xs
xsm
sm
md
lg

"อนุทิน" ลุย Health for Wealth สร้าง Best Thailand เติม "อนามัย" ใน "ซอฟต์เพาเวอร์" ดึงดูดต่างชาติ ดันสู่เวทีโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"อนุทิน" ลั่นใช้โมเดล Health for Wealth พัฒนาทุกมิติ ชี้สุขภาพดี สังคมและเศรษฐกิจจะดีตามมา เล็งใช้ซอฟต์เพาเวอร์พ่วงสุขอนามัยไฮยีน พัฒนาให้ไทยไปเวทีโลก สร้างความมั่นใจต่างชาติมาลงทุน-ท่องเที่ยวให้เป็น Best Thailand "ตรีนุช" ลุยพัฒนาเด็กศตวรรษที่ 21 "จุติ" รับคนมองรัฐบาลเผด็จการ แต่บูรณาการกันมากที่สุด จนแก้ "โควิด" ได้ เลขาฯ กพร.ชี้การทำงานภาครัฐต้องเปลี่ยน 3 อย่าง

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่รอยัล พารากอนฮอล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน มีการจัดเวทีเสวนา "คุณภาพชีวิตยุคใหม่ ดูแลทุกวัยยกระดับสวัสดิการ" ในงาน "Better Thailand open Dialoge : ถามมา-ตอบไปเพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม" นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวตอนหนึ่ง ว่า เราเข้าสู่การระบาดของโควิด 19 เป็นปีที่ 3 ช่วงแรกทราบเพียงว่าเป็นไวรัสที่มีหนามมาจากอู่ฮั่น ประเทศจีน สธ.ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถอดรหัสพันธุกรรมได้ นำมาสู่การผลิตน้ำยาตรวจหาเชื้ออย่างรวดเร็ว และตรวจพบผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนเป็นรายแรกได้

นายอนุทินกล่าวว่า ตนเข้ามาบริหาร สธ. มีความมั่นใจระบบสาธารณสุขของไทยว่ามีความแข็งแกร่ง ซึ่งไม่ได้ดูแค่มิติเดียวเรื่องการแพทย์และสาธารณสุข แต่คำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจด้วย แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้เอาโควิดเป็นศูนย์กลาง เราให้ความสำคัญว่า เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้นจะทำอย่างไรให้ประชาชนเกิดผลกระทบน้อยที่สุด กำจัดโรคระบาดให้เร็วที่สุด หากกำจัดไม่ได้จะอยู่กับโรคระบาดนี้อย่างไรให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด มาตรการที่ออกมาบางช่วงอาจจะมาก แต่ถึงเวลาผ่อนคลายได้ก็ผ่อนคลายทันที ยึดหลักวิทยาศาสตร์ ระดมสมองทุกวัน หายาเวชภัณฑ์ต่างๆ เข้ามาทำให้ไม่เกิดการขาดแคลน แม้จะมีการปริ่มๆ บ้างในบางช่วงของการระบาด

"สิ่งที่ทำให้งานสำเร็จ ไม่กดดันมาก จนระบบพังทลาย คือ ความร่วมมือของประชาชน ทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีล้านคน ประชาชนร่วมมือสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือ ตระหนักวิธีปฏิบัติตนตามมาตรการสาธารณสุขในช่วงที่มีการระบาด" นายอนุทินกล่าว


นายอนุทินกล่าวว่า วันนี้ที่มีรายงานติดเชื้อเป็นเพราะเราผ่อนคลายมาตรการ เนื่องจากเชื้อมีความรุนแรงลดลง มีการฉีดวัคซีน มีความพร้อมด้านสาธารณสุข ยาและสถานพยาบาลเพียงพอ หมอมีประสบการณ์ วันนี้มั่นใจเราพร้อมที่จะเปิดประเทศ แพทย์ก็มีความมั่นใจ อย่างประชุม ศบค.วันนี้ ตนขอให้เปิดผับบาร์ คาราโอเกะ วันที่ 15 มิ.ย. แต่ทางการแพทย์มั่นใจก็เริ่มวันที่ 1 มิ.ย. อย่างไรก็ตาม แม้เรามั่นใจในระบบ แต่ไม่ใช่จะเอาใจประชาชนอย่างเดียว ต้องทำควบคู่ระหว่างเศรษฐกิจและสุขภาพประชาชนให้ปลอดภัย

