ต้องยอมรับว่าโควิด-19 คือตัวเร่งให้องค์กรธุรกิจทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัลเร็วขึ้น ส่งผลให้การลงทุนด้านคลาวด์ในประเทศไทยเติบโตเพิ่มขึ้นด้วย โดยการ์ทเนอร์ระบุถึงมูลค่าการใช้จ่ายบริการคลาวด์สาธารณะของไทยปีนี้คาดว่าจะเติบโตขึ้น 36.6% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ความหอมหวานของเม็ดเงินลงทุนนี้ทำให้ผู้ให้บริการคลาวด์ต่างชาติยักษ์ใหญ่ ทั้ง aws และอาลีบาบา คลาวด์ ต่างสนใจเข้ามาลงทุนในไทยอย่างจริงจังมากขึ้น
*** aws กาง 3 กลยุทธ์ สร้างทีมรุกเฉพาะกลุ่ม
เมื่อเดือน มี.ค.2565 อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส หรือ aws ประกาศให้กรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 16 แห่งจากทั่วโลกที่จะเปิด aws Local Zone ภายใน 24 เดือน เพื่อต่อยอดบริการด้านการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ Edge กับคลาวด์ที่มีให้บริการในประเทศไทยก่อนหน้านี้ ซึ่งได้แก่ Amazon Cloudfront และ AWS Outposts ที่ทำร่วมกับบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT นอกจากนี้ยังได้ดึง ‘วัตสัน ถิรภัทรพงศ์’ อดีตผู้บริหารซิสโก้ มาเป็นผู้จัดการประจำประเทศไทย ซึ่งหลังจากรับตำแหน่งใหม่นี้มาปีกว่าก็สามารถมีความร่วมมือกับภาครัฐในโครงการพัฒนาบุคลากรด้านคลาวด์ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
วัตสัน กล่าวว่า aws อาสาเป็นผู้ให้บริการด้านคลาวด์ในไทย เพื่อตอบโจทย์องค์กรในการเตรียมพร้อมรับมือ digital transformation และมุ่งมั่นลงทุนระยะยาวในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องผ่าน 3 กลยุทธ์ในปี 2565 ได้แก่ กลยุทธ์แรก การสร้างทีมงานที่หลากหลายในประเทศไทยเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าทุกขนาดและทุกประเภทอุตสาหกรรม โดยกลุ่มลูกค้าที่ aws โฟกัส ได้แก่ กลุ่มการเงินและประกันภัย กลุ่มรีเทล กลุ่มภาคการผลิต กลุ่มสื่อสารโทรคมนาคมและกลุ่มดิจิทัล ซึ่งได้มีการขยายทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขาย ด้านเทคนิค การบริการระดับมืออาชีพ และ solution architect รวมถึงทีม Digital Native Business (DNB) ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับการเติบโตของลูกค้ากลุ่มยูนิคอร์นที่กำลังเติบโตในประเทศไทยด้วย
กลยุทธ์ที่สอง การสร้างความแข็งแกร่งในด้านความร่วมมือกับคู่ค้าใน aws Partner Network โดยบริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดจำหน่ายของ aws รายแรกในประเทศไทย ตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 และมีพันธมิตรหรือตัวแทนจำหน่ายกว่า 7,000 ราย ซึ่งกลุ่มนี้จะกลายเป็นฐานของคู่ค้าที่จะขยายเพิ่มขึ้นของ aws ในที่สุดโดยการเร่งการเปลี่ยนแปลงจากผู้จำหน่ายไอทีแบบเดิมเป็นคู่ค้าที่ปรึกษาด้านคลาวด์
นอกจากนี้ aws ยังทำงานร่วมกับผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระในประเทศไทยผ่าน aws ISV Accelerate Program ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการขายสำหรับองค์กรที่ให้บริการโซลูชันซอฟต์แวร์ที่ทำงานหรือผสานรวมกับ aws โปรแกรมนี้ช่วยให้บริษัทต่างๆ ขับเคลื่อนธุรกิจใหม่และเร่งวงจรการขายโดยเชื่อมต่อ ISV กับฝ่ายขายของ aws
