xs
xsm
sm
md
lg

SCGP แจงกำไร Q1 แตะ 1,220 ล้าน ทุ่มงบฮุบหุ้น 70% “Starprint” ในเวียดนาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



SCGP แจงผลประกอบการไตรมาส 1/66 กำไรแตะ 1,220 ล้านบาท ลดลง 26% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 171% จากไตรมาสก่อน มียอดขายบรรจุภัณฑ์ที่ทยอยฟื้นตัวจากความต้องการของตลาดในภูมิภาคอาเซียนที่สูงขึ้น และการเปิดประเทศของจีน พร้อมทุ่ม 1.5 พันล้านบาท ฮุบหุ้น 70% ใน Starprint Vietnam JSC ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พรีเมียมคุณภาพสูงในเวียดนาม คาดปิดดีลไตรมาส 3 นี้  
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานบริษัทในไตรมาสที่ 1/2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 33,729 ล้านบาท ลดลง 8% เทียบจากช่วงไตรมาส 1/2565 แต่เพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อนหน้า และมีกำไรสำหรับงวดอยู่ที่ 1,220 ล้านบาท ลดลง 26% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 171% จากไตรมาส 4/2565

ในไตรมาส 1/2566 ความต้องการกลุ่มบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศในอาเซียนและประเทศจีนมีการฟื้นตัว โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม หลังจากประชาชนคลายความกังวลต่อสถานการณ์ COVID-19 และมีแรงหนุนมาจากการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้รับผลดีจากภาคการผลิตของจีนที่เริ่มฟื้นตัวหลังเปิดประเทศ ทำให้ปริมาณการส่งออกกระดาษบรรจุภัณฑ์ไปยังประเทศจีนเพิ่มขึ้น อีกทั้งต้นทุนราคาพลังงาน วัตถุดิบและค่าระวางเรือขนส่งสินค้าที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่ออัตรากำไรที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคากระดาษบรรจุภัณฑ์อ่อนตัวลงจากกำลังการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังคงมีความท้าทายจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังผันผวน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ทำให้ในการใช้จ่ายของผู้บริโภค กดดันการส่งออกสินค้าในกลุ่มสินค้าคงทนและสินค้าฟุ่มเฟือยชะลอตัว  

สำหรับภาพรวมตลาดบรรจุภัณฑ์ในไตรมาสที่ 2 ปีนี้คาดว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต้องการภายในประเทศจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจบริการ รวมถึงราคาวัตถุดิบที่เริ่มปรับตัวกลับเข้าสู่ระดับปกติและมีแนวโน้มทรงตัว ส่วนราคาพลังงานและค่าระวางเรือขนส่งมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการบริหารจัดการต้นทุน ส่วนราคากระดาษบรรจุภัณฑ์น่าจะทรงตัว คาดว่าผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ส่วนครึ่งหลังปี 2566 ตลาดบรรจุภัณฑ์จะดีกว่าครึ่งปีแรกนี้ 


นายวิชาญกล่าวว่า SCGP มีเจตนาการเข้าลงทุนในบริษัท Starprint Vietnam JSC (SPV) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษแข็งแบบพับได้ (Offset folding carton) ในประเทศเวียดนาม โดยคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติเห็นชอบโครงการลงทุนเข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วนร้อยละ 70 มีมูลค่ากิจการรวมไม่เกิน 1,050 พันล้านด่ง หรือประมาณ 1,534 ล้านบาท ซึ่งโครงการควบรวมกิจการ (M&P) นี้จะดำเนินการผ่านความร่วมมือกับบริษัทสตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน) (Starflex) บริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว (Flexible Packaging) ที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งจะลงทุนร้อยละ 25 ใน SPV หลังจากธุรกรรมนี้เสร็จสิ้น ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 3/2566

Starprint Vietnam JSC (SPV) เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษพรีเมียมคุณภาพสูง ได้แก่ บรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษแข็งแบบพับได้ (Offset folding carton) กล่องบรรจุภัณฑ์คงรูปคุณภาพสูง (Rigid boxes) และบรรจุภัณฑ์ที่เน้นความสวยงาม มีฐานลูกค้าหลักในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และเป็นที่ยอมรับจากบริษัทชั้นนำระดับโลก โดยมีกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์ขึ้นรูปแบบพิมพ์ออฟเซต 16,500 ตันต่อปี และมีกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษแบบคงรูป 8 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งมีฐานการผลิต 2 แห่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลองบินห์ (อมตะ) ในจังหวัดด่งนาย (Dong Nai) ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม โดยในปี 2565 SPV มีรายได้ประมาณ 1,013 พันล้านด่ง หรือประมาณ 1,480 ล้านบาท มีกำไรสุทธิหลังหักภาษี 92.5 พันล้านด่ง หรือประมาณ 135 ล้านบาท และมีสินทรัพย์ 440 พันล้านด่ง หรือประมาณ 643 ล้านบาท

การลงทุนดังกล่าวสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทที่จะรองรับการอุปโภคบริโภคสินค้ากล่องบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศเวียดนาม โดยการนำเสนอบริการด้านการพิมพ์แบบ offset และสินค้ากล่องบรรจุภัณฑ์คงรูปคุณภาพสูง ซึ่งจะช่วยให้การบริการด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรของบริษัทสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ SCGP ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ (Joint Development Agreement หรือ JDA) กับออริจิ้นแมตทีเรียลส์ (Origin Materials) บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมกันพัฒนา “Bio-based Plastic จากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ” ผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง จนได้ Bio-PTA เพื่อนำไปผลิตเป็น Bio-PET ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์และสินค้าต่างๆ เช่น บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์อาหาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และรองรับการใช้ Bio-PET ในหลากหลายอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้วัตถุดิบยั่งยืน และสามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับงบการลงทุนในปี 2566 อยู่ที่ 18,000 ล้านบาท ใช้เพื่อการลงทุน M&P ราว 9,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทยังมีดีล M&P ที่อยู่ในแผนอีกหลายโครงการที่คาดว่าจะทยอยเข้ามาในช่วงที่เหลือของปีนี้ ปกติแต่ละปีบริษัทมีดีลทำ M&P อย่างน้อย 2-3 โครงการ ส่วนงบลงทุนที่เหลืออีก 9,000 ล้านบาท ใช้ในการขยายกำลังการผลิตโรงงานต่างๆ ในเครือฯ รวมถึงการซ่อมบำรุงเครื่องจักร


กำลังโหลดความคิดเห็น