xs
xsm
sm
md
lg

กำไรแบงก์ Q1 ปี 65 เติบโตดี สินเชื่อขยับเพิ่ม-ตลาดทุนป่วนฉุดรายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานตัวเลขผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 อันเป็นไตรมาสที่เกิดสถานการณ์พลิกผันถาโถมเข้ามาอีกระลอกหนึ่ง หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มจะคลี่คลายหลังจากสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนสูงขึ้น แต่กลับต้องมารับผลกระทบจากความขัดแย้งรุนแรงระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และยังยืดเยื้อ-ขยายวงกว้างไปสู่ภาคการเงิน การค้า การท่องเที่ยว รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศผ่านอัตราเงินเฟ้อ....ธนาคารพาณิชย์ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจก็หนีไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นได้จากผลการดำเนินงานดังนี้...

ภาพรวมผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB), ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB), ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP), ธนาคารทิสโก้ (TISCO), ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) และธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LHFG)  ไตรมาสแรกปี 2565 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม มีกำไรสุทธิรวม 53,336 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,706 หรือคิดเป็น 14.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า(ไตรมาส 4 ปี 2564)แล้ว กำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าจำนวน 42,403 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,933 ล้านบาท หรือคิดเป็น 25.78% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้ จากภาพรวมผลประกอบการแม้ว่าสินเชื่อของธนาคารจะเริ่มฟื้นตัวกลับมามากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากธนาคารพาณิชย์หลายๆ แห่งรายงานรายได้จากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น อาทิ ธนาคารกสิกรไทยกำไรสุทธิจำนวน 11,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 584 ล้านบาท หรือ 5.50% หลักๆ เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 3,618 ล้านบาท หรือ 12.86% จากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อซึ่งเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ ส่วนใหญ่เกิดจากการให้สินเชื่อใหม่ตามยุทธศาสตร์ของธนาคารแก่ลูกค้าที่มีศักยภาพ ธนาคารไทยพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2565 จำนวน 10,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลของการขยายตัวของฐานรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และการตั้งเงินสำรองที่ลดลงผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ที่่มีสัดส่วนลดลง หลังจากที่ได้กันสำรองฯไว้ในระดับสูงกว่าปกติมาในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์เองก็ได้มีการบริหารจัดการด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องนับจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2561 เพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการด้านสาขาหรืออื่นๆ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับตัวลดลงมาเป็นลำดับ

ตลาดทุนป่วน ฉุดรายได้ลด

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่เข้ามาอย่างกะทันหันและเหนือการคาดหมาย ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เพิ่มดีกรีความรุนแรงและยังยืดเยื้ออยู่ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ตลาดเงินและตลาดทุนผันผวน จึงมีธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้รับผลกระทบผ่านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ลดลง อาทิ ธนาคารทิสโก้แจงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลง 31.8% สาเหตุหลักมาจากธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนตามภาวะตลาดที่ผันผวน โดยรายได้ค่าธรรมเนียมพื้นฐานจากธุรกิจจัดการกองทุนลดลง 36.6% จากไตรมาส 1 ของปีก่อนหน้าที่มีการออกกองทุนใหม่ขนาดใหญ่ รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง 9.2% จากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลง ประกอบกับมูลค่าเงินลงทุนลดลงตามความผันผวนของสภาวะตลาดทุนทั้งไทยและต่างประเทศ

ส่งผลให้เกิดผลขาดทุนจากเงินลงทุนที่ตีมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุนจำนวน 32 ล้านบาท เทียบกับผลกำไรจำนวน 313 ล้านบาท ซึ่งรับรู้ในไตรมาส 1 ปี 2564 ธนาคารกสิกรไทยระบุรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 3,032 ล้านบาท หรือ 25.49% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์มีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 12,960 ล้านบาท ลดลง 9.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นผลของการลดลงของรายได้จากเงินลงทุน และการชะลอตัวของธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ช่วงที่เหลือของปียังอยู่ท่ามกลางความเสี่ยง

สำหรับในช่วงที่เหลือของปีนั้น ..เศรษฐกิจไทยยังอยู่ท่ามกลางความเสี่ยง ทำให้ธนาคารพาณิชย์จึงยังคงแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินธุรกิจหลักอย่างการปล่อยสินเชื่อ หรือการสำรองรองหนี้ในระดับที่สูงกว่าปกติแม้ว่าจะต่ำกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา..

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารในไตรมาสแรกสะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่โดยรวมยังคงมีความเปราะบางและมีความแตกต่างในแต่ละภาคส่วน อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความท้าทายและความผันผวนอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบของธนาคาร โดยผ่านโครงการการปรับโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จภายใต้กรอบของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้ลูกค้าสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว

ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกธนาคารได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 8,750 ล้านบาท ลดลง 12.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ภายหลังจากที่ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองไว้ในระดับที่สูงกว่าสภาวะปกติตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกยังคงเผชิญข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยแม้จะมีแรงหนุนจากการส่งออกสินค้า การใช้จ่ายและมาตรการสนับสนุนกำลังซื้อของภาครัฐ แต่การใช้จ่ายของภาคเอกชน ทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุนยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการขยับสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันและต้นทุนการผลิต

สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี มองว่า เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอน เพราะยังคงต้องรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 และผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่มีต่อทิศทางราคาพลังงานและแนวโน้มเศรษฐกิจโลก  

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก ภายใต้ภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนนับแต่ต้นปี 2565 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออก ควบคู่ไปกับมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ กรุงศรีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามวิกฤตความขัดแย้งด้านภูมิศาสตร์การเมืองในปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการปรับขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ และอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอลง กรุงศรีจึงปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 เป็น 2.8% จากเดิมที่ 3.7%

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน และปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน หากแต่พันธกิจหลักของกรุงศรีที่มุ่งเน้นในการสนับสนุนการฟื้นฟูภาคธุรกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จึงทำให้สินเชื่อขยายตัวได้ 2.0% ในไตรมาสแรกของปี 2565 จากความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สะท้อนความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้นกอปรกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง.


เปิดมุมมอง 7 แนวโน้มเด่น กำหนดทิศทางธุรกิจธนาคาร ปี 2565

ด้านกลุ่มธุรกิจงานบริการทางด้านการเงิน เอคเซนเซอร์ ประเทศไทย โดย  นายวิชยา จาว กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจงานบริการทางด้านการเงิน เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย ระบุว่า หากมองปี 2563 และ 2564 เป็นปีที่สถานการณ์โควิดบีบให้ธนาคารต้องปรับตัว ปี 2565 จะเป็นปีที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงนั้นเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักของธุรกิจธนาคาร และเป็นจุดเริ่มของยุคนิวนอร์มอล ธนาคารชั้นนำของโลกส่วนใหญ่นั้นมีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนโควิด-19 และได้นำเอาระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในหลายส่วนงาน ตลอดจนดำเนินการทดลองอย่างระมัดระวังในการเปลี่ยนแปลงโมเดลทางธุรกิจรูปแบบเดิมแม้จะกระทบกับแหล่งรายได้เดิมก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของลูกค้าที่มีมากขึ้นในหลายมิติ รวมไปถึงผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่รุกเข้ามาในธุรกิจธนาคาร ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ปี 2565 เป็นปีที่ธนาคารชั้นแนวหน้าของโลกจะต้องยิ่งพัฒนาขึ้นไปอีก เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ พร้อมทั้งได้คาดการณ์ 7 แนวโน้มเด่น ที่จะเข้ามาดิสรัปต์และส่งผลต่อแนวโน้มของธุรกิจธนาคารในปี 2565 นี้

1. หลายองค์กรอยากเป็นซูเปอร์แอปฯ

เช่นเดียวกับ สมาร์ทโฟนที่พยายามผนวกเอาฮาร์ดแวร์ที่จำเป็นไว้ครบในเครื่องเดียว ซูเปอร์แอปฯก็เช่นกันที่หลายธนาคารพยายามตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในแอปฯของตัวเองให้รอบด้านมากขึ้น นอกจากการทำธุรกรรม เช่น ตรวจสอบยอดคงเหลือ จ่ายบิลค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งเป็นฟังก์ชันที่ธนาคารหลายแห่งได้รวมเอาไว้ในแพลตฟอร์มแล้ว แต่ยังขยายการให้บริการออกไปให้มากขึ้นอีก เช่น การซื้อขายทางด้านอีคอมเมิร์ซ

