่เผยว่าบันทึกความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์และรัฐบาลไทยจะมีโครงการใดที่สร้างแรงกระเพื่อมถึงสังคมไทยมากที่สุด แต่ระบุว่าจะมีเรื่องการตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเชิงกลยุทธ์ด้าน AI (AI Center of Excellence) เพื่อยกระดับโครงการที่ใช้เทคโนโลยี AI ของภาครัฐ โดยจะมีการจัดทำโรดแมปที่จะช่วยให้การนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานในหน่วยงานรัฐเกิดขึ้นได้จริง ยังมีเรื่องการพัฒนาทักษะที่จะรีสกิลคนไทย 10 ล้านคน รวมถึงการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่จะทำร่วมกับกระทรวงดีอีอย่างจริงจัง

ธนวัฒน์ ย้ำว่า การใช้งานในไทยไม่จำเป็นต้องรอเวลา เพราะแนวทางการรองรับภาษาไทยของ AI วันนี้มีการพัฒนารวดเร็ว โดยภาษาไทยใน GPT4 มีความแม่นยำในการให้ข้อมูลภาษาไทยเกิน 70% ขณะเดียวกัน ความที่ดาต้าเซ็นเตอร์เป็นคลาวด์เบส จึงไม่ต้องรอให้มีการจัดตั้งหรือเกิดที่ไทย แต่สามารถใช้บริการได้เลย โดยยืนยันว่าหากเป็นบริการระดับองค์กร ไมโครซอฟท์จะไม่มีการเก็บข้อมูลใด ดาต้าลูกค้าจะเป็นของลูกค้า ไม่มีการนำมาฝึกสอนโมเดล และจะมีโมเดลรับส่งข้อมูลลับที่เข้ารหัสตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บและส่ง

“ทั้งหมดเป็นบริการที่เข้าถึงได้วันนี้เลย ไม่ต้องขึ้นกับโครงสร้างกายภาพ ประเทศไทยเองไม่มีนโยบายรองรับเฉพาะแค่ไทย แต่ต้องการให้เป็นฮับเอเชีย ซึ่งถ้าต้องกำหนดให้ไทยใช้แค่ดาต้าเซ็นเตอร์ไทย จะเป็นความท้าทาย เนื่องจากเราต้องการให้ดาต้าเซ็นเตอร์เข้าใกล้แอป เพื่อให้ได้ระยะเวลาการตอบสนองที่ดีกว่า”

เมื่อถามถึงแผนการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ ธนวัฒน์ยืนยันว่าเป็นส่วนหนึ่งของ MOU ที่ได้ลงนาม โดยบริษัทแม่จะเข้ามาลงทุนที่ไทย เบื้องต้นมีการแจ้งความต้องการว่าหน่วยงานไทยจะใช้อย่างไร รวมถึงการวางพันธกิจร่วมกันเพื่อให้ไมโครซอฟท์บรรลุเป้าหมายในปี 2025 ที่จะรันดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกด้วยพลังงานสะอาด 100%

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดีอี
นอกจากไทย ประเทศที่มีการเซ็น MOU ในลักษณะนี้คือมาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยก่อนหน้านี้มีสิงคโปร์รวมอยู่ด้วย ธนวัฒน์คาดว่าเฟส 2 ของการร่วมมือกับรัฐบาลไทยคือการเอา MOU มาใช้จริง เช่น อาจต่อยอดกับกระทรวงศึกษาฯ เพื่อนำหลักสูตรมาอบรมจริง รวมถึงการตรวจหาโครงการรัฐที่จำเป็นต้องดำเนินการผ่านศูนย์ AI คาดว่าจะเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจความท้าทายของหน่วยงาน และจะลงรายละเอียดเพื่อให้เกิดการทำจริง

“สิ่งที่เราขอทางภาครัฐไป คือการปลดล็อกข้อจำกัดในการลงทุน เราจะมีการรายงานปัญหาให้ภาครัฐช่วยแก้ไขและเรียนรู้ไปด้วยกัน ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนแตกต่างกัน บางเรื่องอาจเป็นงบ ที่ผ่านมารัฐบาลไทยเบิกจ่ายเป็นงบรายปี ทำให้หน่วยงานมีการลงทุนตามปีงบประมาณ แต่คลาวด์เป็นการใช้เท่าไหร่จ่ายเท่านั้น จึงต้องมีการพูดคุยว่างบประมาณภาครัฐรองรับตรงนี้หรือไม่ และภาครัฐสามารถทำสัญญาใช้งานระยะยาว ข้ามปีได้หรือไม่ ตรงนี้ต้องปลดล็อกเพื่อเอา AI เข้ามาใช้งานให้เกิดได้จริง”



