กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกมาตรการให้ผู้ที่ถือครองซิมการ์ดค่ายเดียวกัน ตั้งแต่ 6 หมายเลข (เบอร์) ขึ้นไป ให้ยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการตามช่องทางที่ค่ายมือถือกำหนดไว้
โดยกำหนดให้ผู้ที่ถือครองซิมการ์ดค่ายเดียวกัน ตั้งแต่ 6-100 หมายเลข ต้องยืนยันตัวตนภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ส่วนผู้ที่ถือครองตั้งแต่ 101 หมายเลขขึ้นไป ต้องยืนยันตัวตนภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 หรืออีกไม่กี่วันข้างหน้า หากไม่ไปยืนยันตัวตน ค่ายมือถือจะระงับบริการ โทรออก ส่ง SMS และใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ได้
วัตถุประสงค์ที่ กสทช. ให้ผู้ถือครองซิมการ์ดค่ายเดียวกันเกิน 6 เบอร์ขึ้นไป ยืนยันตัวตนในครั้งนี้ ให้เหตุผลว่า เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้บริการ สนับสนุนการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะ และการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
ผู้ที่ถือครองเลขหมายค่ายมือถือเดียวกันเกิน 6 เบอร์ นับเฉพาะสุจริตชนมักจะมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน เช่น แบ่งให้สมาชิกในครอบครัวใช้แล้วจ่ายรวมกัน การนำไปใช้กับอุปกรณ์อื่นๆ เช่น กล้องวงจรปิด เครื่องติดตามพิกัดรถยนต์ GPS Tracker หรืออุปกรณ์กระจายสัญญาณไว-ไฟ เช่น Pocket Wi-fi หรือ Router Wi-fi แบบใส่ซิมการ์ด เป็นต้น
ไม่นับรวมผู้ที่ถือครองซิมการ์ดจำนวนมาก ที่เห็นว่าเบอร์สวยเลยซื้อเก็บไว้ โดยเฉพาะซิมการ์ดแบบเติมเงิน แล้วอาศัยเติมเงินเพื่อรักษาอายุการใช้งาน ซึ่งปัจจุบันเติมเงินขั้นต่ำทุกราคา (ต่ำสุดที่พบเห็นคือ 5 บาท) สามารถรับวันใช้งานได้ 30 วัน และสะสมวันใช้งานได้สูงสุดไม่เกิน 365 วัน ซึ่งการถือครองเลขหมายแบบนี้ดูเหมือน กสทช. จะไม่ชอบใจนัก
มาถึงคราวที่ผู้เขียนเจอ “แจ็คพอต” ที่ไม่ใช่ “แจ็คเป็นคาวบอย ออกถือปืนมุ่งหน้าขึ้นดอย...” กันบ้าง
16 มกราคม 2567 ค่ายมือถือแห่งหนึ่งส่งข้อความ SMS มาว่า “กสทช.ประกาศให้ผู้ถือครองเบอร์ตั้งแต่ 6 เบอร์ขึ้นไป ยืนยันตัวตนเป็นผู้ลงทะเบียนใช้งานเบอร์ ลูกค้า ... ผู้ทำรายการต้องเป็นผู้จดทะเบียนเท่านั้น” ระบุขั้นตอนว่าทำอย่างไรบ้าง ก่อนปิดท้ายว่า “หากไม่ยืนยันฯภายใน 13 ก.ค.67 เบอร์จะถูกระงับบริการชั่วคราว”
