xs
xsm
sm
md
lg

โอมิครอน-สงครามยูเครนขย่ม ศก.ไทย ครึ่งปีแรกซม-หวังครึ่งปีหลังเดินหน้าต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์เศรษฐกิจไทย เพียงแค่ผ่านไป 3 เดือนแรกของปี เป้าหมายการเติบโตที่วาดหวังไว้ในระดับเฉียด 4% ก็ต้องถูกดับฝันด้วยปัจจัยใหม่ที่ซ้ำเติมเข้ามา หลังจากที่เพิ่งผงกหัวขึ้นมาจากวิกฤตโอมิครอน ทำให้หลายสำนักต้องมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจกันอย่างยั้งไม่อยู่ ผู้จัดการรายวัน 360 องศา จึงได้รวบรวมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี พร้อมทั้งมองไปข้างหน้าในช่วงที่เหลือของปีไปด้วยกัน

เริ่มจากช่วงปลายปีก่อนที่ประเทศไทยเริ่มมีความหวังกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ที่มองกันว่าจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้อย่างชัดเจนขึ้นจากปี 2564 ที่มีอัตราการเติบโตเพียง 1.6% หลังการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่มีความรุนแรงน้อยลง และสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น ทำให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมลงเรื่อยๆ ประชาชนเริ่มกลับมาดำเนินธุรกรรมตามปกติได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวก็จะมีความหวังมากขึ้นเมื่อรัฐเริ่มเปิดประเทศกว้างขึ้น แม้นักท่องเที่ยวกลุ่มหลักอย่างจีนจะยังคงปิดประเทศ แต่เพียงผ่านพ้นปีใหม่ไปไม่นาน กลับมีปัจจัยการปะทุขึ้นของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนจนพัฒนาการสู่สงครามเข้ามาแทรก ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยจนทำให้หลายๆ สำนัก องค์กรต่างๆ ต้องปรับลดประมาณการจีดีพีในปี 65 ลง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถานบัน (กกร.) และสถาบันการเงินต่างๆ

โดย ธปท.ปรับลดประมาณการจีดีพีปี 65 เหลือ 3.4% จากเดิม 3.9% ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการจีดีพีโตเหลือ 2.5% จากเดิม 3.7% ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดประมาณการจีดีพีโต 2.7% จากเดิม 3.2% ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ปรับลดประมาณการจีดีพีโต 2.8% จากเดิม 3.7% KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน ปรับประมาณการจีดีพีโต 3.2% จากเดิม 3.9% ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต ปรับประมาณการจีดีพีโต 3.0% จากเดิมที่ 3.6% ซีไอเอ็มบีไทย ปรับประมาณการจีดีพีโต 3.1% จากเดิม 3.8% ธนาคารโลก ปรับประมาณการจีดีพีโต 2.9% จาก 3.6% รวมถึงปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานโดยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยจะยืนอยู่เหนือระดับ 4%ในปีนี้

ชี้สงครามยูเครนกระทบต้นทุนธุรกิจ 8 หมื่นล้านบาท

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า เหตุความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นปัจจัยที่เข้ามาซ้ำเติมเศรษฐกิจที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตโควิด โดยภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีฐาน ที่การปะทะสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จำกัดอยู่ในบางพื้นที่ของประเทศยูเครน แต่ข้อตกลงร่วมกันคงยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้ และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกและสหรัฐฯ ต่อรัสเซียจะคงอยู่ไปตลอดทั้งปีนี้นั้น คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบมีค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และจีดีพีขยายตัวที่ 2.5% และในกรณีดีนั้น คาดการณ์ตัวเลขจีดีพีไว้ที่ 2.9% ซึ่งเกิดขึ้นบนสมมติฐานที่รัสเซีย-ยูเครนหาทางออกร่วมกันได้เร็วกว่าที่กำหนด หรือภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ อันทำให้ราคาน้ำมันดิบอาจย่อตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง และทำให้ค่าเฉลี่ยน้ำมันทั้งปี 2565 อยู่ที่ 90 ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นข้างต้นจะส่งผ่านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยมองว่ามีโอกาสเร่งตัวสูงขึ้นแตะ 4.5% ในกรณีฐาน ท่ามกลางการที่ภาครัฐมีมาตรการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย.65 ส่งผลให้ในบางช่วงของปีหลังจากนั้นราคาน้ำมันดีเซลอาจจะขยับขึ้นเกิน 30 บาทต่อลิตรหากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อดังกล่าวทำให้มีโอกาสที่เฟดจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ส่งสัญญาณสู่ระดับ 1.75-2.00% ณ สิ้นปี 2565 รวมถึงเพิ่มแรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเช่นกัน