***ดีอียันถึงเวลาต้องคุยยักษ์ไอที

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แสดงความเห็นว่าวิธีการงบประมาณนั้นไม่ใช่ปัญหา เพราะสามารถบริหารได้ แต่สิ่งที่ดีอีเป็นห่วงคือเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ทำให้ยืนยันว่าเซิร์ฟเวอร์คลาวด์เบสยังต้องอยู่ในประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดยังต้องเจรจาในรายละเอียดที่นอกเหนือจาก MOU

“เอ็มโอยูนี้ไม่มีอะไรมาก ยังไม่ถึงขั้นสนธิสัญญา ต้องแยกกันนะ นี่เป็นแค่ข้อตกลงว่าจะทำอะไรร่วมกันในอนาคต ยังไม่ถึงขั้นลงนามว่าข้อ 1 ต้องทำอะไร 2 ต้องทำอะไร สิ่งที่ระบุใน MOU มี 3 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือการลงทุนร่วมกันในอนาคตด้านเทคโนโลยี 2 คือการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เราด้วย 3 คือการเทรนนิ่ง ต้องสอนคนที่ต้องเข้าไปอยู่ในระบบ หลักๆ มี 3 เรื่องนี้ ต้องมาดูรายละเอียดกันอีก”


ประเสริฐย้ำว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องพูดคุยกับบริษัทไอทีให้มีความชัดเจนเรื่องการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย ซึ่งแม้จะมีการประกาศโครงการมูลค่าหลายแสนล้าน แต่ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม จุดนี้ทางดีอีมีการพูดคุยหลังบ้านกับองค์กรใหญ่ และได้รับการยืนยันเช่นเคยว่าจะมีการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยด้วยเม็ดเงินมหาศาลแน่นอน

***AI Copilot อิมแพกต์แรงและยาว


นอกจากการใช้งานในภาครัฐและหน่วยงานเอกชนขนาดใหญ่ ไมโครซอฟท์ยังมีแผนขยายการใช้งาน AI Copilot ในธุรกิจขนาดเล็ก ภาคการศึกษา และผู้บริโภคทั่วไป แต่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการทำตลาดคอนซูเมอร์ที่ชัดเจนในขณะนี้

เชาวลิต รัตนกรไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ระบุว่าบริษัทจะเปิดทางให้ธุรกิจขนาดเล็กซื้อบริการ AI Copilot ได้ง่ายขึ้นในอนาคต โดยยอมรับว่าในขณะที่คนไทยจำนวนมากยังใช้ไมโครซอฟท์ 365 แบบไม่มี Copilot บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการวางแผนนำเข้าไปขยายตลาดเนื่องจากได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี และเป็นสิ่งที่ผู้บริหารหลายคนเห็นความสำคัญ

“ทุกคนต้องการเพราะ AI สามารถสร้างนวัตกรรมได้ การขยายการใช้งาน Copilot อาจจะเร็วหรือช้ายังบอกไม่ได้ แต่ที่ชัดเจนคือองค์กรรู้ว่าต้องเปลี่ยน เนื่องจากผลลัพธ์การทดลองที่พบว่าผู้เริ่มใช้งานได้ 3 เดือน สามารถทำงานได้มากขึ้น 12-15% ซึ่งในภาพใหญ่จะทำให้เห็นเป็นอิมแพกต์ที่มากขึ้น”

ที่สุดแล้ว ไมโครซอฟท์ไม่สามารถการันตีได้ว่าตลาด AI Copilot จะสยายปีกโบยบินติดลมเต็มที่ในปีหน้า โดยกล่าวเพียงว่า Copilot จะเป็นเทรนด์ที่สำคัญ และเป็นเทรนด์หนึ่งเดียวที่ถูกพูดถึงในงานประชุมล่าสุดของไมโครซอฟท์ ซึ่งทำให้องค์กรเห็นชัดว่า Copilot, AI และเจนเนอเรทีฟ AI นั้นมีแรงกระเพื่อมสูงมากอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น