เทเลนอร์เอเชีย เผยผลการศึกษา "Digital Lives Decoded” ในหัวข้อโทรศัพท์มือถือกับการทำงาน สำรวจพฤติกรรมของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย มีการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อปรับตัวให้เข้ากับชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป จากวัฒนธรรมการทำงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นหลังการระบาดของโควิด -19 ระบุว่า ผู้คนในเอเชียหันมาใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อยกระดับชีวิตการทำงาน ทำให้ประสิทธิภาพและทักษะการทำงานที่เพิ่มขึ้น และการเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยเน้นย้ำถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับประเด็นความไว้วางใจและการควบคุมของหัวหน้างาน เนื่องด้วยรูปแบบการทำงานที่ผสมผสานระหว่างการทำงานในสำนักงาน และการทำงานแบบออนไลน์ ซึ่งก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างพนักงานและผู้บังคับบัญชา การศึกษาดังกล่าวสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือ 8,000 รายใน 8 ประเทศ ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ได้แก่ บังกลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม)
ผลสำรวจในประเทศไทย
ในประเทศไทย ผู้หญิง (61%) จำนวนมากกว่าผู้ชาย (39%) รู้สึกว่าโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์พกพามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอาชีพและทักษะการทำงาน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 54% สำหรับผู้หญิง และ 52% สำหรับผู้ชาย
ผู้บริหารระดับ C-suite ในประเทศไทย (44%) มีแนวโน้มน้อยที่สุดที่จะรายงานประโยชน์จากเทคโนโลยีมือถือในการช่วยพัฒนาทักษะและอาชีพ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของผู้บริหารระดับ C-suite ในภูมิภาค (61%)
ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยมีความกังวลน้อยที่สุด (25%) เกี่ยวกับการก้าวให้ทันกับทักษะเทคโนโลยีมือถือ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโดยรวมที่ 42%
ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยมองว่าบริษัทของตนใช้ศักยภาพของโทรศัพท์มือถือและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่มากที่สุด (87%) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 76%
คนไทยมีความกังวลน้อยที่สุดว่าความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยนั้นเป็นอุปสรรคต่อการใช้งานเทคโนโลยีมือถืออย่างเต็มศักยภาพ (40%) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ (60%) ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดทักษะและความรู้ การไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรม และนโยบายสถานที่ทำงานที่ไม่เอื้ออำนวย
ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย (55%) เป็นกลุ่มที่มองโลกในแง่บวกมากที่สุดเกี่ยวกับการสร้างแหล่งรายได้ใหม่จากโทรศัพท์มือถือ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 52%
นายเยอเก้น โรสทริป หัวเรือใหญ่ แห่งเทเลนอร์เอเชีย กล่าวว่า การวิจัยของเราชี้ให้เห็นว่าการเชื่อมต่อผ่านมือถือนั้นเป็นตัวกลางที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความก้าวหน้า ความยืดหยุ่น และโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่เรายังคงเห็นช่องว่างในการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวระหว่างประชากรในเมืองและชนบท บริษัทขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี ระหว่างอุตสาหกรรมต่างๆ หรือแม้แต่ผู้บริหารและพนักงานใต้บังคับบัญชา
นอกจากนี้ ผู้คนยังมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับทักษะและความสามารถของตนในการก้าวให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ประเด็นเรื่องความไว้วางใจในการทำงาน ยังส่งผลให้ผู้คนไม่สามารถบรรลุศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ จากการใช้งานโทรศัพท์มือถือในโลกการทำงาน ในยามที่ผู้คนใช้เวลาในการทำงานบนโลกออนไลน์มากขึ้น ผลสำรวจของเราช่วยชี้ให้เห็นถึงเครื่องมือและองค์ความรู้ที่เหมาะสมในการลดช่องว่างเหล่านี้และยกระดับคุณภาพชีวิตการทำงานในโลกดิจิทัล
1.พนักงานหญิงและผู้บริหารระดับสูงเห็นว่า การทำงานผ่านมือถือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ดีขึ้น
