xs
xsm
sm
md
lg

เปิดวิสัยทัศน์ "ผยง ศรีวณิช" นำพาองค์กรฝ่าวิกฤต รับ Digital Economy สู่เติบโตยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในงานสัมมนา iBusiness forum หัวข้อ “2022 Next economic chapter. New opportunities and challenges ก้าวต่อไปเศรษฐกิจไทย 2565 โอกาสและความท้าทายใหม่” ว่า ในปี 2565 นั้น เศรษฐกิจของเรากำลังเข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น หลังจากต้องเผชิญกับ Perfect storm มาแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยที่ประชุมร่วมคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้คาดการณ์ว่าปี 2565 นี้ GDP ของประเทศไทยจะขยายตัวได้มากขึ้นที่ 3.0-4.5% (เทียบกับปี 2564 ที่ 0.5-1.5%) แต่ยังคงมีช่องว่างเมื่อเทียบกับภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่หลายฝ่าย เช่น IMF, World Bank, OECD ต่างประเมินว่าจะขยายตัวได้ที่ 4.0-5.0% ในขณะเดียวกัน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีอัตราการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันในแต่ละภาคส่วน (K-shaped recovery) และยังมีความเปราะบางสูง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และกำลังซื้อของครัวเรือนที่ถูกกดดันจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นรวดเร็วจากผลกระทบของ COVID-19 ปีนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เราต้องเร่งใช้โอกาสจาก Growth Driver ใหม่ๆ และกระแส Mega Trends ของโลก เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง บนแนวคิดของการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

ทั้งนี้ เมื่อมองภาพอนาคตไปข้างหน้า ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการเงินต่างเห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญของ New Growth Driver ที่จะมาเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งในระยะต่อจากนี้ โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่เข้าไปเปลี่ยนโฉมหน้ากระบวนการดำเนินธุรกิจ ปฏิรูปการทำงานในวงกว้างกำลังเข้มข้นมากขึ้น รวมถึงกระแส Net Zero Emission เป็น Agenda อันดับต้นของโลก ซึ่งประเทศไทยได้ตื่นตัวและนำมาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐกิจ Bio-circular-green economy เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงการให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน ตามกรอบแนวคิด ESG ซึ่งจะเป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้แก่ธุรกิจรายย่อย เพื่อให้ภาคธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสในการเติบโตได้อย่างมั่นคง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวท่ามกลางความเปราะบางจากร่องรอยที่วิกฤตโควิด-19 ได้ทิ้งไว้ เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือน และความเหลื่อมล้ำที่ถูกเผยให้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

โดย Mega Trends ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงนี้จะเป็นตัวที่กำหนดทิศทางของทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคการเงินในการปรับตัวสู่ NEXT Economy ของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะ Technology Disruption ที่ทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่ในกลุ่มนอน แบงก์ ที่มีศักยภาพและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่อุตสาหกรรมการเงินมากขึ้น ก่อเกิดนวัตกรรมการเงินที่หลากหลายที่จะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ โดยจากรายงาน FinTech in ASEAN 2021 พบว่าในปี 2564 นั้น ประเทศไทย มี FinTech Firms จำนวน 268 บริษัท เพิ่มขึ้นจาก 177 แห่งในปี 2560 และสถาบันการเงินในไทยมีความตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีทางการเงินมาปรับปรุงวิธีการดำเนินงานและรูปแบบธุรกิจของตัวเอง เพื่อให้แข่งขันได้ในบริบทที่คนไทยเข้าสู่ยุคของ Digital Finance อย่างเข้มข้น ดังจะเห็นได้จากการทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน Mobile banking ที่คาดว่ามีปริมาณสูงถึง 15,000 ล้านธุรกรรมในปี 2564 เติบโตขึ้นจากในปี 2560 ที่มีเพียง 1,300 ล้านธุรกรรม เช่นเดียวกับการทำธุรกรรมผ่านระบบ Prompt Pay ที่มีจำนวนธุรกรรมสูงถึง 9,400 ล้านธุรกรรม เติบโตขึ้น 10 เท่าจากปี 2560

