xs
xsm
sm
md
lg

ไอบีเอ็มพบซีอีโอไทยโฟกัสระบบไอทีทันสมัย ตื่นตัวพร้อมใช้ Generative AI

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายสวัสดิ์ อัศดารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
ผลการศึกษาไอบีเอ็มพบซีอีโอไทยตื่นตัวพร้อมใช้ Generative AI เช่นเดียวกับซีอีโออาเซียนที่โฟกัสระบบไอทีทันสมัยเป็นพิเศษ ให้ความสำคัญสูงสุดกับการโมเดิร์นไนซ์เพื่อปูทางให้ Gererative AI เป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรสามารถปรับใช้ AI ให้เข้ากับความต้องการได้เร็ว

นายสวัสดิ์ อัศดารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่า Gererative AI ไม่เพียงเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรสามารถปรับใช้ AI ให้เข้ากับความต้องการได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังช่วยพัฒนาและขยายการใช้งานบนคลาวด์ต่างๆ ได้อย่างยืดหยุ่นคล่องตัว อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็น use case แบบใด สิ่งสำคัญที่ซีอีโอควรใช้เป็นตัววัดความสำเร็จคือความน่าเชื่อถือ ความสามารถในการแสดงที่มาของผลลัพธ์อย่างโปร่งใส และความถูกต้องเที่ยงตรงของข้อมูลที่ AI แสดงผล และที่มองข้ามไม่ได้คือการที่ข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคต้องได้รับการปกป้องและคุ้มครอง

"ในวันนี้ที่ซีอีโอต่างเร่งเครื่องนำ AI เข้าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน รวมถึงการดูแลลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น โมเดล AI ต่างๆ ที่ใช้ต้องมีความปลอดภัย ให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ และมีการควบคุมดูแลให้เป็นไปตามข้อพิจารณาด้านกฎระเบียบและจริยธรรมต่างๆ"

อย่างไนก็ตาม ยังมีสถิติที่ตอกย้ำว่า Generative AI กำลังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านบุคลากร โดยที่ยังขาดการประเมินผลกระทบในภาพกว้าง เพราะประมาณ 43% ของซีอีโอในสหรัฐฯ​ ที่สำรวจ ระบุว่าได้ปรับลดหรือปรับตำแหน่งงานของพนักงาน อันเป็นผลพวงมาจาก Generative AI ขณะที่อีก 28% วางแผนที่จะดำเนินการดังกล่าวในอีก 12 เดือนข้างหน้า

***มีทั้งเพิ่มและลด

แม้ 46% ของซีอีโอที่สำรวจระบุว่า Generative AI นำสู่การจ้างพนักงานเพิ่ม และ 26% มีแผนจ้างงานเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่มีซีอีโอในสหรัฐฯ เพียงหนึ่งในสาม (28%) ที่ได้ประเมินผลกระทบที่ Generative AI อาจมีต่อบุคลากรของตนแล้ว ขณะที่ 36% วางแผนที่จะทำในอีก 12 เดือนข้างหน้า

เรื่องที่องค์กรมองว่าจะมีความสำคัญสูงสุดในอีก 3 ปีข้างหน้า
สถิติเหล่านี้เป็นผลการศึกษาของสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) ที่ลงมือศึกษาซีอีโอทั่วโลกจนพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของซีอีโอในอาเซียน-ไทยที่สำรวจ มองการโมเดิร์นไนซ์ระบบไอที (tech modernization) เป็นภารกิจที่มีความสำคัญสูงสุด เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านการเพิ่มผลิตภาพขององค์กร รวมถึงการสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้ลูกค้า ซึ่งซีอีโอมองว่าเป็น 2 เรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดรองลงมา

อย่างไรก็ดี ยังมีอุปสรรคสำคัญที่ซีอีโอต้องเผชิญในก้าวย่างการโมเดิร์นไนซ์ระบบและการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Generative AI เข้ามาใช้ในองค์กร

การศึกษาประจำปีนี้ ภายใต้หัวข้อ CEO decision-making in the age of AI, Act with intention ได้ทำการศึกษาซีอีโอทั่วโลก 3,000 คน รวมถึงได้สำรวจซีอีโอจากบริษัทข้ามชาติในสหรัฐอเมริกาในประเด็น generative AI เพิ่มเติมอีก 200 คน พบว่า 3 ใน 4 ซีอีโอที่สำรวจเชื่อว่าความได้เปรียบในการแข่งขันจะตกเป็นของผู้ที่มีระบบ generative AI ที่ก้าวล้ำที่สุด โดยผู้บริหารเองก็กำลังชั่งน้ำหนักความเสี่ยงหรืออุปสรรคจากตัวเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน ไม่ว่าในแง่อคติเอนเอียง จริยธรรม หรือความปลอดภัย

กลุ่มตัวอย่างกว่าครึ่ง (57%) ของซีอีโอในอเมริการที่สำรวจมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูล ขณะที่ 48% กังวลเกี่ยวกับอคติหรือความถูกต้องของข้อมูล

ในอีกด้าน ผลการศึกษายังสะท้อนมุมมองของซีอีโอในอาเซียน ซึ่งรวมถึงในประเทศไทย โดยเฉพาะมุมมองว่าเทคโนโลยีคือเรื่องสำคัญเร่งด่วนและเป็นกุญแจหลักที่ขับเคลื่อนองค์กร โดย 50% ของซีอีโอที่สำรวจในอาเซียน รวมถึงในไทย มองการโมเดิร์นไนซ์ระบบและแอปพลิเคชันไอทีเป็นภารกิจที่มีความสำคัญสูงสุด โดยที่การเพิ่มผลิตภาพขององค์กร (48%) และการสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้ลูกค้า (48%) เป็น 2 เรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดรองลงมา

ทั้งนี้ นับเป็นเวลา 4 ปีติดต่อกันแล้วที่ซีอีโอในอาเซียนมองเทคโนโลยีว่าเป็นปัจจัยภายนอกที่จะส่งผลกระทบต่อองค์กรสูงสุดในอีก 3 ปีข้างหน้า

ปัจจัยภายนอกที่จะมีผลกระทบกับองค์กรในอีก 3 ปีข้างหน้า
ขณะเดียวกัน ซีอีโอยังมองผู้บริหารด้านปฏิบัติการและเทคโนโลยีเป็นผู้ช่วยในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ เนื่องจากเมื่อถามว่าผู้บริหารระดับ C-Suite ตำแหน่งใดที่จะมีส่วนต่อการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดในอีก 3 ปีข้างหน้า ซีอีโอในอาเซียนและในไทยระบุว่าคือ COO (62%) และ CFO (54%)

***CIO, CTO และ Chief Digital Officer อิทธิพลสูง


การสำรวจพบว่าผู้บริหารด้านเทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของซีอีโอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดย 41% ของซีอีโอมอง CIO, CTO และ Chief Digital Officer หรือ CDO ในฐานะผู้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดขององค์กร

และแม้ซีอีโอระบุว่าพร้อมที่จะนำ Generative AI มาใช้ แต่ผู้บริหารอื่นๆ ยังมีข้อกังขา ขณะที่ 3 ใน 4 (75%) ของซีอีโอในสหรัฐฯ ที่สำรวจเชื่อว่าองค์กรที่มี Generative AI ที่ก้าวล้ำมากที่สุดจะมีความได้เปรียบในการแข่งขัน

การสำรวจยังพบว่าครึ่งหนึ่ง (50%) ของซีอีโอระบุว่าได้เริ่มนำ Generative AI มาใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ แล้ว โดย 43% ระบุว่ากำลังใช้ generative AI เพื่อให้ข้อมูลสำหรับการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ ขณะที่ 36% ใช้เทคโนโลยีในการตัดสินใจดำเนินงานต่างๆ

กลุ่มตัวอย่าง 69% ของซีอีโอในสหรัฐฯ มองเห็นถึงประโยชน์ของการนำ Generative AI มาใช้ทั่วทั้งองค์กร แต่มีทีมผู้บริหารเพียง 29% ที่มองว่าองค์กรมีความเชี่ยวชาญภายในมากพอสำหรับการเริ่มใช้ Generative AI มีผู้บริหารอาวุโส (ที่ไม่ใช่ซีอีโอ) เพียง 30% เท่านั้น ที่มองว่าองค์กรของตนพร้อมนำ Generative AI มาใช้อย่างมีความรับผิดชอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น