ผู้หญิงจำนวนมากรายงานว่า การใช้โทรศัพท์มือถือทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย 54% ของผู้ตอบแบบสอบถามเพศหญิง เมื่อเทียบกับผู้ชายที่ 46% ยังกล่าวด้วยว่าโทรศัพท์มือถือช่วยเชื่อมต่อพวกเขาเข้ากับโอกาสในโลกการทำงานและอาชีพที่ดีขึ้น ในบังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และปากีสถาน ผู้หญิงเป็นผู้นำในการใช้มือถือเพื่อค้นหาวิธีการสร้างรายได้รูปแบบใหม่ๆ
ผู้บริหารระดับ C-suite ยังกล่าวว่า ได้รับประโยชน์จากการใช้มือถือในที่ทำงาน เมื่อเทียบกับพนักงานในระดับอื่นๆ เกือบสองในสาม (61%) ของผู้บริหารชุด C-suite กล่าวว่า โทรศัพท์มือถือช่วยพัฒนาอาชีพและทักษะอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับ 47% ของพนักงานระดับปฏิบัติการ พวกเขายังมีแนวโน้มที่จะเห็นผลิตภาพการทำงานที่สูงขึ้น โดย 60% ของผู้บริหารระดับ C-suite เมื่อเทียบกับ 52% ของผู้บริหารระดับปฏิบัติการ กล่าวว่าผลิตภาพการทำงานนั้นดีขึ้นกว่า 20% อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารระดับสูง C-suite (53%) ส่งสัญญาณถึงความกังวลมากกว่าพนักงานระดับอื่นๆ (โดยเฉลี่ย 39%) เกี่ยวกับทักษะของพวกเขาที่ก้าวไม่ทันกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่เร่งรีบเช่นนี้
2.นโยบายและการปฏิบัติในที่ทำงานล้าหลัง
เกือบ 7 ใน 10 (69%) ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าการเชื่อมต่อมือถือมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จขององค์กร อย่างไรก็ดี ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนใกล้เคียงกัน (62%) รู้สึกว่ายังมีช่องว่างที่จะนำประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีมือถือมาใช้พัฒนาได้ดีขึ้น
ผู้คนมองว่าการขาดทักษะและความรู้ (49%) การไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรม (31%) และนโยบายสถานที่ทำงานที่ไม่เอื้ออำนวย (28%) เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการใช้โทรศัพท์มือถือในที่ทำงาน
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามได้ระบุถึงจุดที่นายจ้างสามารถนำเทคโนโลยีมือถือเข้ามาช่วยสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้พนักงานได้ กล่าวคือ กระบวนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะ (62%) และระบบงานบริหารทรัพยากรบุคคล (54%)
3.ประเด็นความไว้วางใจกำลังเป็นปัญหามากขึ้น
ในขณะที่พนักงานในปัจจุบันเห็นคุณค่าของเทคโนโลยีมือถือที่มีต่อชีวิตการทำงาน (มีเพียง 5% เท่านั้นที่เชื่อว่าการใช้โทรศัพท์มือถือในการทำงานจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตนั้นลดลง) การกำหนดมาตรการป้องกันเพื่อสร้างความไว้วางใจนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับองค์กรที่มุ่งสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล สิ่งนี้จะทวีความสำคัญในอนาคต เนื่องจากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากระบุว่า พวกเขาคาดว่าการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อการทำงานจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า
ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย (60%) และการขาดความไว้วางใจในเทคโนโลยี (40%) เป็นประเด็นหลักที่ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้เทคโนโลยีมือถือเพื่อประโยชน์ที่มากขึ้นในที่ทำงาน
4.สิงคโปร์คาใจมากที่สุดกับประโยชน์ของโทรศัพท์มือถือในที่ทำงาน
ผู้ตอบแบบสอบถามในสิงคโปร์มีความค้างคาใจมากที่สุดเกี่ยวกับประโยชน์ของโทรศัพท์มือถือต่อชีวิตการทำงาน โดยมีเพียง 35% (เทียบกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่ 55%) ที่ระบุว่าโทรศัพท์มือถือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตนมากกว่า 20% ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามในสิงคโปร์ 69% (เทียบกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่ 90%) รู้สึกว่าโทรศัพท์มือถือมีส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะของพวกเขาในที่ทำงาน
ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ทั่วทั้งภูมิภาคยังคงเชื่อว่าการใช้โทรศัพท์มือถือในการทำงานนั้นช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต แต่ในสิงคโปร์มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 2 ใน 10 เท่านั้นที่รู้สึกว่าโทรศัพท์มือถือช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ รั้งท้ายในบรรดาประเทศที่ได้รับการสำรวจ อีกทั้งผู้ตอบแบบสอบถามชาวสิงคโปร์จำนวน 11% ยังกล่าวด้วยว่าโทรศัพท์มือถือนั้นส่งผลให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาลดลงอย่างมาก