xs
xsm
sm
md
lg

จับตา ก.พลังงานกางแผนรับมือวิกฤตน้ำมันโลกพุ่ง 11 มี.ค.นี้ลุ้นระทึก LPG ส่อตรึงไม่อยู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"สุพัฒนพงษ์" ควงผู้บริหารพลังงานเปิดแถลงมาตรการรับมือวิกฤติฝน้ำมัน 11 มี.ค.นี้ ระทึกจ่อขยับขึ้นก๊าซหุงต้ม 1 บาท/กก. บอร์ด กพช.ไฟเขียวเลิกเพดานกองทุนน้ำมัน 4 หมื่นล้านเพื่อความยืดหยุ่น ปรับสูตรก๊าซเบรกค่าไฟขึ้น เคาะรับซื้อไฟโซลาร์ฯ ภาคประชาชนปีละ 10 MW ระยะ 10 ปี

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า
วันที่ 11 มี.ค.นี้กระทรวงพลังงานนำโดย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน จะร่วมกับผู้บริหารที่เกี่ยวข้องแถลงถึงมาตรการรับมือผลกระทบวิกฤตราคาน้ำมันโลกสูงที่จะมีการกำหนดแนวทางไว้ชัดเจนว่าระดับน้ำมันโลกขยับไปสู่ระดับใดควรจะใช้มาตรการใด เช่นน้ำมันดิบอยู่ที่ 100-130 เหรียญต่อบาณ์เรลจะทำอะไร 131-150 เหรียญ และมากกว่า 150 เหรียญทำอย่างไร โดยยืนยันว่าได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ซึ่งจะรวมไปถึงการเปิดตัวรณรงค์มาตรการประหยัดพลังงาน

“มติเดิมจะตรึงดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และตรึงราคาแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) ภาคครัวเรือนที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) จนถึงสิ้น มี.ค.นี้จะมีการตรึงราคาต่อไปหรือไม่อย่างไรก็คงจะมีคำตอบในวันที่ 11 มี.ค.นี้ อย่างไรก็ตามยอมรับว่าราคาแอลพีจีที่แท้จริงได้ขยับไปสูงถึง 435 บาทต่อถัง เงินกองทุนน้ำมันฯต้องอุดหนุนแล้ว 18.17 บาทต่อ กก. ดังนั้น ในส่วนของแอลพีจีมีแผนที่จะต้องปรับขึ้นตามขั้นบันไดไตรมาสละ 1 บาทต่อกก.หรือ 15 บาทต่อถัง 15 กก.มาอยู่ที่ 333 บาท/ถัง 15 กก. โดยการช่วยเหลือจะพิจารณาเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนกลุ่มเบนซินเองก็อาจจะมีมาตรการดูแลเฉพาะผู้มีรายได้น้อยด้วยเช่นกัน” นายกุลิศกล่าว

สำหรับมติ กพช.ครั้งนี้เห็นชอบการปลดเพดานการกู้เงินกองทุนน้ำมันฯ ที่วางไว้ไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาทออกไปเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นต่อการบริหารจัดการ แต่กระทรวงฯ ก็ยังคงยึดหลักการดังกล่าวไว้เช่นเดิมเนื่องจากสถาบันการเงินเองก็ย่อมต้องพิจารณาถึงศักยภาพการชำระหนี้อยู่ดีจึงไม่ใช่หมายถึงจะกู้มาเท่าใดก็ได้ ขณะเดียวกันยังได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) (Energy Pool Price) ในช่วงราคาผันผวน โดยนำต้นทุนค่าใช้จ่ายน้ำมันเตา น้ำมันดีเซล และ LNG นำเข้าของกลุ่ม Regulated Market มาเฉลี่ยกับต้นทุนก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่ส่งผลถึงผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง

 


บอร์ด กกพ.เร่งถกกดต้นทุนหวังลดภาระค่าไฟขึ้น

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ.
กล่าวว่า บอร์ด กกพ.คงจะต้องนำมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐพิจารณาในการช่วยลดผลกระทบค่า Ft ทั้งการลดภาษีน้ำมันสำหรับผลิตไฟฟ้าเหลือศูนย์ 6 เดือน Energy Pool Price ฯลฯ ว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบมากน้อยเพียงใด แต่ยอมรับว่าหากสะท้อนต้นทุนจริงค่า Ft งวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค. 65) จะขยับเกิน 16.71 สตางค์ต่อหน่วย

“คงต้องมาดูว่ามาตรการแต่ละส่วนต่างๆ ที่รัฐสนับสนุนมาจะมาลดต้นทุนได้มากแค่ไหน โดยในส่วนที่ลดภาษีน้ำมันในการนำมาผลิตไฟฟ้านั้นลดค่า Ft ได้เพียงระดับ 6 กว่าสตางค์ต่อหน่วยเท่านั้นไม่ใช่ 1-1.5 บาทต่อหน่วย ซึ่งทางบอร์ด กกพ.เองก็จะพยายามดูแลให้ดีที่สุด” นายคมกฤชกล่าว

รับซื้อไฟโซลาร์ฯ 10 ปี ปีละ 10 MW
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) 
กล่าวว่า กพช.ได้เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชนบ้านที่อยู่อาศัย (โซลาร์ภาคประชาชน) ให้มีการรับซื้อต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป โดยกำหนดเป้าหมายการรับซื้อปีละ 10 เมกะวัตต์ (MWp) ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 2.20 บาทต่อหน่วย และระยะเวลารับซื้อ 10 ปี ส่วนโซลาร์ฯ กลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร รับซื้อ 1 บาทต่อหน่วยรั บซื้อปีละ 10 เมกะวัตต์ (MWp) ระยะเวลา 10 ปีเช่นกัน

เร่งคลัง LNG แห่งที่ 2 ให้เสร็จ พ.ค.นี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติให้ปรับเพิ่มวงเงินลงทุนโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 2 จังหวัดระยอง [T-2] ที่มอบหมายให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการ จากเดิมวงเงิน 38,500 ล้านบาท เป็นวงเงินไม่เกิน 41,400 ล้านบาทเพื่อให้เสร็จเร็วกว่าแผนจากเดิม พ.ย. 65 มาเป็น พ.ค. 65 เพื่อรองรับการนำเข้า LNG ได้เพิ่มขึ้น 2.5 ล้านตันต่อปี เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติจากการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ รวมถึงความเสี่ยงจากสถานการณ์ในประเทศเมียนมา เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น