เทรดทองคำ ฟู้ดดิลิเวอรี่ ซื้อขายหุ้นกู้ ฯลฯ เพื่อสร้างความแตกต่างและดึงดูดการใช้งานของลูกค้า ในทางตรงกันข้าม สตาร์ทอัปหลายแห่งก็พยายามขยายโอกาสของแอปเพื่อแย่งส่วนแบ่งของธนาคารด้วย เช่น ใช้ข้อมูลของลูกค้าจากการใช้งานในแอปฯ เพื่อนำเสนอสินเชื่อ สินค้า บริการทางด้านการเงินต่างๆ เป็นต้น ซึ่งมีผลทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกที่เพิ่มขึ้น นอกจากการทำธุรกรรมด้านการเงินที่ในอดีตมักจะทำกับธนาคารแต่เพียงอย่างเดียว

ด้วยปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว ธนาคารมีหลายทางเลือก แต่ละทางเลือกก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย บางแห่งอาจจะลองเพิ่มฟังก์ชันด้านอื่นเข้ามาในแอปฯ ของตัวเองเพื่อตอบสนองการใช้งานในด้านอื่น แต่อาจทำให้มีการลงทุนสูงเพื่อให้สามารถแข่งขันกับเจ้าตลาดในปัจจุบัน อีกทางเลือกหนึ่ง คือ ธนาคารอาจเลือกเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับซูเปอร์แอปฯ อื่นเพื่อให้บริการโดยไม่ได้ใช้แบรนด์ธนาคาร แต่ก็อาจจะทำให้เกิดการแข่งขันกับแบรนด์ของตนเองในที่สุด หรือทางเลือกที่สามคือ การกันตัวเองออกจากการแข่งขันและปกป้องบริการแบบเดิมที่เคยมีอยู่เอาไว้ ซึ่งการสร้างความแตกต่างในกรณีนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก และธนาคารต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่ส่วนแบ่งตลาดในการทำธุรกรรมลักษณะเดิมจะลดลง เพราะซูเปอร์แอปฯ ในหลายภาคธุรกิจได้เข้ามามีบทบาทในโลกของการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าแล้ว

2. จริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อม

นักลงทุนและผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคมและคาดหวังให้แบรนด์สินค้าและบริการต่างๆ ใส่ใจเรื่องนี้ด้วย ซึ่งรวมไปถึงธุรกิจธนาคาร  โดยในอนาคต ธนาคารอาจจะต้องเจอกับแรงกดดันจากทั้งหน่วยงานที่กำกับดูแลและการตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้นของสังคม เช่น การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายของการให้สินเชื่อกับบริษัทที่ก่อคาร์บอนจำนวนมากเพื่อพัฒนาไปสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืน เพราะหลายบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมัน ก๊าซ และเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ ก็เป็นลูกค้าของหลายๆ ธนาคาร นอกจากนี้ บางธนาคารอาจเลือกที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงและปรับแนวทางที่เข้มข้นขึ้นในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อลูกค้าของตน หรือบางแห่งอาจมุ่งเน้นในการแสดงเจตจำนงเพื่อส่งสัญญาณเชิงบวกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อสังคม ในขณะที่บางธนาคารเลือกที่จะยอมเสียสละผลกำไรระยะสั้นและกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของตัวเองขึ้นเองก่อนจะมีการบังคับใช้จากหน่วยงานที่กำกับดูแลจากทางภาครัฐฯ

