ปี 65 ธนาคารพาณิชย์ต้องเดินหน้าธุรกิจอย่างระมัดระวัง และต้องเตรียมวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ดุเดือด โดยเฉพาะค่าธรรมเนียม สินเชื่อดิจิทัล และการแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับโลกการเงินยุคดิจิทัล
ในปี 2564 ที่ผ่านมา นับเป็นอีกหนึ่งปีที่ธนาคารพาณิชย์ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้านอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในช่วงต้นปี มาถึงสายพันธุ์โอมิครอนที่เข้ามาในช่วงท้ายของปี ซึ่งส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ รวมถึงคุณภาพหนี้
แม้ขณะนี้จะยังอยู่ในภาวะการผ่อนคลายเกณฑ์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงการถูก Disruption จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ยังถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบนั้น ธนาคารพาณิชย์แห่งใดสามารถปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์ได้มากน้อยขนาดไหนก็จะสะท้อนออกมาที่ประกอบการที่ประกาศออกมา รวมทั้งมองถึงปัจจัยต่างๆ ที่ยังต้องระมัดระวังในปีนี้อีกด้วย
ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) ธนาคารทิสโก้ (TISCO) ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LHFG) และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 185,935 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47,637 ล้านบาท หรือคิดเป็น 34% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ จากภาพรวมของผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ การเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิโดยหลักๆ จะมาจากการกันสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีการตั้งสำรองระดับสูงมาก รวมถึงการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ลดลง ขณะเดียวกัน รายได้บางส่วนเริ่มกลับเข้ามาโดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่ทางการเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ พร้อมกันนั้น ยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ด้วยการกันสำรองในระดับที่ยังสูงกว่าสภาวการณ์ปกติ
กันสำรองลด-เร่งดูแลลูกค้า
ธนาคารกสิกรไทย ที่ประกาศกำไรสุทธิจำนวน 38,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 8,566 ล้านบาท หรือ 29.05% ส่วนหนึ่งเกิดจากการลดลงของสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะมีจำนวน 3,216 ล้านบาท หรือ 7.38% โดยธนาคารและบริษัทย่อยพิจารณาตั้งสำรองในปี 2564 จำนวน 40,332 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นสำรองภายใต้หลักความระมัดระวัง และมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 สูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 159.08% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ที่อยู่ที่ระดับ 149.19% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดสำหรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่อาจชะลอลงอีกครั้งในช่วงต้นปี 2565 จากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน รวมทั้งการดำเนินการเชิงรุกของธนาคารและบริษัทย่อยที่ให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารได้เติบโตรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนาคารผันกลับมามีการเติบโตของกําไรสุทธิอย่างมีนัยสําคัญในปี 2564 ในขณะเดียวกัน ธนาคารได้ร่วมมือกับลูกค้าภายใต้โครงการช่วยเหลือทางการเงิน ให้ทยอยเข้าร่วมกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จภายใต้กรอบของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ลูกค้าสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ ธนาคารยังส่งเสริมการใช้งานผ่านช่องทางดิจิทัลบนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น แอปพลิเคชัน SCB EASY และแพลตฟอร์มส่งอาหารโรบินฮู้ด ทำให้ธนาคารสามารถขยายฐานผู้ใช้งานดิจิทัลกว่า 20 ล้านคน สำหรับปี 2565 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความไม่แน่นอน ธนาคารยังคงยึดมั่นในการเติบโตธุรกิจด้วยความรอบคอบและมั่นคง และให้การช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบและทุกภาคส่วนของสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปี 2564 ภาวะเศรษฐกิจเผชิญความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ว่าอุปสงค์ในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง ธนาคารจึงให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง โดยบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิดและเพิ่มระดับของ Coverage ratio ให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนในอนาคต พร้อมดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถประคองตัวและกลับมาเติบโตได้ในระยะข้างหน้า โดยผลประกอบการของปี 2564 ธนาคารเท่ากับ 21,588 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินเชื่อที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งถึง 12.6% จากสิ้นปีที่ผ่านมา ขณะที่ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 32,524 ล้านบาท แม้ว่าจะลดลง 27.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังเป็นการตั้งสำรองในระดับที่สูง