"การจัดการโควิดพิสูจน์ให้เห็นถึงการบูรณาการของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ได้คำนึงว่าประโยชน์จะตกอยู่กับพรรคใดหรือคนใด เรามองประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งขณะนี้เราควบคุมสถานการณ์ได้ โฟกัสอย่าให้คนป่วยหนักและเสียชีวิต ส่วนการเดินหน้าอนาคต เมื่อก่อนเรามองว่าโควิดเอาอะไรไปจากเรา แต่ตอนนี้ต้องมองว่าเราจะเอาอะไรกลับคืนมาจากโควิดให้ประชาชน คือสิ่งที่สาธารณสุขจะเดินหน้าต่อไป" นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ว่าการจัดอันดับของสถาบันใด ประเทศไทยไม่เคยหลุดจากท็อปเทนของโลกในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ในระดับที่ไปนอน รพ.แล้วเหมือนนอนในโรงแรม แต่เป็นการเข้าถึงระบบสาธารณสุข มีหมอ มียา มีเตียง มีองค์ความรู้ มีประสบการณ์ ทำให้ดูแลประชาชนได้ ทั้งยังมีระบบหลักประกันสุขภาพที่พัฒนามาต่อเนื่อง 20 ปี มีความมั่นคงด้านสุขภาพ จากนี้ สธ.จะใช้สโลแกน Health for Wealth พัฒนาให้แข็งแรงทุกมิติ เมื่อสุขภาพดี เศรษฐกิจสังคมก็จะดี เรามีซอฟต์เพาเวอร์มากมาย สามารถครีเอทไฮยีนแฟกเตอร์เรื่องสุขอนามัย ประเทศไทยต้องมีให้ครบ ความเชื่อมั่นทั้งคนไทยและต่างชาติ ก็จะกล้ามาลงทุน กล้ามาท่องเที่ยว

"เราผ่านเมดิคัลฮับแล้ว ภูเก็ตเป็นศูนย์ขนาดใหญ่ก็จะขยายตัวได้ รับโอกาสธุรกิจเรื่องสุขภาพเข้ามามากมาย และกัญชาที่เคยคิดว่าไม่ดี วันนี้ อย.อนุมัติขยายทั้งเรื่องอุตสาหกรรม อาหาร สุขภาพ ผลิตภัณฑ์แตกแขนงมากมาย เราใช้ซอฟต์เพาเวอร์พัฒนาสิ่งที่มีในประเทศให้เดินได้ในเวทีโลก สธ.ต้องทำเทเลเมดิซีน สัญญาณต้องแข็งแรงมาก หมอสามารถส่องผู้ป่วยห่างไกลบนดอยแล้ววิเคราะห์โรค ใช้การรักษาดูแลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสุขภาวะที่ดี เศรษฐกิจดี ประเทศไทยจะแข็งแรง เป็น Best Thailand ไม่ใช่แค่ Better Thailand" นายอนุทินกล่าว


น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ทุกคนคาดหวังการศึกษาคุณภาพ แต่ 2 ปีที่ผ่านจากการระบาดของโควิด บางช่วงมีการล็อกดาวน์ มีการเปิดและปิดเรียน จะทำอย่างไรให้เด็กเข้าถึงการศึกษา จึงมีการทำรูปแบบการเรียนการสอน ทั้งออนไซต์ ออนดีมาน ออนไลน์ ออนแฮนด์ ทำให้โรงเรียนเปิดอย่างปลอดภัย นำมาสู่การฉีดวัคซีนในครู ต่อด้วยนักเรียนอายุ 12-18 ปี จึงมีการเปิดเรียนแบบไฮบริด ต่อด้วยอายุ 5-11 ปี ซึ่งฉีดแล้วกว่า 63% นำมาสู่การเปิดเรียนออนไซต์ซึ่งเปิดได้กว่า 99% นอกจากให้เด็กเข้าถึงการศึกษาแล้ว รัฐบาลได้อนุมัติงบกว่า 2 หมื่นล้านบาท ให้เด็กคนละ 2,000 บาท เพื่อเยียวยา มีการนำเด็กที่หลุดจากระบบเข้าสู่การศึกษาในโครงการพาน้องกลับมาเรียน ทำงานร่วมกับ 8 กระทรวง ตามหาตัวเด็กได้มากกว่า 95,000 คน ให้สถาบันอาชีวะกว่า 88 แห่งทั่วประเทศ รองรับดูแล สร้างอาชีพจนถึงจบ ปวช. อีกเรื่องคือทำให้โรงเรียนปลอดภัยสำหรับเด็กในบริบทที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงที่มีหลากหลายมิติ วันนี้เรามีแพลตฟอร์ม Moe Safety Center ทั้ง แอปพลิเคชัน ทางไลน์ ทาง Call Center ถ้าได้รับแจ้งเร็วก็จะแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

"สิ่งที่จะเดินหน้าต่อคือ พัฒนาเด็กสู่ศตวรรษที่ 21 การทำงานเป็นทีมเวิร์ค digital literacy เรียนรู้เลือกรับรู้ข่าวสารเป็นและนำมาใช้เป็น เอาข้อมูลกับองค์ความรู้ในโรงเรียนมาผนวกแล้วเอามาปรับใช้กับการทำงานในการใช้ชีวิตของเขาในการคิดวิเคราะห์เป็นคือสิ่งที่สำคัญ รวมถึงเรื่องภาษา ปฏิสัมพันธ์กับสังคม และ Active Learning" น.ส.ตรีนุชกล่าว

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า คนมองว่ารัฐบาลนี้เป็นเผด็จการ แต่รัฐบาลนี้มีการบูรณาการการทำงานกันมากที่สุด ซึ่งแต่ละกระทรวงทำงานหน่วยงานเดียวไม่ได้ ต้องทำร่วมกันถึงสำเร็จ อย่างไทยเทียบกับมหาอำนาจของโลก ทั้งการแพทย์ วิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ และกองทัพ เทียบไม่ได้เลย แต่โควิดที่ผ่านมา 2 ปีกว่า ประเทศมหาอำนาจมีผู้เสียชีวิตจากโควิดกว่า 1 ล้านคน ไทยอยู่หลักหมื่นเท่านั้น แม้เราไม่มีโรงงานผลิตยาเหมือนเขา แต่ทำไมเราติดเชื้อน้อยกว่า ต้องบอกว่าเป็นการบูรณาการทำงาน

"บิลเกตระบุว่าการจัดการภาวะระบาดใหญ่ ต้องมี 5 องค์ประกอบ คือ 1.มีการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ 2.มีการวิจัย 3. มีโรงงานผลิตวัคซีนเอง 4.ทหารช่วยสร้าง รพ.สนามและขนส่ง และ 5.การดูแลอย่างดี ประเทศไทยก็ไม่ต่างกันวันนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 9 ที่เรามีโรงงานผลิตวัคซีน มีทางการแพทย์ที่เข้มแข็งและครอบคลุมทั่วถึง รัฐบาลได้เพิ่มแพทย์พยาบาลให้หลายหมื่นอัตราเพื่อดูแลคนไทยทั้งประเทศ อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ไปดูถึงทุกหลังคาบ้าน นี่คือสาเหตุที่ว่าทำไมบูรณาการกันแล้วจึงเกิดผลสำเร็จ" นายจุติกล่าว

ด้าน น.ส.อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กล่าวว่า โควิดเข้ามาเปลี่ยนระบบราชการอย่างมาก ซึ่งช่วงแรกโควิด การบริการภาครัฐสะดุด โดยเฉพาะหน่วยงานราชการที่ไม่มี e-service หรือดิจิทัลเซอร์วิส โดยปี 2563 มีเพียง 200 กว่าหน่วยงาน จึงพยายามเร่งขับเคลื่อนให้เกิดมากขึ้น บริการประชาชนสะดวก ไม่ติดขัด อย่างการประชุมคณะกรรมการต่างๆ ที่หากไม่มีการอนุมัติก็กระทบต่อประชาชน เราก็ปลดล็อกออก พ.ร.ก.วิธีการประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้หน่วยงานราชการประชุมได้ เพื่ออนุมัติต่างๆ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นสิ่งที่สะท้อนว่ารัฐบาลที่เข้าอกเข้าใจประชาชน

"ภาครัฐโดนกล่าวหาเยอะว่าทำงานอยู่ใน Comfort Zone แต่เมื่อโควิดมาทำให้การทำงานภาครัฐเปลี่ยนแปลง มีการบูรณาการ นอกจากรัฐด้วยกัน ยังทำร่วมภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งการแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือโดยเฉพาะประชาชน เพราะไม่ว่าออกมาตรการขนาดไหน หากเขาไม่ใส่หน้ากาก ไม่ล้างมือและไม่เชื่อ ก็จะไม่เกิดขึ้น หากไม่ยอมมาฉีดวัคซีนเราก็ไม่สามารถผ่านมาได้" น.ส.อ้อนฟ้ากล่าว

น ส.อ้อนฟ้ากล่าวว่า การทำงานภาครัฐต้องเปลี่ยน 3 อย่าง คือ 1. Digital service 2.การทำ Open and Connection Government คือ เปิดกว้าง รัยฟัง และเชื่อมต่อไปยังทุกภาคส่วน ซึ่งโควิดพิสูจน์แล้วว่าโมเดลนี้สำเร็จ และ 3.การเป็น Data Government จะใช้ข้อมูลตัดสินใจ เหมือน ศบค.ที่ใล้ข้อทูลมาตัดสินใจมาตรการต่างๆ 3 ตัวนี้คือเทรนสำคัญที่จะเปลี่ยนโฉมการทำงานของราชการ เป็นที่มาของการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบราชการไทยใหม่ 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การให้บริการประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต้องตอบโจทย์ประชาชน ตอบโจทย์ตรงประเด็น ต้องสะดวกรวดเร็ว ทั่วถึงและเป็นธรรมหมายต่อทุกกลุ่มเพศสภาพ วัย อาชีพ ศาสนา 2. การทำให้ระบบราชการมีความคล่องตัวและปรับตัวทัน และ 3.การพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐให้ดีขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น