3. นวัตกรรมและพันธมิตรทางธุรกิจกลับมามีบทบาทมากขึ้น

ทศวรรษหลังจากวิกฤตการเงินครั้งใหญ่เป็นช่วงแห่งการรัดเข็มขัดที่หลายธนาคารงดออกผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่เปลี่ยนมาเน้นที่การบริหารปัจจัยพื้นฐานของตัวเองให้ดี แต่สตาร์ทอัปและธุรกิจดิจิทัลได้เข้ามาท้าทายด้วยการเติมเต็มช่องว่าง โดยมองเห็นศักยภาพการเติบโตที่ธนาคารยุคเดิมมองข้าม เช่น ลูกค้าองค์กรขนาดเล็กที่ประสบปัญหาหมุนเงินไม่ทันก่อนวันจ่ายเงินเดือน หรือธุรกิจ SME ที่ประสบปัญหาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ เป็นต้น นอกจากนั้น  จะเห็นได้ว่าในยุคหลังโควิค ธนาคารจะให้ความสำคัญในการค้นหาพันธมิตรเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในส่วนที่ตัวเองขาดหรือต่อยอดทางธุรกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยกำหนดแนวทางชัดเจนว่าจะสร้าง จะซื้อ หรือจะจับมือเป็นพันธมิตรกับใครและเมื่อใด เพื่อให้การเข้าถึงลูกค้าและการนำเสนอผลิตภัณฑ์มีรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างจากเดิมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การจับมือกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือแบรนด์ทางด้านยานยนต์เพื่อให้สามารถนำเสนอสินเชื่อได้ทันท่วงทีและทำให้การปิดการขายง่ายขึ้น ด้วยการแชร์ข้อมูลลูกค้าผ่าน APIs เพื่อให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจซื้อหรือจองผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็วมากกว่าในอดีต

4. สมองดิจิทัลที่มีความใส่ใจ

ที่ผ่านมา ธนาคารใช้เวลาหลายปีทั้งก่อนและระหว่างที่มีโควิดระบาด ในการทุ่มลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้บริการทางการเงินที่ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เป็นที่น่าเสียดายว่าหลายแอปฯ ที่แม้จะเป็นแอปฯ ที่ดี แต่ก็ไม่สามารถช่วยสร้างความภักดีต่อแบรนด์ได้ ในช่วงระหว่างปี 2561-2563 สัดส่วนของผู้บริโภคที่ไว้วางใจธนาคารของตน ระดับ “เป็นอย่างมาก” ในแง่การดูแลและสนับสนุนทางการเงินในระยะยาว ลดลงจาก 43% เหลือเพียง 29% ซึ่งด้วยปัจจัยดังกล่าวนี้เอง ทำให้ปัจจุบันธนาคารหลายแห่งเริ่มตระหนักว่าธนาคารจะสามารถสร้างโอกาสต่างๆ เพิ่มขึ้นได้อีกมาก หากธนาคารกลับมาใส่ใจและดูแลความสัมพันธ์ที่เคยมีกับลูกค้าให้ดีขึ้นมากกว่าเดิม โดย  ธนาคารจำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจบริบทของลูกค้าของตนและมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้ามาช่วยประเมินความต้องการของลูกค้าที่แท้จริง แต่ขณะเดียวกันก็สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ทางการเงินในช่วงเวลานั้นได้อย่างตรงจุดและทันเวลาไปพร้อมๆ กัน

5. เงินสกุลดิจิทัล พัฒนาสู่ระดับมหาวิทยาลัย

หากเปรียบเทียบกับชีวิตมนุษย์ ณ ตอนนี้ เงินสกุลดิจิทัลเปรียบเสมือนอยู่ในช่วงวัยรุ่น ที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่ผันผวนไปกับกระแสสังคม และพร้อมที่จะแหวกกฎระเบียบต่างๆ หรือธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาแต่เดิมได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกัน ปีนี้เองก็เป็นปีที่เงินสกุลดิจิทัลเติบโตขึ้น และธนาคารก็เรียนรู้ที่จะให้ความสำคัญอย่างจริงจัง โดยมีธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มพิจารณานำสกุลเงินดิจิทัลมาใช้หรือบางแห่งก็เริ่มนำมาใช้แล้ว ซึ่งทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์ที่ผันผวนในปัจจุบันและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ด้วยเงินสกุลดิจิทัลขององค์กรหลายแห่ง ทำให้เกิดการพัฒนากฎระเบียบใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับสกุลเงินคริปโตฯ และสร้างการรับรู้ว่าระบบการเงินดิจิทัลที่ไม่ต้องพึ่งพาธนาคาร (DeFi) ได้สร้างบริบทใหม่ในการให้บริการทางการเงินโดยไม่มีพรมแดนอีกต่อไป ทำให้ในอนาคตอันใกล้จึงมีการคาดการณ์กันว่าจะเห็นสถาบันการเงินและหน่วยงานภาครัฐแบ่งปันข้อมูลและแนวคิดเกี่ยวกับวิธีการผนวกมิติบางด้านของเงินรูปแบบใหม่นี้ เข้ามาในระบบการเงินหลักของโลกมากยิ่งขึ้น

6. ระบบอัจฉริยะทำให้พึ่งพามนุษย์น้อยลง

ในปี 2565 ธนาคารต่างๆ เริ่มมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิงไปใช้กับกระบวนการทำงานต่างๆ ในองค์กรมากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าในบางเรื่องคอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้ดีกว่ามนุษย์ และสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันขององค์กร รวมทั้งช่วยลดข้อจำกัดด้านการใช้บุคลากรในการสนับสนุนการเติบโตในอนาคตได้ ในขณะเดียวกันธนาคารต่างๆ ก็จำเป็นต้องเน้นการเพิ่มทักษะที่จำเป็นและประสิทธิผลของการทำงานของพนักงานที่มีอยู่ไปพร้อมๆ กัน ส่งผลให้ทุกวันนี้ จึงเห็นแนวโน้มของธนาคารต่างๆ พยายามปรับรูปแบบการดำเนินงานให้สอดคล้องกับศักยภาพของเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ เช่น การใช้ระบบคลาวด์และ API ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารดำเนินการได้เร็วขึ้น และส่งผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญเพื่อนำไปสู่ “zero operations” ตามเป้าที่ตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นการนำ AI และแมชชีนเลิร์นนิง มาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อ หรือการนำ AI มาใช้ในรูปแบบการโต้ตอบทางเสียงเพื่อให้บริการลูกค้าผ่านบริการลูกค้าสัมพันธ์ทางโทรศัพท์ เป็นต้น

7. สงครามแย่งบุคลากร

ปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีกลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักที่สำคัญสำหรับธุรกิจธนาคารซึ่งมีผลทำให้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีวิศวกรรม ข้อมูล และความปลอดภัยย่อมมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ขณะเดียวกัน การดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานและให้ความสำคัญกับคุณค่าของงานก็เป็นปัจจัยหลักในการทำงานก็กลายเป็นความท้าทายของธนาคารไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากคนรุ่นใหม่เหล่านั้นพบว่าวัฒนธรรมการทำงานในธนาคารบางแห่งมีกฎระเบียบ มีลำดับชั้น และเป็นทางการมากเกินไป ทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจในการอยากมาทำงานกับองค์กรเหล่านั้น ดังนั้น ธนาคารจึงจำเป็นที่ต้องมีการบูรณาการและจัดแผนงานในเรื่องของการบริหารบุคลากรแบบบองค์รวมเสียใหม่ เช่น มีการจับคู่ทักษะที่ต้องการในปัจจุบันและอนาคต เพื่อหาแนวทางที่หลากหลายในการสรรหาและรักษาบุคลากรที่มีอยู่เอาไว้ ควบคู่ไปกับการประเมินและทบทวนโครงสร้างองค์กร วัฒนธรรม และวิธีปฏิบัติงาน เพื่อทำให้องค์กรสามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้อยากเข้ามาทำงานกับองค์กรให้มากขึ้น

ถึงเวลาต้องใช้วิธีที่ต่างจากเดิม

ครั้งหนึ่งธนาคารเคยเชื่อว่าขนาดขององค์กร และข้อกำหนดจากหน่วยงานที่กำกับดูแลที่มีอยู่ในปัจจุบันจะช่วยปกป้ององค์กรให้รอดพ้นจากการดิสรัปต์ได้ แต่ปัจจุบันก็มีข้อพิสูจน์มากขึ้นว่าปัจจัยเหล่านี้ แท้จริงแล้วอาจกลายเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจในอนาคตด้วยซ้ำ ดังนั้น ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมปัจจุบันและทศวรรษนับต่อจากนี้ไป ธนาคารที่จะประสบความสำเร็จจำเป็นต้องทำสิ่งที่แตกต่างออกไป โดยองค์กรเหล่านั้นจะต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจในยุคดิจิทัลได้อย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเพื่อสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของความต้องการของลูกค้า พนักงาน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนั้น ธนาคารจะต้องส่งมอบสิ่งที่มากกว่าผลตอบแทนทางการเงินต่อผู้ถือหุ้น โดยสินทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอนาคตของธนาคารคือ ความสามารถในการแสวงหาโอกาส และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงในปี 2565 เราอาจจะเริ่มเห็นการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์นิวนอร์มอลในอุตสาหกรรมธนาคารก็เป็นได้.


กำลังโหลดความคิดเห็น