แทนที่จะดูแค่ความเร็ว ความเสถียร ความปลอดภัย หรือต้นทุน วันนี้ “เอดับลิวเอส” (AWS) ย้ำว่า “ความยั่งยืนต่อโลก” กำลังเป็นอีกเงื่อนไขสำคัญที่ธุรกิจทั่วโลกกำลังพิจารณาอย่างจริงจังเมื่อต้องเลือกว่าจะใช้คลาวด์คอมพิวติ้งของเจ้าใด ภาวะนี้เป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ในประวัติศาสตร์แอปพลิเคชันที่จะเริ่มมีการเทียบว่าระบบไหนจะช่วยให้แอปรักษ์โลกได้มากกว่ากัน คาดว่า “คลาวด์สีเขียว” จะสร้างแรงดึงดูดความต้องการมหาศาลในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยอิทธิพลของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และจะเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนมูลค่า 2 ล้านล้านเหรียญในกรีนอีโคโนมีทั่วอาเซียน
จุดเปลี่ยนนี้มีโอกาสส่งแรงบวกให้ “อะเมซอนดอทคอม”(Amazon.com Inc) ต้นสังกัด AWS ที่ได้รายงานการเติบโตของยอดขายและผลกำไรสูงเกินคาดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 ล่าสุดหุ้นของบริษัทพุ่งขึ้น 9% ดันให้มูลค่าตลาดของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Amazon ยังคงรักษาตำแหน่งแชมป์ผู้ให้บริการระบบคลาวด์และผู้ค้าปลีกออนไลน์ชั้นนำของโลก จนสามารถเนรมิตรายได้เพิ่มขึ้นอีก 11% เป็น 134,400 ล้านเหรียญ ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 131,500 ล้านเหรียญ
แม้ธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้งของ Amazon อย่าง Amazon Web Services (AWS) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทแม่ขยายอาณาจักรมาตลอด แต่หน่วยธุรกิจ AWS เริ่มมีสัญญาณยอดขายเติบโตชะลอตัวลง โดยเพิ่มขึ้น 12% เป็น 22,100 ล้านดอลลาร์ น้อยกว่าที่เคยทำได้ราว 16% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ดีมานด์ “คลาวด์สีเขียว” อาจมีแนวโน้มทำให้ธุรกิจทุกขนาดหันมาใช้บริการระบบคลาวด์กับ AWS มากขึ้น เพราะ AWS แสดงจุดยืนโหมลงทุนระยะยาวเพื่อให้ความสำคัญเต็มที่เรื่องความยั่งยืน โดยเฉพาะความยั่งยืนของระบบคลาวด์ที่เน้นเรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อย่างพลังงานหมุนเวียน การควบคุมการใช้น้ำ และการลดของเสีย ซึ่งจะเป็นพลังให้ AWS แข่งขันกับผู้เล่นรายอื่นได้ดียิ่งขึ้น ในอนาคตที่ AWS ต้องเร่งหาทางปักหลักในพื้นที่การเติบโตแห่งใหม่อย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้มากขึ้น
***ไทยตลาดหลักคลาวด์อาเซียน
จุดยืนชัดเจนของ AWS นาทีนี้คือการให้ความสำคัญกับการลงทุนครั้งใหญ่ในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยที่ AWS เพิ่งเปิดเวทีจัดงาน AWS Cloud Day ที่ศูนย์สิริกิติ์เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2566 หลังจากที่เคยจัดงานในอินโดนีเซียและเวียดนามในปีก่อนหน้า โดยในงานนี้มียอดผู้เข้าชม 2,000 คน ทุบสถิติเป็นงานสำหรับคนที่สนใจด้านคลาวด์คอมพิวติ้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
“วัตสัน ถิรภัทรพงศ์” ผู้จัดการประจำประเทศไทย AWS กล่าวบนเวทีว่า ปี 2023 เป็นหลักไมล์สำคัญหลังจากปี 2006 ที่เจฟ เบโซส และทีมก่อตั้ง AWS ได้วางเป้าหมายทำให้ไอทีเป็นสิ่งที่แพร่หลาย-เข้าถึงง่าย-ใช้ได้ทุกคน ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า AWS เดินทางมาไกล จากที่เคยมีผู้ใช้เป็นสตาร์ทอัป วันนี้องค์กรสตาร์ทอัปกลายเป็นยูนิคอร์น ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่ทั้งภาคการเงินและโทรคมนาคมล้วนมีการใช้คลาวด์สูงมาก เช่นเดียวกับภาครัฐ และเอสเอ็มอีที่ใช้คลาวด์มากขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา
วัตสันมองว่าปัจจัยที่ทำให้คลาวด์เป็นที่นิยมคือการช่วยให้องค์กรผ่านวิกฤตที่เผชิญอยู่ ทั้งการไม่ต้องใช้เวลาสั่งซื้อเซิร์ฟเวอร์นานหลายเดือน โดยที่เอื้อต่อการทำงานได้จากทุกที่ ทำให้ธุรกิจพัฒนาต่อไปได้อย่างยืดหยุ่น ที่สำคัญคือรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของธุรกิจ รวมถึงเทรนด์ร้อนแรงอย่าง Generative AI ที่คลาวด์จะเป็นแกนสำคัญของทุกสิ่ง
“คอร์เนอร์ แมคนามารา” กรรมการผู้จัดการ ภูมิภาคอาเซียน AWS ระบุว่ารู้สึกตื่นเต้นกับโอกาสที่จะมาถึง และการที่ AWS เดินหน้าลงทุนทั่วภูมิภาคนั้นสะท้อนโมเมนตัมที่ AWS มองเห็น ภารกิจของบริษัทนับจากนี้คือการสร้างพันธมิตร สร้างคน และสร้างความยั่งยืน โดยเอสซีจี หรือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (SCG) คือหนึ่งในพันธมิตรที่ใช้เทคโนโลยีของ AWS เพื่อหาแหล่งรายได้ใหม่ผ่านการนำเอาธุรกิจเดิมขึ้นคลาวด์ จนระบบสามารถทำหลายหมื่นทรานแซกชันต่อวินาทีได้อย่างลื่นไหล
ล่าสุด เมื่อ 2 ปีที่แล้ว SCG ได้เริ่มทำงานร่วมกับ AWS ในบริการด้าน IoT ที่เชื่อกันว่าจะมาแทนที่แอปพลิเคชันในอนาคตเพราะประสบการณ์ใช้งานที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของ IoT คือการต้องประมวลผลหนักที่อุปกรณ์ปลายทาง (ทำงานที่เอดจ์) ดังนั้น SCG และ AWS จึงร่วมมือกันเพื่อรองกับการใช้งาน IoT ในสมาร์ทโฮมกว่า 5 หมื่นหลังในประเทศไทย เพื่อให้รู้ว่าเซ็นเซอร์หลักร้อยหลักพันจุดในบ้านแต่ละหลังยังปลอดภัยและทำงานได้ดี
ในส่วนการสร้างคน คอร์เนอร์ระบุว่าตั้งแต่ปี 2017 บริษัทให้ความสำคัญกับคนกลุ่มที่ทำงานกับคลาวด์ทั่วอาเซียน ไปจนถึงผู้บริหารในองค์กร โดยไม่ยึดติดว่าผู้เข้าร่วมจะต้องมีความรู้ด้านเทคโนโลยีเท่านั้น ทำให้เกิดการเรียนการสอนด้านคลาวด์ที่ประสบความสำเร็จมากทั่วภูมิภาค เกิดการสร้างอาชีพจนเชื่อว่าการเปลี่ยนสังคมด้วยคลาวด์นั้นไม่ใช่เรื่องเกินจริง
สำหรับความยั่งยืน AWS ชี้ว่าองค์กรมองเรื่องนี้เป็นทาง 2 แพร่งที่ไม่เกี่ยวกับการช่วยให้โลกดีขึ้นเท่านั้น แต่อีกขาของธุรกิจจะต้องหาความสมดุลในเรื่องการเจริญเติบโตเชิงพาณิชย์ด้วย ภาวะนี้อาจมีความท้าทายในสังคมประเทศกำลังพัฒนาที่มองต่างจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเล็งเห็นว่าความยั่งยืนจะเป็นตัวช่วยให้องค์กรเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน แต่ประเทศกำลังพัฒนาอาจมองเป็นภาระที่ละลายเงินลงทุน
***ทางออกเอเชียยั่งยืน
การสำรวจของ AWS สรุปว่าอาเซียนเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีการเติบโตสูงของโลกโดยเติบโต 4% มากกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่คำนวณได้ 2.5% อย่างไรก็ตาม 5% ของครัวเรือนอาเซียนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ และมีแนวโน้มว่าจะมีการใช้งานพลังงานในภูมิภาคเพิ่มขึ้นกว่า 42% ในไม่กี่ปีจากนี้
ความยั่งยืนจึงมีความสำคัญต่อภูมิภาคนี้ โดยกลุ่มตัวอย่างกว่า 33% ในอาเซียนมีความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ภายในปี 2030 ขณะที่ 25% ต้องการเห็นการใช้พลังงานหมุนเวียน เบื้องต้นมีการประเมินว่าจะเกิดการลงทุนในสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในอาเซียน และจะเกิดงานใหม่มากกว่า 5-6 ล้านงานทั่วภูมิภาค
สำหรับประเทศไทย สถิติพบว่าประเทศเรามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 1% ของทั้งหมดและรัฐบาลไทยประกาศเป้าหมายลดคาร์บอนให้ได้ 40% ในปี 2030 ในส่วนนี้ AWS มองว่าควรจะเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้น จึงมีการรวมตัวกับ 5 องค์กรอาเซียนในชื่อโครงการว่า The Climate Pledge ซึ่งเป็นการรวมตัวของหลายบริษัท เพื่อให้การเป็น net zero ที่เร็วขึ้น 10 ปี
