“พลังงานสะอาดครบวงจร” เป็นธุรกิจน้องใหม่ที่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ให้ความสำคัญและนับวันมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ยิ่งจังหวะราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าแพง ในการขยายธุรกิจนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว เริ่มต้นจากการสร้างองค์ความรู้และดำเนินการจากภายในองค์กรเพื่อหวังลดต้นทุนค่าพลังงาน มีการปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อให้มีประสิทธิภาพ ลดการพึ่งพาถ่านหินโดยการใช้ไบโอแมส ก่อนขยับไปสู่การพัฒนานวัตกรรมต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับ
มีการขยายสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด ให้บริการการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) โครงการติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ (โซลาร์โฟลทติ้ง) และโซลาร์บนดิน (โซลาร์ฟาร์ม) จนกระทั่งปี 2564 ได้จัดตั้งบริษัทย่อย “เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่” ขึ้นเพื่อเป็นหัวหอกในการทำธุรกิจซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแบบครบวงจรให้แก่ภาครัฐ ธุรกิจและอุตสาหกรรม
แม้ว่าผลประกอบการ SCC ในไตรมาส 1/2566 ยังคงได้รับผลกระทบจากต้นทุนพลังงานที่สูงอยู่ โดยบริษัทมีรายได้จากการขาย 128,748 ล้านบาท ลดลง 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 16,526 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มาจากกำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนใน SCG Logistics จากการรวมธุรกิจ SCGJWD Logistics ของธุรกิจซีเมนต์และ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง แต่หากตัดรายการพิเศษจำนวน 4,516 ล้านบาท SCC มีกำไรสุทธิลดลง 42% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากปริมาณขายสินค้าเคมีภัณฑ์ ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง และต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้นจากปีก่อน
แต่ SCC เชื่อมั่นว่าจะเห็นต้นทุนพลังงานปรับลดอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังปี 2566 มาจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การมีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ จนต่อยอดสู่การให้บริการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดครบวงจรที่นอกจากช่วยแก้วิกฤตต้นทุนพลังงานและไฟฟ้าพุ่งสูงในเครือฯ เองแล้ว ยังขยับไปสู่การให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าปริมาณมากและต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรม โรงงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาลผ่านนวัตกรรมระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Grid การใช้เทคโนโลยีโดรนและหุ่นยนต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
“เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่” ยังได้จับมือกับพันธมิตรชั้นนำของไทย ไม่ว่าจะเป็นบมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) บริษัทกัลฟ์ 1 จำกัด ในเครือ GULF จัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อบุกตลาดผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแบบติดตั้งบนหลังคาให้กลุ่มลูกค้าในนิคมฯ ด้วย และเมื่อเร็วๆ นี้ เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ยังได้คว้าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) 10 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 367 เมกะวัตต์
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2566 บริษัทวางงบลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ “เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่” ตั้งเป้าไว้ที่ 450 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ทำได้แล้ว 350 เมกะวัตต์ คงเหลืออีกราว 100 เมกะวัตต์ก็จะบรรลุเป้าหมายในปีนี้ ซึ่งไม่น่ามีปัญหาอะไร เนื่องจากบริษัทฯพิจารณาที่จะยื่นเสนอโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง รอบที่ 2 ของ กกพ. โดยบริษัทมีโครงการที่ไม่ผ่านรอบแรกที่พร้อมจะยื่นเสนอขายไฟฟ้ารอบถัดไปจำนวน 2-3 โครงการ
นอกจากนี้ ยังได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนฯ รอบ 2 ด้วย ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก แต่อยู่ใกล้กับโครงการของเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ที่ชนะการคัดเลือก ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขรายละเอียดต่างๆ
สำหรับความคืบหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนฯ รอบแรกที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 10 โครงการนั้น คาดว่าจะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ได้ภายในปีนี้ และใช้เวลาการก่อสร้างราว 1.6 ปี จากนั้นโครงการเหล่านี้จะทยอยจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้ ยอมรับว่ารายได้ของธุรกิจใหม่นี้จะยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับ 3 ธุรกิจหลักในเครือซิเมนต์ไทย แต่มีอนาคตสดใสตามเทรนด์รักษ์โลก
ทั้งนี้ การตัดสินใจเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบ FiT ดังกล่าวเป็นไปตามพันธกิจและกลยุทธ์ของบริษัทที่มีแผนลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด พลังงานทดแทนด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Emission) ซึ่งปัจจุบันเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่มีการผลิตไฟฟ้าแล้ว 220 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นการใช้ภายในเครือฯ เอง 210 เมกะวัตต์ ที่เหลือใช้ภายนอกบริษัทอีก 10 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ลงทุนกับ Rondo Energy สตาร์ทอัพดาวรุ่งด้านพลังงานสะอาดระดับโลก ผู้พัฒนานวัตกรรมแบตเตอรี่กักเก็บความร้อน (Thermal Energy Storage) อุณหภูมิสูงที่สุดในโลก เพื่อจ่ายพลังงานความร้อนให้โรงงานทดแทนการใช้บอยเลอร์ (Boiler) ลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเตรียมจะนำนวัตกรรม Thermal Energy Storage นี้มาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมในเครือ SCC รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่สนใจในไทยและอาเซียนเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าเชื้อเพลิงฟอสซิล คาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ในโรงงานประเทศไทยได้ในปี 2567 เนื่องจากปัจจุบัน Rondo Energy มีออเดอร์จำนวนมากจากโรงงานในสหรัฐฯ จนผลิตไม่ทัน ขณะเดียวกัน SCC เองก็เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญในการผลิต Thermal Energy Storage ด้วย
