หัวเว่ย (Huawei) ผ่าเทรนด์เครือข่ายสื่อสารปี 2030 หรือ พ.ศ.2573 มองอนาคตของเทคโนโลยีการเชื่อมต่อและอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์จะเชื่อมกับเครือข่ายการสื่อสารใน 8 ปีข้างหน้าด้วยคุณสมบัติสำคัญ 6 ประการ นั่นคือเครือข่ายบรอดแบนด์สามมิติ การสื่อสารและเทคโนโลยีการตรวจจับที่ผสานกันกลมกลืน ประสบการณ์การใช้งานที่กำหนดได้เอง การรองรับปัญญาประดิษฐ์เป็นพื้นฐาน ความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือ ตลอดจนการก่อสร้างและการดำเนินงานที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายกาเว่น ไก้ ประธานฝ่ายกลยุทธ์และการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ของหัวเว่ยขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ ‘สร้างเครือข่ายบรอดแบนด์สามมิติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเครือข่ายการสื่อสารอัจฉริยะแห่งโลกอนาคต’ บนเวทีงานประชุมโลกอัจฉริยะแห่งอนาคต พ.ศ.2573 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม Huawei Global Analyst Summit 2022 (HAS 2022) ว่าข้อมูลเชิงลึกจากภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นรากฐานของโลกอัจฉริยะ ล้วนชี้ให้เห็นแนวโน้มเทคโนโลยี ตลอดจนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต หัวเว่ยจึงไม่หยุดคิดค้นเพื่อประสบการณ์การใช้งานที่เหนือชั้น โดยขับเคลื่อนนวัตกรรมและการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารให้มีคุณสมบัติ 6 ประการ
"เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเชื่อมต่อระหว่างผู้คนนับหมื่นล้านคนที่นำไปสู่ความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งต่างๆ หลายแสนล้านสิ่ง เราเชื่อว่าเครือข่ายการสื่อสารในปี พ.ศ.2573 จะมีคุณสมบัติสำคัญ 6 ประการ ได้แก่ เครือข่ายบรอดแบนด์สามมิติ การสื่อสารและเทคโนโลยีการตรวจจับที่ผสานกันกลมกลืน ประสบการณ์การใช้งานที่กำหนดได้เอง การรองรับปัญญาประดิษฐ์เป็นพื้นฐาน ความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือ ตลอดจนการก่อสร้างและการดำเนินงานที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม"
ทั้ง 6 เทรนด์นี้สรุปจากรายงานโครงข่ายการสื่อสาร พ.ศ.2573 (The Communications Network 2030) รายงานด้านการประมวลผลคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2573 (Computing 2030) รายงานด้านพลังงานดิจิทัล พ.ศ.2573 (Digital Power 2030) และรายงานโซลูชันยานยนต์อัจฉริยะ พ.ศ.2573 (Intelligent Automotive Solution 2030) ทุกรายงานมีการชี้แจงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับคุณลักษณะ 6 ประการของเครือข่ายการสื่อสารแห่งโลกอนาคต ซึ่งในงานนี้ หัวเว่ยได้จัดแสดงผลงานวิจัยและความสำเร็จด้านอุตสาหกรรมเครือข่ายการสื่อสารและเทคโนโลยีประมวลผลแบบลงรายละเอียด พร้อมผนึกกำลังกับพันธมิตรในอุตสาหกรรม ร่วมขับเคลื่อนวิสัยทัศน์แห่งอนาคตที่ระบุไว้ในรายงานโลกอัจฉริยะ พ.ศ.2573 (Intelligent World 2030 report) ของหัวเว่ย
การประกาศแนวโน้มนี้สะท้อนความพร้อมก้าวสู่โลกอัจฉริยะแห่งปี พ.ศ.2573 ของหัวเว่ย ซึ่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 หัวเว่ยระบุว่าได้ดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกกับนักวิชาการ ลูกค้า และพันธมิตรในอุตสาหกรรมมากกว่า 1,000 คน จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการมากกว่า 2,000 ครั้ง เพื่อรวบรวมข้อมูลและแนวทางการดำเนินงานจากองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ พร้อมทั้งเก็บเกี่ยวความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม โดยในเดือนกันยายนปี พ.ศ.2564 หัวเว่ยได้เปิดตัวรายงานโลกอัจฉริยะ พ.ศ.2573 (Intelligent World 2030) อย่างเป็นทางการ ในงาน Huawei Connect 2021 ที่อัดแน่นไปด้วยวิสัยทัศน์ของบริษัทในทศวรรษหน้า โดยรายงานดังกล่าวประกอบด้วยรายงานหลัก 1 ฉบับและรายงานอุตสาหกรรม 4 ฉบับ เผยมุมมองสู่อนาคต 8 ประการ และการคาดการณ์ตัวชี้วัดในอนาคต 32 ประการ