“เราสามารถลดอัตราการเติบโตการปล่อยคาร์บอนได้ 7% ลดพลังงานที่ใช้ได้ 90% เพื่อให้ปี 2025 สามารถบรรลุเป้าหมายเป็นบริการที่ใช้พลังงานหมุนเวียนแบบ 100%”
วัตสันยกตัวอย่างบริษัทแม่ของ AWS อย่าง Amazon ที่ใช้ AI คำนวณสินค้าทุกออเดอร์ เพื่อจะตัดกล่องพัสดุให้เล็กที่สุด ทำให้สามารถลดการใช้กระดาษกล่อง รวมถึงวัตถุดิบการทำแพกเกจของธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้ 36%
ปัจจุบัน Amazon.com ถือเป็นบริษัทที่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานหมุนเวียนมากที่สุดในโลก มีการจ้างผลิตรถไฟฟ้าสำหรับขนส่งนับแสนคัน ขณะเดียวกัน เดินหน้ามาตรการลดอุปกรณ์ UPS สำรองไฟฟ้า และเลือกใช้พลังงานทางเลือกอื่น
ในอีกขา AWS ไม่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยลูกค้าออกแบบคลาวด์ที่เด่นเรื่องประสิทธิภาพเท่านั้น แต่บริษัทกำลังเพิ่มเรื่องยั่งยืนเพื่อให้ลูกค้า “ต้องคิดถึงเรื่องอื่นด้วย” ทั้งค่าใช้จ่ายอื่น และการใช้พลังงาน ทั้งหมดนี้เป็นการต่อยอดจากการออกแบบชิปดาต้าเซ็นเตอร์ของ AWS เอง และการทำรายงานสรุปการใช้พลังงาน รวมถึงการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ด้วยคอนกรีตจากโรงงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งทั้งหมดนี้ AWS เชื่อว่าการใช้งานคลาวด์ที่ลดโลกร้อนได้ จะขยายผลสู่การช่วยให้ภาคส่วนอื่นลดโลกร้อนได้ด้วย
“AWS มองตัวเองเป็นนิติบุคลลของหมู่บ้าน การทำให้คลาวด์มีความซิเคียวและยั่งยืน จะทำให้ทุกคนในหมู่บ้านมีคลาวด์ที่ดี ได้ประโยชน์จากการลงทุนในไทย การใช้ชิปเซ็ตของ AWS พลังงานทางเลือก ลดการใช้น้ำ และลดของเสีย เราสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ของเราให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะการสำรวจพบว่าหากเทียบการใช้พลังงานบนดาต้าเซ็นเตอร์คลาวด์ กับการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ของแต่ละบริษัทเอง จะพบว่าคลาวด์ของ AWS มีการปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า 80%”
ในภาพรวม วัตสันมองว่าการเพิ่มเรื่องความยั่งยืนและการใช้พลังงานหมุนเวียนของคลาวด์จะทำให้นักพัฒนามองรอบด้านอย่างลึกซึ้งมากกว่าการเขียนหรือสร้างแอปพลิเคชันทั่วไป จุดนี้ AWS ได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อให้ผู้สร้างแอปได้พิจารณาว่าแอปที่กำลังเขียนและรันบน AWS นั้นประหยัดไปได้เท่าใดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
“อิมแพกต์ที่จะเกิดขึ้นคือความตื่นตัวของตลาด ซึ่งจะทำให้ความยั่งยืนจับต้องได้มากขึ้น นำไปสู่การสื่อสารถึงลูกค้าที่เป็นนักพัฒนาว่าทุกคนสามารถช่วยโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม”
ที่สำคัญ AWS พยายามย้ำว่าการใช้คลาวด์สีเขียวยังมีประโยชน์หลายด้านต่อผู้ใช้ในอนาคต เช่น การให้สินเชื่อแก่บริษัทที่ลดโลกร้อนในอัตราดอกเบื้ยที่ต่ำกว่า ซึ่งจะเป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาต่อยอดประโยชน์เพื่อให้ธนาคารสามารถเข้าถึงลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีเครดิตคาร์บอนต่ำได้สะดวก
ทั้งหมดนี้สะท้อนภาพชัดถึงที่มาแนวคิดของ AWS ที่เริ่มไฮไลต์ความสำคัญของคลาวด์สีเขียวตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว คาดว่าแนวทางนี้จะมีบทบาทสำคัญในการทำตลาดคลาวด์ในอนาคต โดยจะเป็นแม่เหล็กใหม่ในตลาดคลาวด์เมืองไทยที่ถูกประเมินว่าจะมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% ในปี 2023