xs
xsm
sm
md
lg

ปรับองค์กรสู่ Hybrid Work ความท้าทายที่พนักงาน-องค์กรต้องเผชิญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจัยเรื่องการทำงานแบบไฮบริดได้กลายเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่พนักงานตัดสินใจอยู่ทำงานต่อ หรือเลือกที่จะเปลี่ยนงานไปบริษัทที่มีความพร้อมมากกว่าในการทำงานจากทุกที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่กำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ หลังสถานการณ์แพร่ระบาดเริ่มกลับมาดีขึ้น

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แนวคิดในการทำงานเปลี่ยนแปลงไป คือ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์ทำให้เกิดความจำเป็นในการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ต่อเนื่องมาจนปัจจุบันที่หลายองค์กรธุรกิจมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องของการปรับเวลาเข้ามาทำงานในสำนักงานให้น้อยลง เพื่อให้พนักงานมีเวลาโฟกัสกับการทำงานมากขึ้น

แน่นอนว่ารูปแบบการทำงานแบบไฮบริด (Hybrid Work) ไม่ได้เหมาะกับทุกรูปแบบธุรกิจ เพราะในการทำงานบางส่วนยังจำเป็นต้องใช้การปรึกษา หรือตัดสินใจร่วมกันแบบเห็นหน้า ไม่ใช่ต้องคอยประชุมผ่านวิดีโอคอลตลอดเวลาจนทำให้ตารางงานทั้งวันมีแต่การนัดประชุม

ลองไปดูกันว่า ‘ซิสโก้’ (Cisco) หนึ่งในบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ที่ได้รางวัล ‘องค์กรที่น่าทำงานมากที่สุดในโลก’ (Best Workplace) ต่อเนื่องติดกันหลายปีมีแนวคิดและวัฒนธรรมองค์กรอย่างไร พร้อมกับผลสำรวจที่ชี้ให้เห็นว่าการทำงานแบบ Hybrid Work นั้นช่วยให้คุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้นในด้านใด และองค์กรที่เห็นถึงแนวทางดังกล่าวต้องระมัดระวังในแง่ใดบ้าง


‘เทย์ บี เคียง’ ประธานซิสโก้ อาเซียน ระบุถึงประเด็นที่สำคัญในการเตรียมองค์กรให้พร้อมกับการทำงานแบบไฮบริดนั้นผู้บริโภคจำเป็นที่จะต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ทุกคนมีส่วนร่วม พร้อมกับส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพนักงาน โดยเฉพาะการเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกให้การทำงานแบบไฮบริดเกิดได้ง่ายที่สุด

‘ในการทำงานแบบไฮบริดนั้น ประสบการณ์ของพนักงานจะกลายเป็นศูนย์กลางของการทำงานในรูปแบบนี้ ทำให้องค์กรต้องมีความไว้ใจให้พนักงานรับผิดชอบในขอบเขตงานที่เหมาะสม และมีความเห็นอกเห็นใจต่อทุกฝ่าย’

บี เคียง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพถึงความเห็นอกเห็นใจในองค์กรมากขึ้น อย่างการประชุมผ่านวิดีโอคอลในช่วงที่ผ่านมาได้ทำให้เข้าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเพื่อนร่วมงานมากขึ้นผ่านประสบการณ์ในการพูดคุย การสังเกตห้องนั่งเล่น ห้องนอน หรือแม้แต่ลูกๆ ที่เข้ามาในหน้าจอระหว่างประชุม


โดยสิ่งที่องค์กรต้องเตรียมให้เกิดความพร้อมมากที่สุดเริ่มตั้งแต่ 1.อุปกรณ์ในการทำงานที่เหมาะสม 2.เครือข่ายที่ใช้งานได้เสถียร 3.เครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานร่วมกันภายในองค์กรเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง 4.การพัฒนาแอปพลิเคชันในการทำงานให้อยู่บนคลาวด์ หรือดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อให้สามารถเข้าใช้งานได้จากทุกที่ทุกเวลา และ 5.ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่ต้องเข้าไปดูแลในทุกๆ การเปลี่ยนแปลง