ในอีกด้านหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้จะมาพร้อมกับรูปแบบความเสี่ยงใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในโลกการเงิน และอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญแก่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน เช่น ปัญหาความเสี่ยงด้าน Cyber Attack และการโจรกรรมข้อมูล ซึ่ง Cyber Security Ventures ได้ประมาณการว่าในปี 2025 จะมีการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลกเนื่องจากการโจรกรรมทางไซเบอร์กว่า 10.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี สูงขึ้นจากเดิมที่ระดับ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2015 รวมถึงปัญหาด้านเสถียรภาพของระบบเทคโนโลยี ปัญหาด้านการเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (financial exclusion) ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีที่ไม่เพียงพอ การขาดความรู้ความเข้าใจด้านการเงินและดิจิทัล ความเสี่ยงที่ประชาชนผู้ใช้บริการทางการเงินต้องเผชิญ เนื่องจากผู้รับบริการอาจขาดความเข้าใจและความคุ้นชินกับรูปแบบผลิตภัณฑ์และการให้บริการทางการเงินใหม่ๆ และประการสุดท้าย คือ ปัญหาด้านช่องว่างของกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่อาจไม่เท่าทันพัฒนาการของเทคโนโลยีทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

**เผยโรดแมป 4 ธีมรับ Digital Economy**
นายผยง กล่าวอีกว่า จากภูมิทัศน์ภาคการเงินไทยที่กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าไปในเร็ววันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ของภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การส่งเสริมภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล ภายใต้หลักการ 3 Open ได้แก่ Open Competition, Open Infrastructure และ Open Data อย่างไรก็ตาม การเปิดกว้างด้านการแข่งขันที่มากขึ้นจะต้องคำนึงถึงหลักการกำกับดูแลตามระดับความเสี่ยงและมีความเท่าเทียมกันทั้งกับผู้เล่นเดิมและผู้เล่นหน้าใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดหรือการใช้อำนาจตลาดอย่างไม่เป็นธรรม จนอาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงินและผู้บริโภคในวงกว้าง พร้อมกันนั้น แนวทางภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่จะเน้นการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่โลกการเงินใหม่อย่างยั่งยืน ทั้งภาคการเงินและภาคครัวเรือน รวมถึงการปรับรูปแบบกำกับดูแลที่คำนึงถึงสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรม และการกำกับดูแลความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน โดยจำเป็นต้องทบทวนกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อลดภาระหรือต้นทุนการกำกับดูแลของผู้ให้บริการทั้งรายเดิมและรายใหม่ และเอื้อให้ผู้ให้บริการสามารถปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและมีความเสมอภาค ขณะที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและดิจิทัลเพื่อพัฒนาการให้บริการภายใต้บริบทการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวดีขึ้น ตลอดจนโอกาสและความท้าทายจากบริบทใหม่ๆ ใน New normal การปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และให้สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ท่ามกลางความเปราะบางจากร่องรอยของวิกฤตโควิด-19 และคลื่นการทำลายล้างของแห่งเทคโนโลยี ที่ยังคงถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนกลยุทธ์การดำเนินของภาคธุรกิจ สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก จึงได้ร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์และวาง Roadmap ในระยะ 3 ปีข้างหน้า ด้วยการมุ่งส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพและความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน ตลอดจนยกระดับการแข่งขันของประเทศไทยทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ใน 4 Themes ได้แก่ 1) การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 2) การเป็นผู้นำการให้บริการทางการเงินในภูมิภาค CLMV & AEC + 3) การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และ 4) การให้ความสำคัญด้านทรัพยากรมนุษย์

ธีมแรก คือ “การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” ซึ่งหมายถึงการเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะยกระดับขีดความสามารถการดำเนินธุรกิจให้ภาคธุรกิจในระยะถัดไป สอดคล้องกับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทยในระยะข้างหน้าที่กำลังจะถูกพลิกโฉมหน้าเพื่อช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2021 ในรายงาน World Digital Competitiveness Ranking โดยสถาบัน IMD ได้จัดสถานะความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 38 จากทั้งหมด 64 ประเทศทั่วโลก ซึ่งยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียที่อยู่ในอันดับที่ 5 และ 27 ตามลำดับ โดยยังมีปัจจัยหลายด้านที่ประเทศไทยควรต้องเร่งมือพัฒนาเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เช่น การใช้ Big Data and Analytics ในภาคธุรกิจ (อันดับที่ 29) การเริ่มต้นธุรกิจ (Starting a Business) (อันดับที่ 27) และการรับมือกับความเสี่ยงด้าน Cyber Security (อันดับที่ 29) ซึ่งประเทศไทยควรเร่งพัฒนามิติเหล่านี้เพื่อสร้างความพร้อมและความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น