ด้าน ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการออกมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนที่ประสบปัญหา ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพได้สนับสนุนมาตรการของภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ พร้อมเข้าใจความต้องการและปัญหาของลูกค้า ธนาคารเชื่อมั่นว่าการสนับสนุนทั้งด้านการเงินและการให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์สอดคล้องกับธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงโควิด-19 รวมถึง การปรับวิธีการดำเนินธุรกิจและการขยายธุรกิจเพื่อรองรับโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยผลกระทบของสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับสายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงความไม่แน่นอนของความเสี่ยงจากการกลายพันธุ์ของไวรัสที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง และยังคงดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องใช้เวลาและเตรียมพร้อมสำหรับการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจภายหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย
จับตาโอมิครอนฉุดรั้งเศรษฐกิจ
น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 กลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากที่หดตัวลงอย่างมากจากผลกระทบของโควิด-19 ในปี 2563 โดยการใช้จ่ายในประเทศได้รับแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐและการเร่งฉีดวัคซีน ขณะที่ทางการไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี ส่วนการส่งออกเติบโตในระดับสูงได้ตามทิศทางเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศอาจชะลอลงอีกครั้งในช่วงต้นปี 2565 ท่ามกลางความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ทำให้ทางการไทยต้องมีการปรับมาตรการเพื่อดูแลสถานการณ์อีกครั้ง
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ในปี 2565 นั้น ธนาคารตั้งเป้ากลับมาเติบโตทั้งด้านสินเชื่อและเงินฝาก แต่แน่นอนว่าจะเป็นไปอย่างรอบคอบ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ซึ่งหลังการรวมธนาคารและระบบต่างๆ เป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์แล้ว ในปีนี้ธนาคารพร้อมที่จะเปิดตัวและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ได้นำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยพัฒนาให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการที่ครบวงจรได้ง่ายและสะดวกขึ้น เพื่อสร้างชีวิตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทยทั้งวันนี้และอนาคต พร้อมเดินหน้าต่อยอดธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลต่อไป
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่าการขยายตัวจะอยู่ที่ระดับ 3.3% ซึ่งมีแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและการส่งออกที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่โหมดของการทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยยังมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนและโอกาสการกลายพันธุ์ที่ยังไม่จบ ซึ่งเป็นความท้าทายที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทำให้การขับเคลื่อนธุรกิจของกลุ่มทิสโก้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกจึงเน้นการเติบโตอย่างระมัดระวัง จากนั้นหากสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จะเร่งระดับของการเติบโตขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
ธุรกิจแบงก์ปี 65 ตัวแปรหลักโอมิครอน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินภาพรวมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2565 จะต้องพบกับโจทย์ท้าทายในกรณีความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาอีกครั้งในช่วงรอยต่อระหว่างปี 2564 เข้าสู่ปี 2565 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนอกจากจะเป็นตัวแปรที่มีผลต่อจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังมีนัยต่อเนื่องมายังการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งหากว่าไทยสามารถตีกรอบควบคุมการระบาดของโอมิครอนได้ดีและทันท่วงที ธนาคารพาณิชย์จะยังคงมีเวลาที่จะสามารถพลิกฟื้นรายได้จากธุรกิจหลักและผลการดำเนินงานในภาพรวมกลับมาได้ แต่ระดับกำไรสุทธิ และมาตรวัดความสามารถในการทำกำไร เช่น ROA และ NIM จะฟื้นตัวในกรอบจำกัด และจะยังอยู่ต่ำกว่าระดับในช่วงก่อนโควิด โดยคาดว่ากำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศปี 2565 จะอยู่ที่ราว 1.86 แสนล้านบาทในปี 2565 ต่ำกว่าระดับกำไรสุทธิเฉลี่ยช่วงก่อนโควิดที่ทำได้สูงกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจในปี 2565 ที่น่าจะทยอยฟื้นตัวกลับมาอย่างค่อยเป็นค่อยไปอาจทำให้แรงหนุนจากการพักและ/หรือชะลอการชำระหนี้ที่มีต่อยอดคงค้างสินเชื่อน้อยลง และลูกหนี้บางส่วนน่าจะสามารถกลับมาเริ่มทยอยชำระคืนหนี้ได้มากขึ้น โดย คาดว่าสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในปี 2565 จะขยายตัวที่ประมาณ 4.8% (กรอบคาดการณ์ที่ 4.0-5.5%) ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่คาดว่าจะเติบโตประมาณ 6.0% โดยสินเชื่อธุรกิจอาจเติบโตประมาณ 4.2-5.2% โดยมีแรงหนุนจากการเบิกใช้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนสำหรับธุรกิจในประเทศและธุรกิจระหว่างประเทศ ตลอดจนสินเชื่อสำหรับเสริมสภาพคล่องและเพื่อการลงทุน ตามลำดับ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยปี 2565 อาจเติบโตประมาณ 4.0-6.0% สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับที่คาดว่าจะปิดสิ้นปี 2564 ที่ 4.0%
อย่างไรก็ดี กรอบการฟื้นตัวของสินเชื่อรายย่อยยังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้เดิมของภาคครัวเรือนที่มีอยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาความเสี่ยงด้านเครดิตในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ทิศทางการเติบโตของสินเชื่อดังกล่าวข้างต้นจะช่วยประคองให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Income) ฟื้นตัวขึ้นตาม ขณะที่สถาบันการเงินมีแนวโน้มกระจายพอร์ตสินเชื่อไปยังพอร์ตที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกันมากขึ้น ซึ่งจะดำเนินการควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายในส่วนของเงินฝากให้มีประสิทธิภาพ ประกอบกับในปี 2565 ยังคงได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และ ธปท. ได้มีการขยายเวลาปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟู (FIDF fee) ต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ในปี 2565 มีโอกาสขยับขึ้นเล็กน้อยไปที่ระดับ 2.60% (กรอบคาดการณ์ที่ 2.50-2.70%) เทียบกับตัวเลขคาดการณ์สำหรับปี 2564 ที่ 2.54%
ในช่วงหลังจากนี้ คงต้องติดตามระดับความเสี่ยงจากการระบาดของโอมิครอนอย่างใกล้ชิด โดยหากความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 จากสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มสูงขึ้น และมาตรการสกัดการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจยาวนานกว่าช่วงต้นปี 2565 คงจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังรายได้จากธุรกิจหลัก และภาพรวมของผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ในปี 2565 จะเป็นปีที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องเดินหน้าธุรกิจอย่างระมัดระวัง และต้องเตรียมวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ดุเดือด โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมสินเชื่อดิจิทัล และการแสวงหาโอกาสในพื้นที่ธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลกการเงินยุคดิจิทัล
โจทย์เฉพาะหน้าดูแลลูกหนี้
จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้โจทย์เฉพาะหน้าของธนาคารพาณิชย์ยังคงเป็นการเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยคงต้องปรับมาตรการช่วยเหลือให้เหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละกลุ่ม เพราะลูกหนี้แต่ละรายมีปัญหาด้านรายได้และเงื่อนไขการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน ซึ่งแนวทางที่จะปรับใช้จะมุ่งเน้นที่การประเมินความสามารถในการชำระหนี้และปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบระยะยาว ขณะที่ลูกหนี้ในกลุ่มที่อ่อนไหวต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจและยังคงต้องการสภาพคล่องเพิ่มเติมจะมีเม็ดเงินช่วยเหลือจากโครงการสินเชื่อฟื้นฟู ซึ่งน่าจะมีวงเงินเหลือสำหรับใช้ในปี 2565 ที่ประมาณ 115,000 ล้านบาท (ณ 13 ธ.ค.2564 มีสินเชื่อที่อนุมัติแล้วประมาณ 134,900 ล้านบาท คิดเป็น 54% ของวงเงินโครงการ) หรืออาจจะมีการโยกเม็ดเงินจากโครงการพักทรัพย์พักหนี้ที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 70,556 ล้านบาทมาบางส่วน สำหรับในส่วนของลูกหนี้รายย่อยนั้น ทางเลือกที่เปิดเพิ่มเติมในปีหน้าจะเป็นการรวมหนี้ ซึ่งสามารถรวมหนี้ข้ามสถาบันการเงิน และ/หรือผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นได้