xs
xsm
sm
md
lg

AWS ไม่หวั่นศึกซิเคียวริตีระอุ วางเป้าปี 65 ขยายยูสเคสคลาวด์ไทยใช้งานหลากหลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอเนอร์ แมคนามารา
Edited - อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (AWS) ปฏิเสธไม่ให้ความเห็นกรณีคู่แข่งอย่าง กูเกิลคลาวด์ (Google Cloud) ประกาศซื้อกิจการครั้งใหญ่เพื่อเสริมแกร่งไซเบอร์ซิเคียวริตีแบบก้าวกระโดด มั่นใจมีบริการด้านความปลอดภัยไซเบอร์แข็งแกร่งเพียงพอตอบโจทย์ลูกค้าคลาวด์ วางเป้าปี 65 หวังได้เห็นการใช้งานบริการคลาวด์ของ AWS ในไทยที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะบริการใหม่อย่างอะเมซอนคอนเนค (Amazon Connect) ที่หวังให้ถูกนำไปใช้มากขึ้น นำไปสู่การประหยัดต้นทุนยิ่งขึ้น รวมถึงการขยายฐานพันธมิตรแบบต่อเนื่อง

นายคอเนอร์ แมคนามารา กรรมการผู้จัดการภาคพื้นอาเซียน อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส กล่าวย้ำถึงความเชื่อมั่นในบริการด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่แข็งแกร่งเพียงพอตอบโจทย์ลูกค้าคลาวด์ในปี 2565 ว่า AWS ให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์เป็นอันดับหนึ่ง และจะให้บริการไม่ได้ถ้าไม่มีไซเบอร์ซิเคียวริตีที่แข็งแกร่ง โดยระบบของ AWS มีการเข้ารหัสที่ฝังแน่นมาตั้งแต่เริ่มต้นสร้างแพลตฟอร์ม และมีบริการเสริมด้านความปลอดภัยที่หลากหลายและเท่าเทียมในทุกจุดใช้บริการ ขณะเดียวกัน มีการฝึกอบรมเพื่อการใช้งานที่ถูกต้องในทุก 26 รีเจียนที่เปิดให้บริการทั่วโลก รวมถึงการลงทุนที่ต่อเนื่องในตลาดไทยซึ่งเป็นประเทศที่สำคัญต่อธุรกิจ AWS อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่สามารถให้ความเห็นกรณีที่กูเกิล (Google) ประกาศเทเงิน 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 180,740 ล้านบาท เพื่อซื้อบริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ชื่อ “แมนเดียนต์” (Mandiant) ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อธุรกิจของ AWS ในตลาดคลาวด์ไทยหรือภูมิภาค

“เราเน้นพัฒนาบริการที่ลูกค้าอยากได้ สิ่งที่ AWS ทำคือการสร้างพันธมิตรที่ตอบโจทย์ได้ในทุกด้านรวมถึงซิเคียวริตี เราทำมาร์เกตเพลส ที่ขายโซลูชันและบริการด้านซิเคียวริตีที่หลากหลายมาก และบนนั้นมีบริษัทไทยรวมอยู่ด้วย ซิเคียวริตีเป็นสิ่งที่ทุกคนได้รับผลกระทบกันหมด AWS Marketplace จะทำให้ AWS แตกต่างและสามารถรับมือได้ โดยที่ลูกค้าได้รับบริการที่ครอบคลุมที่สุด มีบริการให้คำปรึกษาลูกค้าที่ไม่ชาร์จเงินเพิ่ม มีผู้เชี่ยวชาญซิเคียวริตีรองรับจากภายใน”

AWS นั้นตกเป็นเป้าสายตาว่าจะต้องปรับการลงทุนด้านซิเคียวริตีเพื่อรับมือ Google Cloud ซึ่งจะมีเขี้ยวเล็บด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์จากดีลที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์การซื้อกิจการของ Google โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่าตลาดคลาวด์จะมีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนจากการตกลงซื้อบริษัท Mandiant ซึ่งอาจทำให้ Google Cloud แข่งขันได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งทุกรายในตลาด

“เราเชื่อมั่นและมองว่าในไทยเป็นประเทศที่สำคัญของธุรกิจ AWS เราเปิดบริการใหม่เช่น Amazon Connect ที่ไทยโดยไม่ได้เปิดบริการในที่อื่น รวมถึงบริการ AWS Local Zone และ AWS Outposts การมีเซอร์วิสพวกนี้เป็นพันธสัญญาในตลาดไทย นอกจากนี้ พาร์ตเนอร์ก็เป็นส่วนที่สำคัญและได้ลงทุนเพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในระดับเดียวกับ AWS รวมถึงมีการสร้างทีมโลคัลใน AWS เองด้วยการให้ความรู้ด้านเทคนิค และมีการฝึกอบรมเพื่อทำให้ทุกคนในสังคมเข้าถึงคลาวด์ได้อย่างปลอดภัย”

สำหรับ Amazon Connect, AWS Local Zone และ AWS Outposts นั้นเป็น 3 บริการใหม่ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายตลาดไทยในปีนี้ โดย Amazon Connect เป็นบริการระบบคอลเซ็นเตอร์บนคลาวด์ที่ AWS ย้ำว่าสามารถลดค่าโทร ออกขององค์กรได้สูงสุด 80% ขณะที่ AWS Local Zone เป็นบริการที่ตอบโจทย์องค์กรซึ่งต้องการลดความหน่วงในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ปลายทางกับคลาวด์ให้เร็วขึ้นจนเหลือไม่เกิน 10 มิลลิวินาที และ AWS Outposts เป็นกลุ่มโซลูชันที่ส่งมอบโครงสร้างพื้นฐานและบริการของ AWS ไปยังตำแหน่งที่ตั้งในองค์กร ช่วยให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ไฮบริดที่สอดคล้องกันอย่างแท้จริง เบื้องต้นผู้บริหารวางความคาดหวังว่าในปี 65 บริษัทจะสามารถผลักดันการใช้งานคลาวด์ในตลาดไทยได้หลากหลายขึ้นผ่านทั้ง 3 ส่วนบริการนี้

สิ่งที่ AWS คาดหวังว่าจะได้เห็นในปีที่ 7 ของการทำตลาดไทย คือการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น และการพัฒนาอีโคซิสเต็มในทุกด้าน
ปี 2565 จะถือเป็นปีที่ 7 ของธุรกิจ AWS ในประเทศไทย ผู้บริหารมองว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ เนื่องจากการสำรวจพบว่าการลงทุนของธุรกิจทั่วโลกเพียง 5% เท่านั้นที่เป็นการลงทุนด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง เมื่อในขณะนี้เป็นช่วงเริ่มต้น AWS จึงเร่งดำเนินการหลายด้านเพื่อตอบปรัชญาบริษัทเรื่องการทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด โดยสิ่งที่คาดหวังว่าจะได้เห็นในปีที่ 7 ของ AWS ตลาดไทยคือการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น และการพัฒนาอีโคซิสเต็มในทุกด้าน

“เราอยากเห็นองค์กรไทยเอาเซอร์วิสใหม่ของ AWS ไปใช้มากขึ้น เช่น การเอา Connect ไปใช้มากขึ้น หรือเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่จะทำให้สามารถสร้างบริการใหม่ได้มากขึ้น เราอยากเห็นการประหยัดต้นทุนมากขึ้น นอกจากนี้ คือการขยายพันธมิตร เนื่องจากขณะนี้มีลูกค้าจำนวนมากที่อยากใช้ AWS แต่ยังขาดทักษะ ในช่วงหลายปีจากนี้ เราต้องการพัฒนาทักษะหลายด้าน และอบรมเพื่อการสร้างงานที่กว้างขึ้น โดยไม่จำกัดแค่คนกลุ่มเดียว เราทำโครงการให้ครูนำความรู้ไปสอนต่อ ช่วยให้คนตกงานกลับมามีงาน ซึ่งไม่เพียงแค่ฝั่งดีมานด์ เราจะลงทุนให้ประชาชนไทยทุกเจเนอเรชันมีทักษะด้านคลาวด์”

สำหรับช่วงโควิด ผู้บริหารชี้ว่าเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่พบในลูกค้าคลาวด์ไทยคือความต้องการพัฒนาบริการให้เกิดขึ้นได้เร็ว ขณะเดียวกัน AWS พบว่าลูกค้าไทยใช้คลาวด์เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้ธุรกิจ โดยเฉพาะการ “ใช้เท่าไหร่ จ่ายเท่านั้น” เทรนด์ที่ 3 คือความต้องการขยายบริการให้ทั่วถึงในช่วงการระบาด โดยเฉพาะระบบเทเลเมดิซีน ซึ่งเป็นเซกเมนต์ที่มีฐานผู้ใช้และทรานเซกชันเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในช่วงการระบาด รวมถึงระบบเรียนออนไลน์ที่ต้องการความสามารถในการขยายและลดขนาดได้เร็ว

นอกจากนี้ องค์กรไทยยังให้ความสำคัญกับการพิจารณาความสามารถในการรองรับเทคโนโลยีอนาคตมากขึ้น รวมถึงการเอาต์ซอร์สงานที่ซับซ้อนออกไปให้พันธมิตรผู้เชี่ยวชาญ ยังมีความต้องการรู้จักลูกค้าให้ดีขึ้นเพื่อให้สามารถพัฒนาธุรกิจและทำรายได้มากขึ้น และการทำดาต้าเลคซึ่งเป็นเทรนด์แรงในหลายธุรกิจทั่วอาเซียน

ปัจจุบัน ฐานลูกค้าไทยของ AWS ประกอบด้วยกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ เอ็สเอ็มบี สตาร์ทอัป และหน่วยงานภาครัฐ ขณะที่ในตลาดโลก AWS ถือเป็นผู้นำที่มีกลุ่มผู้ใช้งานมากที่สุด ปัจจัยสนับสนุนหลักคือการเป็นผู้บุกเบิกที่เริ่มต้นธุรกิจคลาวด์ตั้งแต่ปี 2006 ก่อนเจ้าอื่น ซึ่งทำให้มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญและน่าเชื่อถือ รวมถึงการมีอินฟราที่ใหญ่ที่สุด โดย 1 รีเจียนจะสามารถรองรับได้หลายโซน และใน 1 โซนจะมีดาต้าเซ็นเตอร์จำนวนมาก ทำให้หากมีเหตุไฟดับ เซอร์วิสของ AWS จะไม่ล่มหรือดาวน์ลง

นอกจากนี้ AWS เชื่อว่าตัวเองมีบริการย่อยที่กว้างและลึกที่สุดหลายร้อยบริการ บริการเหล่านี้เพิ่มขึ้นทุกวัน เกิดขึ้นจากการรับฟังความต้องการของลูกค้า ทั้งในแง่การเก็บข้อมูล การจัดการฐานข้อมูล เป็นบริการที่แตกต่างและหลากหลาย ขณะเดียวกันช่วยให้ลูกค้าประหยัดต้นทุน โดยยืนยันว่าไม่เคยขึ้นราคา มีแต่ลดราคา และได้ลดราคาลงมากกว่า 100 ครั้งในปีที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น