ไอบีเอ็ม (IBM) และไอดีซี (IDC) วิเคราะห์ปี 2566 ทุกองค์กรควรใส่ใจกลยุทธ์การลงทุนด้านดิจิทัล ย้ำกลยุทธ์ด้านไอทีทวีความสำคัญจนบริษัทไม่สามารถเลื่อนการลงทุนสุ่มสี่สุ่มห้าได้เหมือนในอดีต สถานการณ์นี้ส่งผลให้ปี 2566 ค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านเทคโนโลยีขององค์กรเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มเติบโตกว่า 3.5 เท่าของเศรษฐกิจ ท่ามกลางพระเอกคือ ESG หรือซอฟต์แวร์บริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ที่จะเป็นดาวรุ่งสุดขีดในปีถัดไป
นางซานดร้า อึ้ง รองประธานกลุ่มและผู้จัดการทั่วไป หน่วยวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมญี่ปุ่น IDC APJ Research กล่าวในงาน Top Tech Trends for ASEANZK Businesses in 2023 ซึ่งเป็นการประชุมออนไลน์สำหรับภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาหลี ว่า โลกกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ อันเป็นผลพวงจากการเร่งเครื่องดิจิทัลทั่วโลก และในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า 2 คุณลักษณะที่จะมีความสำคัญสำหรับองค์กรในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคดิจิทัล คือ “contextualization” หรือการวิเคราะห์หรือให้ข้อมูลตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และ “real time at scale” หรือการประมวลผลได้ทันทีพร้อมกันในวงกว้าง
“มากกว่า 60% ของการใช้จ่ายทั้งหมดมาจากเทคโนโลยีที่สนับสนุนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน หากเราคิดถึงโครงการต่างๆ ที่องค์กรชะลอไว้น่าจะมีเพียงโครงการที่สร้างอิทธิพลในมุมธุรกิจดิจิทัลได้น้อย” นางซานดร้ากล่าว “ภายในปี 2569 40% ของรายได้ทั้งหมดขององค์กรชั้นนำ 2,000 แห่งในเอเชีย (องค์กร A2000) จะมาจากผลิตภัณฑ์ บริการ และประสบการณ์ดิจิทัล และในปี 2566 การใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีดิจิทัลขององค์กรในเอเชียแปซิฟิกจะเติบโต 3.5 เท่าของเศรษฐกิจ วางรากฐานสู่การดำเนินการเป็นเลิศ ความแตกต่างทางการแข่งขัน และการเติบโตในระยะยาว”
ไอดีซีประเมินว่า ภายในปี 2570 กว่า 80% ขององค์กรจะสามารถระบุมูลค่าของขีดความสามารถ/สินทรัพย์ดิจิทัลของตนได้อย่างถูกต้อง (ข้อมูล อัลกอริธึม และโค้ดซอฟต์แวร์) และจะทำให้มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ภายในปี 2567 ราว 30% ขององค์กรจะมีกลยุทธ์บริหารภาวะวิกฤตและความต่อเนื่องทางธุรกิจที่ครอบคลุมอินเทลลิเจนซ์ และช่วยรับมือวิกฤตเศรษฐกิจและดิสรัปชันในอนาคตได้อย่างคล่องตัวว่องไว
ทั้งไอดีซี และไอบีเอ็มวิเคราะห์ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคธุรกิจดิจิทัลช่วงหลังปี 2563 คือส่วนแบ่งของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลในยอดขายรวมนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเทคโนโลยีดิจิทัลและไอทีกลายเป็นองค์ประกอบหลักในการเติบโตและความยั่งยืนขององค์กร ในปี 2566 คาดว่าบริษัทต่างๆ จะเผชิญกับปัญหาที่ยากลำบาก เช่น แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาทรัพยากรมนุษย์ และความปลอดภัยทางไซเบอร์ ดังนั้น องค์กรจึงต้องลงทุนไอที เพื่อเป็นกลยุทธ์ในการต่อสู้และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างสวยงาม
***ยุคใหม่เริ่มแล้ว
การศึกษาของ IDC พบว่า หลังปี 2563 เอเชียแปซิฟิกได้เข้าสู่ยุค “ธุรกิจดิจิทัล” หรือ digital business ซึ่งเป็นการเปลี่ยนจากการอยู่ในยุค DX 2.0 และ DX 1.0 หรือยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่บริษัทยังมียอดขายดิจิทัลน้อยกว่า 10% แต่ในปี 2565 ยุคธุรกิจดิจิทัลได้เริ่มแล้วด้วยสัดส่วนของยอดขายที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลถึง 26% และคาดว่าในปี 2570 จะเพิ่มขึ้นอีกถึงระดับ 40%
ความเปลี่ยนแปลงในยุค digital business คือการกำหนดมูลค่าขององค์กรใหม่ พบว่า 85% ของผู้บริหารองค์กรเชื่อว่าธุรกิจดิจิทัลจะเป็นคุณค่าสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจ และ 89% ของผู้บริหารระดับสูงตระหนักว่าการมีส่วนร่วมในระบบนิเวศดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโต นอกจากนี้ ในแง่ของ ESG และความยั่งยืน พบว่า 81% ของ CEO เห็นด้วยว่าการลงทุนด้านดิจิทัลมีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมาย ESG
