xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปัจจัย ‘เดลล์’ หนุนธุรกิจไทย นำ ‘Data’ สร้างโอกาสเติบโตสู่อนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในยุคที่ ‘ข้อมูล’ กลายเป็นเชื้อเพลิงหนุนให้ธุรกิจสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ ประกอบกับการเข้าสู่โลกดิจิทัลของผู้บริโภคในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาด 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างโอกาสครั้งสำคัญให้แก่ผู้ประกอบการ ที่มองหาการลงทุนเพื่อบริหารจัดการ ‘ข้อมูล’ ที่ได้มาสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ

เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของเดลล์ (Dell) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยเฉพาะการที่คนไทยปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา และกลายเป็นโอกาสสำคัญให้องค์กรธุรกิจเกิดการลงทุนเพื่อรับกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค

ปัง ยี เบ็ง รองประธานอาวุโส ภูมิภาคเอเชียใต้และกรรมการผู้จัดการ ประเทศมาเลเซีย เดลล์ เทคโนโลยีส์ เล่าย้อนถึงสถานการณ์ในตลาดการบริหารจัดการข้อมูลในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดขึ้นว่า หลายๆ องค์กรธุรกิจต่างมีแผนที่จะลงทุนในด้านของการบริหารจัดการข้อมูล เพียงแต่เป็นแผนที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวในลักษณะของการลงทุนต่อเนื่องกันไป

แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น ทำให้แผนทุกอย่างที่วางไว้ถูกรื้อทิ้ง และนำไปสู่การลงทุนเพื่อให้ธุรกิจสามารถ ‘อยู่รอด’ ในช่วงการแพร่ระบาดด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งในช่วงแรกนับเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากสำหรับการที่ทุกองค์กรต้องเกิดการทรานส์ฟอร์ม

“ในเวลาที่ธุรกิจต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ กฎระเบียบต่างๆ ที่แต่เดิมเคยถูกใช้เพื่อควบคุมข้อมูลภายในบริษัทก็มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถหยุดให้บริการได้อย่างธนาคาร ที่แต่เดิมแทบไม่มีความเป็นไปได้ที่จะให้พนักงานทำงานจากโน้ตบุ๊กนอกสถานที่”

ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นคือ 1.ทุกองค์กรต้องการเปลี่ยนแปลงให้เร็วที่สุด 2.เกิดการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบบางอย่าง ทำให้การทำงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และ 3.พนักงานหรือบุคลากรเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วสอดรับกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เร็วขนาดนี้ถ้าไม่เกิดสถานการณ์นี้ขึ้น

ขณะเดียวกัน เมื่อทุกธุรกิจต่างหันมาทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ก็ทำให้องค์กรมีความจำเป็นต้องบริหารจัดการข้อมูลให้เหมาะสมมากขึ้นเนื่องจากในยุคก่อนโควิด-19 ข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะถูกจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบแบบแผน แต่ในช่วงโควิด-19 จนถึงหลังจากนี้ จะเกิดข้อมูลในประเภทของ Unstructer Data ที่พุ่งสูงขึ้นมาก

รวมถึงการที่องค์กรธุรกิจต้องปรับตัวให้ทำงานจากที่ไหนก็ได้ ทำให้เกิดการลงทุนใช้งานมัลติคลาวด์ หรือไฮบริดคลาวด์ในลักษณะของไฮเปอร์คอนเวิร์จ หรือการรวมศูนย์ข้อมูลเพื่อให้บริหารจัดการได้สะดวกที่สุด จนถึงประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดคือเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ในยุคที่ทุกองค์กรธุรกิจมีโอกาสถูกโจมตีจากแรนซัมแวร์ (ไวรัสเรียกค่าไถ่) ทำให้เกิดเทรนด์ของการนำซอฟต์แวร์เข้ามาช่วยดูแลข้อมูลทั้งบนดาต้าเซ็นเตอร์ ไปจนถึงพับลิกคลาวด์ด้วย

***นำอีโคซิสเต็ม ช่วยลูกค้าจบในที่เดียว


หลังจากเห็นถึงเทรนด์ของการบริหารและจัดการข้อมูลที่เกิดขึ้น ทำให้เดลล์เร่งขยายพอร์ตของการให้บริการให้ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ ทำให้เกิดการบริการลูกค้าองค์กรในลักษณะของอีโคซิสเต็ม จุดแข็งของเดลล์ในตอนนี้คือการเป็นผู้ให้บริการรายเดียวในตลาดองค์กรธุรกิจที่มีเซอร์วิสให้ครบทั้งอีโคซิสเต็ม นับตั้งแต่เครื่องคอมพิวเตอร์ จนถึงสตอเรจ เน็ตเวิร์ก ดาต้าเซ็นเตอร์ รวมถึงซอฟต์แวร์และโซลูชันในการบริหารจัดการข้อมูล

“เดลล์ช่วยให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการระบบและข้อมูลได้ง่ายขึ้นภายในแดชบอร์ดเดียว รวมถึงมีทางเลือกในการเข้าถึงซอฟต์แวร์ที่ให้บริการได้หลากหลายในทุกภาคอุตสาหกรรม”

นอกจากนี้ ด้วยการที่เดลล์มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการแก่ลูกค้าทั่วโลก ทำให้สามารถนำประสบการณ์ในแต่ละภาคธุรกิจมาปรับใช้เพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจในไทยสามารถทรานส์ฟอร์มธุรกิจได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการนำระบบแมชชีนเลิร์นนิ่ง และออโตเมชันมาช่วย

