xs
xsm
sm
md
lg

AWS ย้ำลงทุนไทย 1.9 แสนล้านบาท เป็นตามแผน มั่นใจ Amazon Q กระตุ้นคลาวด์ไทยปี 67

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager ประจำ AWS ประเทศไทย
อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (AWS) ยกทัพฟีเจอร์และบริการเด่นที่เป็นไฮไลต์จากงาน AWS re:Invent เข้าตลาดไทยอย่างเป็นทางการ มั่นใจเครื่องมือ GenAI อย่างผู้ช่วย Amazon Q และ Amazon Bedrock เป็นการกระตุ้นตลาดคลาวด์ไทยครั้งใหญ่ วางแผนปี 2567 เร่งปรับโครงสร้างลุย 8 ตลาดโอกาสโตสูง ย้ำแผนลงทุน 1.9 แสนล้านบาท หรือ 5 พันล้านดอลล์ในประเทศไทยภายใน 15 ปีนั้นสมเหตุสมผลไม่ได้โม้ ชี้ตลาดบริการคลาวด์สาธารณะในประเทศไทยจะเติบโตถึง 2.5 พันล้านดอลล์ ภายในปี 2570


นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager ประจำ AWS ประเทศไทย กล่าวถึงความคืบหน้า AWS ประเทศไทยสำหรับปี 2567 ว่าบริษัทจะเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องหลังจาก 7 ปีที่จดทะเบียนบริษัทและตั้งสำนักงานในไทยอย่างเป็นทางการ โดยชี้แจงกรณีการลงทุนล็อตใหญ่ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในประเทศไทยภายใน 15 ปีว่าเป็นมูลค่าที่สมเหตุสมผล เนื่องจากเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ที่มากกว่าดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วไป

“เราลงทุนสร้างรีเจียน ไม่ใช่ดาต้าเซ็นเตอร์ ขอบเขตการให้บริการรีเจียนใหญ่กว่าดาต้าเซ็นเตอร์มาก โดย 1 รีเจียนมี 3-4 Avaliable Zone และ 1 Avaliable Zone มี 3 ดาต้าเซ็นเตอร์ โครงการนี้จึงใช้เงินทุนมากกว่าดาต้าเซ็นเตอร์ธรรมดา ทุกวันนี้ทั่วโลกมี 33 รีเจียน โดยไทยเป็น 1 ใน 33 รีเจียน และอีก 4 รีเจียนที่จะตามมา”

ก่อนหน้านี้ AWS ประกาศแผนพร้อมลงทุนมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 1.9 แสนล้านบาท) ในประเทศไทยภายในระยะยเวลา 15 ปี ด้วยการเปิด AWS Asia Pacific (Bangkok) Region การลงทุนนี้เกิดขึ้นบนความเชื่อมั่นของ AWS ว่าตลาดบริการคลาวด์สาธารณะในประเทศไทยจะเติบโตถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2570 โดยจะขยายต่อเนื่อง 5 ปีไม่ต่ำกว่า 18.6% ต่อปี เบื้องต้นเชื่อว่า ASEAN กำลังกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตที่เร็วกว่าสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ AWS กำลังเพิ่มการลงทุนใน ASEAN และมีแผนที่จะเปิดราย AWS Regions อีก 4 แห่ง ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น

สำหรับปี 2567 ทิศทางที่ AWS จะมุ่งไปในประเทศไทยคือการโฟกัส 8 อุตสาหกรรมที่ AWS มุ่งเน้นในปีนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมบริการการเงิน (FSI) การค้าปลีก ยานยนต์ ดิจิทัล พลังงาน การผลิต ด้านสุขภาพ และ TMEG (โทรคมนาคม สื่อ ความบันเทิง เกม) เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการที่มีความเฉพาะเจาะจงของภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ โดยให้คำแนะนำการใช้บริการคลาวด์ที่ช่วยกระตุ้นนวัตกรรมและสร้างประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สาเหตุที่ 8 กลุ่มนี้ไม่รวมภาคการศึกษา เพราะต้องการให้ความสำคัญกลุ่มภาคการศึกษากับการพัฒนาทักษะประเทศไทย ขณะที่กลุ่มลูกค้าภาครัฐ AWS จะมีทีมดูแลต่างหากเพิ่มเติมอีกทีม โดยปี 2567 จะเห็นการขยายตัวของเครือข่ายของ AWS Partner ซึ่งจะไม่ได้มุ่งที่ผู้ให้บริการวางระบบอย่างเดียว

“เราปรับโครงสร้างพันธมิตรเพราะเพิ่มไลน์ธุรกิจ เราจะไม่ดูที่ SI อย่างเดียว เราจะทำกับบริษัทผู้ให้บริการ รวมถึงสตาร์ทอัปอย่างบ็อตน้อย เราจะขยายตลาดเพื่อเปิดโอกาสรับองค์กรใหม่ที่ต้องการนำเอาคลาวด์มาต่อยอดธุรกิจ เราจะหาพาร์ตเนอร์กลุ่มนี้มากขึ้น รวมถึงกลุ่ม ERP ที่ขยายตัวจนทำให้เราโตมากในปีที่ผ่านมา”