รายได้ปี 66 ส่อพลาดเป้าโต 10%
อย่างไรก็ดี แนวโน้มผลประกอบการ SCC ในปี 2566 โอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายการมีรายได้จากการขายเติบโตขึ้น 10% จากปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 569,609 ล้านบาท คงไม่ใช่เรื่องง่าย มีปัจจัยภายนอกเข้ามากดดัน แม้ว่าจะได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศจีนทำให้ความต้องการใช้สินค้าเคมีภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น แต่พบว่าราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ยังไม่ค่อยดี เนื่องจากมีกำลังการผลิตใหม่เข้าสู่ตลาด และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ในช่วงขาลงอยู่ คาดว่าปีนี้น่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว ลากยาวจากเดิมที่คาดว่าปิโตรเคมีถึงจุดต่ำสุดในปี 2563 แต่พอเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ราคาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซฯ ลดต่ำลง และความต้องการใช้สินค้าพลาสติกเพิ่มมากขึ้นๆ ซึ่งปกติวัฏจักรปิโตรเคมีลงถึงจุดต่ำสุดก็จะใช้เวลาอีก 2-3 ปีปรับตัวดีขึ้น
กอปรกับภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่มีความเสี่ยงเข้าสู่เศรษฐกิจชะลอตัวเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเพื่อสกัดเงินเฟ้อสูง และยังต้องเผชิญกับมีปัญหาราคาพลังงานผันผวน ขณะที่เศรษฐกิจอาเซียน แม้ว่าจะฟื้นตัวแต่ยังไม่เด่นชัด และมีปัจจัยเสี่ยงมากทั้งอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่สูง อาจส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์บางประเทศได้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อรายได้จากต่างประเทศของ SCC ที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของรายได้รวม
ส่วนธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างในประเทศ เห็นสัญญาณการเริ่มฟื้นตัว โดยตลาดซีเมนต์ในไทยคาดว่าปีนี้เติบโตขึ้น 1-2% มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์อยู่ที่ 30 กว่าล้านตัน
หวั่น 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุด ศก.ไทย
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการเติบโตมาจากภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยได้ตามเป้าหมาย 25 ล้านคนในปี 2566 ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลดีต่อยอดขายของกลุ่มบริษัท แต่ยังมี 3 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ ไม่ว่าจะเป็น 1. ความผันผวนราคาพลังงาน เช่น ค่าไฟและพลังงานอื่น ที่ลดทอนขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม 2. ความเสี่ยงภัยแล้ง ตามที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) คาดการณ์ปี 2566-67 อาจมีฝนน้อยกว่าปกติและฝนทิ้งช่วง ทำให้เสี่ยงต่อภัยแล้งข้ามปี และ 3. สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่สูงเกินมาตรฐาน ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน หากภาครัฐไม่เร่งแก้ไขก็เกรงว่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวอยู่
ส่วนความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมีครบวงจร LSP (Long Son Petrochemicals) ในประเทศเวียดนาม ขณะนี้เริ่มทดลองเดินเครื่องในส่วนโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก (PP, HDPE, LLDPE) ป้อนตลาดเวียดนาม ซึ่งบริษัทได้มีการทำตลาดล่วงหน้าในเวียดนามมา 2-3 ปีทำให้มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว รวมทั้งได้เริ่มทดลองเดินเครื่องโรงโอเลฟินส์ด้วย คาดจะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในกลางปีนี้
โดยโครงการ LSP มีจุดแข็งในการบริหารจัดการต้นทุนได้ดี มีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้วัตถุดิบให้เหมาะสมกับสภาวะตลาด
ชี้หากตลาดไม่เอื้อ! ไม่ฝืนนำ SCGC เข้าตลท.
แหล่งข่าวระดับสูง SCC กล่าวว่า วัฏจักรขาลงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจึงไม่ใช่จังหวะที่ดีในการนำบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) (SCGC) เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้ว่าจะได้รับการอนุมัติการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 บริษัทเห็นว่าสถานการณ์ช่วงนี้ไม่เหมาะสม จึงได้แจ้งขอเลื่อนระยะเวลาการเสนอขายหุ้นไอพีโอหุ้น SCGC ออกไปถึง 4 ตุลาคม 2566
อย่างไรก็ดี หากช่วงนั้นตลาดยังไม่เอื้อในการขายหุ้นไอพีโอ SCGC ก็จะพิจารณาเลื่อนขายหุ้นออกไปอีก เพราะ SCC ไม่เดือดร้อนอะไร บริษัทมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และเราต้องดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น คงไม่ฝืนขายหุ้นไอพีโอออกไป หากตลาดปิโตรเคมีและปัจจัยอื่นๆ ไม่ดี
ทั้งนี้ SCGC ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลักที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นับเป็นกลุ่มธุรกิจหลักของ SCC ที่ปีก่อนทำยอดขายสูงสุดแม้ว่าต้องเผชิญวิกฤตราคาตกต่ำก็ตาม โดยบริษัทมีแผนจะเสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวนไม่เกิน 3,854,685,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 25.2% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลังไอพีโอ (รวมจำนวนหุ้นกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน Over-allotment)