xs
xsm
sm
md
lg

ไทยใช้ไฮบริดมัลติคลาวด์ต่ำกว่ามาตรฐาน Nutanix พบตลาดอาจขยายจาก 0% เป็น 50% ใน 3 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นูทานิคซ์ (Nutanix) ประกาศผลสำรวจดัชนีวัดความก้าวหน้าการใช้คลาวด์ขององค์กร หรือ ECI ปี 5 พบปัจจุบันบริษัทที่เข้าร่วมตอบแบบสอบถามในไทยยังมีการใช้โมเดลโครงสร้างพื้นฐานแบบหลากหลายน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคและระดับโลก โดยแผนการขยายตัวเกือบทั้งหมดเน้นไปที่การเร่งเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานไฮบริดมัลติคลาวด์จาก 0% ในวันนี้เป็น 50% ในอีก 3 ปี ขณะที่การใช้งานพับลิกคลาวด์อย่างเดียวที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที คาดว่าจะขยายตัวจาก 2% เป็น 6%

นายเฟตรา ชาห์บานา ผู้จัดการประจำกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่เติบโต (Growth Emerging Markets: GEMS) ซึ่งดูแลธุรกิจของนูทานิคซ์ในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย และประเทศในอาเซียน ยกเว้นสิงคโปร์ กล่าวถึงการเร่งเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานไฮบริดมัลติคลาวด์จาก 0% เป็น 50% ใน 3 ปีขององค์กรไทย ว่า จะมีผลเชิงบวกต่อทุกฝ่าย ทั้งนูทานิคซ์ที่มีเทคโนโลยีพร้อมรองรับการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานไฮบริดมัลติคลาวด์แบบตลอดเส้นทาง และฝั่งธุรกิจไทยที่จะสามารถพัฒนาและตอบความต้องการของผู้บริโภคไทยได้ดีกว่าเดิม

“Nutanix เห็นเทรนด์นี้ชัด องค์กรไทยกำลังจะไปในเส้นทางไฮบริดมัลติคลาวด์ เราจึงปูทางด้วยเทคโนโลยีที่ลดการเกิดไซโล การปลดข้อจำกัดเรื่องการย้ายข้อมูลระหว่างมัลติคลาวด์ และอีกหลายสิ่งที่ช่วยให้องค์กรใช้งานไฮบริดมัลติคลาวด์ได้อย่างราบรื่น ดังนั้นการเร่งจาก 0% เป็น 50% ใน 3 ปีข้างหน้าจึงไม่ใช่เรื่องน่าห่วง” เฟตรากล่าว โดยบอกว่าอิมแพกต์ที่จะเกิดกับอุตสาหกรรม คือทำให้ธุรกิจตอบความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ครอบคลุม สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดี การตอบรับที่เร็ว และการนำเสนอบริการใหม่ได้เร็วขึ้น

ผลสำรวจดัชนีวัดความก้าวหน้าการใช้คลาวด์ขององค์กรไทยครั้งนี้ถูกเผยแพร่ในรายงานชื่อ Nutanix Enterprise Cloud Index ซึ่งการสำรวจประจำปีนี้วัดได้จากผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอทีจำนวน 1,450 คนทั่วโลกรวมถึงไทย โดยสัดส่วน 0% ที่วัดได้นั้นไม่ได้แปลว่าไม่มีการใช้งานเลย แต่มาจากการคำนวณเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างรวมทั้งหมด

เฟตรา ชาห์บานา ผู้จัดการประจำกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่เติบโต (Growth Emerging Markets: GEMS)
หากมองที่ระดับโลก Nutanix พบว่าองค์กรต่างต้องการแพลตฟอร์มไฮบริดมัลติคลาวด์หนึ่งเดียวเพื่อรันแอปพลิเคชันและบริหารจัดการดาต้าบนสถาพแวดล้อมไอทีที่แตกต่างกันได้ทั้งหมด ขณะที่ผลสำรวจ ECI แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานไอทีมีความหลากหลายและแตกต่างกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และวันนี้องค์กรต่างพบกับความท้าทายที่จะต้องบูรณาการการบริหารจัดการและการควบคุมข้อมูลจากจุดเดียว

***บทสรุปผลสำรวจทั่วโลก

สถิติการสำรวจรวมทั่วโลกพบว่าโครงสร้างพื้นฐานไอทีมีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่งหนึ่ง (60%) ใช้สภาพแวดล้อมไอทีหลายประเภท และยังมีแผนทำเช่นนี้ต่อไป หรือมีแผนเพิ่มประเภทให้หลากหลายมากขึ้นอีกในอีก 3 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าการใช้โมเดลไฮบริดมัลติคลาวด์ ซึ่งประกอบด้วยไพรเวทคลาวด์ที่อยู่ในองค์กร หรือที่เอดจ์ บวกกับแพลตฟอร์มมัลติพับลิกคลาวด์ จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า ในขณะที่จะมีการใช้โมเดลอื่นๆ คงที่หรือลดลง ในเวลาเดียวกัน ดาต้าจะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนที่มีบทบาทเบื้องหลังการตัดสินใจด้านไอทีมากขึ้น

