นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับล่าสุด ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมาที่ 2.9% ลดลง 1% จากประมาณการเดิม เป็นผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นอันเป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่ไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันที่สูงถึง 6% ของจีดีพี จึงทำให้มีความอ่อนไหวต่อราคาน้ำมัน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งทำให้ปริมาณการค้าลดลง โดยเห็นจากการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ที่มีสัญญาณชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าจะได้รับแรงกระตุ้น และกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลงและการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดนของประเทศไทยและประเทศต่างๆ
ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.0 ล้านคนในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 0.4 ล้านคนในปี 2564 และเพิ่มขึ้นเป็น 24 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 60 ของระดับก่อนการระบาดภายในปี 2567 ด้วยเหตุนี้จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 4.3 และ 3.9 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 14 ปีตลอดปี 2565 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.3 การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.1 ในปี 2565 ชะลอตัวลงจากผลของปี 2564 ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ที่ร้อยละ 18.8 สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์โลกที่ลดลงและปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลกที่ยืดเยื้อ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจนขึ้น แต่อัตราการเติบโตของจีดีพีไทยยังต่ำและช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน และยังมีความท้าทายต้องติดตามในระยะต่อไปอีก 3 ปัจจัย ได้แก่ หนึ่ง การระบาดของโควิด-19 ที่แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดรอบใหม่ได้ และจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีถึง 12% ได้ สอง อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นไปแตะระดับ 7% แต่เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดแล้วจะพบว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนั้นกระจุกตัวอยู่ในหมวดของพลังงานและอาหาร ซึ่งอาจจะไม่ยั่งยืนนัก แต่อย่างไรก็ตาม จากการรับมือราคาน้ำมันที่สูงขึ้นของไทยที่ทำโดยการควบคุมราคานั้นเป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด และสาม ฐานะการคลัง จากในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้พื้นที่ทางการคลังไปค่อนข้างมากเพื่อแก้ปัญหาดังจะเห็นได้สัดส่วนหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น ขณะที่การดำเนินนโยบายปรับมาสู่การเยียวยาแล้ว ก็ควรจะทำนโยบายที่เจาะจงเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังไปสู่ภาคการลงทุนมากขึ้น
"เรามองว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ผู้กำกับดูแลรับมือได้ ยังมีเครื่องมือทางการเงินการคลังในการดูแลอยู่ ซึ่งจากไส้ในของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นยังเห็นว่ากระจุกตัวอยู่กลุ่มน้ำมัน ไม่กระจายไปส่วนต่างๆ ด้านการว่างงานอยู่ในช่วงฟื้นตัว ไม่ได้มีดีมานด์มากนัก จึงมีความแตกต่างจากสหรัฐฯ แต่ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม ซึ่งจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยให้เข้าสู่ระดับปกติได้ แต่ต้องพิจารณาระดับการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ โดยหากธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในทุกครั้งที่มีการประชุมจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ระดับปกติได้ในปีหน้า"
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลในปีนี้เพียงเล็กน้อย แต่การแก้ปัญหาคอขวดในการผลิต การฟื้นตัวของจํานวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ และราคาน้ำมันโลกที่ลดลง อาจทําให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลอีกครั้งในปี 2566 และ 2567 การส่งออกสุทธิจะเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม แม้ว่าการคาดการณ์องค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2565 ในปัจจุบันจะน้อยกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2564 ร้อยละ 1.4 เนื่องจากการปรับลดการขยายตัวของประเทศคู่ค้ารายใหญ่ และปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งจะจํากัดการเข้าถึงปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของประเทศจีน ทําให้การส่งออกเครื่องจักร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ยานยนต์ซึ่งมีปัจจัยการผลิตนําเข้าจากจีนจํานวนมากมีความเสี่ยงจากภาวะการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานดังกล่าว
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ในปี 2565 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.3 คาดว่าระดับราคาน้ำมันในประเทศจะยังคงสูงไปจนถึงช่วงสิ้นสุดระยะเวลาคาดการณ์ (ปี 2567) โดยราคาน้ำมันโลกเฉลี่ยจะอยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในปี 2565 และลดลงเพียงเล็กน้อยในปี 2566 และ 2567 อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นคาดว่าส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นชั่วคราว และจะค่อยๆ ลดระดับลงไปอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจําเป็นต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะที่ช่องว่างผลผลิตเป็นลบ (Negative output gap) เริ่มลดลง หลังจากการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ตลอดช่วงการระบาด ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้กลับสู่สภาวะปกติ
หนี้สาธารณะคาดว่าจะพุ่งสู่จุดสูงสุดที่ร้อยละ 62.5 ต่อ GDP ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งสูงกว่าระดับปัจจุบันเล็กน้อย การขาดดุลการคลังคาดว่าจะลดลงจากร้อยละ 6.9 ต่อ GDP ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เป็นร้อยละ 5.1 ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 และร้อยละ 2.4 ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งเป็นผลจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโควิดลดลง และสอดคล้องกับความยั่งยืนทางการคลังระยะปานกลาง ทั้งนี้ การที่หนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ในประเทศ ประกอบกับสภาพคล่องในประเทศมีเพียงพอรองรับกับความต้องการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาล ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงทางการคลังได้ แต่ระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันทําให้การใช้นโยบายการคลังเป็นไปได้ยากขึ้นในบริบทที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
นอกจากนี้ การใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือทางสังคมเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย การปรับสมดุลรายจ่ายเพื่อเพิ่มการลงทุนภาครัฐ และการเพิ่มรายได้ของรัฐบาลจะเป็นปัจจัยสําคัญสําหรับการบริหารจัดการกับแรงกดดันทางการคลังดังกล่าว เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงด้านลบ แสดงให้เห็นถึงความสําคัญของการสร้างกันชนทางการคลัง การติดตามตรวจสอบจุดอ่อนในภาคการเงิน และการสำรวจแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจ แนวโน้มการระบาดทั่วโลกยังคงคาดเดาได้ยาก การกลายพันธุ์ของโคโรนาไวรัสที่ดื้อต่อวัคซีนอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมภายในประเทศ การค้าขายสินค้า และการคาดการณ์การฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการที่รัสเซียบุกยูเครนอาจใช้เวลานานกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ โดยผลกระทบด้านราคาที่สูงขึ้นจะเป็นแรงกดดันให้ความต้องการบริโภคลดลงอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบด้านต้นทุนของปัจจัยการผลิตนำเข้าจะทําให้เกิดข้อจำกัดในการผลิตเพิ่มขึ้น
รวมถึงหนี้ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นยังก่อให้เกิดความเสี่ยงในด้านต่างๆ เช่น ความเสี่ยงต่อภาคการเงินเมื่อมาตรการช่วยเหลือเชิงกฎระเบียบสิ้นสุดลง ภาครัฐควรติดตามตรวจสอบความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับมาตรการช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน การเสริมสร้างความเข้มแข็งการฟื้นฟูกิจการจากการล้มละลายจะช่วยให้ธุรกิจที่ยังมีศักยภาพสามารถดำเนินกิจการต่อไป และสามารถฟื้นตัวได้เมื่อผลกระทบด้านลบบรรเทาลง
สุดท้ายนี้ การพัฒนาในระยะที่ผ่านมา ได้เน้นย้ำว่าประเทศไทยมีลักษณะเป็นประเทศที่พึ่งพาการนําเข้าน้ำมัน และมีความเปราะบางต่อภาวะการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ดังนั้น แนวทางการสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เช่น ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและมีความยืดหยุ่นต่อผลกระทบภายนอกได้