นายเจียง เทา รองประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ของหัวเว่ย ได้กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ ‘สร้างการประมวลผลอัจฉริยะแบบบูรณาการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งระบุว่าภายในปี พ.ศ.2573 อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์จะมีคุณลักษณะเฉพาะทั้งด้านการพัฒนาทางกายภาพ กระบวนการรับรู้อัจฉริยะ การประมวลผลที่หลากหลาย ความปลอดภัย การทำงานร่วมกันในหลายมิติ และการประมวลผลแบบบูรณาการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
"โลกดิจิทัลและโลกกายภาพจะเชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อ และเทคโนโลยีการประมวลผลจะมีศักยภาพในการจำลอง ทำซ้ำ และยกระดับโลกกายภาพไปอีกขั้น" เจียง เทา ระบุ
ด้านนายเทียน หย่งหง สมาชิกสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ (IEEE) และหัวหน้าทีมวิศวกรรมเทคโนโลยีแห่ง Peng Cheng Cloud Brain ได้เข้าร่วมในงานครั้งนี้และขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในงานว่า Peng Cheng Laboratory (PCL) กำลังสร้างนวัตกรรมเครื่องมือแห่งโลกอัจฉริยะที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีการประมวลผล Super AI Computing ซึ่งหมายความว่า AI กำลังเปลี่ยนแปลงแนวทางของการเติบโตทางเศรษฐกิจและมุมมองด้านนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และแพลตฟอร์มการประมวลผลอัจฉริยะขั้นสูงที่ Peng Cheng Cloud Brain กำลังพัฒนาจะช่วยเราแก้ปัญหาระดับโลก
นอกจากนี้ ผู้มีส่วนร่วมกับโครงการโลกอัจฉริยะแห่งอนาคต พ.ศ.2573 ที่ได้ร่วมกล่าวปาฐกถาในการประชุมครั้งนี้ ยังรวมถึงนายเควิน จาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาดของธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานไอซีที (ICT) ของหัวเว่ย และนายหวัง ยูชุน ผู้อำนวยการแผนกข้อมูลไอซีที (ICT) ซึ่งต่างก็เปิดเผยวิสัยทัศน์เกี่ยวกับโลกอัจฉริยะในปี พ.ศ.2573 และยังร่วมอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของเทคโนโลยีไอซีที (ICT) ในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ดีขึ้น รวมถึงการต่อยอดการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแนวทางการก้าวไปสู่โลกอัจฉริยะในปี พ.ศ.2573 ของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ
ทั้งนี้ หัวข้ออภิปรายในงานมุ่งเน้นไปที่เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลและนโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน พร้อมบทบาทการขับเคลื่อนและส่งเสริมกันและกันของวิสัยทัศน์ทั้งสองประการ อันจะเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโลก นอกจากนี้ ยังดำเนินการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแห่งโลกอัจฉริยะ นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการประมวลผลและการเชื่อมต่อ และแนวทางการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหัวเว่ยจะร่วมมือกับพันธมิตรในภาคอุตสาหกรรมและภาคสังคมเพื่อขับเคลื่อนสู่โลกอัจฉริยะไปด้วยกัน