เพื่อตอบโจทย์รองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่กล่าวไว้ข้างต้น ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ได้ร่วมมือกันพัฒนาและขับเคลื่อนมาตรการหลายด้านเพื่อเร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาอำนวยความสะดวกด้านธุรกรรมทางการเงินให้แก่ภาคธุรกิจและภาคประชาชน ตั้งแต่ระดับนโยบาย จนถึงมาตรการในทางปฏิบัติ โดยในระดับนโยบายนั้น ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดทำภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย เพื่อนำไปสู่การเปิดโอกาสให้ภาคการเงินสามารถใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการผ่านแนวนโยบายสำคัญหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้จัดตั้ง Virtual Bank เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านนวัตกรรมและบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ การพัฒนากลไกค้ำประกันเครดิตสำหรับความต้องการเงินทุนที่หลากหลาย การขยายให้กลุ่ม Non-Bank สามารถทำธุรกิจได้หลากหลายขึ้น รวมถึงการเร่งลดการใช้เงินสดและลดการใช้กระดาษ เป็นต้น

สำหรับมาตรการในภาคปฏิบัตินั้น ที่ผ่านมา สมาคมธนาคารไทย ธนาคารสมาชิก และธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันผลักดันโครงการ “Smart Financial and Payment Infrastructure” ซึ่งเป็นการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานของภาคการเงินและภาคธุรกิจของประเทศ โดยใช้มาตรฐาน ISO 20022 เพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดความซ้ำซ้อนและเชื่อมโยงข้อมูลอย่างครบวงจร ช่วยลดต้นทุน และยกระดับการบริหารความเสี่ยงทั้งของธนาคารและภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ขณะนี้กำลังมีการผลักดันระบบอำนวยความสะดวกด้านการคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยผู้ประกอบการสามารถส่งข้อมูล e-tax invoice และ e-tax receipt ผ่านธนาคาร ทำให้กรมสรรพากรมีข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งจะนำไปสู่การพิจารณาคืนภาษีที่รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันผลักดันเพื่อส่งเสริมระบบการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัลที่เปิดกว้างมากขึ้น เช่น ผลักดันการใช้ National Digital ID (NDID) และระบบ e-Signature ในหลากหลายภาคส่วน และจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคล และความเสี่ยงทางไซเบอร์ (Cyber Risk) อย่างเข้มข้นด้วย

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ยังมุ่งมั่นผลักดันการวางกรอบแนวทางและโครงสร้างต่างๆ ที่สนับสนุนระบบ “Open Banking” ซึ่งเป็นการอาศัยเทคโนโลยี API มาใช้เพื่อแชร์ข้อมูลร่วมกันมากขึ้น โดยล่าสุดได้ร่วมกันเปิดตัวการให้บริการ d-Statement ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่ต้องการใช้ข้อมูล bank statement สามารถขอให้ธนาคารที่มีบัญชีเงินฝากส่งข้อมูล bank statement ไปยังธนาคารแห่งอื่นได้โดยตรง ผ่านช่องทาง mobile banking application หรือช่องทางอื่นตามที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งกำหนด ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกในการใช้บริการทางการเงินยิ่งขึ้น โดยคาดว่าภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จะเริ่มให้บริการในธนาคารทั้งหมด 11 แห่ง

Theme ที่สอง คือ “การเป็นผู้นำการให้บริการทางการเงินในภูมิภาค” ซึ่งหมายถึงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ นักลงทุน และประชาชนสามารถทำกิจกรรมการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ และการชำระเงินของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคได้อย่างไหลลื่น รวดเร็ว ปลอดภัย และในต้นทุนต่ำ เพื่อรองรับธุรกรรมการเงินและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนที่เชื่อมโยงระหว่างกันสูงและมีแนวโน้มคึกคักมากขึ้น ตลอดจนเพื่อรองรับโอกาสใหม่ๆ ของภาคธุรกิจ จากการขยายตลาดสู่ภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ อาเซียนถือเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพเติบโต เช่น ตลาด CLMV หรือประเทศกัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม ที่เป็นฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ โดยมีจำนวนประชากรรวมกันไม่ต่ำกว่า 170 ล้านคน มีมูลค่า GDP ปี 2564 รวมกันกว่า 4.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และ IMF คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2565-2569 นี้ GDP จะขยายตัวสูงถึงปีละ 4-7% ซึ่งสูงกว่า GDP ของประเทศไทยที่คาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.5-5% พร้อมๆ กับพัฒนาการโครงสร้างพื้นฐานในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านคมนาคมอย่างโครงข่ายเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ CLMV กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักลงทุนต่างชาติ เช่น ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI สู่ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม รวมกัน 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น footprint ของภาคเอกชนไทยในภูมิภาคจะต้องเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับโอกาสดีๆ ในอนาคต สำหรับในภาคการเงินนั้นยังมีโอกาสในการเติบโตขึ้นอีกมาก สะท้อนจากการเข้าถึงบริการทางการเงินและการพึ่งพาระบบสถาบันการเงินที่ไม่สูงนัก เช่น สัดส่วนสินเชื่อของภาคเอกชนในประเทศต่อ GDP ในปี 2563 ของประเทศพม่า ที่ยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 27% ขณะที่กัมพูชาอยู่ที่ระดับ 140% เทียบกับประเทศไทยที่อยู่ที่ 160% และค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 148%

สมาคมธนาคารไทยจึงมี Roadmap ที่จะเดินหน้าสนับสนุนการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลระหว่างกันในภูมิภาค (Interoperability of cross-border digital utilities) เพื่อขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและสร้างความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนและขยายไปยังภูมิภาคอื่น หลังจากที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการพัฒนาระบบชำระเงินระหว่างประเทศแบบ Real time โดยใช้ QR Code กับ 6 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ลาว กัมพูชา สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ตามแผน ASEAN Payment Connectivity ซึ่งในระยะต่อไปจะเพิ่มจำนวนธนาคารและ Non-bank ที่ให้บริการมากขึ้น รวมทั้งจะขยายบริการโอนเงินระหว่างประเทศโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับแทนเลขที่บัญชีอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการสนับสนุนระบบสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือ CBDC เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงิน เป็นสกุลเงินดิจิทัลทางเลือกสำหรับประชาชนที่มีความปลอดภัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบเศรษฐกิจไทย และต่อยอดสู่การชำระเงินระหว่างประเทศ (Cross-border payment) ทั้งนี้ ธปท. คาดว่าจะเริ่มทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลในระดับประชาชน (Retail CBDC) ในวงจำกัด (pilot test) ประมาณปลายปี 2565 นี้ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนา CBDC ของนานาประเทศ ตามที่ IMF ให้ข้อมูลล่าสุดว่าขณะนี้มีธนาคารกลางกว่า 100 ประเทศ ที่อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและพัฒนา CBDC เช่น ประเทศจีนเดินหน้าทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัล โดยมี user ที่ใช้งานแล้วมากกว่า 100 ล้านคน คิดเป็นปริมาณธุรกรรมกว่า 1 พันล้านหยวน ขณะที่ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) ก็เพิ่งออกรายงานการศึกษาเกี่ยวกับ CBDC เมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีการระบุว่า “a CBDC could fundamentally change the structure of the U.S. financial system” หรือหมายถึงว่า CBDC จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมโครงสร้างระบบการเงินในสหรัฐฯ

Theme ที่สาม คือ “การสนับสนุนการดูแลสิ่งแวดล้อมและการเติบโตอย่างยั่งยืน” ซึ่งหมายถึงการดำเนินงานของธนาคารเอง และการมีส่วนผลักดันให้การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนคำนึงถึงหลักการ ESG หรือการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยเฉพาะมิติด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีงานวิจัยในต่างประเทศเผยว่าประเทศไทยติด 1 ใน 10 ของประเทศที่อาจเผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากที่สุดจากภาวะโลกร้อน ขณะที่ผลสำรวจผู้นำประเทศทั่วโลกต่อความเสี่ยงในอนาคต ล่าสุดในรายงาน Global Risks Report 2022 โดย World Economic Forum พบว่าความล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาสภาพอากาศ เป็นความเสี่ยงอันดับสูงสุดของโลกทั้งในระยะกลาง (2-5 ปีข้างหน้า) และระยะยาว (5-10 ปี) ท่ามกลางกระแสโลกที่หันมาจริงจังกับการแก้ปัญหา Climate change มากขึ้น โดยข้อมูลจาก World Economic Forum และ Boston Consulting Group ชี้ว่าในปี 2562 มีเพียง 29 ประเทศ ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกัน 10% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก ได้ประกาศให้คำมั่นสัญญาเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ net zero emission ขณะที่ข้อมูลล่าสุดในปัจจุบันพบว่ามีประเทศที่ประกาศเป้าหมายดังกล่าวมากถึง 92 ประเทศ ครอบคลุม 78% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ซึ่งหนึ่งในนั้น คือประเทศไทยที่ตั้งเป้าบรรลุ net zero emission ภายในปี 2608 ใกล้เคียงกับนานาประเทศ พร้อมทั้งชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ให้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในระยะ 5 ปีข้างหน้า

โดยทิศทางเหล่านี้เป็นได้ทั้งโอกาส เช่น โอกาสในธุรกิจใหม่ๆ อย่างพลังงานสะอาดและโปรตีนทางเลือก ขณะเดียวกัน อาจมาพร้อมกับความท้าทาย เช่น ภาคอุตสาหกรรมของไทยที่ยังใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมซึ่งไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น นโยบาย Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป เป็นต้น ดังนั้น สมาคมธนาคารไทยจึงต้องการจะมีส่วนในการผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ Green economy และ BCG economy อย่างเหมาะสม นอกจากนั้น ยังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการเร่งพัฒนาและนำแนวปฏิบัติด้านการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงจัดทำ ESG Declaration อย่างชัดเจนและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ สมาคมธนาคารไทยยังมุ่งมั่นที่จะร่วมกันแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน หลังจากวิกฤตโควิด-19 ซ้ำเติมให้ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP พุ่งสูงถึง 90% ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ยังไม่ได้รวมถึงหนี้นอกระบบ ที่ในระยะหลังมีแนวโน้มเติบโตสูง จากผลพวงของภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมภาคครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าภาวะการเป็นหนี้ของครัวเรือนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้นจาก 46.3% ในปี 2562 เป็น 52.7% ในปี 2564 ขณะที่จำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น สมาคมธนาคารไทยจึงให้ความสำคัญกับการช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ยกระดับมาตรการทั้งก่อน ขณะ และหลังเป็นหนี้ โดยจะสนับสนุนการจัดทำศูนย์กลางข้อมูลเครดิตให้สมบูรณ์ ด้วยการรวบรวมข้อมูลเครดิตจากหน่วยงานต่างๆ ทั้ง Bank, Non-bank และโดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มียอดหนี้ครัวเรือนมากถึงกว่า 2 ล้านล้านบาท หรือ 15% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด เพื่อที่จะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างเบ็ดเสร็จ ควบคู่กับการเดินหน้าให้ความรู้ทางการเงินและความรู้ทางดิจิทัล รวมถึงสร้างกลไกในการเพิ่มวินัยทางการเงินและส่งเสริมการออมเงิน โดยเฉพาะการออมเผื่อเกษียณ เพื่อช่วยให้ภาคครัวเรือนหรือกลุ่มเปราะบางอยู่รอดและปรับตัวสู่โลกใหม่ได้อย่างยั่งยืน

**เร่งหนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน**
อีกประเด็นที่สำคัญ คือ การลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้มากขึ้น (Financial Inclusion) โดยเฉพาะ SMEs ที่ ธปท.ได้เปิดเผยว่ามากกว่า 60% ไม่มีสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) เนื่องจากไม่มีข้อมูลในระบบหรือมีประวัติทางการเงินไม่มากพอ จึงเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก ต้องหาหลักประกันหรือการค้ำประกันเพิ่มเติม หรือต้องหาแหล่งเงินทุนรูปแบบอื่น โดยสมาคมฯ จะส่งเสริมการใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาสินเชื่อ (Alternative credit scoring) รวมถึงการปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (Digital lending) ที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย นอกจากนั้น สมาคมฯ ยังร่วมมือกับทุกภาคส่วนจะขับเคลื่อนโครงการ “Smart Financial and Payment Infrastructure” ที่จะเปลี่ยนข้อมูลการค้าระหว่างกันจากรูปแบบ Paper-based เป็นรูปแบบ Digital-based มากขึ้น เช่น การวางใบแจ้งหนี้ การยืนยันรับใบแจ้งหนี้ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-invoicing) และการยืนยันชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) ซึ่งนอกจากจะทำให้ภาคธุรกิจขนาดเล็กสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังจะทำให้ธนาคารมีข้อมูลในการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้น ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสภาพคล่องและเงินทุน อีกทั้งยังช่วยให้ธนาคารสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้นด้วย

และ Theme ที่สี่ คือ “การให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์” หรือการพัฒนา Pool of talents ที่มีทักษะตอบโจทย์โลกอนาคต สามารถปรับตัวรองรับกระแส disruption ต่างๆ ได้ และลดปัญหา Mismatch ของตลาดแรงงาน ซึ่งประเด็นนี้ไม่ได้เป็นเพียงความท้าทายของภาคธนาคารเท่านั้น แต่ยังถือเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับภาคเศรษฐกิจจริงที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ต้องเร่งตีโจทย์เรื่องนี้ให้แตก ปัจจุบันแรงงานไทยกำลังเผชิญปัญหา Skills Gaps ที่กว้างขึ้น ขาดทักษะที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีบทบาทเปลี่ยนโลกในมิติต่างๆ โดยสถาบัน IMD ได้เผยว่า ในปี 2021 ประเทศไทยมีระดับทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีอยู่ในอันดับที่ 42 จาก 64 ประเทศ ตามหลังสิงคโปร์ที่อยู่ในอันดับที่ 8 และมาเลเซียในอันดับที่ 28 และภาคธุรกิจในไทยมีความต้องการบุคลากรในด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นจนสถาบันการศึกษาไม่สามารถผลิตได้ทัน จากการประมาณการของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) พบว่าที่ผ่านมาระหว่างปี 2562-2565 อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและดิจิทัลคอนเทนต์ของประเทศไทยมีความต้องการบุคลากรในสาขาอาชีพใหม่ๆ เช่น Data Scientist นักพัฒนาเกมและแอนิเมชัน และนักพัฒนาและทดสอบระบบ รวมกันมากกว่า 87,000 คน แต่เราสามารถผลิตบุคลากรกลุ่มนี้ได้เพียงไม่ถึง 30,000 คน เกิดเป็นช่องว่างของบุคลากรด้านนี้กว่า 60,000 คน ที่ยังคงต้องสรรหามาเพิ่มเติม สอดคล้องกับผลการสำรวจผู้ประกอบการในประเทศไทยของ Deloitte ที่พบว่าผู้ประกอบการประสบความยากลำบากในการเสาะหาพนักงานในตำแหน่งงานด้านดิจิทัลในสาขาใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิเคราะห์ข้อมูล (data analyst) และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientist)

สำหรับภาคการเงินเพื่อเร่งเตรียมบุคลากรรองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล สมาคมธนาคารไทยจึงได้เร่งเดินหน้า Up & Re-Skill พนักงานที่ปัจจุบันทั้งระบบธนาคารพาณิชย์มีอยู่กว่า 1.3 แสนราย ให้มี Digital Literacy มากขึ้น โดยอาศัย Online Learning Platform นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเร่งสร้างการเรียนรู้ โดยสถาบันธนาคารไทย (Thai Banking Academy - TBAC) พัฒนาความรู้ในด้านต่างๆ ให้บุคลากรในภาคการเงินการธนาคาร รวมถึงยกระดับให้ TBAC มีบทบาทเป็น Hub ระดับชาติในด้านองค์ความรู้ และการวิจัยของอุตสาหกรรมการเงิน เพื่อให้บุคลากรในอุตสาหกรรมการเงินมีสมรรถนะที่สามารถตอบโจทย์โลกการเงินที่เปลี่ยนไป ตามมาตรฐานสากล สอดคล้องกับโลกการเงินในยุคดิจิทัล รวมถึงสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้น สอดรับกับ Business Model ของภาคธนาคารที่มุ่งสู่ Digital Banking และเน้น Agility อย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งนำพาประเทศไทยไปสู่โลกเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ และสอดรับบริบทใหม่ๆ ใน New normalในการแข่งขันในยุคหลังโควิด-19

ท้ายสุด นายผยง ได้กล่าวสรุปว่า ท่ามกลางการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 และบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ความตั้งใจของสมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ในยุทธศาสตร์ทั้ง 4 Themes และ Road Map ในระยะ 3 ปีข้างหน้านั้น เป็นเพียงจิ๊กซอว์หนึ่งในการส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาคธุรกิจและยกระดับเศรษฐกิจไทย ซึ่งยังจำเป็นต้องประกบกับจิ๊กซอว์ชิ้นอื่นๆ จากความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ดังเช่น การเปลี่ยนแปลง Landscape ภาคการเงินในประเด็น 3-Open ที่ ธปท.กำลังให้ความสำคัญ ซึ่งสมาคมธนาคารไทยพร้อมร่วมมือสนับสนุน บนพื้นฐานของการพิจารณาถึงความสมดุลและความเสมอภาคอย่างรอบด้าน ตลอดจนเท่าทันความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อผลประโยชน์ที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น