สาเหตุเพราะที่ผ่านมาเคยซื้อซิมการ์ดแบบเติมเงินไว้เยอะ เพราะเห็นว่าเบอร์สวย ผลรวมดี (เป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณ) เลยซื้อเก็บไว้ แล้วเติมเงินเลี้ยงเบอร์ไปเรื่อย ก่อนโอนไปเบอร์อื่น หรือเติม LINE Credit เพื่อซื้อสติกเกอร์ไลน์ ล่าสุดใช้ชำระค่าประกันภัยการเดินทางต่างประเทศ ที่ซื้อจากแอปฯ ของค่ายมือถือโดยตรงได้ด้วย
เท่าที่ดูขั้นตอนพบว่าค่ายมือถือสีเขียว ที่ผู้เขียนเจอแจ็คพอต ถ้าทำผ่านแอปพลิเคชันจะต้องยืนยันตัวตนทีละเบอร์ ส่วนค่ายมือถือสีแดงและสีฟ้า ที่กำลังจะควบรวมกิจการ ใช้เบอร์มือถือลงทะเบียนยืนยันตัวตนครั้งเดียว จากนั้นเบอร์ที่เคยลงทะเบียนด้วยเลขที่บัตรประชาชนเดียวกันก็โผล่มาเป็นตับ ให้เลือกเอาแล้วถ่ายรูปเอกสารเป็นอันเสร็จสิ้น
มีคนแนะนำมาว่า ให้ผู้เขียนไปติดต่อที่ศูนย์บริการลูกค้าค่ายมือถือแห่งนั้น วันหนึ่งมีเวลาว่างพอดี ไปศูนย์บริการค่ายมือถือที่ศูนย์การค้าแถวบ้าน รอคิวประมาณเกือบครึ่งชั่วโมง จากนั้นเมื่อถึงคิวก็เอาบัตรประชาชนตัวจริงไปยื่น แจ้งรหัส OTP จากนั้นแจ้งเบอร์ที่ต้องการลงทะเบียนยืนยันตัวตน แล้วถ่ายภาพใบหน้านิดหน่อย เป็นอันเสร็จสิ้น
เมื่อถามพนักงานว่า ถ้ามีเบอร์ที่ไม่อยากยืนยันตัวตนต้องทำยังไง ตอบว่า “ไม่ต้องทำอะไร” แค่ไม่เติมเงินเข้าไปแล้วปล่อยให้วันใช้งานหมดอายุไปเอง ไม่สามารถยกเลิกเบอร์ได้ แต่ถ้าเบอร์หมดอายุแล้วถ้ายังมีซิมการ์ดตัวจริงสามารถขอเงินคืนได้ โดยเงินจะโอนเข้าบัญชีธนาคาร ไม่มีโอนไปเบอร์อื่น ถ้าจะโอนไปเบอร์อื่น ต้องใช้บริการโอนเงินซึ่งมีค่าบริการ
แต่ผลจากมาตรการ กสทช. ทำให้ผู้เขียนคิดว่าคงต้องปล่อยทิ้งเบอร์มือถือที่ซื้อเก็บไว้ส่วนหนึ่ง เพราะไม่อยากเสียเวลายืนยันตัวตน หาก กสทช. ร้องขออีก แต่ก็เห็นใจคนที่ถือเบอร์มือถือแบบสุจริตชนคนอื่นๆ
การออกประกาศ กสทช. ไม่ใช่ว่าทำตามอำเภอใจ เพราะที่ผ่านมาเปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะด้วยซ้ำ แต่น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ อาจเป็นเพราะไม่ใช่เรื่องดรามา ทัวร์ไม่มาลง อัลกอริทึมไม่จับ ไม่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ จึงไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ
เมื่อ กสทช. มีประกาศออกมา ก็มีชาวเน็ตตำหนิ กสทช. ทำนองว่าจะลงทะเบียนซ้ำซ้อนทำไม ที่ผ่านมาก็เคยลงทะเบียนซิมการ์ดมาครั้งหนึ่งแล้ว ใช้บัตรประชาชนถ่ายรูปหน้ายืนยันตัวตนไปแล้ว แทนที่จะไปแก้ปัญหาแพคเกจอินเทอร์เน็ตที่แพงขึ้น แต่คุณภาพสัญญาณต่ำลง หรือแต่ละค่ายควรยกเลิกโปรโมชันเปิดเบอร์ใหม่เมื่อซื้อเครื่อง เป็นต้น
ที่น่าสนใจก็คือ ก่อนที่จะมีมาตรการนี้ออกมา พบว่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มีผู้ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 เบอร์ รวม 3,337,956 คน จากลูกค้า 286,148 คน แบ่งเป็นคนไทย 193,056 คน ถือครอง 1,997,501 เบอร์ (เฉลี่ยคนละประมาณ 10 เบอร์) และชาวต่างชาติ 93,092 คน ถือครอง 1,340,455 เบอร์ (เฉลี่ยคนละประมาณ 14 เบอร์)
ส่วนคนที่ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 100 เบอร์ขึ้นไป รวม 6,171,936 คน จากลูกค้า 7,664 คน แบ่งเป็นคนไทย 3,781 คน ถือครอง 3,580,571 เบอร์ (เฉลี่ยคนละประมาณ 946 เบอร์) และชาวต่างชาติ 3,883 คน ถือครอง 2,591,365 เบอร์ (เฉลี่ยคนละประมาณ 667 เบอร์) ซึ่งต้องคัดกรองเพื่อแยกซิมดีกับซิมไม่ดี แล้วปราบปรามซิมไม่ดีอย่างเคร่งครัด
ปัญหาก็คือ จะแน่ใจได้อย่างไรว่า คนที่ผ่านการยืนยันตัวตนให้กลายเป็นซิมดี จะไม่กลายเป็นนอมินีจากกลุ่มมิจฉาชีพเสียเอง หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งเมื่อทางการกวดขันเรื่องซิมม้า กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ก็อาศัยเทคโนโลยีโชว์เบอร์โทรเข้าปลอมขึ้นมา ซึ่งหลายครั้งสามารถปลอมได้เหมือนเบอร์โทรศัพท์หน่วยงานจริง
แต่ก็เชื่อว่าด้วยกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน หากมีความเชื่อมโยงว่าเบอร์มือถือนั้นถูกใช้กระทำความผิด เจ้าของเบอร์ก็อาจถูกดำเนินคดีไม่ต่างไปจากบัญชีม้า ที่หากมีการนำไปใช้กระทำความผิด เจ้าของบัญชีต้องรับผิดชอบเหมือนผู้กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท
การลงทะเบียนยืนยันตัวตนคนที่ถือครองเบอร์มือถือมากกว่า 6 เบอร์ขึ้นไป ยังมีเรื่องที่น่าคิดตามมาก็คือ การรักษาเลขหมายของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้า กรณีวันใช้งานหมดอายุแต่ยังมีเงินคงเหลือในระบบ พูดภาษาชาวบ้านก็คือ ถ้าเบอร์มือถือระบบเติมเงิน วันใช้งานหมดแต่ยอดเงินยังเหลือ จะรักษาเบอร์ไว้ยังไง?