‘การทำงานแบบไฮบริดในหลายๆ องค์กรธุรกิจได้ทำให้เกิดช่องโหว่ในการโจมตีของแฮกเกอร์ เนื่องจากเริ่มมีการนำอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้งาน รวมถึงการใช้งานเครือข่ายสาธารณะจากสถานที่ต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลได้’

นอกจากนี้ องค์กรธุรกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายในการปกป้องข้อมูล โดยเฉพาะในยุคที่หน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ เริ่มมีกฎหมายและข้อบังคับในการดูแลข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค (PDPA) ดังนั้น จึงควรเลือกใช้เครื่องมือในการทำงานที่มีระบบรักษาความปลอดภัยด้วย

‘ประเด็นสำคัญที่ฝ่ายดูแลความปลอดภัยภายในองค์กรต้องทำคือ ทำให้พนักงานสามารถเข้าถึงซอฟต์แวร์ หรือเครื่องมือในการทำงานได้จากทุกที่ทุกเวลา แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องปกป้องข้อมูลจากการถูกโจมตีในรูปแบบต่างๆ โดยไม่กระทบต่อการทำงาน เพื่อให้ได้ประสบการณ์ในการทำงานได้ดีที่สุด’


‘อานุพัม เตรฮาน’ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบุคลากรและชุมชนของซิสโก้ ประจำภูมิภาค เอเชียแปซิฟิก ญี่ปุ่น และจีน กล่าวว่า ในเวลานี้หลายองค์กรกำลังมองหารูปแบบการทำงานแบบ Hybrid Work ที่เหมาะสมกับการทำงาน เพราะไม่ใช่ว่าทุกรูปแบบงานสามารถทำได้จากทุกที่ ทำให้ต้องมีการวางแผนให้เหมาะสม ตั้งแต่ขั้นตอนการทำงานต่างๆ ไปจนถึงการนำเครื่องมือดิจิทัลเข้ามาเพื่อช่วยเสริมศักยภาพในการทำงาน

‘การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกคน โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่โลกของการทำงานรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของพนักงาน ผู้บริหารและองค์กรต่างๆ จะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากร โดยจะต้องรับฟังความเห็น สร้างความไว้วางใจ และบริหารงานด้วยความเห็นอกเห็นใจ ความยืดหยุ่น และความยุติธรรม’

*** 70% ของคนทำงานแบบไฮบริดเชื่อว่าคุณภาพการทำงานดีขึ้น



สำหรับข้อมูลที่น่าสนใจ จากการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานกว่า 28,000 คนใน 27 ประเทศของซิสโก้ รวมถึงกว่า 1,050 คนจากไทย ถึง ‘ความพร้อมของพนักงานสำหรับการทำงานแบบไฮบริด’ (Employees are ready for hybrid work, are you?) พบว่า พนักงานในไทย 7 ใน 10 คน (70%) เชื่อว่าคุณภาพการทำงานดีขึ้น และพนักงานในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน (71%) รู้สึกว่าประสิทธิภาพการทำงานของตนเองปรับปรุงดีขึ้น

นอกจากนี้ 82% ของผู้ตอบแบบสำรวจรู้สึกว่าตนเองสามารถทำงานจากที่บ้านตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จเท่ากับการทำงานในออฟฟิศ แต่อย่างไรก็ตาม พบว่ามีพนักงานในไทยเพียง 37% ที่คิดว่าบริษัท ‘มีความพร้อมอย่างมาก’ สำหรับการทำงานแบบไฮบริดในอนาคต

เมื่อถามถึงรูปแบบการทำงานที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต กว่า 69% ของพนักงานในไทยต้องการให้มีรูปแบบการทำงานแบบผสมผสานระหว่างการทำงานที่บ้านและที่ออฟฟิศในรูปแบบไฮบริด ขณะที่ 21% เชื่อว่าจะเป็นการทำงานจากที่บ้านทั้งหมด และ 9% เชื่อว่าจะเป็นการทำงานในออฟฟิศทั้งหมด

อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ พฤติกรรมการบริหารงานแบบจู้จี้จุกจิกและคอยจับผิด (Micromanaging) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการที่ผู้บริหาร หรือหัวหน้างานไม่ไว้ใจว่าพนักงานจะตั้งใจทำงาน ซึ่งพฤติกรรมนี้จะส่งผลกระทบต่อการมีส่วนร่วม และการเข้าถึงการทำงานแบบไฮบริดของคนทุกกลุ่ม

*** ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิต 5 ด้าน


ขณะเดียวกัน การสำรวจนี้ยังเจาะลึกเข้าไปถึงผลกระทบในการทำงานแบบไฮบริดต่อคุณภาพชีวิตครอบคลุมใน 5 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย ด้านอารมณ์ การเงิน จิตใจ ร่างกาย และสังคม โดยผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 85% ระบุว่า การทำงานแบบไฮบริด และการทำงานจากที่บ้านช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตในหลากหลายแง่มุม

ไล่ตั้งแต่ด้าน การเงิน (Financial) ที่กว่า 87% ชี้ให้เห็นว่าสถานภาพทางการเงินดีขึ้น เนื่องจากสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้กว่า 2.7 แสนบาทต่อปี โดย 84% เป็นการประหยัดในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ตามมาด้วย 64% ประหยัดค่าอาหาร และความบันเทิง นอกจากนี้ 81% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ในระยะยาว และถ้าคิดจะเปลี่ยนงานก็อาจนำปัจจัยนี้มาพิจารณาในการตัดสินใจด้วย

ในส่วนของ ร่างกาย (Physical) ผู้ตอบแบบสอบถามในไทยกว่า 77% เชื่อว่ามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้นเนื่องจากมีเวลาในการออกกำลังกาย และกว่า 78% ระบุว่าการทำงานแบบไฮบริดส่งผลดีต่อนิสัยการกินที่ปรับสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับสุขภาพได้

ถัดมาในส่วนของ สังคม (Social) 84% แสดงให้เห็นว่า การทำงานจากที่บ้านช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์ในครอบครัว และเกือบ 2 ใน 3 (64%) ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ แน่นแฟ้นมากขึ้น ส่วนในด้าน อารมณ์ (Emotional) ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (85%) ทำงานได้มีความสุขมากขึ้น และมีแรงบันดาลใจในบทบาทใหม่ที่ได้รับ

สุดท้ายในส่วนของ จิตใจ (Mental) มีราว 63% เท่านั้นที่แสดงให้เห็นว่าความเครียดลดลง โดยส่วนใหญ่จะมาจากการปรับสมดุลในการทำงาน และการใช้ชีวิต ที่เหตุผลสำคัญคือ ตารางเวลาการทำงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น (54%) และไม่ต้องเดินทางเพื่อไปทำงานหรือมีการเดินทางน้อยลงอย่างมาก (46%)

นอกจากนี้ ในเรื่องของการเดินทางเกือบ 3 ใน 4 (74%) ของผู้ตอบแบบสอบถามประหยัดเวลาได้อย่างน้อย 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เมื่อทำงานอยู่ที่บ้าน และกว่า 1 ใน 4 (33%) ประหยัดเวลาได้อย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

‘ทวีวัฒน์ จันทรเสโน’ กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า หลายองค์กรเริ่มเห็นว่าปัจจัยสำคัญสำหรับการทำงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่อีกต่อไป แต่มองถึงผลงานที่ออกมา ทำให้ในโลกวิถีใหม่การทำงานแบบไฮบริดทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างได้ประโยชน์ในหลากหลายด้าน และก่อให้เกิดผลดีต่อองค์กร

‘การทำงานแบบไฮบริดเป็นมากกว่าเพียงแค่การรองรับการกลับเข้าทำงานในออฟฟิศอย่างปลอดภัย ผู้บริหารจำเป็นที่จะต้องบ่มเพาะวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อประโยชน์แก่ทุกคน และให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นหลัก’

โดยเฉพาะในเรื่องของประสบการณ์ การมีส่วนร่วม และคุณภาพชีวิตของพนักงาน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย และระบบรักษาความปลอดภัยให้ทันสมัย เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ราบรื่นสำหรับทุกคน


กำลังโหลดความคิดเห็น