อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services) หรือ AWS ประกาศเปิดตัวศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ “Thailand Region” ในประเทศไทยพร้อมให้บริการต้นปี 2568 ผลจากการขยายโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียนด้วยงบลงทุนกว่า 1.9 แสนล้านบาทหรือ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ด้าน “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีแซว AWS ลงทุนไทยมโหฬารไม่รู้ศูนย์กี่ตัว ระบุยินดีที่เม็ดเงินไหลเข้าประเทศ 1.1 หมื่นล้านบาทในปี่ที่ผ่านมา เผยรัฐบาลเตรียมตั้งกองทุนหนุนสตาร์ทอัปไปคลาวด์ มั่นใจแผนเข็นไทยเป็นฐานการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์จะดันเศรษฐกิจประเทศทะยานในยุค AI
นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager ประจำประเทศไทยของ AWS กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดของการลงทุน 1.9 แสนล้านบาทในประเทศไทยภายใน 15 ปี ว่าบริษัทมีความพร้อมให้บริการ Thailand Region ต้นปี 2068 เป็นผลจากการเปิด 3 Availability Zone โซนพร้อมกัน ทั้งหมดตอกย้ำความต้องการของ AWS ในการเป็นพันธมิตรระยะยาวกับองค์กรในประเทศไทย
“1.9 แสนล้านเป็นเงินที่จะสนับสนุนอนาคตดิจิทัลของประเทศไทย” วัตสันระบุ “ในประเทศอื่นๆ ที่ AWS เข้าไปลงทุน เราพบว่าจะเกิด 3 ปรากฏการณ์ เสมอ คือการช่วยให้องค์กรต่างๆ สร้างนวัตกรรมได้เร็วขึ้น การตอบโจทย์เรื่องการขาดแคลนบุคลากร และการทำโครงการอบรมเพื่อเพิ่มทักษะการใช้งานในช่วงหลังเปิดให้บริการรีเจียน คาดว่าจะมี 2 โปรเจกต์ที่เร่งให้เกิดการให้งานเร็วขึ้น ทั้งการเพิ่มทักษะพาร์ตเนอร์ และการทำโครงการแชร์โมเดลเฉพาะสำหรับท้องถิ่น เช่น โมเดลภาษาไทย”
AWS เป็นบริษัทในเครือ Amazon เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซสัญชาติอเมริกันที่เข้ามาให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2549 และต่อมาได้เปิดสำนักงานในกรุงเทพฯ ในปี 2558 เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจคลาวด์ขั้นสูง กระทั่งในปี 2565 ยักษ์ใหญ่ AWS ประกาศว่าจะลงทุนสร้าง AWS Asia Pacific (Bangkok) Region แห่งใหม่ด้วยงบประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐในประเทศไทยจนถึงปี 2580 โดยระบุว่าจะช่วยให้นักพัฒนา สตาร์ทอัป ผู้ประกอบการ และองค์กรต่างๆ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรไม่แสวงผลกําไร สามารถเลือกใช้บริการคลาวด์สำหรับรันแอปพลิเคชันและให้บริการแก่ผู้ใช้ปลายทางจากศูนย์ข้อมูลที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
AWS ย้ำว่า AWS Region ใหม่ที่กำลังจะเปิดใช้งานนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของ AWS ในประเทศไทย ซึ่งเพิ่มเติมจาก Amazon CloudFront edge ทั้งหมด 10 แห่งรวมถึง AWS Outposts และ AWS Local Zone ที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย โดย AWS Region ใหม่นี้ถือเป็น Region ทื่ 4 ของ AWS ที่เปิดตัวในภูมิภาคอาเซียนซึ่งประกอบไปด้วยสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2567 นี้ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถเก็บข้อมูลไว้ในประเทศไทย ช่วยให้ลูกค้าสามารถลดความหน่วงของการรับส่งข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น และตอบสนองความต้องการที่เติบโตขึ้นอยากมากในการใช้คลาวด์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับประเทศไทย AWS Thailand Region ถูกวางตัวให้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยในด้านดิจิทัล และรองรับความต้องการของตลาดในด้านเทคโนโลยีคลาวด์ เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมทั้งในประเทศไทยและทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะหนุนวิสัยทัศน์ “Ignite Thailand” และนโยบาย “Cloud-First” ของภาครัฐ ที่มุ่งพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล ดันให้สตาร์ทอัป ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMB) ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ และหน่วยงานภาครัฐสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีล่าสุด เช่น Generative AI, แมชชีนเลิร์นนิง (Machine Learning: ML), Internet of Things (IoT) ได้ถ้วนหน้า
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีที่ในปีที่ผ่านมา AWS นำเงินเข้ามาในไทยแล้วกว่า 11,600 ล้านบาท โดยระบุว่าการลงทุนของ AWS นอกจากจะทำให้ไทยมี Cloud ที่มีความมั่นคงและปลอดภัยแล้ว ยังสะท้อนว่า บริษัท Technology ระดับโลกเห็นศักยภาพ และเชื่อมั่นว่าจะเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจของประเทศไทยได้
"รัฐบาลกำลังเดินหน้าปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอื่นๆ คู่ขนานไปกับการดึงดูด Data Center เพื่อมุ่งหน้าสู่การเป็นศูนย์กลาง Digital Economy และ Technology ทั้งการดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรม Technology ในระดับต้นน้ำ อย่างเช่นการผลิต Semiconductor ที่คาดว่าจะดึงเงินลงทุนจากรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอย่างไต้หวันมาได้"
นอกจากคำว่า “เงินลงทุนมโหฬาร ไม่รู้ศูนย์กี่ตัว” เศรษฐายังระบุว่านอกจากโครงข่ายอินฟราสตรักเจอร์ด้านข้อมูลที่มีความสำคัญ เรื่องของกองทุนก็เป็นเรื่องสำคัญ เชื่อว่าสถาบันการเงินไทยพร้อมจะสนับสนุนให้เกิดการใช้งานที่ทั่วถึง โดยเฉพาะสตาร์ทอัปที่มีโปรเจกต์น่าสนใจ คาดว่าจะมีการเปิดกองทุนสนับสนุนการใช้งานคลาวด์ขั้นสูงจำนวนมากในประเทศไทยช่วงปีหน้าเป็นต้นไป
ปัจจุบัน AWS ให้การฝึกอบรมคนไทยไปกว่า 50,000 คน และมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้นำ AWS Academy เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตร ซึ่งไม่เพียงประชาชนทั่วไป คาดว่า AWS จะระเบิดพลังเพื่อรองรับลูกค้าและ AWS Partner ทุกขนาดในการสร้างบน AWS โดยตัวอย่างองค์กรที่เป็นลูกค้า AWS แล้ว ได้แก่ 2C2P, Accenture, aCommerce, Amity, Ascend Money, AXONS, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ, DailiTech, G-Able, กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน, บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน), MONIX, NocNoc, ปตท. จำกัด, บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SiS และโตโยต้า