xs
xsm
sm
md
lg

โนเกียฮึดใหญ่! โฟกัสลูกค้าองค์กรในไทยเต็มตัวครึ่งหลังปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โนเกียระบุ 2565 เป็นปีที่ธุรกิจโครงข่าย 5G ของโนเกียจะโฟกัสกับกลุ่มลูกค้าองค์กรอย่างเต็มที่ มั่นใจไทมิ่งดีหลังยอดไลฟ์เน็ตเวิร์กและจำนวนลูกค้าต่างประเทศโตต่อเนื่องจนลูกค้าในไทยเริ่มสนใจเรียกเข้าคุย ย้ำมีแผนประเดิมติดตั้งโปรเจกต์นำร่องในปลายปีนี้-ต้นปีหน้ากับบริษัทข้ามชาติในไทย เบื้องต้นยอมรับโนเกียอาจจะได้รับผลกระทบทางธุรกิจบางส่วนหากการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคเกิดขึ้นจริง แต่ยืนยันฝั่งธุรกิจเครือข่าย 5G สำหรับองค์กรจะไม่กระทบ ชวนรัฐบาลไทยดูตัวอย่างหลายประเทศที่พร้อมใจสนับสนุนให้เกิดคลื่นความถี่ที่เอกชนจะสามารถนำไปให้บริการ 5G แบบไพรเวท ซึ่งหากไทยทำได้จะเสริมให้ภาคธุรกิจมีทางเลือกในการพัฒนาธุรกิจตามหลักอุตสาหกรรม 4.0 ขณะที่ประเทศจะสามารถจัดสรรคลื่นความถี่มาใช้ประโยชน์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

นายฐิติพันธุ์ วรกุลลัฎฐานีย์ ผู้บริหารฝ่ายขายองค์กร (Enterprise Sales Leader) บริษัท โนเกีย ประจำประเทศไทย กล่าวถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ของโนเกีย ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งการขยายตัวของ 5G อย่างเป็นรูปธรรมแม้ประเทศจะมีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดบนเส้นทางสู่อุตสาหกรรม 4.0 นับตั้งแต่การประกาศแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล เพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยมุ่งเน้นการพัฒนาในด้านหุ่นยนต์ การใช้ระบบออโตเมชันในโรงงาน การบิน โลจิสติกส์ และการเกษตร โดยประเมินว่าปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะในภูมิภาค มีการนําเทคโนโลยี 5G มาใช้ครั้งแรกในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และยังพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโซลูชันเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล

“มิชชั่นของเรา คือ การทำให้ทุกคนสามารถสื่อสารทำงานร่วมกันได้ เพื่อเชื่อมต่อทำงานจากทุกที่ ทุกเวลา และทุกงานแบบครอบคลุมทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา การค้า และด้านอื่น เราพร้อมสนับสนุนลูกค้าองค์กร ทั้งเอกชนและหน่วยงานรัฐบาล เพื่อให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลได้” ฐิติพันธุ์ระบุ "ปีนี้เป็นปีที่โนเกียโฟกัสลูกค้าองค์กรเเต็มที่ ตอนนี้เป็นจังหวะในการศึกษา เครือข่าย 5G แบบไพรเวทมีการใช้จริงในประเทศบริษัทแม่แล้ว องค์กรในไทยจึงเริ่มแสดงความสนใจจะนำมาใช้บ้าง โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทภาคการผลิตจากญี่ปุ่นและอมริกันที่มีหน่วยงานในไทย นอกจากนี้ ยังมีภาคการขนส่ง เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงของไทยที่จะต้องมีระบบสื่อสารข้อมูลอยู่แล้ว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างทำทีโออาร์ TOR รอเข้าประมูล"

***น้องใหม่ตลาดไทย

โนเกียยอมรับว่าแม้บริษัทจะยังใหม่ในตลาดไทยเมื่อเทียบกับกลุ่มลูกค้าองค์กร แต่แนวโน้มตลาดไทยนั้นสดใสเนื่องจากนโยบายการชูอุตสหกรรม s-curve ใหม่จากเดิมที่เน้นด้านเกษตรกรรม อิเล็กทรอนิกส์ ท่องเที่ยว การผลิตรถยนต์ และอาหาร ทำให้ไทยต้องการเทคโนโลยีที่ปลอดภัยและมีความเร็วสูงเพื่อผลักดันประเทศให้เปลี่ยนเป็นยุคอุตสาหกรรม 4.0 ทั้งด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ด้านการยกระดับดิจิทัลอีโคโนมี และการเป็นศูนย์กลางด้านบริการสุขภาพ การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งด้านการขนส่งและการบินที่ต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยทำท่าเรืออัจฉริยะ เบื้องต้นโนเกียวางเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับปีนี้คือการปลุกปั้นโครงการนำร่อง โดยจะเดินหน้าร่วมงานกับพันธมิตรผู้ให้บริการที่มีไลเซนส์ 5G เพื่อเปิดตลาดกับองค์กรกลุ่มแรกที่ยอมรับเทคโนโลยีได้เร็วอย่างบริษัทข้ามชาติที่มีบริษัทลูกในไทย ขณะเดียวกัน ก็ยินดีจะร่วมงานกับทุกส่วน คู่ไปกับการเพิ่มพันธมิตรเพื่อรองรับการแข่งขัน รวมถึงความร่วมมือด้านการทหาร


