เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงวัยมีพลังหรือพฤฒิพลังอย่างต่อเนื่อง ทรู-ดีแทค สานต่อการโครงการเน็ตทำกิน ร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมความร่วมมือภาคธุรกิจเอกชนเพื่อพัฒนาผู้สูงอายุ ต่อยอดอาชีพสู่เทรนด์ธุรกิจออนไลน์ ในหลักสูตร “ติดปีกทักษะดิจิทัล กับโครงการเน็ตทำกิน”
น.ส.แรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า “ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมและสาธารณสุข ปัญหาสำคัญที่จะตามมาคือปัญหาภาระพึ่งพิงทางสังคมของผู้สูงวัย (Social Dependency) รายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงวัยต่อวัยแรงงานจะเพิ่มขึ้นจาก 27.7% เป็น 56.2% ซึ่งทำให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมจึงต้องร่วมมือขับเคลื่อน และสร้างสมดุลทั้งในระดับบุคคล สถาบันครอบครัว องค์รวมทางเศรษฐกิจ สังคม ระบบโครงสร้างต่างๆ โดยการสร้างความร่วมมือเครือข่ายผู้สูงอายุและเครือข่ายที่สนับสนุนงานด้านผู้สูงอายุ ในการส่งเสริมการขับเคลื่อนงาน การระดมทรัพยากรในการจัดสรรสวัสดิการที่จำเป็น การส่งเสริมสิทธิของผู้สูงอายุ การส่งเสริมสุขภาวะที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ การสนับสนุนให้มีการนำทักษะและประสบการณ์ของผู้สูงอายุมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการจัดหางานที่เหมาะสม เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการหารายได้ ยกระดับผลิตภาพของแรงงานในระยะยาว และมุ่งมั่นจะปิดช่องว่างดิจิทัลที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงวัยในประเทศ”
น.ส.รัชญา กุลณพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “หลังจากการควบรวมกิจการทรู และดีแทค บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าให้ความสำคัญกับการสร้างความเติบโตแก่เศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างองค์กรให้เป็น Telco-Tech Company อันดับหนึ่งของประเทศ ซึ่งความร่วมมือกับกรมกิจการผู้สูงอายุในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “ติดปีกทักษะดิจิทัล” ครั้งนี้ เป็นการต่อยอดโครงการเน็ตทำกิน ตอบโจทย์การสร้างคุณค่าด้านสังคม ที่มีเป้าหมายสำคัญคือ การให้ความรู้และทักษะดิจิทัลเพื่อสร้างงานและรายได้แก่กลุ่มเปราะบางต่างๆ จำนวน 500,000 รายภายในปี 2573 โดยโครงการเน็ตทำกินเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ด้วยกิจกรรมหลักทั้งการลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้แก่กลุ่มเปราะบาง การพูดคุยและเรียนรู้เพิ่มเติมทางช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่องอย่างน้อยอีก 6 เดือน และการจัดกิจกรรมอบรมอย่างสม่ำเสมอแบบ live talk รวมไปถึงการทำประชาสัมพันธ์เพจที่น่าสนใจเพื่อให้ธุรกิจออนไลน์เปิดใหม่ของกลุ่มเปราะบางเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งโครงการเน็ตทำกินเป็นเสมือนประตูสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงหลักสูตรและความรู้หลากหลายสาขาใน CP Future Campus - Online Learning Platform ที่รวบรวมองค์ความรู้จากการดำเนินธุรกิจในเครือซีพี สู่คอร์สเรียนออนไลน์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้”
ทั้งนี้ ทรูได้เสริมศักยภาพโครงการเน็ตทำกิน เพื่อให้ครอบคลุมทั้งการเริ่มต้นประกอบธุรกิจและการเพิ่มคุณภาพชีวิตมากขึ้น ดังนี้
• เพิ่มเนื้อหาอีก 3 วิชา ได้แก่ “กฎหมาย e-commerce เบื้องต้น” “packaging” และ “e-transaction ช่องทางธุรกรรมการเงินออนไลน์” และเมื่อผู้เรียนได้เรียนครบทั้ง 8 วิชา จะสามารถขอรับวุฒิบัตรที่ได้รับการรับรองจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นระดับสมรรถนะที่ 1 ในสาขาวิชา e-commerce และในอนาคต จะเปิดเพิ่มอีก 2-3 วิชา เช่น Business Canvas และ Business Analytics ซึ่งเมื่อผู้เรียนผ่านการเรียนรู้ครบทุกคอร์สแล้ว สามารถขอรับวุฒิบัติในระดับสมรรถนะ 2 ในสาขาวิชา e-commerce จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้อีกด้วย
• เพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้งานแอปพลิเคชันและบริการต่างๆ ของทรู เพื่อให้ครบลูปการเรียนรู้ เช่น ทรู สมาร์ท เมอแชนท์ และทรูมันนี่ วอลเล็ท สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อเริ่มต้นเข้าสู่ยุคการใช้เครื่องมือดิจิทัลสำหรับดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง
• ส่งเสริมแอปพลิเคชันและบริการอื่นๆ เพื่อคุณภาพชีวิตของชุมชนอีกด้วย เช่น แอปพลิเคชันหมอดี สำหรับเพิ่มการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพ