xs
xsm
sm
md
lg

4 ปี เตรียมความพร้อม ‘ASUS’ ชิงตลาดคอมเมอร์เชียล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การขยับขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ในฝั่งคอนซูเมอร์ของตลาดโน้ตบุ๊ก โดยเฉพาะในส่วนเกมมิ่งของเอซุส (ASUS) ทำให้เห็นได้ว่าเอซุส มีพัฒนาการที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับราคา ผลิตภัณฑ์ที่มีความครอบคลุม จนถึงการเลือกนำนวัตกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานอย่างโน้ตบุ๊กจอพับ

ในขณะเดียวกัน นับจากเตรียมแผนในการบุกตลาดองค์กรมากว่า 4 ปี และเริ่มมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มในฝั่งของหน่วยงานภาครัฐ และขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งแล้วในภาคศึกษาในกลุ่มคอมเมอร์เชียล เป้าหมายต่อไปของเอซุส คือการเข้าไปจับตลาดภาคเอกชนที่มีเจ้าตลาดที่แข็งแรงอยู่เดิม

ที่ผ่านมา ทั้ง Lenovo Dell และ HP นับเป็นผู้เล่นที่แข็งแกร่งในตลาดกลุ่มคอมเมอร์เชียลมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าในกลุ่ม ThinkPad ของเลอโนโว ตามด้วย Dell Latitude และ HP ที่มีทั้งซีรีส์อย่าง ProBook และ EliteBook ที่ครองตลาดในภาคองค์กรธุรกิจเอกชนมาอย่างยาวนาน

ความตั้งใจในการบุกตลาดองค์กรของเอซุส เริ่มต้นขึ้นในปี 2019 ที่มีการแยกซับแบรนด์เพื่อทำตลาดธุรกิจออกมาให้มีความชัดเจนมากขึ้น ภายใต้ Expert ซีรีส์ ที่ในช่วงแรกเริ่มต้นด้วยโน้ตบุ๊ก ExpertBook และเดสก์ท็อป ExpertCentre ก่อนที่จะขยายมาสู่ ExpertCentre AiO ที่เป็นออล-อิน-วันพีซีสำหรับธุรกิจ

เพียงแต่ว่าในช่วงที่ผ่านมา จุดแข็งหลักของเอซุสในฝั่งธุรกิจอยู่ที่การมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทั้งในแง่ของรูปแบบการใช้งาน และระดับราคา แต่ในแง่ของบริการหลังการขายยังเป็นจุดที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดองค์กรได้ โดยเฉพาะบริการซ่อมแบบ On-Site Service และการันตีงานซ่อมภายใน 1 วันทำการ


ชาร์ลส์ ลิว ผู้จัดการผลิตภัณฑ์กลุ่มโน้ตบุ๊กธุรกิจ บริษัท เอซุส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเข้ามาทำตลาดคอมเมอร์เชียลของเอซุส ถือว่าเป็นความท้าทายทั้งในแง่ของการเตรียมทีมงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมเข้ามาเป็นตัวเลือกให้แก่ภาคธุรกิจ

“ความน่าสนใจของภาคธุรกิจที่ใช้งานคอมพิวเตอร์มาจากการที่ปัจจุบันหลายองค์กรจะมีการกำหนดนโยบายในเรื่องของการใช้งานพีซีที่มีรายละเอียด อย่างเรื่องของระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล หรือระยะเวลาในการใช้งานที่จะต้องเปลี่ยนเครื่องทุก 3 ปี 5 ปี 7 ปี ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งาน ซึ่งแตกต่างจากในฝั่งของคอนซูเมอร์ที่จะเปลี่ยนเครื่องเมื่อเสีย หรือคิดว่าเครื่องที่ใช้อยู่ไม่ตอบโจทย์การใช้งาน”

ปีที่ผ่านมา ภาพรวมของตลาดคอมเมอร์เชียลนั้นเติบโตถึง 5.2% ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ เนื่องจากในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดที่ผ่านมา หลายองค์กรมีการเปลี่ยนเครื่อง หรือเลือกซื้อโน้ตบุ๊กใหม่ให้พนักงานใช้เพื่อ Work From Home หรือปรับเปลี่ยนเพื่อให้รองรับการทำงานจากที่ไหนก็ได้ในยุคของ Hybrid Workplace แล้ว แต่กลายเป็นว่าในปีที่ผ่านมายังมีการจัดซื้ออย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากไอดีซี คาดการณ์ว่าในปีนี้ตลาดรวมสินค้าในกลุ่มพีซีคอมเมอร์เชียลจะอยู่ที่ราว 9 แสนเครื่อง แบ่งเป็นสินค้าในกลุ่มโน้ตบุ๊กราว 5.4 แสนเครื่อง ตามด้วยเดสก์ท็อป 2 แสนเครื่อง และเครื่องแบบออลอินวัน (AIO) ราว 1.8 แสนเครื่อง โดยสัดส่วนหลักของตลาดคอมเมอร์เชียลจะอยู่ในฝั่งขององค์กรธุรกิจทั้ง SMB หรือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและเล็กราว 40% กับในฝั่งขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ 40% ขณะที่ภาครัฐ และภาคการศึกษาจะมีสัดส่วนอยู่ที่ฝั่งละ 10% เท่านั้น

