xs
xsm
sm
md
lg

True เผยไตรมาส 1/2566 ลูกค้า 50.5 ล้านราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทรู คอร์ปอเรชั่น เผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2566 ฐานลูกค้า 50.5 ล้านราย ลูกค้าใช้งาน 5G 6.3 ล้านราย รายได้จากบริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) จำนวน 38,985 ล้านบาท ลดลง 2.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
 
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2566 นับเป็นหมุดหมายของความสำเร็จครั้งสำคัญของบริษัท จากการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

โดยบริษัทที่ควบรวมใหม่ในนามบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มุ่งสู่การเป็นผู้นำของบริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี และยึดมั่นในมาตรฐานสูงสุดของบรรษัทภิบาลในการขับเคลื่อนระบบนิเวศดิจิทัลครอบคลุมสำหรับทุกคน การรวมกันทำให้ลูกค้าทั้งแบรนด์ดีแทค และทรูได้รับประโยชน์จากคุณภาพเครือข่ายที่ดีขึ้น และสามารถเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยบริการ 5G บนคลื่น 2600 MHz และความครอบคลุมของเครือข่าย 4G/5G ที่ดีขึ้นบนคลื่น 700 MHz ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังสามารถเพลิดเพลินกับผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายยิ่งขึ้น ตลอดจนสิทธิพิเศษต่างๆ ของทั้ง 2 แบรนด์ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวเนื่อง (cross-selling) และการเพิ่มยอดขาย (upselling) ทั้งนี้ นับตั้งแต่การควบรวมเสร็จสมบูรณ์ ทรู คอร์ปอเรชั่นเราประสบความสำเร็จในการกำหนดโครงสร้างองค์กรและการทำงานที่รวมเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถดำเนินการตามแผนบูรณาการและบรรลุผลตามแผนระยะสั้นในการทำงานร่วมกัน

ทรู ดิจิทัล โซลูชัน มีรายได้เพิ่มขึ้น 92% (YoY) จากธุรกิจนวัตกรรมอัจฉริยะ (Smart Solutions) และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สามารถขยายไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจดิจิทัล เฮลท์ ยังสร้างรายได้เติบโต 62% (YoY) นำไปสู่การเติบโตอย่างรวดเร็วและเสริมความแข็งแกร่งด้วยการสร้างระบบนิเวศร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มผู้ประกอบการประกันภัยและผู้ให้บริการด้านสุขภาพ รวมถึงความร่วมมือกับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ง่ายและสะดวกขึ้น

การฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนพลังงานทำให้เกิดแรงกดดันด้านต้นทุนต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค การแข่งขันในอุตสาหกรรมมีการปรับตัวไปในทิศทางที่ขึ้นเล็กน้อยจากการที่ผู้ประกอบการมุ่งเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น การรวมบริการ และไลฟ์สไตล์โซลูชันสำหรับลูกค้า แม้จะมีความท้าทายต่างๆ แต่ทรู คอร์ปอเรชั่นยังยึดมั่นในการให้ความสำคัญตามแผนกลยุทธ์ การดำเนินการตามแผนบูรณาการ และการบรรลุผลประโยชน์จากการทำงานร่วมกัน

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ผู้ใช้บริการมือถือเพิ่มขึ้น 676,000 เลขหมาย ไปอยู่ที่ระดับ 50.5 ล้านเลขหมาย หรือเพิ่มขึ้น 1.4% จากไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ผู้ใช้บริการ 5G มีจำนวนถึง 6.3 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) โดยมีปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น และ 5G มีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) ที่เพิ่มขึ้น 10-15% ผู้ใช้งานดิจิทัลรายเดือน (MAU) สูงถึง 35.8 ล้านราย เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งได้แรงหนุนอย่างต่อเนื่องจากแคมเปญชีวิตดีกว่า เมื่อมีกันและกัน หรือ Better Together หลังจากการควบรวมกิจการเสร็จสิ้น ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ยอดผู้ใช้งานดิจิทัล (MAU) ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 46 ล้านราย จากการถ่ายทอดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022)

นายนกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รายได้จากการให้บริการยังอยู่ภายใต้ภาวะ ARPU ที่ลดลงจากผลกระทบการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรก รายได้รวมลดลง 2.0% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เนื่องจากการลดลงในส่วนของการให้บริการมือถือและออนไลน์

ทั้งนี้ รายได้จากการให้บริการมือถือลดลง 2.5% (YoY) เนื่องจาก ARPU ลดลงแม้ว่าจำนวนผู้ใช้บริการจะเพิ่มขึ้น รายได้จากบริการออนไลน์ลดลง 2.3 % (YoY) จากยอดขายบรอดแบนด์ของลูกค้าที่ลดลงท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งชดเชยด้วยการเติบโตของยอดขายองค์กรภาคธุรกิจ รายได้จากการขายสินค้าลดลง 28.9% (YoY) เนื่องจากปริมาณการขายเครื่องโทรศัพท์มือถือที่ลดลง และการเปิดตัว iPhone ที่เร็วขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2565

จากงบการเงินเสมือนสำหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) ทั้งหมด ไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (D&A) ลดลง 5.2% (YoY) จากมาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อและต้นทุนค่าสาธารณูปโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับ EBITDA ในไตรมาสนี้ดีขึ้น 10.1% (QoQ) จากผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (one-time effect) จากการเจรจาสัญญาในไตรมาส 4 ปี 2565 การยุติข้อพิพาทที่กำลังดำเนินอยู่ที่เป็นผลในเชิงบวกในไตรมาส 1 ปี 2566 และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ ผลขาดทุนสุทธิหลังหักภาษีอยู่ที่ 492 ล้านบาท โดยได้รับผลกระทบเชิงบวกจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและการชำระค่าสินไหมทดแทนบางส่วน ขาดทุนสุทธิในไตรมาส 4 ปี 2565 ได้รับผลกระทบเชิงลบจากค่าใช้จ่ายรายการพิเศษ (Non-recurring expenses) ประมาณ 8.5 พันล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการ และการด้อยค่าสินทรัพย์ประจำปี ค่าใช้จ่ายลงทุน (CAPEX) ในไตรมาส 1 ปี 2566 มีจำนวน 17,565 ล้านบาท

ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังคงมุ่งหน้าเร่งสร้างการผนึกกำลังรายได้ โดยใช้โอกาสการเสนอขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้อง พร้อมวางเงินลงทุน หรือ CAPEX ประมาณการไว้ที่ 25,000-30,000 ล้านบาท สำหรับแนวโน้มปี 2566 จะนับจาก 10 เดือนหลังจากที่ควบรวมเสร็จ ทั้งนี้ การคาดการณ์ของปีดังกล่าวยังอาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมในภายหลังเนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านธุรกิจของบริษัท และการดำเนินงานของบริษัทหลังการควบรวม ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบูรณาการ


อย่างไรก็ตาม ในแง่ของจำนวนฐานลูกค้าที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือ ก่อนหน้านี้ ในช่วงไตรมาส 4 ทรู รายงานว่ามีฐานลูกค้า 33.8 ล้านราย ในขณะที่ดีแทคมีฐานลูกค้า 21.2 ล้านราย รวมเป็น 55 ล้านราย ในขณะที่ล่าสุดหลังจากควบรวม มีฐานลูกค้าเหลือ 50.5 ล้านราย

โดยเหตุผลที่มีจำนวนฐานลูกค้าลดลง เนื่องจากมีการปรับเกณฑ์ในการคำนวณใหม่ โดยลูกค้าเติมเงินต้องมีการเติมเงินเพื่อยืดระยะเวลาการใช้งาน 45 วัน หรือมีการใช้งานโทรศัพท์ภายใน 90 วัน ขณะที่ลูกค้ารายเดือนจะต้องไม่มียอดค้างชำระเกิน 60 วัน นับจากวันครบกำหนด


กำลังโหลดความคิดเห็น