ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการจีดีพีปีนี้เติบโตลดลงเหลือ 2.5% จากเดิมที่ 3.7% จากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่แล้ว วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนยังส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ทั้งที่เป็นโลหะอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตให้เร่งตัวขึ้น
น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีฐาน ที่การปะทะสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จำกัดอยู่ในบางพื้นที่ของประเทศยูเครน แต่ข้อตกลงร่วมกันคงยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้ และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกและสหรัฐฯ ต่อรัสเซียจะคงอยู่ไปตลอดทั้งปีนี้นั้น คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบมีค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และจีดีพีขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ส่วนในกรณีดีนั้น คาดการณ์ตัวเลขจีดีพีไว้ที่ร้อยละ 2.9 ซึ่งเกิดขึ้นบนสมมติฐานที่รัสเซีย-ยูเครนหาทางออกร่วมกันได้เร็วกว่าที่กำหนด หรือภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ อันทำให้ราคาน้ำมันดิบอาจย่อตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง และทำให้ค่าเฉลี่ยน้ำมันทั้งปี 2565 อยู่ที่ 90 ดอลลาร์
นอกจากนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นข้างต้นจะส่งผ่านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยมองว่ามีโอกาสเร่งตัวสูงขึ้นแตะร้อยละ 4.5 ในกรณีฐาน ท่ามกลางการที่ภาครัฐมีมาตรการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย.65 ส่งผลให้ในบางช่วงของปีหลังจากนั้นราคาน้ำมันดีเซลอาจจะขยับขึ้นเกิน 30 บาทต่อลิตรหากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อดังกล่าวทำให้มีโอกาสที่เฟดจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ส่งสัญญาณสู่ระดับร้อยละ 1.75-2.00 ณ สิ้นปี 2565 รวมถึงเพิ่มแรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเช่นกัน
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงอยากจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม คือ 0.50% ไว้ต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่แรงกดดันด้านอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศโดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด ฟันด์ เรตถี่ขึ้นจะเป็นแรงกดดันมากขึ้นเมื่อส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯ กว้างขึ้น จนอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินทุนไหลเข้าออก และค่าเงินบาท จึงมองว่า ธปท.คงจะมีการติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิดในการประชุมแต่ละรอบ และจุดโฟกัสน่าจะอยู่ในช่วงครึ่งปีหลังที่ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยไทย-สหรัฐฯ เริ่มกว้างขึ้น
ส่วนที่มีการเสนอให้ภาครัฐกู้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อพยุงเศรษฐกิจนั้น มองว่าหากจำเป็นก็สามารถทำได้ แต่จุดที่สำคัญคือแนวทางที่จะนำเงินมาใช้ ซึ่งควรนำมาใช้ในแนวทางที่จะทำให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบมาต่อเนื่องสามารถสร้างรายได้ได้ในระยะยาว มิฉะนั้นหากกลุ่มนี้ฟื้นตัวไม่ได้เศรษฐกิจจะเดินหน้าไปได้ยาก เงินกู้ดังกล่าวจะย้อนกลับมาเป็นปัญหาด้านเสถียรภาพทางการคลังต่อไปได้
ส่วนผลกระทบต่อธุรกิจไทย น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ มองว่า ปัจจัยรัสเซีย-ยูเครน กระทบต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นมูลค่าราว 8 หมื่นล้านบาท โดยผลกระทบส่วนใหญ่ตกอยู่กับภาคธุรกิจ ซึ่งจะถูกกระทบแตกต่างกันตามสัดส่วนการใช้วัตถุดิบและความสามารถในการปรับตัว ขณะที่ผลกระทบบางส่วนตกอยู่กับผู้บริโภค โดยคาดการณ์ผลกระทบต่อภาคการผลิตจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นคิดเป็นเม็ดเงินไม่น้อยกว่า 80,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบผ่านการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรป ซึ่งแม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยรวมในปี 2565 อาจแตะ 4 ล้านคน แต่การใช้จ่ายจะลดลงราว 5 หมื่นล้านบาทจากกรณีที่ไม่มีสงคราม นอกจากนี้ ภาคการบริการอื่นๆ ได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่เพียงแต่ต้นทุนที่ขยับขึ้น ค่าครองชีพที่สูงขึ้นของผู้บริโภคยังวนกลับมากดดันยอดขายภาคธุรกิจอีกด้วย ทำให้ในภาพรวมแล้วประเมินตัวเลขการขยายตัวของธุรกิจในกลุ่มรถยนต์อิเล็กทรอนิกส์ ค้าปลีก และร้านอาหารน้อยลงจากรณีไม่มีสงคราม
*ในครั้งนี้เรายังคงประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทยไว้ในระดับเดิมที่ 4 ล้านคน แม้นักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรปจะมีแนวโน้มลดลง แต่จากการที่ภาครัฐมีนโยบายที่จะเปิดการท่องเที่ยวกับประเทศใกล้เคียงเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย สปป.ลาว และอินเดีย น่าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นชดเชยส่วนที่ลดลงไปได้ เพียงแต่จำนวนเงินใช้จ่ายต่อทริปจะลดลง"
ด้าน น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ระบุเพิ่มเติมว่า แม้การคว่ำบาตรทางการเงินของประเทศมหาอำนาจในโลกต่อรัสเซีย จะมีผลกระทบทางตรงที่จำกัดตามปริมาณการค้าระหว่างรัสเซีย-ยูเครนกับไทย แต่จุดติดตามจะอยู่ที่สถานการณ์ที่ยังไม่นิ่ง ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนไหวของตลาดการเงินผันผวนต่อเนื่อง และต้นทุนการระดมทุนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากความไม่แน่นอนที่ยังอยู่และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยภายในปี 2565 จะมีตราสารหนี้ภาคเอกชนที่รอครบกำหนดอีกกว่า 7 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากคงต้องได้รับการดูแลเพิ่มเติมในแง่ของวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนเพิ่มเติมในรายที่ยังประคองคำสั่งซื้อไว้ได้ รวมถึงประเด็นปรับโครงสร้างหนี้และคุณภาพหนี้ ซึ่งรวมแล้วสินเชื่อธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากต้นทุนน้ำมันและวัตถุดิบอาหารที่เพิ่มขึ้น จะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 4-5 ของพอร์ตสินเชื่อรวม ขณะที่ประเมินภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งปีนี้ที่ร้อยละ 4.5 ในกรณีฐาน
นอกจากนี้ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อความผันผวนในตลาดเงิน รวมถึงค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงแตะระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ได้ในช่วงครึ่งปีแรก ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจึงควรเตรียมพร้อมที่จะป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินด้วย