xs
xsm
sm
md
lg

“สุพัฒนพงษ์” จับตาวิกฤตซ้อนวิกฤต ลั่นรัฐบาลพร้อมรับมือ แจง 10 มาตรการพร้อมช่วย ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุพัฒนพงษ์” รับต้องติดตามสถานการณ์โลกใกล้ชิด ชี้อาจเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤตได้แต่รัฐไม่ประมาทวอนประชาชนเชื่อมั่นรัฐบาล "ลุงตู่"  ย้ำ 10 มาตรการพร้อมดูแลค่าครองชีพประชาชนระยะสั้น 3 เดือน ด้านพลังงานกางเม็ดเงินดูแลรอบใหม่ 4.3-4.5 หมื่นล้านบาท รวมที่ผ่านมาใช้เงินสูงถึง 2 แสนล้านบาท ยันวินมอเตอร์ไซค์ได้รับส่วนลด 5 บาท/ลิตร ค่าไฟฟ้าไม่ขยับขึ้นสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน คาดคนได้ประโยชน์จาก 10 มาตรการรวมไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เปิดเผยในการแถลงข่าวถึงมาตรการค่าครองชีพประชาชนว่า ระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นมาก และยังมีมาตรการแซงก์ชันและแบ่งขั้วอำนาจของแต่ละประเทศทำให้ทรัพยากรและการค้าโลกไม่สมดุลอย่างที่เคยเป็นมาและคงจะต้องติดตามใกล้ชิดหากยืดเยื้อมากก็จะกระทบราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นซึ่งจะกลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตที่จะเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นแต่รัฐบาลยืนยันว่าไม่ได้ประมาทและอยากให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมีมาตรการดูแลอย่างเต็มที่

“มองว่าจะยืดเยื้อในเรื่องของมาตรการต่างๆ น่าจะคงอยู่ต่อไปยาวแต่ก็ไม่อยากสรุปทันทีต้องติดตามใกล้ชิด รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 22 มี.ค.จึงออก 10 มาตรการช่วยค่าครองชีพประชาชนที่ได้รับผบกระทบจากโควิด และสงครามรัสเซีย-ยูเครนระยะสั้นก่อน 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค. 65) เพื่อประคับประคองประชาชนแต่ละกลุ่มให้สอดคล้องที่เป็นอยู่ โดยยังรักษาเสภียรภาพทางการเงินของไทยไว้ แต่ระยะต่อไปอาจเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤตได้แต่เราไม่ประมาท แต่มันก็เกิดกับทุกประเทศ รัฐบาลไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศเราก็ได้ดูแลแก้ไขเยียวยาในระดับในเกณฑ์ที่ดี อยากให้มั่นใจ” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว


นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มาตรการช่วยค่าครองชีพประชาชนตาม ครม.เห็นชอบ 10 มาตรการส่วนของพลังงานนั้น คาดว่าเม็ดเงินสำหรับการดูแลราคาพลังงานรอบใหม่ (พ.ค.-ส.ค.) จะใช้ประมาณ 4.3-4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากรวมกับเม็ดเงินที่ดูแลราคาพลังงานมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เมื่อปี 2563 อีก 1.64 แสนล้านบาท แล้วก็จะรวมเป็นวงเงินที่เข้าไปอุดหนุนราคาพลังงาน รวม 2-2.1 แสนล้านบาท เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและเงินที่ใช้ส่วนใหญ่มาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และล่าสุดฐานะกองทุนฯ ติดลบไปกว่า 3 หมื่นล้านบาท

สำหรับแผนงานการดูแลพลังงานรอบใหม่ เช่น ราคาดีเซล จะตรึงไว้ที่ 30 บาท/ลิตร จนถึงสิ้นเดือน เม.ย. และตั้งแต่ 1 พ.ค.หากราคาเกิน 30 บาท ทางด้านกองทุนน้ำมันฯ จะเข้ามาดูแลครึ่งหนึ่ง เรียกว่า "คนละครึ่ง" เช่น หากต้นทุนที่แท้จริงอยู่ที่ 38 บาท ราคาดีเซลก็จะอยู่ที่ 34 บาท/ลิตร เป็นต้น, ก๊าซหุงต้ม (LPG) จะทยอยขยับราคากิโลกรัม (กก.) ละ 1 บาท/กก.ทุกเดือนเป็นเวลา 3 เดือน เริ่ม เม.ย.-มิ.ย. โดยเมื่อถึงสิ้น มิ.ย.ราคาจะเป็น 363 บาท/ถัง ขนาด 15 กก. ซึ่ง 2 ปีจากที่รัฐกำหนดราคาแอลพีจีอยู่ที่ 318 บาท/ถัง เงินกองทุนน้ำมันต้องเข้าดูแลราคาไปกว่า 2.8 หมื่นล้านบาทแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้จะยังคงดูแลผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้เงินซื้อก๊าซฯ ขยับขึ้นจาก 45 บาทเป็น 100 บาท/ถังในช่วง 3 เดือน โดยใช้งบฯ กลางสนับสนุน 200 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน บมจ. ปตท.ยังช่วยเยียวยาในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมโครงการของ ปตท.อีก 5.5 พันราย ลดราคา 100 บาท/คน/เดือน ตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.

มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก 1.57 แสนคน ได้รับส่วนลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน 5 บาท/ลิตร รวม 250 บาท/เดือน เป็น 3 เดือน ใช้งบกลางสนับสนุน ส่วนราคา NGV ปตท.สนับสนุนคงราคา 15.59 บาท/กก. และช่วยสนับสนุนแท็กซี่ในโครงการ ลมหายใจเดียวกัน ได้ราคาพิเศษ 13.62 บาท/กก. ตั้งแต่ 15 มี.ค.-15 มิ.ย.

ขณะที่การอุดหนุนค่าไฟฟ้า สำหรับประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน จะได้ประโยชน์ราว 20 ล้านราย โดยเดือน พ.ค.-ส.ค. จะตรึงค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ไม่ขยับขึ้น ประชาชนจ่ายค่าเอฟทีเท่ากับงวด ม.ค.-เม.ย.ที่ 1.39 สตางค์/หน่วย ทำให้จ่ายค่าไฟฟ้าเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานเพียง 3.78 บาท/หน่วย จากอัตราที่แท้จริงอยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย ในส่วนวงเงินเข้ามาช่วยเหลือก็จะเป็นงบกลาง

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สำหรับมาตรการทั้ง 10 ข้อที่รวมกับเงินด้านประกันสังคมทางกระทรวงการคลัง จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนรวมไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน แหล่งเงินที่ใช้ในการดำเนินการประมาณ 8 หมื่นล้านบาทเป็นการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (เงินกู้) ราว 39,520 ล้านบาท คิดเป็น 49% กองทุนประกันสงคม (เงินสมทบ) 35,224 ล้านบาท คิดเป็น 44% สำนักงบประมาณ (งบกลาง) 3,740 ล้านบาท คิดเป็น 5% และ บมจ.ปตท. 1,763 ล้านบาท คิดเป็น 2% ซึ่งเงินช่วยเหลือเหล่านี้ก็เป็นที่คาดหวังว่าแม่ค้าพ่อค้า และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างจะไม่ขึ้นค่าสินค้าและบริการต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น