อีกความเคลื่อนไหวสำคัญในปีนี้ คือ AWS ได้จุดพลุส่งสัญญาณนำกองทัพเครื่องมือ Generative AI และหลายบริการที่เป็นไฮไลต์จากงาน AWS re:Invent ซึ่งจัดเมื่อปลายปี 2566 มาเริ่มให้บริการอย่างจริงจังในไทย คาดว่าจะเป็นการขยายฐานมากกว่าปัจจุบันที่ AWS มีลูกค้าองค์กรมากกว่า 100,000 รายทั่วโลกที่ใช้บริการ AI และ ML อยู่แล้ว รวมถึง Generative AI ด้วย

สาโรจน์ ปุญญพัฒนกุล หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี AWS ประเทศไทย
นายสาโรจน์ ปุญญพัฒนกุล หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี AWS ประเทศไทย อธิบายถึงหนึ่งในเครื่องมือ Generative AI น่าสนใจที่ AWS ได้ประกาศเปิดตัวล่าสุดอย่าง "อะเมซอนคิว" (Amazon Q) ซึ่งเป็นผู้ช่วยที่ขับเคลื่อนด้วย Generative AI ซึ่งถูกปรับแต่งให้เหมาะกับธุรกิจ โดยย้ำว่าลูกค้าจะได้รับคำตอบที่รวดเร็ว ทั้งการช่วยสร้างเนื้อหาและดำเนินการ ทั้งหมดนี้ได้รับจากคลังข้อมูล รหัส และระบบองค์กรของลูกค้า

"Amazon Q สามารถให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่พนักงานเพื่อปรับปรุงงาน เร่งการตัดสินใจ และแก้ปัญหา และช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในการทำงาน ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าองค์กร Amazon Q สามารถปรับแต่งการโต้ตอบกับผู้ใช้แต่ละรายตามข้อมูลประจำตัว หน้าที่รับผิดชอบ และสิทธิที่สามารถใช้ได้ในองค์กร"

ในขณะที่ย้ำว่าไม่เคยใช้เนื้อหาของลูกค้าในการเทรนโมเดลในพื้นฐานของ Amazon Q ยักษ์ใหญ่อย่าง AWS ยังมุ่งตอบโจทย์ลูกค้าจำเป็นต้องใช้ในการสร้างและปรับขนาดแอปพลิเคชัน Generative AI ด้วยการเปิดตัว Amazon Bedrock ซึ่งเป็นหนทางสุดง่ายในการสร้างแอปพลิเคชัน AI โดยเชื่อมกับโมเดลพื้นฐานหลากหลายค่ายทั้ง AI21, Meta, Stability AI, Cohere, Anthropic, Amazon

อีกทางเลือกในการทำให้ธุรกิจสามารถใช้ Gen AI ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องมีความรู้เฉพาะทางคือ Amazon CodeWhisperer สามารถสร้างคำแนะนำโค้ดแบบเรียลไทม์ บรรทัดเดียวหรือฟังก์ชันเต็มรูปแบบในสภาพแวดล้อมการพัฒนาแบบรวม (IDE) และในคำสั่งเรียกใช้ เพื่อช่วยให้ลูกค้าสร้างซอฟต์แวร์ได้อย่างรวดเร็ว

ในอีกด้าน AWS ยังได้เปิดตัวโมเดลพื้นฐานของตัวเองภายใต้ชื่อ Amazon Titan โดยโมเดล Titan ได้รับการเทรนล่วงหน้าบนชุดข้อมูลขนาดใหญ่ ทำให้มีความเป็นอเนกประสงค์ ทรงพลัง สามารถปรับแต่งด้วยข้อมูลส่วนตัวสำหรับงานที่เฉพาะเจาะจงได้โดยไม่ต้องใส่คำอธิบายประกอบข้อมูลจำนวนมาก

"ปีนี้ AWS เน้นนำเสนอ GenAI ให้ลูกค้าเอาไปใช้งานทั้งการยกระดับธุรกิจ และเข้าถึงโมเดลพื้นฐานต่างๆ รวมถึงการสร้างโมเดลของตัวเองการใช้พลังจากฮาร์ดแวร์ของเราเอง" วัตสันกล่าวถึงแรงกระเพื่อมจากการเปิดตัวบริการ AI รอบล่าสุด "การเปิดตัวฟีเจอร์ AI จะเร่งให้การใช้งานคลาวด์เติบโตมากขึ้น ไม่แน่ใจว่ากี่เปอร์เซ็นต์ แต่จะผลักดันให้ใช้งานมากขึ้น เพราะสิ่งสำคัญของ AI คือข้อมูลจะต้องเยอะมาก การที่จะทำได้ทั้งเทรนด์และบริการจะไม่สามารถทำได้บนเซิร์ฟเวอร์ตัวเดียว แต่กำลังพูดถึงรีซอร์สมหาศาล จะเป็นการผลักดันไปโดยปริยาย และคลาวด์จะเป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะสมที่สุด"


กำลังโหลดความคิดเห็น