xs
xsm
sm
md
lg

วัสดุฯ-โรงไฟฟ้า-ขนส่ง-อุปโภคบริโภครับเละ เงินเฟ้อพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บล.เอเซียพลัส ระบุ 4 กลุ่มหุ้นวัสดุก่อสร้าง โรงไฟฟ้า ขนส่ง และสินค้าอุปโภคบริโภค เสียประโยชน์ รับอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง หลังความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน หนุนราคาน้ำมันตลาดโลกทะลุ 100 เหรียญต่อบาร์เรล ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงาน ปิโตรฯ โรงกลั่น และสินค้าโภคภัณฑ์ได้รับประโยชน์ เช่น PTTEP-PTT-TOP-PTTGC-NER-KSL ด้านศูนย์วิจัยกสิกรฯ หั่นเป้าจีดีพีไทยปีนี้เหลือโต 2.5% หลังราคาน้ำมันพุ่ง ส่งผ่านถึงราคาสินค้าและอาหาร อาจทำเงินเฟ้อเร่งตัวแตะ 4.5%

บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ จากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส (ASPS) เปิดเผยว่า จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ทำให้ระยะข้างหน้าความผันผวนยังมีอยู่ แต่ผลกระทบอาจยังไม่สะท้อนในดัชนีเศรษฐกิจปัจจุบันอย่างชัดเจนนัก ขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินความขัดแย้งรัสเซียยูเครนต่อไทยจะส่งผลผ่านช่องทางหลักคือราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ จากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ASPS จึงสำรวจหาหุ้นที่มีเกราะป้องกันจากอัตราเงินเฟ้อ เช่น ราคาขายเพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนมักไม่เพิ่มตาม ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นที่ทำธุรกิจในส่วนต้นน้ำเป็นหลัก เช่น PTTEP, BANPU, NER, KSL เป็นต้น

เปิดโผ 26 หุ้นได้-เสียประโยชน์จากเงินเฟ้อพุ่ง

นอกจากนี้ ได้ประเมินหุ้นได้ประโยชน์จากกรณีดังกล่าว ประกอบด้วย กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี โรงกลั่น เช่น PTTEP BANPU PTT TOP PTTGC IVL IRPC และกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ NER KSL CPF TFG GFPT

ส่วนหุ้นที่ได้รับผลกระทบ คือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง SCCC SCC TPIPL TASCO DCC VNG กลุ่มโรงไฟฟ้า GPSC BGRIM GULF RATCH กลุ่มขนส่ง BA AAV และกลุ่มผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค BJC OSP

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองเงินเฟ้อมีโอกาสพุ่ง 4.5%

น ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ และวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนยังส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยผ่านราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ทั้งที่เป็นโลหะอุตสาหกรรม และสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตให้เร่งตัวขึ้น

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีฐาน ที่การปะทะสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จำกัดอยู่ในบางพื้นที่ของประเทศยูเครน แต่ข้อตกลงร่วมกันคงยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้ และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกและสหรัฐฯ ต่อรัสเซียจะคงอยู่ไปตลอดทั้งปีนี้นั้น คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบมีค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และจีดีพีขยายตัวที่ 2.5%

ส่วนในกรณีดีนั้น คาดการณ์ตัวเลขจีดีพีไว้ที่ 2.9% ซึ่งเกิดขึ้นบนสมมติฐานที่รัสเซีย-ยูเครนหาทางออกร่วมกันได้เร็วกว่าที่กำหนด หรือภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ อันทำให้ราคาน้ำมันดิบอาจย่อตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง และทำให้ค่าเฉลี่ยน้ำมันทั้งปี 65 อยู่ที่ 90 ดอลลาร์

ผลกระทบที่เกิดขึ้นข้างต้นจะส่งผ่านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยมองว่ามีโอกาสเร่งตัวสูงขึ้นแตะ 4.5% ในกรณีฐาน ท่ามกลางการที่ภาครัฐมีมาตรการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเม.ย.65 ส่งผลให้ในบางช่วงของปีหลังจากนั้นราคาน้ำมันดีเซลอาจจะขยับขึ้นเกิน 30 บาทต่อลิตร หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อดังกล่าว ทำให้มีโอกาสที่เฟดจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ส่งสัญญาณสู่ระดับร้อยละ 1.75-2.00 ณ สิ้นปี 65 รวมถึงเพิ่มแรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเช่นกัน

มองสงครามรัสเซีย-ยูเครนกระทบต้นทุนอุตฯ 8 หมื่นล้านบาท

น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ปัจจัยรัสเซีย-ยูเครน กระทบต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นมูลค่าราว 8 หมื่นล้านบาท โดยผลกระทบส่วนใหญ่ตกอยู่กับภาคธุรกิจ ซึ่งจะถูกกระทบแตกต่างกันตามสัดส่วนการใช้วัตถุดิบและความสามารถในการปรับตัว ขณะที่ผลกระทบบางส่วนตกอยู่กับผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบผ่านการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรป ซึ่งแม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยรวมในปี 65 อาจแตะ 4 ล้านคน แต่การใช้จ่ายจะลดลงราว 5 หมื่นล้านบาทจากกรณีที่ไม่มีสงคราม

นอกจากนี้ ภาคการบริการอื่นๆ ได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่เพียงแต่ต้นทุนที่ขยับขึ้น ค่าครองชีพที่สูงขึ้นของผู้บริโภค ยังวนกลับมากดดันยอดขายภาคธุรกิจอีกด้วย ทำให้ในภาพรวมแล้วประเมินตัวเลขการขยายตัวของธุรกิจในกลุ่มรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ค้าปลีก และร้านอาหารน้อยลงจากรณีไม่มีสงคราม


กำลังโหลดความคิดเห็น