จนถึงล่าสุดคือการที่เดลล์นำเสนอฟีเจอร์ใหม่กว่า 500 รายการ ที่จะเข้าไปเพิ่มความสามารถของสตอเรจในการจัดเก็บข้อมูล เพื่อให้องค์กรธุรกิจสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในการทำธุรกิจ ภายใต้ 3 ส่วนสำคัญคือ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพ 2.การผสมผสานการทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้น 3.บนมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูง

***ชู Project Alpine นำประสิทธิภาพขั้นสูงสู่พับลิกคลาวด์


นอกเหนือจากการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่เพื่อเข้าไปจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลแล้ว เดลล์ ยังได้แนะนำความสามารถใหม่อย่าง Project Alpine ที่จะนำความสามารถในการประมวลผลระดับองค์กร (Enterprise Capacity) ทั้งในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพ และการปกป้องซอฟต์แวร์สตอเรจของเดลล์เข้าไปให้บริการในพับลิกคลาวด์

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือองค์กรธุรกิจที่ต้องการผสมผสานการใช้งานระหว่างไพรเวทคลาวด์ และพับลิกคลาวด์ จะสามารถจัดการข้อมูลได้บนมาตรฐานความปลอดภัยเดียวกัน ทำให้ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บได้รับการปกป้องในระดับสูง เช่นเดียวกับการเก็บข้อมูลไว้ภายในองค์กร โดยจะเปิดให้องค์กรธุรกิจที่ใช้งานพับลิกคลาวด์ของทั้ง AWS, Microsoft Azure หรือ Google Cloud ในรูปแบบของการให้บริการซอฟต์แวร์สตอเรจ ที่จะเชื่อมต่อไปยังบริการสตอเรจของเดลล์ ไม่ว่าจะเป็น PowerStore, PowerScale, PowerFlex และ ObjectScale โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนแอปพลิเคชัน หรือโปรแกรมที่ใช้ทำงานเดิม

“องค์กรธุรกิจจะสามารถตัดสินใจได้ว่าอยากให้ข้อมูลที่ต้องถูกประมวลผลเกิดขึ้นบนพับลิกคลาวด์ หรือเลือกนำซอฟต์แวร์เข้ามาประมวลผลภายในเซิร์ฟเวอร์เพื่อความปลอดภัย ถือเป็นการยกระดับการทำงานของมัลติคลาวด์ให้ก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมๆ”

***โอกาสตลาดไทย นำจุดเด่นเทคโนโลยี พาธุรกิจสู่อนาคต



สำหรับตลาดประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจที่หันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนทางด้านสตอเรจจะอยู่ในกลุ่มของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ธนาคาร อีคอมเมิร์ซ และภาครัฐ

เมื่อมองเข้าไปจะเห็นว่าเป็นภาคส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้คนไทยเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ในลักษณะของการเป็นโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงโลกออนไลน์ผ่านโมบายอินเทอร์เน็ต บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง และการปรับตัวของภาคการเงินเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ จนถึงการที่ภาครัฐเริ่มให้บริการดิจิทัลแก่ประชาชน

ทำให้เชื่อว่าหลังจากนี้ประเทศไทยจะเดินหน้าเข้าสู่ยุคของดิจิทัลในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่เริ่มเห็นโอกาสจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของภาคการศึกษา ภาคสาธารณสุข อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ หรือแม้แต่ภาคเกษตรกรรมที่สามารถนำ ‘Data’ เข้าไปช่วยเพิ่มโปรดักทิวิตี้ ลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน หรือทำให้การเข้าถึงข้อมูลสะดวกมากขึ้น

“เดลล์จะใช้ความเชี่ยวชาญจากการทำธุรกิจทั่วโลก ผสมผสานกับรูปแบบเฉพาะตัวในประเทศไทย ในลักษณะของการนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยเสริมให้ธุรกิจไทยมุ่งสู่อนาคตได้”

โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยมีช่องว่างที่เกิดจากการเติบโตของการใช้งานดิจิทัลแบบก้าวกระโดด ทำให้ยังมีโอกาสที่อีกหลายธุรกิจจะสามารถเข้ามาเสริมได้โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เป็นจุดเด่นสำคัญของประเทศไทย

***เทรนด์สตอเรจภูมิภาค มุ่งตอบโจทย์สมาร์ทซิตี

ในส่วนของเทรนด์หลักที่ ‘ปัง ยี เบ็ง’ มองว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตลาดสตอเรจในภูมิภาคนี้มีโอกาสเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล คือการพัฒนาเมืองสู่การเป็นสมาร์ทซิตี หรือดิจิทัลซิตี ที่จะทำให้เกิดปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยอย่างกล้องวงจรปิด และการนำระบบสแกนใบหน้ามาช่วย ก่อนต่อยอดไปสู่การนำข้อมูลเหล่านี้มาช่วยในการพัฒนาให้เมืองน่าอยู่ขึ้น

โดยที่ผ่านมาเดลล์ได้นำแบบแผนในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Digital City Framwork) ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เข้าไปช่วยพัฒนาเมืองในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเมื่อมีต้นแบบที่ดี ก็เปรียบเหมือนการทำงานล่วงหน้าไปแล้ว 40-50% ที่เหลือก็คือการปรับให้เข้ากับแต่ละเมืองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด

ผู้บริหารเดลล์ ปิดท้ายว่า “ทุกวันนี้ข้อมูลไม่ต่างจากการเป็นเชื้อเพลิงที่จะช่วยให้ประเทศ หรือองค์กรธุรกิจสามารถขับเคลื่อนไปสู่อนาคตได้ ดังนั้นการบริหารจัดการข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในปัจจุบัน”


กำลังโหลดความคิดเห็น