วงการโครงข่ายรับส่งข้อมูลสำหรับองค์กรไทยส่งสัญญาณแข่งดุ หลังซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น หรือ SYMC (Symphony Communication PCL) ควักกระเป๋าทุ่มงบ 600 ล้านบาท กลายเป็นบริษัทเอกชนรายแรกในอาเซียนที่พร้อมให้บริการโครงข่าย SDN-MPLS Network ทำให้ลูกค้าองค์กรไทยสามารถรับ-ส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงถึง 100 Gbps และขยายไปได้จนถึง 1000 Gbps ถือเป็นการเตรียมย้ายลูกค้าจากคอร์แบ็กโบนเดิมที่ใช้มากว่า 15 ปี ไปสู่ระบบใหม่ที่มีเทคโนโลยีรองรับอนาคต
การระเบิดศึกโครงข่ายใหม่รอบนี้เชื่อว่าจะทำให้บริษัทมีลูกค้าใหม่เพิ่มเกิน 400-500 รายต่อปี บนรายได้ที่เติบโตขึ้นเป็นเลข 2 หลัก การเติบโตนี้ถูกประเมินจากโอกาสงามที่ SYMC มองเห็นในตลาดไทย ซึ่งธุรกิจโทรคมนาคมอยู่ในภาวะขยายตัวก้าวกระโดด ผลจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ความต้องการใช้งานข้อมูลพุ่งกระฉูด ท่ามกลางความหลากหลายของแอปพลิเคชันที่ต้องใช้โครงข่ายบริการ ที่สามารถรองรับได้ในปริมาณมาก ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตในตลาดระบบเชื่อมต่อข้อมูล (Connectivity) ที่จะยิ่งร้อนแรงขึ้นอีกในไม่กี่ปีจากนี้ หลังจากที่แผนการตั้งดาต้าเซ็นเตอร์เกิน 10 แห่งของผู้ให้บริการคลาวด์เจ้าใหญ่ระดับโลกจะเป็นรูปร่างในเมืองไทย
SYMC ยอมรับว่าตลาดที่สดใสนี้มีความท้าทายหลายประเด็น โดยเฉพาะปี 2566 ที่การแข่งขันในตลาดโครงข่ายข้อมูลจะอยู่ที่ประสบการณ์การใช้งาน รวมถึงต้นทุนและบริการ ไม่เพียงบริการหลังการขายที่ต้องแน่น 24 ชั่วโมง แต่ยังต้องสามารถดำเนินการติดตั้งระบบพร้อมใช้งานได้เร็วกว่าคู่แข่ง รวมถึงการอัปเกรดระบบที่ไม่ควรเกิน 7 วัน ขณะเดียวกัน บริษัทเลือกที่จะไม่เข้าไปแข่งในตลาดผู้บริโภคทั่วไป หรือ B2C เพราะการแข่งขันสูงเกินไป ทำให้แนวโน้มการควบรวมหรือไม่ควบรวม 2 โอเปอเรเตอร์ในไทยนั้นไม่ส่งผลกระทบใดต่อบริษัท ตรงกันข้าม SYMC อาจจะมีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้นหากการควบรวมนั้นโฟกัสที่ตลาดองค์กรซึ่งเป็นงานถนัดของ SYMC อยู่แล้ว
ที่ผ่านมา SYMC เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ให้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศไทย บริษัทได้ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2565 ว่ามีรายได้รวมมูลค่า 402 ล้านบาท เติบโตขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดย EBITDA หรือรายได้จากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าจัดจำหน่ายอยู่ที่ 162 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% แม้ว่าต้นทุนในการเชื่อมต่อระหว่างประเทศเพื่อการรองรับลูกค้าใหม่ รวมถึงต้นทุนขายที่เกิดจากการเติบโตของยอดขายของส่วนธุรกิจ ICT Solutions จะเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 29 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 44%
***โครงข่ายใหม่ ไฉไลกว่าเดิม
อเล็กซ์ โลท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SYMC กล่าวถึงความพร้อมให้บริการ SDN-MPLS Network เป็นรายแรกในไทยว่าเป็นผลจากการลงทุนรวม 600 ล้านบาทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยงบประมาณดังกล่าวมีสัดส่วนมากกว่างบการลงทุนที่ตั้งไว้เดิมคือ 20-25% จากรายได้ต่อปี โดยหลังจากการดำเนินนโยบายควบคุมค่าใช้จ่าย บริษัทเริ่มหันมาลงทุนมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต
“เพราะเราตระหนักดีว่าการเชื่อมต่อการสื่อสารในยุคดิจิทัลคือหัวใจหลักสำหรับทุกธุรกิจ เราจึงต้องก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอในการส่งมอบบริการด้วยโครงข่ายคุณภาพที่ดีที่สุดด้วยนวัตกรรมล่าสุดเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมให้ลูกค้า เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการเชื่อมต่อการสื่อสารที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันให้เกิดขึ้นในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนได้อย่างรวดเร็ว”
SYMC บอกว่านี่เป็นมิติใหม่ในวงการ ที่ผู้ให้บริการเอกชนสร้างโครงข่ายใหม่ขึ้นมาตอบโจทย์ธุรกิจในอนาคต โดยโครงข่ายเดิมนั้นยังมีใช้อยู่บ้าง แต่จะทยอยย้ายไปใช้ระบบใหม่ทั้งหมด โดยเฟสล่าสุดของการลงทุน 600 ล้านบาท คือการติดตั้งโครงข่าย SDN-MPLS Network เป็นรายแรกในไทย
จุดนี้ SYMC ย้ำว่าองค์กรที่ปรับเปลี่ยนโครงข่ายหลักไปสู่ SDN-MPLS Network จะช่วยยกระดับคุณภาพการบริการไปสู่มาตรฐานที่สูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน และต่อยอดธุรกิจให้องค์กรนั้นได้เป็นอย่างดี เพราะมีเทคโนโลยีล่าสุดที่สามารถบริหารจัดการโครงข่ายอัจฉริยะคุณภาพสูง ลดความซับซ้อนในการเชื่อมต่อ เพิ่มประสิทธิภาพและตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร ทั้งการเชื่อมต่อการสื่อสาร บริการคลาวด์ และบริการระบบเครือข่ายเสมือนหรือ Virtualization แบบไร้รอยต่อ ส่งเสริมการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในองค์กร และรองรับบริการ รวมถึงแอปพลิเคชันที่มีความหลากหลายในอนาคต
ในเชิงเทคนิค จุดเด่นของโครงข่าย SDN-MPLS Network อยู่ที่ความแม่นยำในการควบคุมแบนด์วิธ (Bandwidth) ตามที่องค์กรจะเลือกใช้ ที่สำคัญคือมีความหน่วง (Latency) ต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยโครงข่าย SDN-MPLS มี Latency ไม่เกิน 2ms (มิลลิวินาที) เหมาะกับการใช้งานแอปพลิเคชันที่ต้องการความทันใจต่อเนื่องได้อย่างไหลลื่นไม่สะดุด
ขณะเดียวกัน ยังมีเสถียรภาพสูง (High Reliable) ด้วยการเชื่อมต่อแบบหลากหลายเส้นทาง ง่ายต่อการบริหารจัดการและการสลับเส้นทางโดยอัตโนมัติหากเกิดขัดข้อง และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านต่างๆ ที่สามารถต่อยอดเข้ากับระบบและบริการอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย รวมถึงมีส่วนควบคุม (Self-Service Portal) เพื่อให้ผู้ใช้บริการเห็นการทำงานของโครงข่ายแบบเรียลไทม์ ทั้งการปรับแบนด์วิธ สั่งการ ตรวจสอบสถานะการบริการ สาเหตุการเกิดเหตุขัดข้อง การแจ้งเตือนและการเรียกดูการใช้งานต่างๆ ได้ง่ายเพียงปลายนิ้วบนแดชบอร์ด (Service Dashboard)
SYMC มองกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่จะได้ประโยชน์จากโครงข่ายใหม่นี้ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจให้บริการด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม ผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ต (ISP) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กลุ่มลูกค้าองค์กร และองค์กรภาครัฐ ธนาคาร สถาบันการเงิน ธุรกิจค้าปลีก โรงแรม โลจิสติกส์ รวมถึงกลุ่ม OTT (Over-the-Top) ที่ให้บริการด้านคอนเทนต์ต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับภาวะที่ภาครัฐและเอกชนไทยมีการปรับตัวสู่กระบวนการดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการลงทุนในระยะยาวเพื่อขยายโครงข่ายและปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการด้วยความหน่วงที่ต่ำกว่า
“ความต้องการใช้งานแบนด์วิธโตขึ้นทุกปี ขยายตัวแล้ว 30-40 เท่า ระบบนี้จะเข้ามารองรับได้ เราให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ยั่งยืน ครอบคลุมระยะยาว 5-10 ปี เราอัปเกรดบริการได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนระบบใหม่ทั้งหมด เราจะเชื่อมไม่ใช่แค่เส้นทางแต่ความหน่วงต้องน้อยกว่า”
***ลงทุนต่อเนื่องมองครบวงจร
ในด้านการขยายพื้นที่ให้บริการและพัฒนาโครงข่าย SYMC ย้ำว่าบริษัทพิจารณาจากความสำคัญด้านยุทธศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ ปริมาณความต้องการในการเชื่อมต่อสื่อสารขององค์กรไทยยังคงเติบโตสอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมและการขยายตัวของการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน โดยยกย่องว่าตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางการสื่อสารโทรคมนาคม
ปัจจุบัน SYMC ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล พื้นที่เศรษฐกิจหลัก 50 จังหวัด อาคารสำนักงานชั้นนำในกรุงเทพฯ 259 อาคาร นิคมอุตสาหกรรม 53 แห่ง ศูนย์บริการทั่วประเทศ 18 แห่ง และมีเกตเวย์เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างประเทศอีก 6 แห่ง ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนเดียวของสัดส่วนรายได้บริษัทที่ 90% มาจากธุรกิจด้านการเชื่อมต่อข้อมูล หรือ Connectivity เช่น โครงข่ายสายเคเบิลและบริการโทรคมนาคมในระดับองค์กร ส่วนที่เหลืออีก 10% มาจากธุรกิจบริการ ICT เช่น ระบบดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบรักษาความปลอดภัยคลาวด์
“ปี 66 ธุรกิจ Connectivity จะยังเป็นรายได้หลัก แต่อีก 5 ปี คลาวด์ซิเคียวริตีจะขยายตัวแน่นอน เพราะว่าทุกคนต้องทำโดยเฉพาะลูกค้าเราที่เป็น 7-8 ธนาคารหลักของไทย รวมถึงธุรกิจรีเทลที่มีสาขาจำนวนมาก โครงข่ายสำหรับธนาคารและองค์กรเหล่านี้จะมีความต้องการใช้บริการสูงมาก เพราะทุกอย่างเชื่อมกัน ถ้ามีแอปพลิเคชันใช้ก็ต้องมีคลาวด์ ต้องมีพับลิกคลาวด์ และต้องมี Connectivity และบริการอื่นครบวงจร”
อีกโอกาสที่ SYMC เห็นคือแนวโน้มการเปิดดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่เกิน 10 แห่งในไทยที่มีการประกาศแผนออกมา ทั้งกูเกิลและอะเมซอนที่วางแผนให้บริการคลาวด์รีเจียนในไทย SYMC มั่นใจว่า การติดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์จะต้องใช้การเชื่อมต่อ และ SYMC จะให้บริการได้ ซึ่งไม่เพียงมีดาต้าเซ็นเตอร์หลัก ยังต้องมีดาต้าเซ็นเตอร์รอง เรียกว่าต้องมีอย่างน้อย 2 ดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งจะมีโอกาสทำให้ศึกโครงข่ายของไทยคึกคักขึ้นอีกแน่นอน