จุดนี้ เมื่อเอซุสเห็นโจทย์ใหญ่แล้วว่าการที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดพีซีคอมเมอร์เชียลได้นั้นต้องเข้าไปแข่งขันในตลาดองค์กรธุรกิจกับเดลล์ เอชพี และเลอโนโว ที่ทำตลาดองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องเริ่มพัฒนาบริการหลังการขายให้รองรับกับความต้องการของภาคธุรกิจมากขึ้น

“ตอนนี้เอซุสมีส่วนแบ่งในตลาดคอมเมอร์เชียลไม่ถึง 10% แต่ถ้ามองเฉพาะในตลาดการศึกษาจะสูงถึง 22.4% ซึ่งนับว่าเป็นเบอร์ 1 ในกลุ่มนี้แล้ว โดยเป้าหมายของเอซุสในปีนี้คือการขยับส่วนแบ่งขึ้นไปอยู่ที่ 10% และ 15% ในปีหน้า พร้อมไปกับการขยายบริการหลังการขายให้ครอบคลุมมากขึ้น”

***จุดต่างพีซีคอนซูเมอร์-คอมเมอร์เชียล


ผู้บริหารเอซุส ให้มุมมองเพิ่มเติมถึงการแบ่งกลุ่มคอมพิวเตอร์ในการใช้งานระหว่างผู้บริโภคทั่วไป และกลุ่มองค์กรธุรกิจ ที่ในภาพรวมจะมีราคาเฉลี่ยของสินค้าที่สูงกว่า แต่แลกมากับ 4 ประเด็นสำคัญที่ช่วยให้การใช้งานคอมเมอร์เชียลพีซีเหมาะสมกับการใช้ทำงานมากกว่า

สินค้าในกลุ่ม Expert ซีรีส์ของ ASUS ที่ใช้ทำตลาดองค์กรธุรกิจ จะมีเพิ่มมาในเรื่องของ 1.ความทนทาน (Durability) เพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาในการใช้งาน จากการที่ผ่านมาตรฐานการทดสอบทางทหาร MIL-STD 810 ซึ่งนอกจากตอบโจทย์การใช้งานในองค์กร ยังครอบคลุมไปถึงการใช้งานสำหรับนักเรียนในโรงเรียนด้วย

ถัดมาคือ 2.เรื่องของระบบความปลอดภัย (Security) ทั้งการติดตั้งชิปเข้ารหัส TPM 2.0 มาให้พร้อมทำงานบนระบบปฏิบัติการ Windows 11 Pro ทำให้มั่นใจในแง่ของการใช้งาน และยังรองรับ Intel vPro ในการรักษาข้อมูลกรณีเครื่องสูญหายสามารถสั่งลบข้อมูลเพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหลได้


3.ในแง่ของการบริหารจัดการเครื่อง (Management) ผ่าน ASUS Control ให้ฝ่ายไอทีสามารถควบคุม และจัดการเครื่องในองค์กรตั้งแต่หลัก 10 เครื่องจนถึงหลัก 100 เครื่อง ซึ่งถ้าไม่มีระบบกลางมาช่วยจะทำให้ฝ่ายไอทีเสียเวลาไปกับการติดตั้งระบบต่างๆ ที่จำเป็นต่อการใช้งาน นอกจากนี้ เอซุสยังได้มีโซลูชันที่ครอบคลุมถึงการเข้าไปดาวน์โหลดไดรเวอร์สำหรับพีซีแต่ละรุ่น จนถึงเครื่องมือในการสร้างไฟล์สำหรับติดตั้งพีซีให้ดาวน์โหลดใช้งานด้วย

