xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติฉายภาพเศรษฐกิจโลกใหม่ที่ยังติดโลกเก่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ยืนยันธนาคารกลางต้องยึดแก่นมากกว่ากระแส เพื่อนำพาเศรษฐกิจไทยเข้าสู่โลกใหม่อย่างมั่นคงมีเสถียรภาพ

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน POST TODAY FORUM 2022 FUTURE OF GROWTH : "Thailand Vision 2030" ในโอกาสฉลองก้าวสู่ปีที่ 20 โพสต์ทูเดย์ เรื่อง "แก่น" ของธนาคารกลางท่ามกลาง "กระแส" การเปลี่ยนแปลง : Central banking in the next decade ว่า โจทย์ประเทศในเรื่องอนาคต ทุกคนอยากเป็นส่วนหนึ่งของโลกไม่ไม่ติดในโลกเก่า ยุคทองที่ไทยโตได้ดีคือการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และการผลิตเพื่อส่งออก เครื่องยนต์นี้ยิ่งนานวันจะยิ่งแรงน้อยลง

หากดูเรื่องส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นตัวส่งออกสำคัญ ที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกสู้ไทยไม่ได้ แต่ล่าสุดการส่งออกของเวียดนามในหมวดนี้โตสูงกว่าไทย 3 เท่า FDI ที่เข้าเวียดนามสูงกว่าไทย 3 เท่า เสน่ห์ของไทยในการดึงดูด FDI และผลิตส่งออกไม่เหมือนเวียดนาม ไทยเคยหวังว่าตัวนี้จะเป็นแก่นของไทยในอนาคตคงลำบาก บทบาทยังมี แต่คงพึ่งพาลำบาก

นอกจากนี้ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่โลกใหม่ เป็นโลกที่อิงกับอุตสาหกรรมเดิมๆ ทั้งพลังงาน และการเงิน ต่างกับต่างประเทศโดยสิ้นเชิง เช่น USA น้ำหนักจะอยู่ที่เทคโนโลยีอย่างเห็นได้ชัด

อีกมิติที่สะท้อนว่าจะโตแบบเดิมไม่ได้คือ หนี้ การโตแบบพึ่งหนี้ รายได้คนไม่โต แต่บริโภคเพิ่ม จึงต้องก่อหนี้ คนไทยอาศัยพึ่งช่องทางตัวนี้มาค่อนข้างมาก สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 10 ปีก่อน 45% แต่ตอนนี้แตะ 90% การพึ่งช่องทางตัวนี้เติบโตในอนาคตค่อนข้างลำบาก

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ถามว่าเราต้องทำอะไรเพื่อแก้ไข คือการปิดจุดอ่อนเศรษฐกิจไทย ผ่านการพัฒนาทักษะต่างๆ การลงทุนวิจัย พัฒนาของเรายังถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและอื่นๆ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ด้วย

ในส่วนบทบาทของภาคการเงินของธนาคารกลางในการสนับสนุนให้ประเทศไปข้างหน้าต้องทำอะไรบ้าง แม้มีหลายกระแสที่อาจจะดูลำบากว่ามีอะไรบ้าง แต่กระแสหลักคงหนีไม่พ้น 2 เรื่อง คือ 1.เทคโนโลยีดิจิทัล และ 2.ความยั่งยืน หรือกรีน 2 กระแสตัวนี้มาอย่างต่อเนื่อง มาเร็ว และแรง และอยู่กับเราไปอีกนาน หน้าที่สำคัญของภาคการเงินทำอย่างไรที่จะช่วยการเปลี่ยนผ่านของภาคเศรษฐกิจไปสู่โลกใหม่ ซึ่งเป็นโลกที่เน้นความยั่งยืน และดิจิทัลมากขึ้น เป็นที่มาของเมื่อสัปดาห์ก่อน ธปท. ได้ออกรายงานภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน บทบาทตัวนี้จะเป็นตัวเซตใหม่ของภาคการเงินไทยในอนาคต มีหลักการสำคัญคือ การรักษาสมดุลระหว่างนวัตกรรมทางการเงิ กับการดูแลความเสี่ยง และเสถียรภาพต่างๆ

ทั้งนี้ นวัตกรรมบางอย่างอาจไม่ได้ส่งประโยชน์กับส่วนรวม สร้างความเสี่ยงก็ต้องสร้างตรงนี้ให้สมดุล สมเหตุสมผล หลักการสำคัญคือการหาจุดสมดุลของนวัตกรรมกับการดูแลความเสี่ยง ซึ่งตรงนี้หลักการคือ จะพยายามยืดหยุ่นมากขึ้น อะไรเสี่ยงมากจะกำกับเยอะๆ เข้มๆ อะไรเสี่ยงน้อยๆ ก็กำกับน้อยลง ส่วนอะไรที่ยังประเมินความเสี่ยงลำบาก เราจะใช้หลักการราวกั้นเพื่อดูแลความเสี่ยง จำกัดความเสี่ยง โดยที่หากเวลาผ่านไปเราเรียนรู้เรื่องนวัตกรรมนั้นๆ มากขึ้น เห็นประโยชน์เทียบกับความเสี่ยงมากขึ้น เราอาจจะมีการขยายราวกั้นนี้ให้กว้างขึ้น หรือในทางกลับกันหากมีความเสี่ยงมาก ราวกั้นนี้จะเข้มข้น แต่ทั้งหมดจะเน้นความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้นวัตกรรมต่างๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะนวัตกรรมที่คิดว่าสร้างประโยชน์ให้ส่วนรวม

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เราจะเจอข้างหน้ามีหลายอย่างที่ประเมินลำบาก การกำหนดทิศทางข้างหน้า สิ่งสำคัญหนึ่งคือ ต้องแยกให้ชัดระหว่างแก่นกับกระแส การที่เราเป็นธนาคารกลาง การทำอะไรตามกระแสอาจจะไม่เหมาะสม สิ่งที่เป็นหลักการของเราในการเดินไปข้างหน้าคือ ความจำเป็นต้องแยกให้ชัดระหว่างกระแส และแก่น ไม่ได้หมายความว่า ธปท. หรือธนาคารกลางอื่นจะไม่มีกลางเปลี่ยนแปลง จริงๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและตลอดในสารพัดมิติ

ฝั่งการกำกับสถาบันการเงินเช่นเดียวกัน เดิมเน้นการตรวจสอบแบบไมโครพรูเดนเชียล ดูแต่ละสถาบันการเงินให้มั่นคง หากแต่ละแห่งมั่นคงระบบโดยรวมจะมั่นคง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราเห็นว่าการตรวจสอบยังจำเป็นแต่ไม่พอ ต้องเสริมแม็คโครพรูเดนเชียล ต้องดูองค์รวม เพราะความเสี่ยงอาจจะแฝงอยู่ กระจุกตัวอยู่ในสถาบันการเงิน จึงเป็นที่มาถึงการให้ความสำคัญในการตรวจสอบแบบองค์รวมเหมือนในปัจจุบัน

ในระยะข้างหน้าการกำกับดูแลจะเปลี่ยน จะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการกำกับดูแล เพื่อให้ตรวจสอบได้ทันการณ์มากขึ้น ลดภาระมากขึ้น

หน้าที่หลักของ ธปท. และธนาคารกลางทุกที่ คือ เรื่องเพย์เมนตฺ เดิมคนจะนึกถึงเรื่องเงินสด ต้องไปสาขาของธนาคารเป็นหลัก ช่วงหลังมีการเปลี่ยนมาใช้โมบายเพย์เมนตฺ พร้อมเพย์ อีเพย์เมนต์มากขึ้น ไทยเป็นอันดับท็อปๆ ของโลกที่ใช้ระบบพวกนี้ ระบบจะไม่จบแค่นี้ และมีอีกโครงการที่อยู่ในแผนจะดำเนินการทดสอบในวงจำกัดในไตรมาส 4 นี้ คือ retail CBDC เป็นการวางโครงสร้างใหม่ให้คนมาสร้างนวัตกรรมสำหรับรายย่อย

การสื่อสาร มีการพัฒนามากมายมหาศาล ไม่ใช่แค่ในไทย แต่ยังรวมถึงต่างประเทศ จากเดิมที่ธนาคารกลางทั่วโลกไม่ค่อยสื่อสาร เน้นความลึกลับ สร้างความขลัง ตอนนี้เปลี่ยนไปชัดเจนว่ามีการสื่อสาร อธิบายมากขึ้น แม้จะไม่ได้ดีแต่ก็มีการสื่อสารมากขึ้น

"อยากจะย้ำว่าหากมองไปข้างหน้าและเราเริ่มทำแล้ว ไม่ใช่แค่การสื่อสาร เดิมการสื่อสารจะเน้นกับตลาด คนเล่นในตลาด นักวิเคราะห์ นักลงทุน แต่ตอนนี้เห็นแล้วว่าไม่ใช่แค่ตรงนั้นที่สำคัญ แต่การสื่อสารกับสาธารณชนโดยรวมด้วย ดังนั้นรูปแบบกับวิธีการสื่อสารที่เข้าใจยากๆ จึงต้องเปลี่ยนแปลงไป เราพยายามพัฒนารูปแบบการสื่อสารที่หลากหลายและแตกต่างกันไปขึ้นกับกลุ่มที่เราพยายามสื่อสารไปถึง ช่วงหลังเราพยายามใช้อินโฟกราฟิกมากขึ้น พูดด้วยวิธีที่เข้าใจง่ายขึ้น แต่คงไม่จบตรงนี้ ระยะต่อไปของการสื่อสาร อย่าเรียกว่าการสื่อสารเลย เรียกว่าเอ็นเก็จดีกว่า สิ่งที่เราพยายามทำและเห็นความจำเป็นคือ การเอ็นเก็จ สื่อสารแล้วฟัง ฟังทั้งในแง่ของสภาพความเป็นจริง มาตรการต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกไปถึงคนจริงๆ พวกนี้สะท้อนว่ามีความจำเป็นว่า ธปท. และธนาคารกลางอื่นต้องปรับตัววิธีที่สื่อสารกับสาธารณชน"

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า กระแส คือ คริปโต เป็นนวัตกรรมการเงินที่ถือว่าเป็นกระแสอาจไม่ตอบโจทย์ชัดกับการชำระสินค้าและบริการ หากมาดูนวัตกรรมที่จะมาแทนของที่เป็นแก่น กระแสที่จะมาแทนแก่น ต้องทำอะไรที่ดีกว่าเดิม ไม่อย่างงั้นเอามาก็ไม่เป็นประโยชน์ ไปกระทบเสถียรภาพของระบบเดิมที่ดีอยู่แล้ว ซึ่งระบบการชำระเงินเดิมของเรามันค่อนข้างโอเคเลย เป็นตัวอย่างของที่เป็นกระแส ที่คิดว่าจะมาทดแทนแก่นต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นประโยชน์ ดีกว่าของเก่าที่มีอยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น