ปัจจุบัน โนเกียเผยว่ามีลูกค้าองค์กร 2,200 รายทั่วโลก การเติบโตนี้เกิดขึ้นได้เพราะโนเกียมีพันธมิตรด้านธุรกิจที่จะร่วมมือกับทุกส่วนองค์กรบน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การเป็นแบรนด์ที่ได้รับความไว้วางใจและเป็นที่รู้จักวงกว้าง ทำให้สามารถนำเทคโนโลยีใหม่มาพัฒนาต่อยอด ครอบคลุมทั้งแบบโครงข่ายไร้สายและแบบประจำที่ 2.การให้บริการไฟเบอร์ออปติกความเร็วสูงซึ่งรองรับอุปกรณ์หลากหลายรวมถึง IoT 3.การนำเอาระบบคลาวด์ใหม่เข้ามาให้ลูกค้าไทยใช้บริการอย่างเท่าเทียม ช่วยลดต้นทุนในราคาที่เข้าถึงได้ และ 4.การลงทุนวิจัยและพัฒนาระยะยาว ซึ่งทำให้โนเกียนำเทคโนโลยีมาใช้งานในองค์กรได้ง่าย

โนเกียยังชี้ว่าในกลุ่มลูกค้าองค์กร 2,200 ราย ราว 450 รายเป็นลูกค้าในธุรกิจไพรเวทเน็ตเวิร์กไร้สายส่วนตัวทั้งที่เป็น 4G และ 5G ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานรัฐ (116 ราย) หน่วยงานด้านพลังงาน (109 ราย) งานขนส่ง (84 ราย) การผลิต (79 ราย) และอื่นๆ (63 ราย) เกือบครึ่งเป็นองค์กรในยุโรป (42%) รองลงมาคืออเมริกาเหนือ เอเชีย และละตินอเมริกา ตัวเลขที่แข็งแกร่งไม่เบาสะท้อนว่าโนเกียได้รับอานิสงส์จากการที่ 5G มักจะถูกใช้ในหน่วยงานเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปัจจุบัน โนเกียเลือกแบ่งธุรกิจเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย 1.บริการเครือข่ายไร้สาย 2.บริการคลาวด์และเครือข่ายที่คิดค้นให้องค์กรใช้คลาวด์ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดทุนได้ 3.ระบบเน็ตเวิร์กที่เป็นแลนด์ไลน์ รองรับพื้นที่ระยะไกล และใต้น้ำ และ 4.เทคโนโลยีเฉพาะทาง ซึ่งทำรายได้ค่าไลเซนส์เข้ากระเป๋าโนเกียอีกทาง

โนเกียยอมรับว่าที่ผ่านมายังไม่มีโครงการนำร่องไพรเวทเน็ตเวิร์ก 5G ในไทย และยังไม่มีการคุยเรื่องสมาร์ทซิตี แม้โนเกียจะโฟกัสที่อีอีซี (ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) แต่ขณะนี้มีการกำหนดแผนกับลูกค้าแล้วถึงการติดตั้งโครงการนำร่องในช่วงปี 2565-2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หลายแบรนด์มองว่าเหมาะกับการลงทุนเพื่อรับกับความต้องการและกำลังการผลิตที่กลับมาหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19

***ควบรวมกระทบแน่


เมื่อถามถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการบริษัทโทรคมนาคมอย่างทรูและดีแทค ผู้บริหารยอมรับว่ามีผลกระทบบางส่วนกับโนเกียเท่านั้น เนื่องจากการควบรวมทำให้โอเปอเรเตอร์ทั้ง 2 ฝ่ายต้องบริหารทรัพยากรให้คุ้มค่า และโนเกียยินดีที่จะร่วมมือทุกเจ้า แต่ในส่วนธุรกิจเครือข่ายองค์กร โนเกียเชื่อว่าจะไม่ได้รับกระทบใดในตลาดไทย ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน และหากมีการส่งเสริมคู่กับการพิสูจน์ได้ว่าลดต้นทุนได้จริง ตลาด 5G สำหรับองค์กรไทยก็จะเปิดกว้าง

"รัฐบาลหลายประเทศสนับสนุนให้เกิดความถี่ที่เอกชนจะสามารถนำไปให้บริการแบบไพรเวท ทำให้ภาคธุรกิจสามารถมีทางเลือก ขณะที่รัฐสามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น" ฐิติพันธุ์ระบุ "ในต่างประเทศมีการกำหนดความถี่ย่านองค์กรโดยเฉพาะ แบบไม่อิงโอเปอเรเตอร์ เป็นอันไลเซนส์แบนด์ ของไทยเรามีอยู่ในย่าน 5.8G แต่แบนด์นี้มีข้อจำกัดต้องวางเสาสัญญาณถี่ขึ้น ดังนั้นการมีทางเลือกอื่นนอกจากความถี่เดิมของโอเปอเรเตอร์ที่มีการประมูลไปแล้วในราคาค่อนข้างสูง จะทำให้เกิดการแข่งขัน และทำให้เกิดการลงทุนที่เห็นผลเร็วขึ้น"

นอกจากจุดเด่นของเทคโนโลยี 5G ที่จะเร็วแรงกว่า WIFI ทำให้องค์กรสามารถควบคุมอุปกรณ์ได้ดีขึ้น โนเกียเชื่อว่าบริษัทมีหลายจุดแข็งที่เอื้อต่อการขยายตลาด 5G สำหรับองค์กร ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเต็มที่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป

"เราเป็นผู้นำเรื่องการสื่อสาร มีพอร์ตที่กว้างพอสมควร สามารถให้บริการลูกค้าอย่างมั่นใจ ซึ่งถ้าลูกค้าในไทยพร้อม เราก็พร้อม การเติบโต 100% เป็นไปได้จริง ตอนนี้ประเทศพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ภาคเกษตรต้องมีเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเรื่องการให้ปุ๋ยและน้ำ การขนส่งต้องทำเป็นระบบอัจฉริยะ ตรงนี้ถ้ามีการส่งเสริมและยอมรับจะเห็นการเติบโตแน่นอน"


กำลังโหลดความคิดเห็น