จากตัวเลขคาดการณ์มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะแตะ 1 ล้านล้านเหรียญในปี 2030 ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาหลากหลายบริษัทเทคโนโลยีเล็งห็นถึงความสำคัญในการเข้ามาลงทุนในอาเซียนกันอย่างคึกคัก ทำให้ AWS ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการคลาวด์เร่งลงทุนอย่างต่อเนื่องรับกับโอกาสของการเติบโตที่เกิดขึ้น
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประชาคมอาเซียนถูกจับตามองเกิดขึ้นจากอัตราการเติบโตเฉลี่ยทางดิจิทัลที่สามารถรักษาการเติบโตต่อเนื่องได้ไม่ต่ำกว่า 6% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และจะยังเติบโตต่อเนื่องต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการที่หลายองค์กรธุรกิจหันมาให้ความสนใจกับการใช้งานคลาวด์ รวมถึงการนำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภค หรือการนำ AI มาช่วยอำนวยความสะดวกเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ธุรกิจ
AWS นับเป็นหนึ่งในเบื้องหลังความสำเร็จของภาคธุรกิจที่หันไปใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจดิจิทัลในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่เข้าไปลงทุนในสิงคโปร์ด้วยการตั้ง AWS Asia Pacific Region (Singapore) ในปี 2010 ต่อเนื่องด้วยในอินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมถึงในประเทศไทยที่ได้ประกาศแผนการลงทุนไว้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
คอเนอร์ แมคนามารา กรรมการผู้จัดการภาคพื้นอาเซียน บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (AWS) กล่าวถึงแนวโน้มการใช้งานคลาวด์ในภูมิภาคอาเซียนว่า กำลังอยู่ในช่วงที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ปรับตัวสู่ดิจิทัลและมองเห็นโอกาสในการนำคลาวด์มาช่วยเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้สามารถแข่งขัน ไปพร้อมกับการลดต้นทุนในการดำเนินงานลง
“สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือการที่ในธุรกิจยุคใหม่ ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมเริ่มนำข้อมูลมาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ของคลาวด์ที่สามารถเก็บข้อมูล และนำมาประมวลผลอย่างรวดเร็วระดับเรียลไทม์ ช่วยให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว”
โดยปัจจุบัน AWS ได้ให้คำมั่นสัญญาในการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาบุคลากรดิจิทัล รวมถึงการสร้างงานต่างๆ ไปแล้วกว่า 2.25 หมื่นล้านเหรียญ (ราว 7.6 แสนล้านบาท) ไล่ย้อนไปตั้งแต่ในปี 2010 ที่ประกาศลงทุน 6.5 พันล้านเหรียญในสิงคโปร์ ตามด้วยอีก 5 พันล้านเหรียญในอินโดนีเซียในปี 2021 ซึ่งจะช่วยให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจหมุนเวียนกว่า 1.09 หมื่นล้านเหรียญ ในช่วง 15 ปีข้างหน้า รวมถึงการสร้างงานกว่า 24,700 ตำแหน่ง
ก่อนที่ในปลายปี 2022 ได้ประกาศเข้ามาลงทุนตั้ง AWS Asia Pacific Region (Bangkok) ในไทย 5 พันล้านเหรียญ ในช่วง 15 ปีข้างหน้าเช่นเดียวกัน ตามด้วยการลงทุนล่าสุดในมาเลเซียเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ด้วยเงินลงทุนกว่า 6 พันล้านเหรียญ ภายในปี 2037
นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนย่อยอย่างการเปิด AWS Local Zones ที่เป็นบริการคลาวด์ในแต่ละท้องถิ่นให้รองรับการทำงานที่ต้องรับส่งข้อมูลอย่างรวดเร็ว ซึ่งการที่เปิดให้ใช้งานในแต่ละประเทศจะช่วยลดระยะเวลาในการประมวลผล ความหน่วงต่ำลง หรือแม้แต่การเปิด Edge Locations ที่ช่วยให้ธุรกิจทุกระดับใช้งานได้สะดวกขึ้น
การลงทุนคลาวด์ของ AWS สอดคล้องกับผลสำรวจของการ์ทเนอร์ ที่คาดว่าองค์กรธุรกิจในประเทศไทยจะมีปริมาณการใช้จ่ายในบริการคลาวด์สาธารณะปี 2566 เพิ่มขึ้น 31.7% จากปี 2565 คิดเป็นมูลค่า 5.48 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในกลุ่มของโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ (IaaS) ที่จะเติบโตสูงสุดที่ 44.3%
***ฝึกทักษะบุคลากรด้านคลาวด์ 1 ล้านคน
อีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของ AWS ที่เกิดขึ้นในอาเซียน คือการเทรนบุคลากรให้มีทักษะดิจิทัล โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญในด้านการใช้งานคลาวด์ ซึ่งกลายเป็นทักษะสำคัญในยุคของการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ดิจิทัล โดยนับตั้งแต่ปี 2017 จนถึงปัจจุบัน AWS มีการฝึกทักษะคลาวด์ให้แก่บุคลากรในอาเซียนไปแล้วถึง 1 ล้านคน
โดยส่วนมากจะอยู่ในอินโดนีเซียมากกว่า 4 แสนคน ตามด้วยสิงคโปร์มากกว่า 2 แสนคน ส่วนในไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม มีการฝึกทักษะไปประเทศละมากกว่า 5 หมื่นคนแล้ว ซึ่งในประเทศไทย AWS ได้ทำงานร่วมกระทรวงดีอีเอส กระทรวงวิทย์ฯ รวมถึงสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ในการจัดโครงการฝึกอบรม รวมถึงการร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ
อีริค คอนราด กรรมการผู้จัดการกลุ่มลูกค้าภาครัฐของ AWS ภูมิภาคอาเซียน ให้ข้อมูลเสริมว่า จากผลสำรวจองค์กรธุรกิจที่ให้บริการในกลุ่ม Pubilc Sector พบว่า 9 ใน 10 ของพนักงานเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาทักษะดิจิทัล โดยเฉพาะในด้านการใช้งาน AI และ Cybersecurity แต่กลายเป็นว่าปัญหาสำคัญที่สุดคือขาดแคลนทรัพยากรที่จะเข้าไปช่วยเสริมสร้างทักษะดิจิทัลให้แก่บุคลากรได้
“ที่ผ่านมา AWS ทำงานร่วมกับกระทรวงวิทย์ฯ เข้าไปร่วมพัฒนาบุคลากรโรงเรียนในสังกัดกว่า 200 แห่ง รวมถึงการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในการเข้าไปสนับสนุนเทคโนโลยีคลาวด์เพื่อช่วยในการเรียนการสอนออนไลน์ ให้รองรับการพัฒนาทักษะให้แก่นักศึกษา เพื่อสร้างบุคลากรดิจิทัลเข้าสู่ตลาด”
***ร่วมผลักดัน ‘Smart City’
ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาเทรนด์ของเทคโนโลยีที่สำคัญจะมีทั้งคลาวด์ AI และดาต้า ซึ่งทั้งหมดสอดคล้องกัน และมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน องค์กร ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่หน่วยงานรัฐบาลให้นำประโยชน์ของโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์ที่มีเอกชนมาลงทุนไปใช้งาน
ขณะเดียวกัน เพื่อให้ธุรกิจดิจิทัลในไทยสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง depa ได้ทำโครงการเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัปทั้งในแง่ของการลงทุน และดึงความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนให้สตาร์ทอัปได้เข้าถึงเทคโนโลยีในการนำไปใช้เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน
พร้อมกันนี้ ยังได้ร่วมเผยวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการทำโครงการ ‘สมาร์ทซิตี’ ในประเทศไทย ที่ AWS สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการคลาวด์เพื่อเก็บข้อมูลของ ‘ซิตี ดาต้า แพลตฟอร์ม’ จนถึงในเรื่องของการนำพลังงานสะอาดมาใช้ในกระบวนการให้บริการ
“ในอนาคตการแบ่งชั้นข้อมูลที่เป็นความลับอาจจะเก็บไว้ในคลาวด์ภาครัฐ แต่ถ้าเป็นข้อมูลที่ให้บริการประชาชนไม่ได้เป็นชั้นข้อมูลความลับสามารถเลือกใช้คลาวด์จากภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันเริ่มดำเนินงานแล้วจากส่วนกลาง พร้อมไปกับการให้ความรู้แก่ทุกภาคส่วนถึงประโยชน์ในการนำคลาวด์ไปใช้งาน”
สำหรับเป้าหมายในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่สมาร์ทซิตีนั้น depa เชื่อมั่นว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีแผนงานที่ชัดเจน ที่ครอบคลุมทั้งโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการประชาชนอย่างถนน ไฟฟ้า น้ำประปา และพนักงานที่คอยให้บริการ รวมถึงในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่รวมถึงคลาวด์ และการจัดเก็บข้อมูล
ในอนาคตจังหวัดที่จะเข้าร่วมโครงการสมาร์ทซิตีจะต้องเข้าร่วมการเก็บข้อมูลบนซิตี ดาต้า แพลตฟอร์ม เพื่อนำไปสู่การให้บริการประชาชนในแต่ละพื้นที่อย่าง GovTech เพื่อต่อยอดการทำ Smart City ไปสู่ Smart Economy Smart Energy และ Smart Environment เพราะทุกเรื่องจะต้องมีการจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำมามอนิเตอร์
นอกจากนี้ ยังให้ข้อมูลถึงการที่ depa เข้าไปร่วมลงทุนกับภาคเอกชน เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนได้เข้ามาให้บริการแก่สาธารณะ และมีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้กลับคืนสู่ภาครัฐ ที่จะกลายเป็นหนึ่งในการผลักดันให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติมด้วย
***ขยายลูกค้าในไทยต่อเนื่อง
สำหรับความเคลื่อนไหวของ AWS ในประเทศไทย ระหว่างที่รอการเปิดใช้งาน AWS Region ทาง AWS ยังคงเดินหน้าในการช่วยธุรกิจทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปให้บริการคลาวด์แก่ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่จะมาถึง รวมถึงการวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) จนถึงการบริหารจัดการข้อมูล SAP ในการดูแลสินค้าคงคลังแบบเรียลไทม์ ช่วยลดต้นทุนทางด้านเทคโนโลยีไปกว่า 30% และทำให้มีข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาบริการใหม่ๆ เพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า
นอกจากนี้ ยังเข้าไปวางระบบคลาวด์ให้พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เพื่อนำไปใช้เป็นแพลตฟอร์มข้อมูลสำหรับการทำงานร่วมกันภายในองค์กร รวมถึงโซลูชันช่วยให้สามารถคำนวณอายุในการเก็บรักษาของวัตถุดิบจากเดิมที่ใช้ระยะเวลาเกือบเดือนเหลือในหนึ่งวัน
อีกหนึ่งโครงการใหญ่ที่เกิดขึ้นคือ AWS เข้าไปทำงานร่วมกับซีพีเอฟ ในการย้ายฐานข้อมูลเดิมขึ้นไปอยู่ในระบบซอฟต์แวร์วางแผนทรัพยากรองค์กร (SAP S/4HANA) เพื่อให้รองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต เพิ่มความคล่องตัวของซัปพลายเชนทำให้สามารถต่อยอดธุรกิจได้คล่องตัวมากขึ้น
สิ่งที่ต้องจับตามองหลังจากนี้ คือ การเปิดให้บริการ AWS Regions ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาช่วยทั้งในแง่ของการลดต้นทุนในการดำเนินงานด้านไอที ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับต่างชาติ และดึงดูดการลงทุนเข้ามาในไทยมากขึ้น