เรื่องนี้ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 1/2565 เคยมีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว โดยตั้งตุ๊กตาว่า ให้หักเงินในระบบเป็นค่ารักษาเลขหมาย ในอัตราเท่ากับค่าธรรมเนียมเลขหมาย ที่ กสทช. เรียกเก็บจากผู้ให้บริการ (ปัจจุบันเรียกเก็บ 1.50 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน) เพื่อให้ผู้ใช้บริการยังสามารถใช้เลขหมายได้ต่อไป
สำนักงาน กสทช. ก็ประชุมหารือทั้งคณะอนุกรรมการและค่ายมือถือ ได้ข้อสรุปว่าเสนอ 2 ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 คิดค่ารักษาเลขหมาย 1.50 บาท สามารถรักษาเลขหมายได้ไม่เกิน 30 วัน หรือ 1 รอบ หรือ ทางเลือกที่ 2 กำหนดค่ารักษาเลขหมายแบบเพดานราคา ไม่เกิน 10 บาทต่อ 30 วัน สะสมได้สูงสุดไม่เกิน 12 รอบ หรือ 360 วัน
เหตุผลหลักนอกจากต้องมองการคุ้มครองผู้ใช้บริการแล้ว ยังต้องมองไปถึงการบริหารจัดการทรัพยากรเลขหมายโทรคมนาคม เพราะหากคิคค่ารักษาเลขหมายต่ำเกินไป จะกลายเป็นการส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการกักตุนเลขหมายโดยไม่ใช้บริการ ซึ่งที่ผ่านมา กสทช. กำกับดูแลอยู่แล้วว่าเติมเงินทุกราคา 1 ครั้ง ได้วันใช้งาน 30 วัน สะสมวันได้สูงสุด 365 วัน
เคยมีคนสงสัยว่า ทำไมทรัพยากรเลขหมายโทรคมนาคมมีอย่างจำกัด แต่บทความเรื่อง “เรื่องเล่าเลขหมายโทรคมนาคม” ในวารสาร กทช. 2550 ระบุในทำนองว่า แม้จะคิดกันแบบชาวบ้านว่า “หมดก็เพิ่มได้” แต่การเพิ่มเลขหมายแต่ละครั้งก่อปัญหาในทางเทคนิค การดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายหลายประเภทสูงมาก
การหักเงินในระบบเพื่อขยายวันใช้งานของซิมการ์ดแบบเติมเงิน ข้อดีก็คือ ผู้ใช้บริการไม่ต้องเติมเงินมาสะสมไว้ในระบบมากๆ เพื่อขยายวันใช้งานต่อเนื่อง แถมค่ายมือถือยังมีรายได้จากค่าบริการขยายวันใช้งาน หรือค่ารักษาเลขหมายอีกทางหนึ่ง
ขณะเดียวกัน การหักเงินในระบบเพื่อรักษาเลขหมาย กรณีที่วันใช้งานหมดอายุแต่ยังมีเงินคงเหลือในระบบ เห็นว่าควรนำเสนอเป็นบริการโดยให้ผู้ใช้บริการสมัครตามวัตถุประสงค์ โดยให้ กสทช. กำหนดไปยังค่ายมือถือทุกราย เสนอบริการรักษาเลขหมายสำหรับเบอร์เติมเงิน ให้สามารถสมัครบริการหักเงินในระบบเพื่อขยายวันใช้งานเพิ่มเติมได้
อาจมีคนสงสัยว่า ทำไมคิดค่ารักษาเลขหมายสูงถึง 10 บาท เพราะติดปัญหาที่ ผู้ให้บริการเครือข่ายเสมือน (MVNO) ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของเครือข่ายเอง แต่ไปซื้อบริการจากค่ายมือถืออีกที โดยเฉพาะเครือข่าย NT ที่มีค่าย MVNO อยู่หลายเจ้า เช่น ซิมเพนกวิน (Penguin Sim), ซิมฟีล (Feels), ซิมเรดวัน (redONE) และซิมเคโฟร์ (K4) เป็นต้น
บรรดาค่าย MVNO เหล่านี้ นอกจากต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเลขหมายแก่ กสทช. เดือนละ 1.50 บาทต่อเลขหมายแล้ว ยังต้องจ่ายค่าบริการอื่นๆ ให้กับค่ายมือถือหลัก เช่น NT ที่ไปซื้อบริการเขามา รวมเป็นเงินประมาณ 10 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน กสทช. ก็เลยคิดค่ารักษาเลขหมาย เผื่อบรรดาค่าย MVNO ต่างๆ ที่ต้องแบกรับต้นทุนเหล่านี้
เรื่องนี้มีการประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ครั้งที่ 14/2566 เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ประเด็นระบบการหักเงินค่ารักษาเลขหมาย ให้ผู้ใช้บริการสามารถแจ้งไม่ใช้บริการหรือยกเลิกได้ (คาดว่ารองรับกรณีที่ผู้ใช้บริการไม่อยากใช้เบอร์นี้อีกแล้ว และไม่ต้องการรักษาเลขหมายอีก)
ส่วนอัตราค่ารักษาเลขหมายก็เสนอว่า ควรเป็นไปตามมติ กสทช. คือ หักเงินค่ารักษาเลขหมาย 1.50 บาท ขยายวันหมดอายุซิมการ์ด 30 วัน ในระยะเวลาสองรอบแรก (60 วัน) หลังจากนั้นให้ กสทช. พิจารณากำหนดอัตราที่เหมาะสม ไม่เกิน 10 บาทต่อ 30 วัน ได้สูงสุด 6 รอบ หรือ 180 วัน แต่หากค่ายมือถือใดมีต้นทุนที่สูงกว่าสามารถขอยกเว้นได้
อีกด้านหนึ่ง ยังมีประเด็น แนวทางการคิดค่าธรรมเนียมในการเติมเงินของผู้ใช้บริการเพื่อลดภาระของผู้มีรายได้น้อย ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 5/2566 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 สั่งให้ตรวจสอบปริมาณยอดเติมเงินที่มีค่าธรรมเนียม (เช่น เติมเงิน 10 บาท บวกค่าบริการ 2 บาท) ปรากฏว่าปี 2563 อยู่ที่ 21.10% แต่ปี 2565 เหลือ 11.99%
ถึงกระนั้น คณะกรรมการ กสทช. รายหนึ่งเห็นว่า ยังมีข้อจำกัดสำหรับผู้ใช้บริการบางราย เติมเงินจำนวนน้อย 10-20 บาท ต้องยอมเสียค่าธรรมเนียมเติมเงิน เห็นควรให้ที่ประชุม กสทช. พิจารณาการส่งเสริมทางเลือกในการเติมเงินที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม โดยรองรับการเติมเงินในจำนวนน้อย เช่น ครั้งละ 10 บาทด้วย
เท่าที่ผู้เขียนสังเกต ปัจจุบันช่องทางการเติมเงินราคาต่ำสุดแบบไม่เสียค่าธรรมเนียม ค่ายเอไอเอสขั้นต่ำ 5 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน MyMo ธนาคารออมสิน และ BAAC Mobile ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่วนค่ายทรูมูฟ ผ่านแอปฯ wePAY ขั้นต่ำ 5 บาท เครือข่ายดีแทคขั้นต่ำ 10 บาท
หากเป็นแอปพลิเคชันอื่น โดยเฉพาะแอปฯ ธนาคาร ส่วนใหญ่กำหนดขั้นต่ำ 20-50 บาท ส่วนผู้ที่ไม่ถนัดใช้สมาร์ทโฟน พบว่ามีตู้เติมเงินที่ฟรีค่าธรรมเนียมเพียงแห่งเดียว คือ เติมเงินทรูมูฟเอช ผ่านตู้ทรูมันนี่ที่ทรูช้อป นอกนั้นตู้เติมเงินขึ้นไป ต้องเสียค่าบริการครั้งละ 1-2 บาท
สองเรื่องนี้นับจากการประชุม กสทช. ครั้งที่ 18/2566 เมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา ปัจจุบันยังไม่มีท่าทีใดๆ แต่ก็คิดว่าอาจจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น เหมือนกรณียืนยันตัวตนซิมเติมเงิน ไม่รู้ว่าสุดท้ายจากคนไทยที่ถือซิมการ์ดทั้งหมด 58 ล้านคน จะให้ความสนใจสักกี่คน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องใกล้ตัว ที่ส่งผลไปถึงคนใช้มือถือแบบเติมเงินทั้งประเทศ
ที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่มีรายได้น้อย และกลุ่มผู้สูงอายุ ที่เติมเงินครั้งละ 10-20 บาท เพื่อใช้รอรับสายเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันส่วนหนึ่งแทบไม่ได้ใช้ นับตั้งแต่สามารถโทร.หากันผ่านไลน์ ที่ใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตโทรฟรี
จึงขอฝากไว้สั้นๆ ว่า อย่าให้กระทบกับสิทธิของผู้บริโภคก็พอ.