ฟ้ามีตา NT น่าจะมีโอกาสรอด หากบอร์ดตัดสินใจให้เด็ดขาดระหว่างให้ผู้บริหารเดิมนั่งต่อ หรือปลดออกเอาคนในที่มีฝีมือมารับผิดชอบแทน เปิดทางเลือกที่ยังพอมีโอกาสต้อง execute งานให้เกิดขึ้นเห็นได้จริง มากกว่าแค่เขียนแผนที่เลิศล้ำในใต้หล้า แต่ไม่เกิดสักที ทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอาจใช้หลักการโปรเจกต์เบส มอบหมายโครงการให้ผู้บริหารบางคน เพื่อแบ่งเบาภาระในยามที่ผู้บริหารระดับสูงหัวเดียวกระเทียมลีบ ไร้แขนขา มีแต่ลูกน้องที่ ‘ซื้อของดีเด่น เซ็งลี้เอกชนดีเยี่ยม และทำร้ายองค์กรดีเลิศ’ ที่จับจุดอ่อนนายที่ความประนีประนอมเพาะบ่มพฤติกรรมน่ารังเกียจ
แหล่งข่าวจากบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT ระบุว่า บอร์ดใหม่ภายใต้การนำของณัฐพล ณัฏสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานบอร์ด รู้สึกกังวลและหนักใจกับผู้บริหารระดับสูงของ NT ในประเด็นที่ไม่สามารถ execute หรือสามารถทำให้โครงการที่ระบุไว้ในแผนสามารถดำเนินการและเกิดขึ้นได้จริง
‘ป่วยการที่จะเขียนแผนซะดิบดี จะทำโครงการโน่นโครงการนี่เป็น 7-8 โครงการแต่ทำไม่ได้สักที เรื่องสำคัญคือบอร์ดต้องการให้แค่โฟกัสเฉพาะ 1 หรือ 2 เรื่องแล้วทำให้เกิดขึ้นจริงในระยะเวลาอันรวดเร็วน่าจะเหมาะสมกว่า’
สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือบอร์ดกำลังหาจุดสมดุลระหว่างการกำกับดูแลให้เดินตามนโยบายของรัฐบาลและความต้องการที่จะให้ NT อยู่รอดหลังปี 2568 ที่รายได้จากใบอนุญาตคลื่นความถี่หมดอายุลงพร้อมรายได้ที่จะหายไปทันที 4 หมื่นล้านบาท
ภายใต้การบริหารงานที่ลูกน้องเก่าบางคนระบุว่าเต็มไปด้วยการประนีประนอม ขาดความเด็ดขาดในการจัดการปัญหากำลังก่อให้เกิดมรสุมใหญ่ใน NT คิดดูง่ายๆ หากมองว่าผู้บริหารระดับสูงมาจากฟาก CAT แต่หลังควบรวมที่ผ่านมา หลังรับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงเกือบ 20 เดือน ผลงานที่เด่นชัดเป็นรูปธรรมภายใต้การดูแลของผู้บริหารจากฟาก CAT แทบมองไม่เห็น อย่าอ้างถึงโครงการ GDCC (Government Data Center and Cloud Service) หรือโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ที่ไม่จำเป็นต้องทำตลาดแข่งกับใครเพราะมติ ครม.ให้หน่วยงานรัฐมาใช้ ซึ่งรัฐให้งบประมาณมาสร้าง ซึ่งสร้างเท่าไหร่ก็ไม่ทันกับความต้องการใช้งาน
แต่สิ่งที่สะท้อนกลับมาคือความประนีประนอมก่อให้เกิดนิสัยเสียของผู้บริหารระดับรอง เพราะแม้แต่ลูกน้องในบางสายงาน ยังส่ายหน้าเอือมระอากับพฤติกรรมของผู้บริหารสายงานนั้น
‘คำจำกัดความของผู้บริหารเหล่านี้ถ้าพูดถึงธุรกิจโมบายคือซื้อของดีเด่น เซ้งลี้เอกชนดีเยี่ยม และทำร้ายองค์กรดีเลิศ ไล่ดูประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตซีดีเอ็มเอจนถึงปัจจุบันที่ประมูลคลื่น 700 MHz ในราคาเหลวไหล ยิ่งเมื่อดูแผนธุรกิจตอนแรกที่ผู้บริหารฟาก CAT ทำมาเรียกได้ว่าไร้สาระครบวงจร’
ความไม่เด็ดขาด ทำให้ผู้บริหารระดับรองสะสมพฤติกรรมบ่อนทำลายองค์กรชนิดที่คาดไม่ถึง ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องโมบาย แต่ยังลามไปถึงเรื่องการตลาดแบบครบวงจร ซึ่งเป็นสิ่งที่บอร์ดคาดหวังว่าผู้บริหารระดับสูงควรจัดการปัญหาเหล่านี้ได้สักที พิสูจน์ได้จากสิ่งที่ประธานบอร์ดคนใหม่พูดตั้งแต่ปีที่แล้วที่เป็นแค่กรรมการบอร์ดว่า ‘NT ควรจะบันเดิลบริการโทรศัพท์พื้นฐานกับบริการโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ทำรายได้ให้มากกว่าเลขหมายละ 107 บาทที่เป็นค่ารักษาเบอร์’
จนถึงปัจจุบันผ่านมา 6-7 เดือนแล้ว ประธานบอร์ดคนใหม่ยังพูดเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ควรเป็นหน้าที่ของด้านการตลาดที่ควรจะคิดให้เป็นและทำให้เกิดขึ้นให้ได้ หากผู้บริหารระดับรองๆ ต้องการค้ำเก้าอี้ของผู้บริหารระดับสูง แต่พฤติกรรมที่ทำตลอดมาเหมือนหวังดีแต่ประสงค์ร้ายเท่านั้น
สิ่งที่บอร์ดกำลังพิจารณาคือในภาวะที่ทุกอย่างนิ่งสนิท ได้แต่เฝ้ารอว่าเมื่อไหร่งานจะเกิด ดูเหมือนเป็นการออกอาการท้อแท้มากเกินไป แนวทางที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดคืออาจทำในลักษณะโปรเจกต์ เบส มอบหมายงานให้ผู้บริหารบางคนที่เห็นว่ามีความสามารถทำได้เข้ามาบริหารจัดการโครงการแทนผู้บริหารระดับสูง
สำหรับแผนงานโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา มีทั้งหมด 7 เรื่องประกอบด้วย 1.พัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ 2.จัดตั้งบริษัทร่วมทุน 3.หาโอกาสจากเทคโนโลยี AI & Data Related Business 4.ดำเนินการด้าน Digital government - related business 5.Mobile - เพิ่มการขายกลุ่มราชการ M2M, IOT 6.พัฒนาบริการ Neutral last mile และ 7.สรรหาพันธมิตร Broadband Internet