xs
xsm
sm
md
lg

Huawei ไฮไลต์ตลาด AI อาเซียน ทุ่มงบวิจัย 10 ปี 1 ล้านล้านหยวน (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 หัวเว่ยได้จัดงานประชุม Digital Intelligence Asia-Pacific Summit ที่กรุงเทพฯโดยมี ซาบรีนา เมิ่ง รองประธาน ประธานหมุนเวียนตามวาระ และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของหัวเว่ย ปรากฏตัวผ่านวิดีโอเปิดงาน ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ พันธมิตร และนักวิเคราะห์มากกว่า 1,500 คนจาก 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเข้าร่วมงาน

การฉายวิดีโอคำพูดของ CFO ครั้งนี้แสดงว่าหัวเว่ยให้ความสำคัญกับเวทีนี้ไม่น้อย เพราะซาบรีนา เมิ่ง หรือเมิ่ง หว่านโจว คนนี้คือลูกสาวคนหัวปีของ เริ่น เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งบริษัทเทเลคอมระดับยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างหัวเว่ย โดยซาบรีนา เมิ่ง เคยเป็นข่าวดังทั่วโลกในปี 2018 เพราะการถูกจับกุมที่แคนาดา ในข้อกล่าวหาว่ามีความผิดฐานเป็นกรรมการบริหารบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมที่ละเมิดมาตรการลงโทษคว่ำบาตรซึ่งสหรัฐฯ ประกาศใช้ต่ออิหร่าน เรียกว่าอาจมีการซิกแซ็กหลบเลี่ยงการแซงก์ชันก่อนจะขายเครื่องคอมพิวเตอร์หลายเครื่องให้อิหร่านสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาสหรัฐฯ ได้ยกฟ้องซาบรีนา เมิ่ง เมื่อปี 2022 และยุติคดีอาญาลงอย่างเป็นทางการ หลังจากที่คดีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนแบบเต็มๆ

ล่าสุด ซาบรีนา เมิ่ง เปิดเผยผ่านวิดีโอที่ถูกเปิดบนเวทีงานประชุมที่กรุงเทพฯ ว่า หัวเว่ยได้ลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านหยวนในภาคการวิจัยและพัฒนาตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ R&D ของบริษัทประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่จนส่งผลให้มีอุปกรณ์ที่เป็นนวัตกรรมและคุณภาพดีกว่าที่เคยมีมา โดยเมิ่งย้ำว่าหัวเว่ยมีนโยบายให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเป็นอย่างมาก เพื่อคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย และใช้งานง่าย เพื่อมอบประโยชน์ที่หลากหลายให้ชีวิตประจำวันแก่ทุกคน โดยเฉพาะผู้คนในประเทศเอเชียแปซิฟิก ที่หัวเว่ยจะมุ่งมั่นให้บริการ 5G-A, F5.5G, คลาวด์ และโซลูชันดิจิทัลอย่างจริงจัง



***ยกเอเชียแปซิฟิก ต้นแบบยูสเคสดิจิทัลสู่ตลาดโลก

ซาบรีนา เมิ่ง มองเอเชียแปซิฟิกไม่เพียงเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยโอกาสมากที่สุดของโลก แต่ยังเป็นแบบอย่างสำหรับภูมิภาคอื่นที่กำลังพยายามขับเคลื่อนไปสู่ยุคดิจิทัลและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในพื้นที่ ตรงนี้หัวเว่ยย้ำว่าตัวเองได้รับเกียรติให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขับเคลื่อนนี้ และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับเหล่าลูกค้าและพันธมิตรที่ยอดเยี่ยมกว่า 100,000 รายในเอเชียแปซิฟิกที่มีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลให้ภูมิภาค

ซาบรีนา เมิ่ง รองประธาน ประธานหมุนเวียนตามวาระ และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของหัวเว่ย
"ก้าวต่อไปนับจากนี้ เราจะยังคงเดินหน้าให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าให้ลูกค้า เราต้องการทำหน้าที่ของเราในการนำประโยชน์ต่างๆ ของนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีอัจฉริยะมามอบให้ผู้คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเรายังต้องการส่งเสริมการพัฒนาภาคเศรษฐกิจดิจิทัลควบคู่ไปกับภาคเศรษฐกิจจริงในแบบองค์รวม"

หัวเว่ยมองว่าระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียแปซิฟิกปัจจุบันกำลังอยู่ในยุครุ่งเรือง เพราะหลายประเทศและหลายภูมิภาคกำลังเร่งเดินหน้าเพิ่มศักยภาพและส่งเสริมการพัฒนาทางด้านดิจิทัล ทั้งประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ญี่ปุ่น บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา กัมพูชา และอื่นๆ ซึ่งนอกจากยอดองค์กรพันธมิตรหลักแสนรายในเอเชียแปซิฟิกที่หัวเว่ยได้สนับสนุนการพัฒนาด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล หัวเว่ยยังมีบทบาทช่วยให้ APAC เป็นภูมิภาคที่สามารถสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งทั้งในด้านศูนย์ข้อมูลและเครือข่ายชั้นนำ

ตัวอย่างโปรเจกต์การสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องของหัวเว่ยและพันธมิตรใน APAC คือการร่วมกันพัฒนา OpenLab ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมร่วมทางด้าน 5G และแพลตฟอร์มอื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจของลูกค้าในภูมิภาค 

 

