xs
xsm
sm
md
lg

2 ยักษ์คลาวด์ลงทุนในไทย สร้างโอกาสใน ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอเนอร์ แมคนามารา
การประกาศเข้าลงทุนตั้งศูนย์ข้อมูล (ดาต้าเซ็นเตอร์) ในประเทศไทย จาก 2 ใน 3 ผู้ให้บริการคลาวด์ชั้นนำของโลก ทั้งกูเกิล คลาวด์ (Google Cloud) และอเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (AWS) แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย พร้อมกับเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยได้อย่างน่าสนใจ

ก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนสิงหาคม กูเกิล คลาวด์ เพิ่งประกาศตั้งศูนย์ข้อมูลระดับภูมิภาค (Cloud Regions) เพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง และหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย พร้อมกับมาเลเซีย และนิวซีแลนด์ ทำให้ปัจจุบัน กูเกิล คลาวด์ มีศูนย์ข้อมูลกระจายอยู่ทั่วโลกกว่า 35 แห่ง และมีจุดให้บริการ (Availability Zone : AZ) ที่กระจายตัวไปอีกกว่า 103 โซน

ต่อมา ล่าสุดในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา AWS (Amazon Web Services) ได้กลายเป็นผู้ให้บริการคลาวด์รายล่าสุดที่ตั้งศูนย์ข้อมูลแบบ Regions ขึ้นในประเทศไทย ในชื่อ AWS Asia Pacific (Bangkok) Regions ที่จะมีศูนย์ข้อมูล AZ ให้บริการ 3 แห่ง ทำให้ภายในปลายปีนี้ AWS จะมีศูนย์ข้อมูลระดับภูมิภาค 35 แห่ง และมีพื้นที่ให้บริการ (AZ) อีก 111 โซน

ในขณะที่ไมโครซอฟท์ ที่เป็นผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่อีกหนึ่งรายอย่าง Azure นั้น ยังไม่มีแผนที่จะตั้งศูนย์ข้อมูลในประเทศไทย เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการลงทุนร่วมกับโอเปอเรเตอร์ในการเชื่อมต่อข้อมูลไปยังสิงคโปร์ ทำให้สามารถเข้าถึงบริการได้ไม่ต่างจากการใช้งานในประเทศไทย

เบื้องต้น AWS คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยกว่า 1.9 แสนล้านบาท ภายในช่วง 15 ปี พร้อมกับก่อให้เกิดการจ้างงาน และผลักดันบุคลากรให้มีทักษะดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับกับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย และจะเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งให้ไทยได้กลายเป็นประเทศแถวหน้าในเศรษฐกิจดิจิทัลสำหรับภูมิภาคนี้

โดยนับตั้งแต่ AWS เข้ามาลงทุนตั้งสำนักงานในประเทศไทยเมื่อปี 2015 ก่อนนำเสนอบริการระดับโลกเข้ามาให้องค์กรธุรกิจ และสตาร์ทอัปในประเทศไทยได้เข้าถึง โดยมีจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างการเริ่มให้บริการ AWS Outpost ที่เปิดให้ภาคธุรกิจไทยสามารถเข้าถึงโซลูชันในการใช้งานคลาวด์ได้อย่างเต็มรูปแบบ

รวมถึงการประกาศเปิด AWS Local Zone ในกรุงเทพฯ ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่อไปยังศูนย์ข้อมูลได้เร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 10 เท่า ทำให้สามารถส่งข้อมูลไปประมวลผลบนคลาวด์ได้อย่างรวดเร็ว รองรับการทำงานที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะในยุคของ 5G ที่การส่งข้อมูลเกิดขึ้นในระดับมิลลิวินาที

คอเนอร์ แมคนามารา กรรมการผู้จัดการภาคพื้นอาเซียน AWS ให้ข้อมูลถึงการเติบโตของบริการคลาวด์ในประเทศไทยว่า เกิดขึ้นจากการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลของฝั่งธุรกิจ และภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมา การเข้ามาใช้งานคลาวด์จะช่วยลดระยะเวลาในการลงทุนทางด้านดิจิทัลได้จากเดิมที่ใช้ระยะเวลาหลายเดือนทำให้เหลือเพียงไม่กี่สัปดาห์

ปัจจุบัน ภาคธุรกิจในไทยใช้งบประมาณสำหรับการลงทุนคลาวด์เพียง 10% เท่านั้น ทำให้ AWS เห็นถึงโอกาสในการขยายตัวอีกมากจากภาคธุรกิจที่ใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์แบบเดิม ในการเปลี่ยนมาใช้บริการคลาวด์แทน

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจหลายส่วนต้องมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำดิจิทัลมาใช้ ซึ่งจะเป็นการช่วยเปิดโอกาสในการสร้างแหล่งรายได้ใหม่จากการให้บริการ ดังนั้น การลงทุนทางด้านคลาวด์จึงเป็นสิ่งสำคัญ”

ต่อเนื่องไปถึงสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การใช้งบประมาณลงทุนทางดิจิทัลจะช่วยให้สามารถคุมเงินลงทุนที่ใช้ พร้อมไปกับการสเกลธุรกิจเพื่อรองรับฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนทั้งระบบไปในครั้งเดียวด้วย

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
ทั้งนี้ ผู้บริหาร AWS ยังให้ข้อมูลว่า การเข้ามาตั้ง AWS Asia Pacific (Bangkok) Regions มีเป้าหมายหลักในการเชื่อมบริการคลาวด์เข้าสู่ผู้ใช้งานในประเทศไทยเป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มของธุรกิจ SMEs และสตาร์ทอัป ตามด้วยลูกค้าต่างชาติที่เข้ามาให้บริการในประเทศไทย

“การเข้ามาตั้งศูนย์ข้อมูลในประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในแผนที่ช่วยผลักดันให้เกิดการใช้งานดิจิทัล และในขณะเดียวกัน ก็เปิดโอกาสในการกระตุ้นให้เกิดการใช้งาน AWS Cloud เพิ่มเติมด้วย”

***AWS ลงทุนระดับไฮเปอร์สเกลในไทย


นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า การที่ AWS ตัดสินใจประกาศการลงทุนอย่างเป็นทางการเพื่อให้ไทยกลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้บริษัทต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

“ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ และคลาวด์เซอร์วิสจะมาช่วยเร่งกระบวนการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในภาคธุรกิจให้เกิดขึ้นได้เร็วขึ้น ซึ่งโครงการของ AWS นับเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุด และเป็นครั้งแรกในระดับไฮเปอร์สเกลของประเทศไทย”

สิ่งที่เกิดขึ้นคือการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม การเปิดโอกาสให้ภาครัฐและภาคธุรกิจไทยได้เข้าถึงบริการคลาวด์ที่มีมาตรฐานระดับโลกในราคาที่เหมาะสม จนส่งให้ไทยมีเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีในที่สุด

ที่ผ่านมา ประเทศไทยแข่งขันกับหลายประเทศในการเชิญชวนให้ผู้ให้บริการคลาวด์ระดับประเทศเข้ามาลงทุนในไทย และทำให้มีความเชื่อมั่นว่าไทยมีความเหมาะสมในการตั้งดาต้าเซ็นเตอร์

“การที่มีบริษัทชั้นนำระดับโลกมาลงทุนจะช่วยตอกย้ำการที่ไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านดิจิทัลของภูมิภาค และดึงดูดให้เกิดการลงทุนที่ต่อเนื่องตามมาและจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการลงทุนในไทยต่อไป”

ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa กล่าวว่า ที่ผ่านมาทาง depa มีการทำงานร่วมกับ AWS อย่างใกล้ชิดในการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัล ด้วยเป้าหมาย 1,000 คนต่อปี พร้อมไปกับการโปรโมตให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ด้วยจับคู่ SMEs กับผู้ให้บริการดิจิทัล

“การเข้ามาลงทุนของ AWS ในครั้งนี้จะขับเคลื่อนให้เกิดการนำดิจิทัลมาใช้ในการทำงานอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะสมาร์ทซิตี ในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการดำรงชีวิตหรืออยู่อาศัยให้มีความสุขมากขึ้น ขณะเดียวกันการลงทุนในครั้งนี้จะทำให้เห็นการเปลี่ยนผ่านของการลงทุนในอนาคต”


กำลังโหลดความคิดเห็น