สุดท้าย 4.บริการหลังการขาย (Service) ที่ปัจจุบันบริการ On-Site Service ครอบคลุม 3 ปี ในการเข้าไปดูแลถึงที่ รับประกันทั่วโลก 3 ปี และประกันอุบัติเหตุ 1 ปี โดยบางรุ่นจะได้รับการขยายประกันต่างๆ ไปถึง 4 ปี และสามารถซื้อเพิ่มเป็น 5 ปี หรือเลือกการรับประกันในวันหยุดเพิ่มเติมได้

โดยปัจจุบัน โน้ตบุ๊กในกลุ่มของ ExpertBook ของเอซุสมีครอบคลุมถึง 6 เซกเมนต์ ไล่ตั้งแต่ B1 ซีรีส์ ที่เข้าไปจับกลุ่มภาคการศึกษา และโรงงานผลิต รองรับการใช้งานทั่วไป B2 ซีรีส์ จับกลุ่ม SMB และภาครัฐที่ต้องการเครื่องที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น B3 และ B5 ซีรีส์ จะเป็นไลน์สินค้าหลักที่จับทั้ง SMB และกลุ่มภาคการศึกษาที่เน้นการประมวลผลที่เพิ่มมากขึ้น


ขณะที่ B6 ซีรีส์ จะเป็นกลุ่มใหม่ที่เข้ามาเสริมกลุ่มของผู้ใช้งานที่ต้องการเครื่องประสิทธิภาพสูง เหมาะกับงานเฉพาะทางในองค์กรธุรกิจมากขึ้น ส่วน B7 ซีรีส์ จะเน้นนำเสนอนวัตกรรมอย่างโน้ตบุ๊กพับจอใช้งานได้แบบ 360 องศา และสุดท้าย B9 ซีรีส์ ที่เป็นไลน์ระดับพรีเมียมบางเบา ประสิทธิภาพสูงเจาะกลุ่มผู้บริหาร

***ปักฐาน Chromebook ในไทย

อีกหนึ่งตลาดที่เอซุสให้ความสนใจและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายแรกๆ ที่นำ Chromebook ที่เป็นระบบปฏิบัติการของทางกูเกิลเข้ามาทำตลาดในไทย และมีส่วนแบ่งในปัจจุบันกว่า 30% ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันตลาดของ Chromebook จะมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของตลาดคอมพิวเตอร์ แต่ทางเอซุสเชื่อว่าในอนาคตจะมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน

“สถานการณ์ Chrombook ของประเทศไทยในตอนนี้เหมือนกับช่วงที่ Google เริ่มทำตลาด Chromebook ใหม่ๆ ในสหรัฐอเมริกา เพียงแต่ว่าปัจจุบันในสหรัฐฯ สัดส่วนผู้ใช้งาน Chromebook ในกลุ่มภาคการศึกษาเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 80-90% จึงทำให้กลายเป็นตลาดที่น่าจับตามอง”

โดยปัจจุบัน เอซุสเน้นทำตลาด Chrombook ในส่วนของโรงเรียนนานาชาติที่มีกำลังซื้อก่อน เนื่องจากราคาเฉลี่ยของเครื่องที่ให้ประสิทธิภาพ และการใช้งานที่เหมาะสมอยู่ที่มากกว่า 20,000 บาท ซึ่งจะให้ประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุด

“ถ้ามองในไลน์อัปของ Chromebook เพื่อการศึกษา เอซุสสามารถเข้าไปทำตลาดในระดับราคาหลักหมื่นบาทก็ได้ แต่คิดว่าในปัจจุบันยังไม่เหมาะที่จะนำเข้ามาให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคา เพราะในการใช้งานควรเริ่มจากการสร้างประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุดก่อน ไม่ใช่เน้นทำราคาถูกซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีต่อการใช้งาน”


ชาร์ลส์ ให้ข้อมูลต่อว่า ยุคของการใช้งาน Chromebook จะค่อยๆ เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างนักเรียน นักศึกษาที่เริ่มใช้งาน Google Workplace for Education ในสถาบันการศึกษาต่างๆ เมื่อเรียนจบและมองหาเครื่องใช้งานจะเลือกมองหา Chromebook ที่รองรับการใช้งานเซอร์วิสเหล่านั้นจากความเคยชิน

ดังนั้น เป้าหมายของเอซุสในตลาด Chromebook คือการเข้าไปสร้างฐานให้ผู้บริโภครับรู้ว่าแบรนด์มีดีไวซ์ที่เหมาะสมกับการใช้งาน เมื่อถึงเวลาต้องซื้อก็จะกลายเป็นตัวเลือกแรกของผู้บริโภคในทันที ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะไม่เกิดขึ้นภายใน 1-2 ปีนี้ก็เป็นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น