อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services) ประกาศนับถอยหลังพาบริการ “เอดับลิวเอส โลคัล โซน” (AWS Local Zone) มายังกรุงเทพมหานคร ระบุเป็นการลงทุนเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์แบบกายภาพที่ครบเซ็ตทั้งหน่วยเก็บข้อมูล เครือข่าย และองค์กรประกอบอื่นเพื่อลดความหน่วงในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ปลายทางกับคลาวด์ให้เร็วขึ้นเหลือไม่เกิน 10 มิลลิวินาที ระบุพร้อมให้บริการแบบเฉพาะในกรุงเทพฯ ในอีก 2 ปีข้างหน้า เปิดรายชื่อลูกค้าเบอร์ใหญ่ของไทยที่ต่อคิวใช้บริการคึกคักทั้งบิทคับ โออาร์ เซ็ทเทรด และที่แน่นอนคือ เน็ตฟลิกซ์ ที่จะได้ประโยชน์หลังจากต้องเสียค่าใช้จ่ายและพยายามหาทางอัปเกรดโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้แอปไม่กระตุกมานานหลายปี
ดีน ซามูเอล (Dean Samuels) หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของ AWS ให้ข้อมูลว่าการเปิดบริการ AWS Local Zone ในไทยเกิดขึ้นเพราะการรับรู้ความต้องการขององค์กรที่จำเป็นต้องเชื่อมต่อคลาวด์ด้วยความเร็วที่มากขึ้น ขณะเดียวกัน การใช้งานคลาวด์ในไทยยังมีหลายรูปแบบ ทำให้เห็นการขยับงาน (เวิร์กโหลด) บนคลาวด์ที่หลากหลายตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อรองรับความต้องการและสนับสนุนบริการนวัตกรรมทั้ง 5G แมชชีนเลิร์นนิ่ง ดาต้าอะแนลไลซิส รวมถึงเทคโนโลยีอื่นให้ทั่วถึงกว่าเดิม โดยบริการนี้จะเป็นการลงทุนตั้งศูนย์ข้อมูลในไทยแบบกายภาพครบเซ็ตเช่นเดียวกับ 32 เมืองที่วางแผนเปิดให้บริการเพิ่มภายในปี 2567
“เป็นแผนการเปิดดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยแบบกายภาพ ครบทั้งระบบประมวลผล พื้นที่จัดเก็บข้อมูล และทุกอย่าง การทำงานของศูนย์นี้จะเชื่อมโยงกับรีเจียน เป็นการทำงานร่วมกันกับโลคัลโซน และรีเจียน”
รีเจียน หรือ AWS Region นั้นเป็นตำแหน่งที่ตั้งศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์สำหรับให้บริการคลาวด์ขนาดใหญ่ที่ AWS กำหนดขึ้นมาแบบกระจาย 26 จุดทั่วโลก AWS Region ที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุดคือ รีเจียนสิงคโปร์ แม้จะมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนรีเจียนให้มากขี้นอีกในอนาคต แต่ AWS เสริมด้วยบริการ AWS Local Zones ซึ่งเป็นเหมือนศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดย่อมกว่าเพื่อทำงานร่วมกับรีเจียน ปัจจุบัน Local Zone เปิดให้บริการ 16 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา และกำลังจะเพิ่มอีก 32 แห่ง ที่มีแผนจะเปิดตัวใน 25 ประเทศทั่วโลกในช่วง 2 ปีจากนี้
นัยสำคัญของการเปิดโซนใหม่ AWS Local Zone คือ Amazon Web Services กำลังลงทุนเพื่อต่อยอดบริการด้านการเชื่อมต่อของอุปกรณ์เอดจ์ (Edge) กับคลาวด์ ที่มีให้บริการในประเทศไทยก่อนหน้านี้ ซึ่งได้แก่ Amazon Cloudfront และ AWS Outposts โดย AWS Local Zone แห่งใหม่ในกรุงเทพฯ จะเป็นประเภทของการบริการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่นำการประมวลผล จัดเก็บข้อมูล ดาต้าเบส และบริการอื่นๆ ของ AWS ที่ประมวลผลบนคลาวด์มาไว้ใกล้กับต้นทางข้อมูลมากยิ่งขึ้น เพื่อให้บริการใกล้กับประชากร ภาคอุตสาหกรรม และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศขนาดใหญ่ต่างๆ ทำให้สามารถมอบความเร็วของการรับและส่งกลับของข้อมูลจากต้นทางไปยังปลายทาง (latency) ในหลักหน่วยของมิลลิวินาที (single-digit millisecond)
ผลจากบริการนี้ องค์กรที่เป็นลูกค้า AWS จะ สามารถติดตั้งใช้งานแอปพลิเคชันที่ต้องการความเร็วในการเชื่อมต่อจากผู้ใช้ปลายทางหรือศูนย์ข้อมูลแบบออนพริม (on-premises) ไปยังคลาวด์โดยมี latency เป็นมิลลิวินาทีแบบเลขหลักเดียว องค์กรสามารถใช้บริการหลักของ AWS ได้ในพื้นที่ต่างๆ ในขณะที่ยังเชื่อมต่อกับงาน (workloads) ส่วนอื่นๆ ที่เรียกใช้อยู่ใน AWS Regions ได้ราบรื่น สามารถปรับขนาดตามความต้องการ คิดราคาตามการใช้งาน (pay-as-you-go) มีส่วนต่อประสานโปรแกรมประยุกต์ (application programming interfaces : API) และชุดเครื่องมือต่างๆ บนคลาวด์ได้
AWS Local Zone จะโฟกัสลูกค้าที่มีความต้องการ latency ที่ต่ำมาก โดยเฉพาะองค์กรที่ต้องการให้โครงสร้างพื้นฐานของ AWS ใกล้กับผู้ใช้ปลายทาง หรือศูนย์ข้อมูลแบบ on-premises ยิ่งขึ้นเพื่อรองรับประสบการณ์ที่ราบรื่น กลุ่มเป้าหมายของบริการ AWS Local Zones คือผู้สร้างแอปพลิเคชันเกมที่เล่นแบบเรียลไทม์จากระยะไกล ผู้สร้างคอนเทนต์สื่อและความบันเทิง บริษัทสตรีมถ่ายทอดสด ผู้ให้บริการเทคโนโลยีเสมือนจริง Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) การแปลผลแมชชีนเลิร์นนิง (Machine Learning : ML) ที่ Edge และอีกหลายบริษัทที่ต้องการความเร็วในหลักหน่วยของมิลลิวินาที (single-digit millisecond) แก่ผู้ใช้ปลายทาง
“หมายความว่าลูกค้าในประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายและความพยายามในการจัดซื้อ ดำเนินการ ตลอดจนบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับแอปพลิเคชันที่มี latency ต่ำ นอกจากนี้ AWS Local Zones ยังช่วยให้ลูกค้าที่ต้องการเก็บข้อมูลอยู่ในประเทศไทยสามารถใช้งานแบบไฮบริดโดยเรียกใช้แอปพลิเคชันบางส่วนในศูนย์ข้อมูลแบบ on-premises และเชื่อมต่อกับคลาวด์ของ AWS ได้อย่างราบรื่น โดยมี latency ที่ต่ำมากๆ และยังสามารถใช้บริการ APIs และเครื่องมือของ AWS บนคลาวด์ที่คุ้นเคยได้อย่างราบรื่น ลูกค้าสามารถเชื่อมต่อกับ AWS Local Zones ผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหรือใช้ AWS Direct Connect ซึ่งเป็นบริการบนคลาวด์ที่เชื่อมระหว่างเครือข่ายขององค์กรถึง AWS โดยตรง เพื่อมอบประสิทธิภาพที่ทั้งมั่นคงสม่ำเสมอ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพของการได้รับ latency ที่ต่ำ โดยการเชื่อมโยงเส้นทางการรับส่งข้อมูลที่เป็นเครือข่าย AWS เฉพาะส่วนตัว (private network)” AWS ระบุ
รายชื่อบริษัทไทยที่อาจเป็นลูกค้ากลุ่มแรกของ AWS Local Zone คือ Bitkub.com แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของประเทศไทย ที่มีลูกค้ากว่า 1.7 ล้านราย ยังมีบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTT OR ในเครือ ปตท. และบริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด บริษัทในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่เตรียมขยับขยายเพื่อรองรับแอปพลิเคชันซื้อขายหลักทรัพย์บนมือถืออย่าง Settrade Streaming ที่ปัจจุบันมีฐานผู้ใช้บริการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นกว่า 80% มาตั้งแต่ปี 2562
ในส่วนองค์กรต่างชาติ บริษัทที่ถูกจับตาว่าจะได้ประโยชน์จาก Local Zone อย่างโดดเด่นคือ Netflix โดยบริษัทสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ต้องการให้บริการสมาชิก 214 ล้านรายใน 190 ประเทศ ดังนั้น AWS Local Zones จึงนำความสามารถของระบบคลาวด์เข้ามาใกล้ผู้ใช้มากขึ้น ช่วยยกระดับประสบการณ์สำหรับศิลปินที่ทำงานจากสถานที่ห่างไกลได้ด้วย
นอกจากกรุงเทพฯ AWS Local Zones จะเปิดให้บริการเพิ่มรวม 6 ประเทศเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งไม่มีการให้รายละเอียดกำหนดการให้บริการอย่างเป็นทางการ โดยวางกรอบเวลาไว้ภายใน 2 ปีจากนี้เหมือนกันทุกประเทศ