นายอนุรักษ์ นิยมเวช
กรรมการผู้จัดการบริษัท กฎหมายธุรกิจอนุรักษ์ จำกัด
anurak@anurakbusinesslaw.com
การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่หมู่เกาะบริทิช เวอร์จิ้น (British Virgin Island หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า BVI) ในทะเลแคริบเบียน ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองในอาณัติของอังกฤษ นับว่าเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนระหว่างประเทศมาเป็นเวลานาน เนื่องจากมีสะดวกและคล่องตัวหลายๆประการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งบริษัทที่ค่อนข้างง่ายและสะดวกรวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ มีการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทต่อสาธารณะอย่างจำกัด การประชุมผู้ถือหุ้นหรือกรรมการสามารถกระทำในที่ใดๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ไม่ต้องจัดเก็บบัญชีและเอกสารต่างๆ ไว้ที่บริษัทใน BVI และได้รับยกเว้นภาษีต่างๆ ของ BVI เป็นต้น
ในทางปฏิบัติ วิธีที่สะดวกในการจัดตั้งบริษัท BVI คือ การติดต่อดำเนินการผ่านทางตัวแทนจดทะเบียน (registered agent) ในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง สิงค์โปร์ โดยผู้ขอจัดตั้งบริษัทอาจเลือกจัดตั้งบริษัทจากรายชื่อบริษัทต่างๆ ที่ตัวแทนจดทะเบียนได้จัดตั้งไว้เบื้องต้นแล้ว (Shelf Company) หรือผู้ขอจัดตั้งจะจองชื่อและจัดตั้งบริษัทใหม่ทั้งหมดเลยก็ได้
ในการจัดตั้งบริษัท BVI นั้น อย่างน้อยจะต้องมีกรรมการและผู้ถือหุ้น 1 คน ซึ่งไม่จำกัดสัญชาติและอาจจะเป็นบุคคลเดียวกันก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีพนักงาน และไม่มีการกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ ดังนั้น ขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญในการจัดตั้งบริษัทนั้น โดยหลักก็คือ การตรวจสอบและยืนยันตัวตนและเอกสารประจำตัวของกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทที่จะจัดตั้งโดยตัวแทนจดทะเบียน
เมื่อมีการจัดตั้งบริษัทแล้ว บริษัทมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมประจำปีให้แก่ทาง BVI เพื่อรักษาสถานะบริษัทเอาไว้ รวมทั้งส่งแบบฟอร์มรายงานตามที่ทางการกำหนด
สำหรับการเปิดบัญชีธนาคารนั้น แม้ว่านักลงทุนจะดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งผ่านทางตัวแทนจดทะเบียนในต่างประเทศนอก BVI เพื่อความสะดวก แต่การเปิดบัญชีธนาคารในต่างประเทศจะขึ้นอยู่กับกฎระเบียบของประเทศนั้นๆ ตัวอย่างเช่น การเปิดบัญชีในฮ่องกงนั้น จะอยู่ในกำกับของ Hong Kong Monetary Authority โดยธนาคารจะขอตรวจสอบข้อมูล (Due Diligence) ลูกค้าในเรื่องเหตุผลและความจำเป็นในการเปิดบัญชีที่ฮ่องกง แหล่งเงินทุน ฯลฯ โดยการอนุมัติจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของธนาคาร โดยหลักแล้ว บริษัทจะต้องมีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเทศนั้นๆ จึงจะขอเปิดบัญชีได้
จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดการจัดตั้งบริษัทใน BVI จึงเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ เสมอมา อย่างไรก็ตาม ในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย บริษัท BVI ก็อาจต้องเสียภาษีให้แก่ประเทศไทย เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินปันผลหรือกำไรจากการขายหุ้นที่ได้ในประเทศไทย เนื่องจาก BVI ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับไทย