โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ค พร้อมส่งบริการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าพพลัง AI สัญชาติไทยโกอินเตอร์ ขอ 2 ปีขึ้นแท่นยูนิคอร์นพร้อม IPO เข้าตลาดแนสแดค ประเดิมแจ้งเกิด "แมนเดล่า เอไอ" (Mandala AI Ecosystem) อาสาช่วยแบรนด์ขับเคลื่อนกลยุทธ์การตลาดด้วยปัญญาประดิษฐ์ ตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 200% มองยาว 5 ปีสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จากทั้งในและต่างประเทศ ลุยระดมทุนเพิ่มอีก 350 ล้านบาท (10 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อเสริมแกร่งระบบไอทีสำหรับขยายธุรกิจไปทั่วโลก
นายเอกลักษณ์ ยิ้มวิไล ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ค จำกัด กล่าวเปิดตัวธุรกิจโอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ค อย่างเป็นทางการในไทย รวมถึงแสดงความพร้อมวางแผนทำตลาดเชิงรุกทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ในงานเปิดตัว Mandala AI Ecosystem ว่าหลังจากก่อร่างฐานบริษัทมานานกว่า 4 ปี โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ค พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการใหม่คือเครื่องมือ Mandala Analytics ซึ่งเป็นระบบวิเคราะห์บิ๊กดาต้าที่มี AI เป็นตัวขับเคลื่อน เบื้องต้น วางแผนขยายจากตลาดประเทศไทยสู่ตลาดต่างประเทศในปีนี้ โดยจะเริ่มจากกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ และกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาสเปน ตามลำดับ
"เราบริหารข้อมูล YouTube ประมาณ 500 ล้านวิดีโอต่อวัน มากที่สุดในเอเชีย เราจะเน้นทำกำไรคู่ความยั่งยืน และขยายไปทั่วโลก ตั้งใจว่าภายในปี 2025 เราจะติด Top 10 ผู้ให้บริการระดับโลกในกลุ่มเช่าซอฟต์แวร์ประเภทการตลาดดิจิทัล เราหวังว่าปี 2025 จะสามารถขึ้นเป็นยูนิคอร์น จะลิสต์ในตลาดหลักทรัพย์ไทย และพร้อมเข้าแนสแดค"
สำหรับ Mandala AI Ecosystem นั้นเป็นระบบที่ช่วยรวบรวม กลั่นกรอง ตลอดจนวิเคราะห์ประมวลผล และสร้างสรรค์ข้อมูลจากบิ๊กดาต้าบนโลกออนไลน์ โดยมีเป้าหมายในการช่วยให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จาก Social Media Data ได้ เบื้องต้น Mandala AI Ecosystem จะมี 4 ระบบ (Engines) ที่เป็นหัวใจหลักสำคัญ ได้แก่ 1.Seed Engine : ระบบรวบรวมและจัดการข้อมูลบิ๊กดาต้าที่มีอยู่บน Social Media เช่น Facebook, Instagram, Twitter, YouTube และอื่นๆ 2.Paradigm Engine : ระบบ Machine Learning ที่เรียนรู้ชุดข้อมูล 3.Mandala AI Engine : ระบบวิเคราะห์ Big Data และ 4.MandalaGPT : ระบบ AI Deep Learning หรือการเรียนรู้ข้อมูลบิ๊กดาต้าเชิงลึกเพื่อให้ AI สามารถพัฒนาตัวเอง คัดเลือกข้อมูลที่เฉพาะเจาะจง หรือสร้างสรรค์ข้อมูลได้เองจากชุดข้อมูลที่กำหนด
