xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด AI แห่งชาติรอคิวคลอดกลางปี 67 “ดีอี” วางไทม์ไลน์ขอจัดระเบียบราคาคลาวด์ก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ดีอี” เปิดไทม์ไลน์กระบวนการจัดระเบียบเทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) แห่งชาติ ระบุเตรียมคุมเข้มคลาวด์ก่อนจึงจะถึงคิวออกร่างกำกับดูแล AI มั่นใจไม่ช้าเพราะเริ่มศึกษาแล้ว คาดอนาคตต้องเตรียมออกกฎหมาย AI เป็นมาตรฐานเหมือนในยุโรป ประเมินกลางปี 2567 ได้เห็นจุดเริ่มกำกับดูแลการใช้งาน AI ในไทยทั้งเรื่องจริยธรรมและบทลงโทษ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวในงานประชุม Digital and Intelligent APAC Congress 2024 ว่ากระทรวงกำลังอยู่ระหว่างเตรียมจัดตั้งบอร์ด AI แห่งชาติ เพื่อวางแนวทางใช้งาน และการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมของการใช้เทคโนโลยี AI ในประเทศไทย เบื้องต้นมองว่า AI เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลเฉพาะทาง โดยวางแผนประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนา AI ในเดือน มิ.ย.67 เพื่อแต่งตั้งบอร์ด AI แห่งชาติที่มีกรรมการประมาณ 10 คน

“เรากำลังร่างว่าจะกำกับดูแล AI อย่างไรบ้าง มีกระทรวงดีอี และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดแผนและแนวทางการพัฒนา AI ของประเทศ อนาคตเชื่อว่าต้องมีการออกมาตรฐาน AI อาจจะเป็นกฎหมายเหมือนที่ในยุโรปมีกฎหมายแล้ว เรากำลังทำอยู่ ปีนี้จะได้เห็นรูปร่างของการกำกับดูแล AI” 

นายประเสริฐ ย้ำว่า กระทรวงมีการศึกษากฎระเบียบด้านจริยธรรมการใช้ AI จากสหภาพยุโรป โดยคาดว่าจะมีการวางเงื่อนไขและบทลงโทษสำหรับกรณีการนำ AI มาใช้ในทางไม่ถูกต้องซึ่งอาจเกิดความเสียหาย คาดว่าการนัดประชุมคณะอนุกรรมการจะจัดขึ้นไม่เกินเดือนมิถุนายน 67 โดยจะมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม

อย่างไรก็ตาม ดีอีวางแผนดำเนินการเรื่องกำกับดูแล AI เป็นหัวข้อถัดจากการกำกับดูแลคลาวด์ตามนโยบาย Cloud First โดยภารกิจเร่งด่วนที่ดีอีมองคือการทำให้เกิดคลาวด์มาตรฐานเดียวกันในประเทศ จะมีการกำหนดว่าคลาวด์ที่ให้บริการในประเทศไทยต้องผ่านมาตรฐาน ISO27000 รวมถึงต้องมีการกำหนดราคากลางเป็นมาตรฐาน ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศร่างบังคับใช้อย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคมนี้


ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวในงานประชุม Digital and Intelligent APAC Congress 2024
แม้ไทม์ไลน์ล่าสุดที่ดีอีประกาศจะมีโอกาสถูกมองว่าล่าช้า เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ค้าหรือเวนเดอร์ผู้พัฒนาเทคโนโลยีต่างประเทศได้เริ่มมีการจำหน่ายแพคเกจใช้งาน AI ในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบมาระยะหนึ่งแล้ว แต่นายประเสริฐ ย้ำว่า กระทรวงได้ดำเนินการอย่างจริงจัง โดยทำงานควบคู่ไปกับความท้าทายปัจจุบันที่ยังเป็นปัญญาใหญ่เรื่องการใช้งานเทคโนโลยีในไทย ทั้งเรื่องบริการคลาวด์ที่มีมาตรฐานหลากหลายเสี่ยงต่อการไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการกวาดล้างภัยหลอกลวงออนไลน์ที่กระทรวงต้องเร่งดำเนินการก่อนการควบคุม AI โดยปัจจุบัน กระทรวงดีอีมีการใช้ AI ในการกวาดล้างเนื้อหาไม่พึงประสงค์บนโลกออนไลน์ด้วย

สำหรับงาน Digital and Intelligent APAC Congress 2024 เป็นการประชุมงานเทคโนโลยีระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่หัวเว่ยและมูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) ร่วมกันจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ พันธมิตร และนักวิเคราะห์มากกว่า 1,500 คนจาก 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเข้าร่วมงาน ทั้งนี้ 5 แนวทางการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและระบบอัจฉริยะชั้นนำของประเทศไทยในปัจจุบัน ประกอบด้วยโครงการ Cloud First Policy, การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล และการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์


กำลังโหลดความคิดเห็น