xs
xsm
sm
md
lg

จับตา AIS ปี 2567 ดันรายได้ทะลุ 2 แสนล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากผ่านพ้นช่วงฝุ่นตลบในการควบรวมกิจการของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ในปี 2567 นี้จะกลายเป็นปีแรกที่เกิดการแข่งขันระหว่าง 2 ผู้ให้บริการรายหลักอย่างแท้จริงทั้งในส่วนของธุรกิจโทรศัพท์มือถือ และธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน

จากผลประกอบการของ AIS ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่าจากการควบรวม 3BB เข้ามา ได้เข้ามาเสริมรายได้ให้ธุรกิจ และทำให้ในภาพรวมเติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 1.8% มาอยู่ที่ 188,873 ล้านบาท ซึ่งถ้าไม่รวมรายได้ที่เพิ่มขึ้นจาก 3BB ปีที่ผ่านมา AIS จะเติบโตเพียง 0.7% เท่านั้น

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ในปีที่ผ่านมา รายได้รวมของ AIS เติบโตลดลงเนื่องมาจากปัจจัยการขายอุปกรณ์และซิมการ์ดเหลือ 36,952 ล้านบาท ที่ลดลงถึง 6.4% เมื่อเทียบกับปี 2565 จากการที่ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ไม่มีการเปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่จะมากระตุ้นตลาด ต่อเนื่องมายังช่วงปลายปีที่มีการชะลอการใช้สอย เพื่อรอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงต้นปีนี้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ไม่ว่าจะเป็นบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีรายได้อยู่ที่ 118,130 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2% ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านรายได้ 13,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 35% (เริ่มรับรู้รายได้ของ 3BB) ส่วนธุรกิจลูกค้าองค์กร สร้างรายได้อยู่ที่ 6,819 ล้านบาท เติบโต 8.7% ส่วนที่เหลือจะเป็นรายได้จากค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (IC) และรายได้จากพันธมิตร NT ราว 13,353 ล้านบาท


ขณะเดียวกัน ยังมีความน่าสนใจของธุรกิจ AIS ในปีนี้ที่คาดการณ์รายได้จากการให้บริการหลักซึ่งในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 138,569 ล้านบาท ว่าจะเติบโตราว 13-15% ขึ้นมาอยู่ที่เกือบ 1.6 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับรายได้จากพันธมิตร และการจำหน่ายอุปกรณ์ มีโอกาสส่งผลให้รายได้ในภาพรวมปี 2567 ทะลุ 2 แสนล้านบาท เมื่อรวมรายได้ทั้ง 3 ส่วนเข้าด้วยกัน

โดยในปีนี้ มุมมองของ AIS ต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในไทยเชื่อว่ามีโอกาสที่จะขยายตัวได้ แม้ว่าจะมีภาวะการแข่งขันที่ทรงตัวก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนั้นทำให้การทำตลาดในปีนี้ของ AIS จะเน้นการนำเสนอสินค้าและบริการแบบเฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น เพิ่มเติมจากการให้บริการเครือข่ายที่มีคุณภาพ


ศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานผลิตภัณฑ์โทรศัพท์เคลื่อนที่กลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า ปัจจุบันเครือข่ายของ AIS 5G ครอบคลุม 90% ของประชากร ในขณะที่เน็ตบ้านเมื่อรวมกับ 3BB แล้วสามารถให้บริการได้ครอบคลุมถึง 13 ล้านครัวเรือน

“ที่ผ่านมา การพัฒนาโครงข่ายของ AIS ไม่ได้ดูแค่พื้นที่ครอบคลุมมากแค่ไหน เพราะในการลงทุนโครงข่ายต้องเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด”

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นในแง่ของการลงทุนคือในปี 2566 ที่ผ่านมา AIS ได้เพิ่มงบลงทุนจากที่ประกาศไว้ 27,000-30,000 ล้านบาท ขึ้นมาสูงถึง 41,000 ล้านบาท ในการเร่งลงทุนโครงข่าย 5G 700 MHz หลังจากที่รับโอนใบอนุญาตคลื่น 700 MHz จำนวน 5 MHz จากทาง NT พร้อมกับสัญญา 13 ปีในการลงทุนอุปกรณ์โครงข่าย 13,500 สถานีให้ทาง NT เช่าใช้งานพร้อมกับการโรมมิ่งข้ามเครือข่าย

หลังผ่านการลงทุนใหญ่ในปีที่ผ่านมา ทำให้ในปีนี้ตามแผนของ AIS ได้วางงบลงทุนต่อเนื่องที่ 25,000-26,000 ล้านบาท เน้นการรักษาคุณภาพของบริการ และนำประโยชน์ของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของ 3BB มาใช้งานอย่างเหมาะสม โดยสัดส่วนของงบลงทุนกว่า 60% จะถูกใช้สำหรับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามด้วยธุรกิจเน็ตบ้านราว 28% และที่เหลือสำหรับธุรกิจองค์กร และอื่นๆ

