สรุปผลกระทบด้านเศรษฐศาสตร์กรณีควบรวมทรู-ดีแทค ‘ไปต่อยาก’ กสทช.กางเฟรมเวิร์กชี้การศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐศาสตร์ พบหากมีการควบรวมกันส่งผลต่อราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น 200% จีดีพีหดตัว 2% ลดลงถึง 3 แสนล้านบาท ขณะที่ความเห็นวงวิชาการชี้ ควรปรับปรุงโมเดลเพิ่มในมิติอื่นด้วยนอกเหนือแค่เรื่องราคา
นายศุภัช ศุภชลาศัย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช. เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัส กรุ๊ป) ต่อกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ครั้งที่ 3 กลุ่มวิชาการ เพื่อศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่ง กสทช.ได้ทำเฟรมเวิร์กด้วยความรอบคอบโดยเจ้าหน้าที่ กสทช.ใช้เวลาทำเป็นเวลา 1 เดือน จากนั้นนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการก่อนมาปรับปรุงอีกครั้งหนึ่งและนำมาจัดโฟกัส กรุ๊ปในครั้งนี้
สำหรับกรอบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ (เฟรมเวิร์ก) ในการประเมินผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากการควบรวมกิจการ วิเคราะห์ผ่าน 2 รูปแบบคือ 1.การวิเคราะห์โครงสร้างการแข่งขันและผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ ประกอบด้วย ด้านโครงสร้าง ทั้งกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มค้าส่งบริการ และกลุ่มค้าปลีกบริการ โดยต้องมีการนิยามตลาดและตลาดที่เกี่ยวข้อง พิจารณาส่วนแบ่งตลาดทั้งกรณีที่มีและไม่มีการควบรวมธุรกิจ และด้านพฤติกรรม โดยดูผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ในกรณีที่ไม่มีความร่วมมือ ดูความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นด้วยการศึกษาจากบทเรียนของต่างประเทศที่มีอยู่ มีการพิจารณาพฤติกรรมและผลกระทบต่างๆ เช่น ราคา อุปสรรคในการเข้าตลาด การทดแทนกันของบริการ การคงสิทธิของเลขหมาย
การดูผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ในกรณีที่มีความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการ โดยดูความเป็นไปได้ที่จะเกิดผ่านการศึกษาบทเรียนของต่างประเทศที่มีอยู่ รวมถึงการดูผลกระทบกรณีมีการร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการหลังรวมธุรกิจในด้านต่างๆ เช่น ราคา (อัตราค่าบริการ) การเข้าสู่ตลาด MVNO การทดแทนบริการ การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ในกรณีที่อัตราค่าบริการเพิ่มขึ้นหลังรวมธุรกิจมีผลต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มค้าส่งบริการ และกลุ่มค้าปลีกบริการซึ่งทั้งหมดนี้มีการประเมินผลกระทบโดยใช้โมเดล Merger Simulation และ Upward Pricing Pressure Model (UPP) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้แพร่หลายในสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาและ Economy Wide Model โมเดลทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ 1.ผลกระทบด้านราคาต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และ 2.ความมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ประสิทธิภาพที่จะเกิดขึ้นต่อให้ผู้ให้บริการภายหลังการควบรวม ความเป็นไปได้ว่าประโยชน์จากการลดต้นทุนส่วนเพิ่มที่จะส่งผ่านไปถึงผู้บริโภค (กรณีการร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการภายหลังการรวมธุรกิจ ) และผลกระทบของการลดต้นทุนส่วนเพิ่มที่มีผลต่อการแข่งขันในตลาด
***ราคา-เงินเฟ้อเพิ่ม กระทบจีดีพี
นายประถมพงศ์ ศรีนวล เศรษฐกรเชี่ยวชาญ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 2 กล่าวว่า สำนักงานใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ผลกระทบด้านราคา 2 แบบ คือ Merger Simulation และ Upward Pricing Pressure Model (UPP) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้แพร่หลายในสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพื่อวิเคราะห์เรื่องควบรวมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ พบว่าจากโมเดลการใช้งานวอยซ์และดาต้า บ่งบอกถึงอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาที่น้อยกว่าโมเดลการใช้งานด้านเสียงเพียงอย่างเดียว โดยอัตราค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดเมื่อไม่มีการร่วมมือกัน คือ 2.03-19.53% กรณีร่วมมือกันในระดับต่ำ ราคาเพิ่มขึ้น 12.57-39.81% กรณีร่วมกันในระดับสูง ราคาเพิ่มขึ้น 49.30-244.50%
อย่างไรก็ตาม ในวงโฟกัส กรุ๊ปมีการเสนอให้ทำผลศึกษาโมเดลการใช้งานดาต้าเพียงอย่างเดียวด้วย คาดว่าจะสามารถทำเพิ่มขึ้นมาได้ โดยปกติจะใช้เวลาในการทำโมเดลประมาณ 2 อาทิตย์ ส่วนการเสนอแนะให้นำข้อมูลของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT มารวมด้วยนั้น จากข้อมูลพบว่า NT มีส่วนแบ่งในตลาดเพียง 2% จึงไม่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของผลการวิเคราะห์ครั้งนี้ ส่วนเรื่อง OTT ไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ร่วมกันได้ เพราะเป็นข้อมูลคนละพื้นฐานกัน
ด้านนายพรเทพ เบญญาอภิกุล คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า หากราคาเปลี่ยนแปลงตามผลการศึกษาของ กสทช.จะเกิดผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้างอย่างไร เมื่อตลาดกระจุกตัวมากขึ้น ผลของราคาก็จะเพิ่มขึ้น หากวิเคราะห์โมเดลวอยซ์และดาต้า ถ้าไม่มีความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการที่เหลือ ราคาเพิ่มขึ้น 7.25% และถ้ามีความร่วมมือต่ำ ราคาเพิ่มขึ้น 18.85% แต่หากมีการร่วมมือระดับสูง ราคาเพิ่มขึ้น 60.20% หากเป็นโมเดลด้านวอยซ์อย่างเดียว หากไม่มีการร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการที่เหลือ ราคาจะสูงขึ้น 11.09% และถ้ามีความร่วมมือในระดับต่ำ ราคาจะเพิ่มขึ้น 32.64% แต่หากมีการร่วมมือกันระดับสูงราคาเพิ่มขึ้น 198.28%
นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการเติบโตของจีดีพี หากไม่มีการร่วมมือกัน จีดีพีหดตัวลง 0.05%-0.11% กรณีร่วมมือกันระดับต่ำ จีดีพีหดตัวลง 0.17%-0.33% กรณีร่วมมือกันในระดับสูง จีดีพีหดตัวลง 0.58%-1.99% และพบว่ามูลค่าจีดีพีลดลง กรณีไม่มีความร่วมมือ จีดีพีลดลงในช่วง 8,244-18,055 ล้านบาท กรณีร่วมมือระดับต่ำ จีดีพีลดลงในช่วง 27,148-53,147 ล้านบาท กรณีร่วมมือระดับสูงจีดีพีลดลงในช่วง 94,427-322,892 ล้านบาท ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ หากไม่มีการร่วมมือกัน เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.05%-0.12% กรณีร่วมมือกันระดับต่ำ เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.17%-0.34% กรณีร่วมมือกันในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 0.60%-2.07%
จากการศึกษาพบว่า ระดับความร่วมมือคือปัจจัยสำคัญของการเพิ่มขึ้น ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาปัจจัยที่จะทำให้เกิดระดับความร่วมมือ โดยพิจารณาจาก 7 ปัจจัย ประกอบด้วย 1.จำนวนผู้ประกอบการที่เหลือภายหลังควบรวม ยิ่งน้อยยิ่งร่วมมือกันง่าย 2.ขนาดของผู้ประกอบการโดยเปรียบเทียบ ยิ่งขนาดใกล้เคียงกัน ยิ่งร่วมมือง่าย 3.ลักษณะของบริการยิ่งเหมือนกัน ยิ่งร่วมมือกันง่าย 4.ผู้บริการสามารถตรวจสอบราคากันได้ง่ายหรือไม่ ยิ่งตรวจสอบเปรียบเทียบราคากันง่าย ยิ่งร่วมมือกันง่าย 5.ระยะเวลาที่ต้องทำธุรกิจในตลาดเดียวกัน ยิ่งทำธุรกิจแข่งขันกันมานาน ยิ่งร่วมมือกันง่าย 6.อุปสรรคของรายใหม่ในการเข้าสู่ตลาด หากรายใหม่เกิดยาก ยิ่งร่วมมือง่าย 7.ประสิทธิภาพของหน่วยงานกำกับดูแล คือ กสทช.และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) หากมีประสิทธิภาพในการกำกับก็จะทำให้เกิดความร่วมมือกันยาก
***วงวิชาการชี้ไม่ควรคิดแค่มิติราคา
ขณะที่ความคิดเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าผลการวิเคราะห์เห็นพ้องว่าการศึกษาโมเดลดังกล่าวไม่ควรวิเคราะห์เพียงเรื่องผลกระทบด้านราคาเท่านั้น เพราะเชื่อมั่นว่า กสทช.จะสามารถควบคุมราคาในฐานะผู้กำกับดูแลได้ และมีความเห็นว่าราคาที่ออกมาอาจจะไม่มีนัยสำคัญต่อตลาดเหมือนผลวิจัยของต่างประเทศที่แม้จะพบว่าราคาเพิ่มขึ้น แต่สุดท้ายเรื่องราคาไม่ได้มีนัยสำคัญ และไม่ได้เป็นประเด็น
ดังนั้น กสทช. ควรนำปัจจัยอื่นมาพิจารณาด้วย เช่น การนำข้อมูลของ NT มาวิเคราะห์ร่วมด้วย เพราะถือเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) การคำนึงถึงหลักจิตวิทยา ปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบอย่าง OTT ซึ่งเข้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐานของโอเปอเรเตอร์และคนส่วนใหญ่ใช้งานมากขึ้น ดังนั้น ควรเพิ่มโมเดลที่ระบุถึงการใช้งานดาต้าเพียงอย่างเดียวออกมาเปรียบเทียบด้วย
นายปริญญา หอมเอนก นักวิชาการรายหนึ่ง กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าปัจจุบันคือยุคของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม ประชาชนไม่จำเป็นต้องใช้เบอร์โทร.ของโอเปอเรเตอร์ แต่สามารถติดต่อสื่อสารกันผ่านไลน์ เฟซบุ๊ก แสดงให้เห็นว่า OTT มีการแข่งขันกับโอเปอเรเตอร์อยู่แล้ว เพราะตอนนี้ดาต้ากลายเป็นวอยซ์ จึงต้องการให้ กสทช.ศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้ ในตลาดยังมี NT อีกรายที่เป็นผู้ให้บริการ ดังนั้น การควบรวมหรือไม่ควบรวม-ไม่ใช่ประเด็น ต้องดูที่ประโยชน์ว่าคนไทย สตาร์ทอัปได้อะไร จะเกิดการลงทุนมีการแข่งขันและนวัตกรรมมากขึ้น การรวมกันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ กสทช.กำหนดมากกว่า ซึ่งเชื่อว่า กสทช. ดูแลเรื่องราคาได้อยู่แล้ว ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีและไม่ได้ลงทุนอะไรเองการที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้นในไทยจึงเป็นเรื่องดี