***จาก 1 ล้านล้านดอลล์สู่ 2 ล้านล้านดอลล์

นารายา เอส ซูปราปโต รองเลขาธิการแห่งสำนักงานเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า มูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนจะเพิ่มเป็น 2 เท่าจาก 1 ล้านล้านดอลลาร์เป็น 2 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 ซึ่งความร่วมมือจากทุกฝ่ายจะทำให้เกิดการเอื้อให้สังคมและชุมชนธุรกิจในภูมิภาคมีกำลังขับเคลื่อนในการปลดล็อกศักยภาพด้านบริการดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการประมวลผลแบบคลาวด์

"ในการที่จะสร้างอนาคตแห่งความสำเร็จด้านดิจิทัลให้ทั่วทั้งภูมิภาค ภาครัฐบาล เอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายจำเป็นจะต้องนำแนวทางที่สอดคล้องกันมาใช้ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมต่อด้านดิจิทัล พร้อมลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงพัฒนาทักษะ และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลภายในภูมิภาค"

ลีโอ เฉิน รองประธานอาวุโสของหัวเว่ย และประธานฝ่ายธุรกิจการขายหัวเว่ย เอ็นเตอร์ไพรส์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่ในฐานะผู้นำในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและความอัจฉริยะ โดยเชื่อว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีอัจฉริยะซึ่งครอบคลุมทั้งด้านโครงข่าย การจัดเก็บ การประมวลผล และระบบคลาวด์ คือกุญแจสำคัญสู่การปลดล็อกด้านประสิทธิภาพ สำหรับหัวเว่ยนั้นมีความเข้าใจเชิงลึกในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย จึงมีความพร้อมและยินดีที่จะนำเทคโนโลยีที่ครอบคลุมแบบ full-stack และโซลูชันที่ต่างๆ ของบริษัทมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้า

  ลีโอ เฉิน รองประธานอาวุโสของหัวเว่ย และประธานฝ่ายธุรกิจการขายหัวเว่ย เอ็นเตอร์ไพรส์
หัวเว่ยยกตัวอย่างโซลูชันอัจฉริยะที่ปูพรมใช้งานในหลายประเทศ ASEAN แล้ว ได้แก่ สนามบินจีนที่ใช้โซลูชันอุตสาหกรรมขนส่งจนเพิ่มความแม่นยำในการประมาณเวลามาถึงของยานพาหนะได้แม่นยำขึ้นจาก 50% เป็น 90% ยังมีโรงไฟฟ้าในอินโดนีเซียที่ใช้โซลูชันดิจิทัลในการควบคุมกระบวนการผลิตด้วยพลังงานสะอาด และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒของไทยที่ใช้โซลูชันด้านการศึกษาของหัวเว่ยจนเพิ่มความครอบคลุมเครือข่ายได้ 100% เพิ่มแบนด์วิธอีก 20 เท่า โดยมองว่าโครงการเหล่านี้ตอกย้ำฐานะของเอเชียแปซิฟิกให้เป็นผู้บุกเบิกด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะของโลก

เบื้องต้น หัวเว่ยเผยว่าเอเชียแปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่มีการลงทุนใน AI แบบวงกว้างอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จาก 22,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการลงทุนในตลาด AI อาจเพิ่มเป็น 87,600 ล้านดอลลาร์ทั่วภูมิภาคในปี 2022-2028 โดยอุตสาหกรรมหลักในภูมิภาคที่จะมีการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันมากที่สุดคืออุตสาหกรรมโทรคมนาคม ค้าปลีก การผลิต และการเงินการธนาคาร เบื้องต้นคาดว่ามูลค่าเศรษฐกิจอัจฉริยะทั่วโลกจะแตะระดับ 18.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030

***ไทยลุย AI

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวบนเวทีนี้ว่าไทยกำลังให้ความสำคัญกับการเร่งการพัฒนาด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีอัจฉริยะเป็นอันดับต้นๆ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในฐานะกลไกการขับเคลื่อนหลักที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยรัฐบาลจะมุ่งใช้ดิจิทัลเป็นตัวช่วยเสริมประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยสำหรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และจะร่วมมือกับหัวเว่ยเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลโดยรวมของไทย

  ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)
ประเสริฐ แจงว่า 5 โครงการสำคัญด้านดิจิทัลของไทยในเวลานี้ประกอบด้วย 1.โครงการ Cloud First Policy 2.การพัฒนา AI สำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) 3.การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล 4.การแก้ไขปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ และ 5.โครงการความร่วมมือที่หลากหลายกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลที่สอดคล้องกับทิศทางด้านดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ทั้ง 5 โปรเจกต์นี้มีไทม์ไลน์อยู่แล้ว โดยกระบวนการจัดระเบียบเทคโนโลยีคลาวด์ ในนโยบาย Cloud First จะเกิดขึ้นก่อนการกำกับดูแลเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในระดับชาติ คาดว่า ไทยจะต้องเตรียมออกกฎหมาย AI เพื่อกำหนดมาตรฐานการใช้งานที่ปลอดภัยเหมือนในยุโรป จึงมีโอกาสสูงที่คนไทยจะได้เห็นจุดเริ่มกำกับดูแลการใช้งาน AI ในไทยทั้งเรื่องจริยธรรมและบทลงโทษในปี 2567 รวมถึงการผลักดันอีกหลายด้านที่จะเสริมให้ประเทศไทยเป็นตลาดไฮไลต์หลักของอาเซียน และได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมที่หัวเว่ยทุ่มงบวิจัยกว่า 1 ล้านล้านหยวนตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น