ทั้งนี้ ปัจจุบันฐานลูกค้าในเครือข่าย AIS จะมีทั้งลูกค้าโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ 44.6 ล้านราย แบ่งเป็นรายเดือน 12.7 ล้านราย และเติมเงิน 31.9 ล้านราย โดยในจำนวนนี้กว่า 9.17 ล้านรายใช้งานบนเครือข่าย 5G ตามด้วยเน็ตบ้านที่รวมเป็น AIS 3BB Fibre3 กว่า 4.74 ล้านราย

ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS ได้เริ่มนำเสนอแนวคิดเครือข่ายที่มีชีวิต (Living Network) ที่ทำได้มากกว่าการสื่อสาร และหวังให้เป็นส่วนสำคัญในการเสริมการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของไทย

จนล่าสุด AIS ได้เริ่มให้บริการ Living Network แล้วในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ จะเหลือเพียงในโซนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่คาดว่าจะตามมาในเร็วๆ นี้ หลังการอัปเกรดเฟิร์มแวร์ของเครือข่ายที่ให้บริการ

เหตุที่ Living Network เริ่มให้บริการได้ไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ มาจากเรื่องทางเทคนิคที่ปัจจุบันในภูมิภาคหลักๆ AIS เลือกใช้งานโครงข่ายของ HUAWEI จะมีเพียงในโซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ใช้โครงข่ายของ ZTE ซึ่งทาง HUAWEI มีความพร้อมในการอัปเกรดโครงข่ายให้รองรับการให้บริการก่อน ทำให้สามารถเปิดใช้งานได้ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ และได้ประสานกับทาง ZTE เพื่ออัปเกรดโครงข่ายให้ใช้งานได้ในอนาคต

ประเด็นสำคัญของ Living Network ที่ปัจจุบันเริ่มแสดงผลให้เห็นอยู่ภายในแอป myAIS ในหัวข้อ myNetwork หรือสถานะเน็ตของคุณ คือการแจ้งความหนาแน่นของเครือข่ายในบริเวณที่ลูกค้าใช้งาน ด้วยการแบ่งพื้นที่ทั่วประเทศออกเป็นตารางในลักษณะของรังผึ้งขอบเขต 50 x 50 เมตร เพื่อให้ลูกค้ารับรู้ว่าคุณภาพสัญญาณที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร

ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาเครือข่ายที่มีชีวิตเกิดขึ้นจากการพยายามเข้าไปตอบโจทย์ลูกค้าที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งมือถือ และเน็ตบ้าน ที่เวลาใช้งานอาจจะมีความรู้สึกว่าเน็ตเวิร์กไม่ดี ซึ่งแต่เดิมอาจจะต้องทำการโทร.สอบถามกับทางคอลเซ็นเตอร์ กลายเป็นว่าสามารถเข้าไปเช็กสถานะเครือข่ายได้ด้วยตัวเอง

“การแสดงคุณภาพเครือข่ายทำให้เกิดความโปร่งใสนี้นอกจากลูกค้าจะได้ประโยชน์ที่จะรับรู้ว่าปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่น ถ้าต้องการใช้งานให้ดีขึ้นสามารถขยับไปยังพื้นที่บริเวณใกล้เคียงได้ ซึ่งในขณะเดียวกันทีมงานวิศวกร AIS เมื่อได้รับการรายงานเพิ่มเติมถึงปัญหาเครือข่ายก็จะทำการตรวจสอบและแก้ไขได้ทันที”

***ไขข้อสังเกต Living Network ทำไมจ่ายเพิ่มถึงได้ดีกว่า


อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตามมาคือการออกแพกเกจสำหรับบูสต์เน็ตเวิร์กให้แรงขึ้นของ AIS ที่มีการเก็บค่าบริการ 49 บาท ใช้งานเน็ตได้ 5GB ในช่วงระยะเวลา 3 ชั่วโมง เพื่อเลือกปรับโหมดการใช้งานอย่าง Boost Mode LIVE Mode และ Game Mode ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ทำไมลูกค้าต้องเสียเงินเพิ่มในเมื่อใช้งานแพกเกจเน็ตไม่จำกัดอยู่แล้ว

ในจุดนี้ ศรัณย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า แพกเกจเสริมนี้มีขึ้นมาสำหรับลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้งานเป็นพิเศษ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นการบังคับให้ลูกค้าที่อยากได้เน็ตเร็วต้องสมัครเพื่อเข้าถึงโครงข่ายคุณภาพ