ยุคใหม่ที่เกิดขึ้นถือเป็นพายุแห่งการเปลี่ยนแปลง ทำให้ในปี 2566 ผู้บริหารองค์กรจะมีความกังวลมากขึ้นในเรื่องการลดต้นทุนและการปรับปรุงผลกำไร รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน การเติบโตของยอดขาย และการปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้า ซึ่งจะทวีความสำคัญในช่วงที่บริษัทต้องเผชิญมรสุม 5 ด้านทั้งความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย แรงกดดันจากเงินเฟ้อ การเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาทรัพยากรมนุษย์ และปัญหาการรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์
ในกรณีของความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งไอบีเอ็ม และไอดีซีเชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีอาจทำหน้าที่เป็นตัวลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทาน โดยทั้งคู่แนะนำให้องค์กรรักษาความยืดหยุ่นด้วยความโปร่งใสของข้อมูล ส่วนกรณีของการเอาชนะปัญหาทรัพยากรมนุษย์ นั้นสามารถนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติมาใช้เสริมความแข็งแกร่งได้
นายแดเนียล โซอี้ จิเมเนซ Vice President ของ IDC AP Research อธิบายว่า องค์กรจำเป็นต้องย้ายตัวเองจากการใช้ระบบอัตโนมัติ หรือ automation แบบเจาะจงเฉพาะกับแต่ละกระบวนการ ไปสู่การผสานความอัจฉริยะทั่วทั้งกระบวนการและภาระงานที่ครอบคลุมทีมต่างๆ หรือทั่วทั้งองค์กร
นายพอล เบอร์ตัน ซีอีโอของไอบีเอ็ม เอเชียแปซิฟิก มองว่าว่าระบบ automation จะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับองค์กรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สาเหตุเพราะในแง่ประชากรจะมีคนในตลาดงานน้อยลง คนทำงานน้อยลง และคนที่อยู่ในตลาดงานอาจไม่มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ automation จะกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก
“เราต้องมองความเป็นจริงในทางบวกว่า automation ไม่ได้นำสู่การลดจำนวนงาน แต่เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยเสริมขีดความสามารถของมนุษย์ งานในอนาคตจะตกเป็นของคนที่เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ ทำงานร่วมกันในแง่การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อช่วยให้มนุษย์ทำงานได้ดีขึ้น ปริมาณและการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลกำลังเพิ่มขึ้น ข้อมูลจะเติบโตอย่างรวดเร็วเท่าทวี และคนจะไม่สามารถก้าวทันได้ ทางเดียวที่จะช่วยรับมือข้อมูลได้คือการใช้ AI”
พอล วิเคราะห์ว่า เหตุที่โครงการ automation บางองค์กรไม่ประสบผลสำเร็จ คือองค์กรใช้ automation ในลักษณะไซโลไม่เชื่อมต่อกัน ดังนั้นองค์กรต้องมองกว้างขึ้น ต้องเริ่มที่กระบวนการ และวิเคราะห์ว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการเหล่านั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยเทคโนโลยีที่หาได้ในวันนี้” พอลระบุ “ถ้าองค์กรไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ องค์กรจะไปได้ไม่ไกล หากองค์กรไม่มีสถาปัตยกรรมข้อมูลที่ดี ไม่มี data fabric ที่ดี ไม่มีความสามารถในการดึงข้อมูลเพื่ออนุมาน และทำการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม เท่ากับองค์กรนั้นไม่ได้เรียนรู้อะไร”
จากสถิติจากไอดีซีชี้ว่าเทคโนโลยีเกี่ยวกับ AI, analytics และ big data ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอัตราเติบโตถึง 20% เมื่อเทียบปีต่อปี นายพอล มองว่า องค์กรที่ประสบความสำเร็จคือองค์กรที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เร็วที่สุด เรียนรู้และวิวัฒนาการได้เร็วที่สุด และเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยการแปลข้อมูล 100% และการเรียนรู้จากข้อมูล ดังนั้นองค์กรไม่ว่าในอุตสาหกรรมใดก็ตามต้องมีสถาปัตยกรรมข้อมูลที่ดี ใช้ data fabric เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในทุกแหล่งได้