ข้อมูลที่อยู่ในระบบ Mandala AI Ecosystem ล้วนเป็นข้อมูลที่ได้รับการรับรองจาก Meta (Facebook, Instagram, WhatsApp), Google and YouTube, Twitter, Pantip และ Reddit ซึ่งระบบของบริษัทฯ มีข้อมูลมากกว่า 20 พันล้านเซ็ต และสามารถทำการวิเคราะห์ข้อมูลได้มากกว่า 100 ล้านเมนชันส์ (Mentions) ต่อวัน ทั้งหมดเป็นผลจากการที่โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์คเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียรายใหญ่ของโลกทั้งเมต้า (Meta) กูเกิล (Google) และทวิตเตอร์ (Twitter)
นายเอกลักษณ์ มั่นใจในการเติบโตของโอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์คเนื่องจากภาวะปัจจุบันที่โลกมีข้อมูลมหาศาล ผู้บริโภคถือเป็นทั้งผู้ใช้ ผู้ผลิต และเป็นเจ้าของข้อมูล โดยการสำรวจพบว่าประมาณ 60% ของประชากรโลกใช้โซเชียลมีเดีย มีผู้ใช้ใหม่ 150 ล้านคนเฉพาะปีนี้ ส่วนใหญ่ใช้เวลาเฉลี่ย 2.24 ชั่วโมง คิดเป็นสัดส่วนการใช้งานเฉลี่ย 59.4% ซึ่งมีทิศทางเติบโตต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีจากนี้
"วันนี้ข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ ข้อมูลเชิงลึกจึงเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญในการทำธุรกิจ และการทำคอนเทนต์ ทุกคนที่ทำคอนเทนต์รู้ว่าธุรกิจและคอนเทนต์แยกจากกันไม่ได้ ดังนั้น ถ้าข้อมูลมากขนาดนี้และมีผู้ใช้บริการมากขนาดนี้ จะกลายเป็นบิ๊กดาต้าที่นับไม่ได้ และข้อมูลจะถูกผลิตขึ้นทุกวินาที ในปริมาณมหาศาล แต่ยุคบิ๊กดาต้าก็มาและหายในเวลา 2 ปี เพราะข้อมูลล้น AI จึงเกิดขึ้นเพื่อกรองข้อมูล ให้ผู้คนหยิบมาใช้งานได้ในเวลาจำกัด เราเห็นทิศทางการเปลี่ยนเปลงนี้ จึงเพิ่งรีแบรนด์จาก Mandala เฉยๆ เมื่อปีที่แล้ว โดยใส่คำว่าเอไอลงไป"
นายเอกลักษณ์ ยกข้อมูลการสำรวจล่าสุดพบว่า ประมาณ 400 ล้านตำแหน่งงานจะถูกแทนที่ด้วยระบบ AI แต่จะมีงานสร้างงานใหม่เกิดขึ้นประมาณ 97 ล้านงาน ที่เป็นงานด้านเทคนิค และการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ โดยต้องเชี่ยวชาญทั้งเรื่องดาต้าและเอไอ เบื้องต้นข้อมูลจากฟอร์สบ ระบุว่า 97% ของผู้บริหารองค์กรพร้อมใช้ ChatGPT ในธุรกิจ และมากกว่า 60% เชื่อว่า AI จะช่วยให้ธุรกิจดีขึ้น ซึ่ง 1 ใน 3 ขององค์กรจะใช้ AI สร้างเว็บไซต์ ทั้งหมดนี้ทำให้คาดว่าอัตราการเติบโตของ AI ที่จะเห็นในปีนี้มีไม่ต่ำกว่า 37.3%
ในภาพรวม นายเอกลักษณ์ เชื่อว่า AI จะมีผลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากการเสิร์ชหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต การปรึกษาเอเยนซี และการใช้ความรู้สึกส่วนตัวในการตัดสินใจ ซึ่งที่ผ่านมาหลายสิบปี วิธีการเหล่านี้ถูกนำใช้ในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะการตั้งราคา ทั้งหมดนี้กำลังเปลี่ยนไป เพราะ AI จะมาย่อยข้อมูล ให้ทำทุกอย่างเร็วขึ้น
"AI จะมีระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่จะขับเคลื่อนและสร้าง ตอบสนอง และรับรู้ความต้องการของตลาด รู้ว่าใครต้องการอะไร ชอบสีแบบไหน"
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ Mandala Cosmos และ Mandala Analytics ให้เป็น All-in-One Platform ซึ่งจะมีฟีเจอร์ที่ช่วยในการบริหารจัดการโซเชียลมีเดียทั้งการติดแท็กจัดหมวดหมู่อัตโนมัติ และการแจ้งเตือน เพื่อช่วยบริหารจัดการข้อมูลที่ต้องมอนิเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมการแจ้งเตือนหากมีเหตุการณ์วิกฤต ผ่านอีเมล หรือไลน์ (Line) ได้ รวมถึงการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ Mandala AI Custom Enterprise Solutions หรือการออกแบบแพลตฟอร์มเฉพาะสำหรับลูกค้าระดับองค์กร หน่วยงานภาครัฐ หรือธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีมูลค่าโครงการเริ่มต้นที่ 6 ล้านบาทต่อปี
ในอีกด้าน บริษัทเตรียมแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ชื่อ “กาแล็กซี่อินไซต์" (Galaxy Insights) ที่ออกแบบมาให้เจาะลึกข้อมูลเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มธุรกิจความงามและเครื่องสำอาง (Beauty and Cosmetics) กลุ่มธุรกิจอาหาร เป็นต้น ในประเทศไทย สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นในการสร้างสรรค์ระบบและเครื่องมือต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าไว้อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ Mandala AI ที่มีทั้งระบบ Social Listening & Monitoring, Data Analytics, CRM, CPD Platform และอื่นๆ ซึ่งเป็น Software as a Services (SaaS) หรือการพัฒนา Paradigm Engine ในฐานะ Platform as a Service (PaaS) ที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถเทรนโมเดลเอไอได้เองเป็นต้น
“จากที่ขายมอเตอร์ไซค์ 1 คันแล้วเริ่มดำเนินธุรกิจมา 4 ปี เราสามารถระดมทุนได้ 4.3 ล้านเหรียญตั้งแต่ก่อนเปิดกิจการ เราวางเป้าหมายไป 173 ประเทศ รองรับ 15 ภาษา เชื่อว่าเป็นไปได้เหมือนที่สำนักข่าวต่างประเทศทำได้” นายเอกลักษณ์ กล่าว "โลกวันนี้ไม่ได้รันด้วยประเทศ แต่รันด้วยภาษา เฉพาะภาษาอังกฤษก็ครึ่งโลกแล้ว สเปนอีก 20% ถ้าทำแต่ภาษาไทยจะเป็นเฉพาะคนไทย เราจึงวางเป้าหมายตั้งแต่วันแรกว่าจะไประดับโลก จึงมีการวางระบบเครื่องอย่างรอบคอบ เรามีระบบที่เป็นฟรี ราคาอัปเกรดจับต้องได้ ปีนี้จะเน้นที่อังกฤษ อเมริกา แคนาดา มีทีมงานที่เม็กซิโกแล้ว กำลังจะมีทีมที่ออสเตรเลียและฮ่องกง"
นายเอกลักษณ์ ทิ้งท้ายถึงแผนบุกตลาดโลกที่จะครอบคลุมถึงปี 2026 ว่าเมื่อทำธุรกิจไป 5 ปี คาดว่าจะเกิดรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (คำนวณจากค่าบริการเริ่มต้น 15 เหรียญสหรัฐ คูณด้วยจำนวนลูกค้าที่คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย แล้วคูณด้วยตลาดที่ให้บริการราว 20 ประเทศ
"เรารับรู้รายได้ตั้งแต่ตอนนี้แล้ว รายได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายประมาณ 30-40% คิดว่าจะเติบโตอีก 200% ในปีนี้ และถ้าเป็นไปตามเป้า ปีหน้าเราจะโตขึ้นอีก เรากำลังเข้าสู่การระดมทุนเพิ่มอีก 350 ล้านบาท (10 ล้านเหรียญ) ซึ่งในอนาคต โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ค จะผันตัวเป็นนักลงทุนในปี 2025 เพราะเราเกิดจากโกดัง มีประสบการณ์ทำเซิร์ฟเวอร์เอง เรารู้ว่าเทคคัมพานีที่เริ่มต้นได้ดีเป็นอย่างไร และปี 2025 เราวางแผนสร้างโซเชียลมีเดียหลักของอาเซียน เชื่อว่าการเติบโตในตลาดโซเชียลมีเดียนั้นเป็นไปได้ และอาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ด้วย"