ด้าน น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ปัจจัยรัสเซีย-ยูเครน กระทบต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นมูลค่าราว 8 หมื่นล้านบาท โดยผลกระทบส่วนใหญ่ตกอยู่กับภาคธุรกิจ ซึ่งจะถูกกระทบแตกต่างกันตามสัดส่วนการใช้วัตถุดิบและความสามารถในการปรับตัว ขณะที่ผลกระทบบางส่วนตกอยู่กับผู้บริโภค โดยคาดการณ์ผลกระทบต่อภาคการผลิตจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นคิดเป็นเม็ดเงินไม่น้อยกว่า 80,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบผ่านการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรป ซึ่งแม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยรวมในปี 2565 อาจแตะ 4 ล้านคน แต่การใช้จ่ายจะลดลงราว 5 หมื่นล้านบาทจากกรณีที่ไม่มีสงคราม นอกจากนี้ ภาคการบริการอื่นๆ ได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่เพียงแต่ต้นทุนที่ขยับขึ้น ค่าครองชีพที่สูงขึ้นของผู้บริโภคยังวนกลับมากดดันยอดขายภาคธุรกิจอีกด้วย ทำให้ในภาพรวมแล้วประเมินตัวเลขการขยายตัวของธุรกิจในกลุ่มรถยนต์อิเล็กทรอนิกส์ ค้าปลีก และร้านอาหารน้อยลงจากรณีไม่มีสงคราม

คาดครึ่งปีหลังเติบโตได้ดีขึ้น

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังมีทิศทางการขยายตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรก โดยประมาณการจีดีพีไตรมาส 1 เติบโต 1.5% ไตรมาส 2 เติบโต 2.3% และในไตรมาสที่ 3 -4 เติบโตได้กว่า 4% เนื่องจากในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โอมิครอน สงครามยูเครน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ส่งต่อมาถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง โดยคาดการณ์ในไตรมาส 2 จะเป็นจุดสูงสุดของราคาน้ำมันและเงินเฟ้อ จากสมมติฐานราคาน้ำมันดิบเบรนต์ที่จะถึงจุดสูงสุดที่ 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงไตรมาส 2 ก่อนปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีหลังและเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากนั้นในครึ่งปีหลังจะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังจะทำให้จีดีพีในครึ่งปีหลังเติบโตสูงกว่า ขณะที่ประมาณการเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 4.5% การส่งออกเติบโต 8% และจำนวนนักท่องเที่ยวต่ำกว่า 3 ล้านคน ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 5 ล้านคน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมา และนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ลดลง

"เรามองว่าไตรมาส 2 จะเป็นไตรมาสที่มีความผันผวนมากจากราคาพลังงานที่พีก รวมถึงนโยบายการเงินเฟดที่จะเข้มงวดขึ้นในช่วงดังกล่าวที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบละ 0.50% ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน รวมกับการถอนการทำ QE จะทำให้เกิดความผันผวนทั้งในตลาดเงิน ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงแตะระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้นกลับมาแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปี และตลาดทุนที่อาจจะมีเงินทุนไหลออก อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีเลวร้ายที่มีสงครามยืดเยื้อขยายวงกว้าง ราคาน้ำมันพุ่งเกินระดับ 130-140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ประมาณการจีดีพีเติบโต 1-2% คงยังไม่มองไปถึงระดับติดลบ"

จับตา กนง.ส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นเดือน มิ.ย.

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเริ่มส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่เร่งโดยคาดการณ์ว่าในการประชุมเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนจะปรับขึ้น 0.50% ต่อครั้ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ทั้งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับต่างประเทศ และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะเป็นปัจจัยที่ ธปท.จะต้องพิจารณาเพิ่มเติมหลังจากที่ให้น้ำหนักกับการคงดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2566

"ต้องให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งเพียงพอที่จะรับมือกับการขึ้นดอกเบี้ยได้ก่อน ธปท. จึงจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างไม่เป็นกังวล โดยจากถ้อยแถลงของ ธปท.ก่อนหน้านี้ ยังให้น้ำหนักกับการคงดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเดือน มิ.ย.-พ.ค.เป็นเดือนที่สำคัญเพราะเฟดไม่เพียงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่แรง ทำให้ส่วนต่างกับอัตราดอกเบี้ยไทยกว้างขึ้นพอสมควร จึงต้องดูว่าการประชุม กนง.เดือน มิ.ย.นี้ ธปท.จะเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย และส่งสัญญาณปรับขึ้นหรือไม่ หากเป็นไปตามนั้นเราอาจจะพิจารณามุมมองการปรับดอกเบี้ยขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ก็ได้"

สำหรับ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นจนแตะระดับ 90% ของจีดีพีนั้น นับเป็นระดับที่สูง แต่ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมาทำให้ครัวเรือนขาดสภาพคล่องมีความจำเป็นกู้เงินเพิ่ม ซึ่งแนวทางการดูแลนั้นต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของ ธปท.ด้วย โดยอาจจะต้องกลับมาพิจารณาถึงการก่อหนี้เพิ่มในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งจะมาจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ทำให้จูงใจในการเพิ่มหนี้ รวมถึงทำให้เกิดพฤติกรรมที่เรียกว่า Search for Yield ด้วย

อย่างไรก็ตาม ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดยังคงมีมุมมองระมัดระวังต่อเศรษฐกิจไทย และยังคงประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ที่ 3.3% โดยคาดการณ์ครึ่งปีแรกเติบโต 1.5% และครึ่งปีหลังที่ 5% พร้อมทั้งปรับประมาณการเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% จากเดิม 3% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าไทย 4-5 ล้านคน จากเดิม 5-10 ล้านคน และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากร้อยละ 1.5 ของจีดีพี เป็นร้อยละ 0.5 ของจีดีพี ขณะที่ราคาน้ำมันจะยังอยู่ในระดับสูงกว่า 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลตลอดทั้งปี










กำลังโหลดความคิดเห็น