ธปท. สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ร่วมเปิดตัวการให้บริการ dStatement รับส่งข้อมูลลูกค้ากันได้ระหว่างธนาคาร เพื่อลดต้นทุนมากถึง 2,500-3,000 ล้านบาท และสะดวก ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อง่าย ย้ำระวังความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากล พร้อมเชื่อมต่อข้อมูลกับนอนแบงก์ และต่อยอดไปยังบริการอื่น
บริการ dStatement (digital bank statement) เป็นการให้บริการรับส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝาก (bank statement) ในรูปแบบดิจิทัลโดยตรงระหว่างสถาบันการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่ต้องการใช้ข้อมูล bank statement เป็นหลักฐานประกอบการสมัครขอใช้บริการทางการเงิน สามารถขอให้ธนาคารที่ตนเองมีบัญชีเงินฝากอยู่ ส่งข้อมูล bank statement ไปยังธนาคารแห่งอื่นได้โดยตรง ผ่านช่องทาง mobile banking application หรือช่องทางอื่นตามที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งกำหนด ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกในการใช้บริการทางการเงินยิ่งขึ้น จากเดิมที่ต้องขอข้อมูลดังกล่าวในรูปเอกสารกระดาษ โดยในระยะแรกของการให้บริการ dStatement จะเริ่มใช้สำหรับการสมัครขอสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลและมีธนาคารที่เปิดให้บริการ dStatement ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2565 เป็นต้นไป จำนวน 6 ธนาคาร และจะทยอยเปิดให้บริการเพิ่มเติมอีก 5 ธนาคาร ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 (รายละเอียดตามเอกสารแนบท้าย) การให้บริการ dStatement ถือเป็นโครงการนำร่องโครงการแรกภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนามาตรฐานและใช้มาตรฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อส่งเสริมบริการทางการเงิน”
ธนาคารสมาชิกของสมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารนานาชาติ ได้ลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตนเองที่มีอยู่กับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเลือกใช้บริการทางการเงินที่หลากหลายจากสถาบันการเงินแห่งอื่นๆ ได้โดยสะดวก รวดเร็ว และตรงตามความต้องการของตนเองยิ่งขึ้น และถือเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่จะช่วยสนับสนุนการยกระดับบริการทางการเงินสู่บริการทางการเงินดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า พัฒนาการด้านเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมาเป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งให้ระบบการเงินของประเทศก้าวสู่โลกการเงินดิจิทัล ดังนั้นการสร้างระบบนิเวศที่เปิดกว้างให้ทั้งผู้ใช้บริการทางการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินสามารถใช้เทคโนโลยีและข้อมูลที่มีให้เกิดประโยชน์ เพื่อต่อยอดพัฒนานวัตกรรมในการให้บริการและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ได้หลากหลายอย่างเสรี จึงเป็นสิ่งสำคัญ และการเปิดตัวบริการ dStatement
ในวันนี้ ถือเป็นการปักหมุดจุดเริ่มต้นของการสร้างระบบนิเวศที่เปิดกว้างในการแบ่งปันข้อมูล (open data ecosystem) เพื่อวางรากฐานที่จำเป็นให้ภาคการเงินไทยพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งระบบนิเวศนี้จะช่วยปลดล็อกให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตนเองเพื่อเข้าถึงบริการทางการเงินที่ดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากขึ้น และอนาคตจะขยายบริการไปยังนอนแบงก์ รวมถึงผู้ประกอบการอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะเป็นก้าวแรกของการรวมข้อมูล ที่จะต่อยอดไปยังบริการอื่นได้อีก
“ธปท.ได้หารือกับสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยช่องทางดิจิทัลจะเป็นการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนได้อย่างมาก d Statement จะช่วยลดต้นทุนได้สูงถึง 2,500-3,000 ล้านบาท หากมีการใช้ระบบดังกล่าวจำนวนมาก จากปกติมีคำขอสินเชื่อต่อปีประมาณ 10 ล้านคำขอ 1 คำขอสินเชื่อจะใข้ต้นทุนประมาณ 500 บาทต่อ 1 คำขอ ในปีแรกคาดหวังว่าจะใช้บริการ d Statement ประมาณ 5-10% ของคำขอทั้งหมด หรือคิดเป็น 5 แสน-1 ล้านคำขอ
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกสนับสนุนการพัฒนาบริการ dStatement มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์การเข้าถึงสินเชื่อของลูกค้าได้อย่างทั่วถึง สะดวก และเป็นธรรม โดยบริการ dStatement เป็นตัวอย่างการสร้างระบบนิเวศด้านข้อมูลของภาคการเงิน เอื้อให้เกิดนวัตกรรมบริการทางการเงินบนช่องทางดิจิทัลเพิ่มเติม ส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ตรงจุดขึ้น มีความสะดวกรวดเร็ว และช่วยยกระดับการให้บริการของธนาคารแต่ละแห่งให้สอดคล้องกับกับแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของสมาคมธนาคารไทย ในการนำระบบเทคโนโลยีมาสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมธนาคาร (Enable Country Competitiveness) ผ่านการสร้างแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูลและการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ลดต้นทุนจากกิจกรรมที่ซ้ำซ้อนกันโดยไม่จำเป็น สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม และรองรับการเปลี่ยนแปลงของภาคธนาคารในอนาคต เป็นเสาหลักที่แข็งแกร่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
โดยมีธนาคารที่พร้อมจะให้บริการในเดือนมิถุนายน 6 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ ธนาคารเกียตนาคินภัทร และเดือนเมษายนจะทยอยเบ้ามาให้บริการอย่างต่อเนื่องรรม 11 แห่ง
นายฉัตรชัย ศิริไล ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า สถาบันการเงินของรัฐมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านบริการทางการเงินแก่ประชาชนด้วยฐานลูกค้าที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม และเชื่อมั่นว่าการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตนเองได้มากยิ่งขึ้น จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกขึ้น โดยมีภาระต้นทุนทางการเงินที่ลดลงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งสมาคมสถาบันการเงินของรัฐและสมาชิกได้ให้การสนับสนุนความร่วมมือของโครงการนี้มาโดยตลอด
ธปท. สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐหวังว่าบริการ dStatement นี้จะช่วยให้ประชาชนได้รับประโยชน์และประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นในการใช้บริการการเงินดิจิทัล โดยในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าจะยังมีความร่วมมือในการขยายขอบเขตการให้บริการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงบริการทางการเงินที่หลากหลายผ่านช่องทางดิจิทัลที่สะดวกและรวดเร็ว ขณะที่ผู้ให้บริการสามารถพัฒนาบริการทางการเงินที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าแต่ละรายได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ รายละเอียดและเงื่อนไขการใช้บริการ dStatement ของแต่ละธนาคารสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก website หรือช่องทางการประชาสัมพันธ์อื่นๆ ของแต่ละธนาคารที่ร่วมให้บริการ
สำหรับ Bank statementแบบเดิมที่ใช้กระดาษไม่มีการกำหนดค่าธรรมเนียมเพดานสูงสุดไว้ ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารจะกำหนดค่าธรรมเนียมเอง
จากการสำรวจ ธพ.ส่วนใหญ่จะคิดราคา 100 บาทต่อบัญชีหากขอย้อนหลังไม่เกิน 6 เดือนและคิดราคา 200 บาทต่อบัญชีหากขอย้อนหลังตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี
หากขอย้อนหลังมากกว่า 1 ปี บางธนาคารอาจคิดมากกว่า 200 บาท ขึ้นกับข้อจำกัดด้านระบบของแต่ละธนาคาร