การสำรวจพบว่าองค์กรทั่วโลกต่างเผชิญความท้าทายว่าจะลดความซับซ้อนและบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่อย่างไร จึงจะสามารถรองรับทั้งแอปพลิเคชันและดาต้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสภาพแวดล้อมไอที และบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ ซึ่งรวมถึงวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนและงบประมาณด้วย องค์กรส่วนใหญ่มีความคืบหน้าในการทำให้การจัดการง่ายขึ้น ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ระบุว่าสามารถทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างสภาพแวดล้อมไอทีได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยังขาดการมองเห็นแบบองค์รวมว่าดาต้าซ่อนตัวอยู่ ณ ที่ใดบ้าง ในขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจ 94% เห็นเหมือนกันว่าความสามารถในการมองเห็นได้ทั้งหมดเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ มีเพียง 40% เท่านั้นที่ระบุว่าสามารถมองเห็นว่าดาต้าของตนอยู่ที่ไหนได้อย่างสมบูรณ์ นั่นหมายความว่า 60% ยังไม่สามารถทำเช่นนี้ได้

สุรักษ์ ธรรมรักษ์ หัวหน้าวิศวกรระบบของนูทานิคซ์ (ประเทศไทย)
ข้อจำกัดนี้กำลังส่งผลมากขึ้นในยุคที่แอปพลิเคชันเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ข้อมูลจาก IDC ระบุว่าจะมีแอปพลิเคชันใหม่เข้าสู่ตลาดอีก 750 ล้านรายการภายในปี 2569 และภายในปีเดียวกันนี้ 50% ของข้อมูลจะถูกสร้างขึ้นที่ edge ตรงนี้สอดคล้องกับผลสำรวจที่นอกจากจะพบว่าทีมไอทีส่วนใหญ่ (60% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลก) ใช้โครงสร้างพื้นฐานไอทีมากกว่าหนึ่งประเภทผสมกันไป แต่ในปีที่ผ่านมา 99% ของผู้ตอบแบบสอบถามยังมีการย้ายแอปพลิเคชันจากโครงสร้างพื้นฐานไอทีดั้งเดิม ไปยังโครงสร้างพื้นฐานไอทีบนสภาพแวดล้อมอื่นด้วย

*** ไทยยังขยายต่อ

นายสุรักษ์ ธรรมรักษ์ หัวหน้าวิศวกรระบบของนูทานิคซ์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทที่เข้าร่วมตอบแบบสอบถามในไทยยังมีการใช้โมเดลโครงสร้างพื้นฐานแบบหลากหลายน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอยู่มาก และแผนการใช้งานในอีก 3 ปียิ่งอยู่ในระดับที่น้อยลงไปอีก แผนการขยายตัวไม่เพียงเน้นไปที่การเร่งเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานไฮบริดมัลติคลาวด์จาก 0% ในวันนี้เป็น 50% ในอีก 3 ปี แต่ในระหว่างนี้จะมีความตั้งใจลดรูปแบบการใช้ไอทีอื่นๆ ทั้งหมด ยกเว้นการใช้งานพับลิกคลาวด์อย่างเดียวที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่คาดว่าจะขยายตัวจาก 2% เป็น 6%

“ผู้ตอบแบบสอบถามจากประเทศไทยจำนวนมากระบุว่า อำนาจในการควบคุมข้อมูล/การปฏิบัติตามกฎระเบียบเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ในขณะที่กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามระดับภูมิภาคในเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่กว่าเลือกอำนาจในการควบคุมข้อมูลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้มีความสำคัญสูงสุดพอกัน และผู้ตอบแบบสำรวจ ECI ท้้งหมดเห็นว่าความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่สำหรับประเทศไทย ความปลอดภัยทางไซเบอร์มาเป็นอันดับ 5 โดยเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งที่ถูกกล่าวถึงน้อยที่สุดในทั้ง 3 กลุ่ม” Nutanix ระบุ

Nutanix อธิบายเพิ่มว่าความหลากหลายของโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการเน้นด้านดาต้าสตอเรจ การจัดการ การรักษาความปลอดภัย และบริการต่างๆ มากขึ้น กำลังผลักดันให้ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีทั้งหมดมองหาการดำเนินงานแบบผสมผสานที่เป็นได้มากกว่าโครงสร้างพื้นฐานแบบไพรเวทและพับลิก

ขณะเดียวกัน ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบทั้งหมดรวมทั้ง 98% ในไทยต้องการการมองเห็นและจัดการส่วนต่างๆ ของโครงสร้างพื้นฐานที่หลากหลายได้จากจุดเดียว เมื่อคุณลักษณะเหล่านี้มีพร้อมให้ใช้งาน ผู้ตอบแบบสอบถามจะสามารถเข้าถึงเครื่องมือแบบรวมศูนย์ที่แสดงตำแหน่งจัดเก็บข้อมูลทั้งหมด ทำให้ทีมไอทีสามารถจัดการแอปพลิเคชันและดาต้าได้แบบองค์รวม และปรับเปลี่ยนได้ตามต้องการ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในด้านค่าใช้จ่าย ประสิทธิภาพ การปกป้องข้อมูล และการปฏิบัติตามข้อกำหนด


กำลังโหลดความคิดเห็น