กลยุทธ์ที่สาม การช่วยลูกค้าให้ยกระดับองค์กรสู่คลาวด์ซึ่งมี 3 ระยะ ประกอบด้วยระยะแรก Secured cloud infrastructure ด้วยการทำงานร่วมกับลูกค้าที่ต้องการนำระบบคลาวด์มาใช้ให้มีความปลอดภัย ช่วยองค์กรต่างๆ ย้ายโครงสร้างพื้นฐานจาก on-premise มาสู่คลาวด์ ในปัจจุบันองค์กรส่วนใหญ่ทั่วโลกยังใช้โครงสร้างพื้นฐานแบบ on-premise และ hybrid แต่มีการใช้จ่ายเพียงประมาณ 5% เท่านั้นที่อยู่บนคลาวด์
ระยะที่สอง Modernization เมื่อลูกค้าได้ใช้ระบบคลาวด์ของ aws 2-3 ปี และวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นเช่น AI และ ML ทีมงาน Solution Architect ในประเทศไทย จะทำงานร่วมกับฝ่ายขายอย่างใกล้ชิด เพื่อตอบโจทย์ความต้องของลูกค้าและช่วยให้ลูกค้าเข้าใจในเทคโนโลยีขั้นสูงและเริ่มนำมาใช้ได้ง่ายขึ้น เช่น ประกันภัยไทยวิวัฒน์ เป็นตัวอย่างบริษัทที่ได้นำเทคโนโลยี AI และ ML มาใช้เพื่อทำการตรวจสอบรถยนต์แบบเรียลไทม์และแม่นยำ ช่วยให้การเคลมประกันสามารถดำเนินการได้เร็วกว่าการประกันภัยแบบเดิมถึง 10 เท่า นอกจากนี้ ยังช่วยในการลดต้นทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง
และระยะที่สาม Intelligent services and sustainability การเตรียมความพร้อมลูกค้าสู่ความยั่งยืน ตามโมเดล Bio-Circular-Green Economic (BCG) ที่ได้รับการยอมรับจากงานวิจัย และรัฐบาลไทยได้ส่งเสริมให้เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่มีความครอบคลุมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ BCG ยังนำข้อได้เปรียบในด้านความหลากหลายของเชื้อชาติและวัฒนธรรมมาใช้ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ในปัจจุบันบางบริการของ aws อยู่ระหว่างการพัฒนาให้รองรับภาษาไทย และรองรับอุตสาหกรรมที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นเช่นด้านการแพทย์การเงินและอสังหาริมทรัพย์
***อาลีบาบา คลาวด์ เดินเกมตามแผนยุทธศาสตร์ไทย 20 ปี
ขณะที่บริษัท อาลีบาบา คลาวด์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ขอรับใบอนุญาตแบบที่หนึ่งเพื่อให้บริการ Cloud Service ในไทยเมื่อเดือน มี.ค.2565 ที่ผ่านมาจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถือเป็นการเปิดเกมรุกตลาดในไทยอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ก่อนหน้านี้อาลีบาบา คลาวด์ ได้เข้ามาตลาดไทยผ่านตัวแทนจำหน่ายตั้งแต่ 2562 ล่าสุดได้เปิดตัวโปรแกรม Thailand Partner Alliance 100 เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว มีพันธมิตรมากกว่า 40 รายเข้าร่วมโครงการเพื่อทำธุรกิจและเติบโตไปด้วยกันกับอาลีบาบา คลาวด์
‘ไทเลอร์ ชิว’ ผู้จัดการประจำประเทศไทยของอาลีบาบา คลาวด์ อินเทลลิเจนซ์ กล่าวว่า สิ่งที่เราเน้นคือการศึกษาและสร้างกลยุทธ์ตามแผนยุทธศาสตร์ของประเทศไทย 20 ปี เน้นการปรับโซลูชันพื้นฐานที่มีอยู่ให้เข้ากับองค์กรต่างๆ อย่างลงตัว ที่สำคัญคือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไทย พ.ศ.2562 หรือ PDPA จะมีผลบังคับใช้ในเดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้ เป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของอาลีบาบา คลาวด์ ที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ เมื่อเข้ามาดำเนินงานในประเทศ
‘ในขณะที่เราขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เรายังคงให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัยและการปกป้องข้อมูล เรามุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามกฎและข้อบังคับต่างๆ ของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังต้องการนำเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของบริษัทมานำเสนอในประเทศไทย รวมถึงองค์ความรู้เฉพาะทางด้านต่างๆ ที่อาลีบาบา คลาวด์ ประสบความสำเร็จในการช่วยสนับสนุนธุรกิจทั่วโลกให้ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย และเราหวังว่าบริษัทจะสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่ครบครันเพื่อช่วยผลักดันวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน’
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจที่บริษัทโฟกัสและเติบโตในช่วงที่ผ่านมา คือ กลุ่มดิจิทัล มีเดีย ไฟแนนซ์ รีเทลมีและอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งบริการด้านการรักษาความปลอดภัยที่นำเสนอให้แก่ลูกค้าในไทย ได้แก่ บริการป้องกันการโจมตีแบบ DDoS, WAF ศูนย์ความปลอดภัย การตรวจสอบการดำเนินการ บริการใบรับรอง SSL และการจัดการการเข้าถึงทรัพยากร โดยบริการบางประเภทที่กล่าวมานี้ได้ถูกใช้งานจริงเพื่อรองรับการดำเนินงานอย่างราบรื่นในช่วงที่มีการจัดมหกรรมชอปปิ้งระดับโลก 11.11 ของอาลีบาบา กรุ๊ป ซึ่งเป็นหนึ่งในมหกรรมชอปปิ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก
บริการด้านการรักษาความปลอดภัยเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แพลตฟอร์ม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพให้การป้องกันเชิงรุก การตรวจจับภัยคุกคาม การตรวจสอบและการตอบสนอง เช่น การปกป้องซอฟต์แวร์แอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ให้รอดพ้นจากมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) มัลแวร์สำหรับการขุดเหรียญและแบ็กดอร์ (Mining and Backdoor) และโทรจัน (Trojan) เพื่อลดปัญหาในการดำเนินงาน
นอกจากนี้ ในแง่ของสถาปัตยกรรม ศูนย์ความปลอดภัยของอาลีบาบา คลาวด์ ยังสามารถทำการตรวจสอบประเมินให้องค์กรธุรกิจ เพื่อปกป้องเซิร์ฟเวอร์ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ให้เป็นไปตามข้อกำหนดและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ส่วนผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่สำคัญอื่นๆ ที่บริษัทได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทย ได้แก่ ระบบประมวลผลที่ยืดหยุ่น (elastic compute) บริการด้านดาต้าเบส ด้านเน็ตเวิร์ก และสตอเรจ รวมถึงบริการสำหรับนักพัฒนาการส่งคอนเทนต์ และแอปพลิเคชันระดับองค์กรต่างๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้ง 2 บริษัทจะเพิ่งประกาศแผนรุกตลาดคลาวด์ในไทยอย่างจริงจังก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้ง 2 บริษัทนี้ต่างมีฐานลูกค้าไทยที่ใช้บริการอยู่แล้วเป็นอันดับต้นๆ การเล็งเป้าประเทศไทยด้วยการเข้ามาตั้งฐานหรือขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นนั้นเป็นการตอกย้ำว่าตลาดคลาวด์ในประเทศไทยยังเติบโตได้อีกหลายเท่าตัว การทำงานใกล้ชิดกับคนไทยเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขยายฐานลูกค้าที่ดีที่สุด