ทั้งนี้ งานสัมมนาได้กล่าวถึงแนวทางที่องค์กรควรให้ความสำคัญในปี 2566 ประกอบด้วย 1.ความจำเป็นในการให้ความรู้เรื่องไซเบอร์ซิเคียวริตีแก่พนักงานทั่วทั้งองค์กร ที่จะต้องเป็นกระบวนการที่องค์กรทำอย่างต่อเนื่อง 2.การประเมินจุดอ่อนหรือช่องโหว่ ซึ่งพอล มองว่าทางเดียวที่องค์กรจะสามารถรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ที่เติบโตขึ้นได้ คือ การนำ AI หรือ automation มาใช้ เพื่อช่วยตรวจจับและช่วยให้เข้าใจเหตุผิดปกติที่เกิดขึ้น เนื่องจากองค์กรไม่สามารถหยุดการโจมตีของอาชญากรได้ แต่สามารถตรวจจับและคาดการณ์ได้ว่าเหตุข้อมูลรั่วหรือการโจมตีจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เมื่อทราบแล้วก็สามารถดำเนินการเพื่อแก้ไข 3.ระบบซิเคียวริตีที่เชื่อมต่อกัน โดยเมื่อผนวกอะนาไลติกส์เข้ากับระบบแล้ว องค์กรจะมีชั้นแรกของการป้องกัน และสามารถร่วมมือกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีในการเพิ่มความสามารถที่ตนเองไม่มี
นอกจากซีเคียวิรตี ไอบีเอ็มเชื่อว่าเทคโนโลยี automation จะช่วยให้องค์กรมีความสามารถในการเลือกผลิตเฉพาะสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ และเมื่อผลิตน้อยลง ก็ลดการใช้วัตถุดิบ นี่เป็นสิ่งที่จะมีแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งซัปพลายเชน เพราะเมื่อผลิตน้อยลงก็ใช้พลังงานน้อยลง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง
ปัจจุบัน ดาต้าเซ็นเตอร์ใช้พลังงานไฟฟ้า 2% ทั่วโลก และก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตปรินต์ทั่วโลก 6-7% เฉพาะในสิงคโปร์ นำสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าราว 7% ดังนั้น กุญแจสำคัญในก้าวต่อไปของความยั่งยืนคือการที่องค์กรสามารถวัดคาร์บอนฟุตปรินต์จากการดำเนินงานของตนได้ เพื่อที่จะได้รู้ว่าต้องควบคุมหรือมีมาตรการอย่างไร
“องค์กรไม่มีทางที่จะรู้ว่าตนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพียงใดหากไม่มีการวัดที่เป็นมาตรฐาน โดยวันนี้ไอบีเอ็มได้นำโซลูชันอย่าง Envizi เข้าช่วยองค์กรออโตเมทการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลหลายร้อยประเภท โดยอิงตามเฟรมเวิร์กการรายงาน ESG ตามหลักสากล” พอลกล่าว “วันนี้องค์กรที่ไม่มีรากฐานข้อมูลที่ดี ไม่มีสถาปัตยกรรมข้อมูลที่ดี ไม่มี data fabric และไม่สามารถอินทิเกรทข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อวิเคราะห์สกอร์การ์ด ESG ของตนได้ ถือว่าองค์กรนั้นเสียเปรียบ”
พอลยังกล่าวถึง 3 เรื่องที่องค์กรต้องให้ความสำคัญในปี 2566 คือ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของธุรกิจ (business velocity) เนื่องจากซีอีโอมองถึงการที่ธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้อย่างรวดเร็ว นั่นหมายถึงทำให้การดำเนินกระบวนการต่างๆ ทางธุรกิจเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น และมีความคลาดเคลื่อนน้อยลง และ automation คือตัวช่วยหนึ่งเดียวที่จะทำสิ่งนี้ให้เป็นจริง
“นอกจากนี้ ยังมีการลดต้นทุนบนแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้ออย่างรุนแรง การที่มีแรงงานน้อยลงแปลว่าค่าแรงเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงภาวะเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น และนี่คือสิ่งที่ซีอีโอต้องเผชิญ แนวทางเดียวที่จะช่วยลดปัญหาจากภาวะเงินเฟ้อ (ตามที่คุณซานดร้าชี้ประเด็นไว้) คือการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย และการใช้ automation ก็นำสู่การลดต้นทุนได้ด้วยเช่นกัน” พอลทิ้งท้าย “สุดท้ายคือการยืดหยุ่นฟื้นตัวไว (Resilience) องค์กรธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐต้องคิดในภาพใหญ่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมทางเทคโนโลยี และไม่จำกัดตัวเองอยู่ในกล่องที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนตามโลกได้ทัน เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าโลกกำลังเปลี่ยนไป”