“AIS มีการจำกัดการใช้งานของการสมัครใช้ Living Network ไว้ว่าในพื้นที่ 1 ช่องจะเปิดให้ลูกค้าสมัครใช้งานบูสต์โหมดได้ไม่เกิน 15 คน เพื่อเป็นการกันไม่ให้กระทบกับการใช้งานของลูกค้าที่ใช้งานทั่วไป ดังนั้นลูกค้าที่ไม่ได้สมัครใช้งานแทบจะไม่ได้รับผลกระทบในการใช้งานอยู่แล้ว”

ขณะเดียวกัน พื้นฐานของการให้บริการ Living Network นี้มาจากการนำเอาเทคนิคของการนำ Network Slicing ที่มากับโครงข่าย 5G มาประยุกต์ใช้งานในระดับแบนด์วิดท์ จึงทำให้ใช้งานได้เฉพาะลูกค้าที่เครื่องรองรับ 5G เท่านั้น ซึ่งในการใช้งานจริง เมื่อลูกค้าเริ่มขยับมาใช้งาน 5G จะช่วยให้เครือข่าย 4G ใช้งานได้ลื่นไหลมากขึ้นด้วย

สำหรับทั้ง 3 โหมดการใช้งาน Living Network จะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เริ่มจาก Boost Mode จะเน้นไปที่ความเร็วในการดาวน์โหลดเป็นหลัก กรณีที่มีความจำเป็นต้องดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ผ่านมือถือ Game Mode จะเน้นที่ความเสถียร และความต่อเนื่องในการใช้งาน ขณะที่ LIVE Mode จะเป็นการเพิ่มช่องสัญญาณอัปโหลด ทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มโซเชียลอย่าง Lazada TikTok Facebook และ Instagram ซึ่งปัจจุบันเริ่มให้บริการเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อน

***ลุ้นเปิดใช้งาน 5G RedCap - 5G mmWave

นอกเหนือจาก Living Network แล้ว ในปีนี้ AIS 5G ยังมีเทคโนโลยีที่รอเปิดใช้งานอยู่เพิ่มเติมอีก ไม่ว่าจะเป็น 5G RedCap (Reduced Capability) ซึ่งได้ทำการทดสอบใช้งานกับคลื่น 2600 MHz และ 700 MHz ไปเรียบร้อยแล้วในปีที่ผ่านมา และพร้อมที่จะเปิดให้ลูกค้าใช้งาน

ความสามารถของ 5G RedCap หลักๆ จะเข้ามาช่วยทำให้ดีไวซ์ 5G ราคาถูกลง โดยเฉพาะในกลุ่มสมาร์ทโฟนที่ไม่ได้จำเป็นต้องใช้การเชื่อมต่อความเร็วสูง สามารถทำความเร็วได้ราว 150 Mbps ใกล้เคียงกับ 4G LTE แต่ใช้พลังงานน้อยกว่า ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้เห็นบรรดาผู้ผลิตสมาร์ทโฟนนำรุ่นที่รองรับ 5G RedCap เข้ามาทำตลาดในไทยภายในปีนี้

โดยการเข้ามาของ 5G RedCap จะเข้ามาช่วยลดความหนาแน่นของคลื่น 4G ที่ให้บริการในปัจจุบันด้วย เพราะปัจจุบันคลื่น 5G ที่บรรดาผู้ให้บริการมีอยู่นั้นเพียงพอกับการนำมาให้บริการแก่ลูกค้าอยู่แล้ว และเมื่อคลื่น 4G โล่งมากขึ้น ก็เปิดโอกาสให้สามารถนำแบนด์วิดท์บางส่วนกลับมาให้บริการ 5G ต่อไปในอนาคตด้วย

อีกเทคโนโลยีที่ AIS เตรียมความพร้อมในการให้บริการแล้วคือ 5G mmWave ที่ใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟน ซึ่งปัจจุบัน AIS ถือครองคลื่น 26 GHz มานานกว่า 3 ปีแล้วแต่ยังไม่ได้นำมาให้บริการแก่ลูกค้า เนื่องจากดีไวซ์ที่รองรับการใช้งานยังไม่เข้าสู่ตลาด

ดังนั้น ถ้าในปีนี้เริ่มมีสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งานเข้าสู่ตลาดมากขึ้น จะได้เห็นการใช้งาน 5G mmWave ทยอยเริ่มให้บริการในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่น อย่างบริเวณห้างสรรพสินค้า สนามกีฬา มหาวิทยาลัย หรือในพื้นที่จัดแสดงคอนเสิร์ตที่ปัจจุบันกลายเป็นจุดปราบเซียนสำหรับการใช้งานเน็ตมือถือ จากการที่มีการใช้งานหนาแน่นพร้อมๆ กัน


กำลังโหลดความคิดเห็น