ประธานหัวเว่ย (Huawei) มองปี 2022 อัดแน่นความท้าทายน่าหวาดเสียวกว่าปี 2021 ส่งผลให้บริษัทต้องกระจายพอร์ตการลงทุน เพิ่มงบวิจัยและพัฒนา รวมถึงรีดพลังเต็มที่เพื่อดันประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เพื่อกระโดดผ่าด่านอรหันต์ทั้งข้อจำกัดทางการค้า-ความขัดแย้งทางการเมือง-ความท้าทายจากโควิด-อัตราเงินเฟ้อ-ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็น 5 ความท้าทายหลักของหัวเว่ยในปีนี้และปีหน้า
นายเคน หู (Ken Hu) ประธานกรรมการบริหารหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย กล่าวในงานประชุม Huawei Global Analyst Summit (HAS) ครั้งที่ 19 ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ณ เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้กลุ่มธุรกิจของหัวเว่ยมุ่งหลีกเลี่ยงพื้นที่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ว่า หัวเว่ยยังต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย และบริษัทจะต้องทำงานให้หนักขึ้นอีกเพื่อเอาชนะปัจจัยเชิงลบเหล่านี้
แม้จะพบกับการ "การคว่ำบาตรที่ไม่ควรเกิดขึ้น" แต่หัวเว่ยก็ยังคงโชว์ผลงานความสำเร็จหลายด้านที่ทำได้ในปี 2021 โดยประธานหัวเว่ยระบุว่า เป็นความสำเร็จจากการลงทุนอย่างหนักในการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ผ่านพ้นความยากลำบากที่ต้องเผชิญด้วยการสร้างนวัตกรรมที่เป็นเส้นทางสู่อนาคต ซึ่งหัวเว่ยมองเห็นโอกาสในหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาเทคโนโลยีลดคาร์บอน และระบบปรับปรุงประสิทธิภาพที่หัวเว่ยสามารถนำเสนอให้หลายอุตสาหกรรม
หัวเว่ยย้ำว่า การใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาในปี 2021 ของหัวเว่ยนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 142,700 ล้านหยวน (ราว 7.4 แสนล้านบาท) คิดเป็น 22.4% ของรายรับรวม ถือเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับ 13.2-15.9% ที่เคยเป็นสัดส่วนงบประมาณในปี 2012-2020
หนึ่งในผลงานเด่นของหัวเว่ยจากการวิจัยครั้งล่าสุด คือการเปิดตัว “เมต้าสตูดิโอ” (MetaStudio) บริการคลาวด์ในรูปแพลตฟอร์มการผลิตเนื้อหาดิจิทัลแบบ end-to-end บนระบบคลาวด์ ซึ่งจะเพิ่มความรวดเร็วในการผลิตเนื้อหาดิจิทัลได้อย่างมากเพราะเป็นเหมือนไปป์ไลน์เนื้อหาดิจิทัลที่ย้ายกระบวนการผลิตทั้งหมดไปยังคลาวด์ จุดนี้ ประธานหัวเว่ยอธิบายถึงโอกาสของ MetaStudio ว่าเมื่อโลกดิจิทัลและโลกจริงมาบรรจบกัน ความต้องการเนื้อหาดิจิทัลที่มีคุณภาพจะเพิ่มขึ้น ซึ่ง MetaStudio ถูกเปิดตัวมาเพื่อช่วยตอบสนองความต้องการนี้
นอกจากนี้ ผู้บริหารหัวเว่ยยังย้ำว่าเป้าหมายของหัวเว่ยคือการมอบอัตราความเร็วการเชื่อมต่อข้อมูลบนมือถือ 10Gb/s ในทุกที่ ด้วยอุปกรณ์ 5.5G และ F5.5G ใหม่ ซึ่งเพิ่มความเร็วได้มากกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบจากปัจจุบัน บนอัตราความหน่วงต่ำและเสถียรภาพสูง คาดว่าจะตอบความจำเป็นสำหรับการใช้ในระบบควบคุมของภาคการผลิต
โจว หง (Zhou Hong) ประธานฝ่ายวิจัยเชิงกลยุทธ์ของหัวเว่ย ย้ำว่าโอกาสในธุรกิจระบบเชื่อมต่อข้อมูลความเร็วสูงนี้เห็นชัด เพราะปัจจุบันความต้องการข้อมูลในตลาดนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณการใช้บรอดแบนด์ผ่านมือถือทั่วโลกเพิ่มขึ้น 250 เท่าระหว่างปี 2010 ถึง 2020 โดยเพิ่มขึ้นกว่า 400 เท่าในประเทศจีน
สำหรับปี 2021 ที่ผ่านมา รายรับรวมของหัวเว่ยทั่วโลกลดลง 29% มาอยู่ที่ 636,800 ล้านหยวน (ราว 3.33 ล้านล้านบาท) ในขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 76% เป็น 113,700 ล้านหยวน โดยได้แรงหนุนจากการขายหน่วยธุรกิจออเนอร์ (Honor) ซึ่งเน้นทำตลาดสมาร์ทโฟนราคาประหยัด
เบื้องต้น หัวเว่ยย้ำว่าบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาว่ามีแผนที่จะอยู่ในตลาดรัสเซียหรือไม่ เนื่องจากบริษัทในซีกโลกตะวันตกจำนวนมากได้ถอนตัวออกหลังจากการบุกโจมตียูเครนของรัสเซีย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยล่าสุด หัวเว่ยต้องเผชิญกับแรงกดดันภายในบริษัท เนื่องจากมีรายงานว่าสมาชิกคณะกรรมการบริหาร 2 คนซึ่งเป็นชาวอังกฤษได้ลาออกจากบอร์ดในเดือนมีนาคม หลังจากที่หัวเว่ยตัดสินใจไม่ได้ประณามสงคราม ซึ่งหัวเว่ยยังไม่มีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับรัสเซียในงานประชุมนี้