กระทรวงการคลังพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปก (APEC Finance Ministers’ Meeting : APEC FMM) ครั้งที่ 29 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ปี 2565 “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสู่การเงินการคลังยั่งยืน”
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า ในปี 2565 ประเทศไทยดำรงตำแหน่งเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก โดยได้กำหนดหัวข้อหลัก “Open. Connect. Balance.” หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ซึ่งจะคำนึงถึงการสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในบริบทโลกหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เข้มแข็ง เปิดกว้าง เชื่อมโยง และสมดุล สนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกมิติผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green (BCG) Economy Model
ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกในปี 2565 นี้ กระทรวงการคลังจะจัดการประชุมภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปก (APEC Finance Ministers’ Process : APEC FMP) ทั้งสิ้น 3 การประชุม ได้แก่ 1) การประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปก (APEC Finance and Central Bank Deputies' Meeting : APEC FCBDM) มีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคม 2565 ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานการประชุม 2) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปก (APEC Finance Senior Officials’ Meeting : SFOM) มีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2565 ณ จังหวัดขอนแก่น โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นประธานการประชุม และ 3) การประชุม APEC FMM ครั้งที่ 29 มีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม 2565 ณ กรุงเทพฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ สถานที่และรูปแบบของแต่ละการประชุมจะมีการพิจารณาความเหมาะสมตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไป
สำหรับกรอบ APEC FMP ประจำปี 2565 นั้น กระทรวงการคลังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น กำหนดประเด็นสำคัญ (Priorities) ที่ต้องการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสู่การเงินการคลังยั่งยืน” (Advancing digitalization, Achieving sustainability) ได้แก่
1.การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) โดยมุ่งเน้นการหาแนวทางในการจัดหาแหล่งทุนสำหรับทุกภาคส่วนเพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งทุนผ่านตลาดทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 แนวทาง ได้แก่ (1) การจัดหาแหล่งทุนของภาครัฐ การออกพันธบัตรรัฐบาล และการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน และ (2) การจัดหาแหล่งทุนเพื่อภาคเอกชนโดยจะนำเสนอเรื่องการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างความยั่งยืนสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน โดยจะมีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อระดมความคิดเห็นระหว่างสมาชิก และการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
2.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหาแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ การเชื่อมโยงการชำระเงินในภาคการเงิน รวมทั้งการระดมทุนและเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการในด้านตลาดทุน เพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมกันในภูมิภาค โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ด้าน ได้แก่ (1) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของภาครัฐของเอเปก โดยการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของภาครัฐของเอเปก (2) การหาแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในการเชื่อมโยงการชำระเงินในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปก (APEC Payment Connectivity) และ (3) การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยใช้เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และการส่งเสริมภาคธุรกิจในการระดมทุนผ่านตลาดทุน โดยจะมีการจัดสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสมาชิกเอเปกเกี่ยวกับแนวทางการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินมาตรการทางการคลังและแนวทางการส่งเสริมการเข้าถึงตลาดทุนด้วย
จากประเด็นที่ต้องการจะผลักดันภายใต้กรอบ APEC FMP ในปี 2565 ข้างต้น สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปก รวมทั้งประเทศไทยสามารถนำผลการหารือต่างๆ มาปรับเป็นนโยบายหรือนำข้อเสนอแนะที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ตามบริบทของแต่ละเขตเศรษฐกิจ และยังเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะนำเสนอผลสำเร็จในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการคลังในช่วงที่ผ่านมา เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินมาตรการเพื่อดูแลและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 การออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เพื่อระดมทุนไปใช้ในโครงการเพื่อการพัฒนาทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เป็นต้น ซึ่งการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกในปีนี้จะช่วยส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลกและจะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทย ส่งเสริมการค้าและการลงทุน นอกจากนี้ การจัดการประชุมยังก่อให้เกิดกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในท้องถิ่นต่างๆ ในช่วงการเป็นเจ้าภาพเอเปกของประเทศไทย
อนึ่ง การดำเนินการตามประเด็นที่ต้องการผลักดันดังกล่าวยังมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) ในการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการเชื่อมโยงทางดิจิทัล และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน เพื่อพัฒนาการเศรษฐกิจของประเทศไทยที่สมดุลและยั่งยืน นอกจากนี้ การขับเคลื่อนการดำเนินการตามประเด็นสำคัญทั้งสองด้านนั้นจะเป็นประโยชน์กับประชาชน โดยการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเอื้อให้เกิดการลงทุนและโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ในขณะที่การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในงานด้านการเงินการคลังจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งทุนและการเข้าถึงบริการของภาครัฐ รวมทั้งลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงินข้ามพรมแดน
ทั้งนี้ การดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามข้อเสนอผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมนั้น กระทรวงการคลังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสมาชิกเอเปก องค์การระหว่างประเทศ และภาคเอกชนในการดำเนินการร่วมกันเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลังเพื่อขับเคลื่อนภูมิภาคเอเปกให้มุ่งสู่การเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืนและครอบคลุมต่อไป
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร.02273-9020 ต่อ 3613/3610