ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเริ่มส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ และคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในไตรมาส 3 ปีหน้า และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2566
“เราคาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ไปจนถึงกลางปีหน้า อย่างไรก็ตาม ธปท.น่าจะเริ่มส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ เงินเฟ้อกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยยังเป็นที่ติดตามว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อนี้จะเป็นเพียงระยะสั้นหรือไม่ และจำเป็นต้องใช้ดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาในตอนนี้หรือไม่” นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าว
“ต้องให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งเพียงพอที่จะรับมือกับการขึ้นดอกเบี้ยได้ก่อน ธปท. จึงจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างไม่เป็นกังวล โดยจากถ้อยแถลงของ ธปท.ก่อนหน้านี้ ยังให้น้ำหนักกับการคงดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเดือน มิ.ย.-พ.ค.เป็นเดือนที่สำคัญเพราะเฟดไม่เพียงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่แรง ทำให้ส่วนต่างกับอัตราดอกเบี้ยไทยกว้างขึ้นพอสมควร จึงต้องดูว่าการประชุม กนง.เดือน มิ.ย.นี้ ธปท.จะเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย และส่งสัญญาณปรับขึ้นหรือไม่ หากเป็นไปตามนั้นเราอาจจะพิจารณามุมมองการปรับดอกเบี้ยขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ก็ได้”
ธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศได้ส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น โดยมีธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มนำร่อง และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ความเห็นจากคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดหลายท่านทำให้ตลาดเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก ดังนั้น ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งละ 0.50% ในการประชุมเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่จะถึงนี้ จากนั้นจะปรับขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมเดือนกรกฎาคม ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด อย่างไรก็ตาม ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมีมุมมองว่า ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดหลังจากเดือนกรกฎาคมนั้นจะไม่รุนแรงเท่าที่ตลาดคาดการณ์ในตอนนี้
“อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลักอื่นๆ จะเริ่มสูงกว่าของไทย ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะเริ่มส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ในขณะเดียวกัน เราต้องติดตามดูว่าภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั่วโลกจะชะลอตัวลงไหม ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดจากนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นและรายได้แท้จริง (หักเงินเฟ้อ) ที่อาจลดลง”
**ปัจจัยในประเทศปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้บาทค่อยๆ แข็งค่าขึ้น**
เศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 2565 น่าจะปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้เนื่องมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลลบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ในส่วนของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศยังอยู่ในภาวะปกติ โดยการพิจารณางบประมาณปี 2566 น่าจะเสร็จสิ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปจะเริ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์/บาท น่าจะค่อยๆ แข็งค่าขึ้น ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมองว่า ค่าเงินดอลลาร์/บาทจะอยู่ที่ราว 33 ในครึ่งปีแรกของปี 2565 และปรับเป็น 32.5 และ 32 ในไตรมาส 3 และ 4 ตามลำดับ
**คงประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565**
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดยังคงมีมุมมองระมัดระวังต่อเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม เราคงประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ที่ร้อยละ 3.3 โดยคาดการณ์ครึ่งปีแรกเติบโตร้อยละ 1.5 และครึ่งปีหลังที่ร้อยละ 5 พร้อมทั้งปรับประมาณการเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 จากเดิมร้อยละ 3 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าไทย 4-5 ล้านคน จากเดิม 5-10 ล้านคน และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากร้อยละ 1.5 ของจีดีพี เป็นร้อยละ 0.5 ของจีดีพี ขณะที่ราคาน้ำมันจะยังอยู่ในระดับสูงกว่า 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลตลอดทั้งปี
"ก่อนหน้านี้ ตัวเลขประมาณการจีดีพีของเราต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เพราะมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นในแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ เดิน จึงไม่ได้เกิดการสะดุดหรือชะงักงัน เพียงแค่ไม่ได้ดีเท่ากับช่วงที่คาดไว้ปลายปีก่อน แต่ไม่ได้แย่ ขณะที่ตลาดอาจจะมองไว้สูงกว่าก็กำลังปรับลดประมาณการ มองไปข้างหน้า เราหวังจะเห็นเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการปรับตัวใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น รายได้-การบริโภคเริ่มกลับเข้ามา ซึ่งจะเป็นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้"
ทั้งนี้ งานหลักสำคัญในปี 2565 คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวในปี 2566 การที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องนั้น รัฐบาลอาจต้องเข้ามาช่วยผลักดันมาตรการและนโยบายต่างๆ และหากมองว่าการกู้เงินเพิ่มเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพมีความจำเป็น ประเทศไทยยังพอมีความสามารถที่จะกู้เงินเพิ่มได้อีก