xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ.-บ้านปูอัดฉีดงบขยายแหล่งก๊าซฯ เพิ่ม ราคาพลังงานพุ่งหนุนรายได้ปีนี้กระฉูด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สงครามยูเครน-รัสเซียลากยาวไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ยิ่งดันราคาพลังงานดีดตัวสูงขึ้น ลามไปถึงราคาพืชผลทางการเกษตรอย่างข้าวสาลี ปุ๋ย  และแร่ เนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศที่มีทรัพยากรที่สมบูรณ์และเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ แม้ว่าไทยจะอยู่ห่างจากพื้นที่การสู้รบยูเครน-รัสเซีย แต่ไม่อาจเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลให้ค่าไฟฟ้าขึ้น และราคาสินค้าพาเหรดประกาศปรับขึ้น และอัตราเงินเฟ้อก็เพิ่มขึ้นด้วย

ท่ามกลางวิกฤตย่อมมีโอกาส พบว่าอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) รวมไปถึงเหมืองถ่านหินที่ได้รับอานิสงส์จากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2564 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่าให้ปี 2565 เป็นปีทองของธุรกิจดังกล่าว หลังจากเคยย่ำแย่ในช่วงสงครามราคาน้ำมันและการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรงเมื่อปี 2563

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)(PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เป็นบริษัทลูก ปตท.ที่มีภารกิจสรรหาปิโตรเลียมเพื่อสนองความต้องการใช้พลังงานในไทยและประเทศที่ไปลงทุน โดยมีการลงทุนโครงการ E&P กว่า 40 โครงการ 15 ประเทศทั่วโลก โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ปตท.สผ.ปรับกลยุทธ์มาโฟกัสการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญ มีศักยภาพปิโตรเลียมสูงและความเสี่ยงต่ำไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย หรือประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา มาเลเซีย รวมถึงตะวันออกกลางทั้งโอมานและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี ส่วนการลงทุนในพื้นที่ห่างไกลและให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีก็มีขายการลงทุนออกไปไม่ว่าจะเป็นแหล่งมอนทารา ในออสเตรเลีย และบริษัท Partex ในบราซิล

การโหมลงทุนในกลุ่มประเทศเป้าหมายทั้งในรูปการร่วมลงทุน (JV) และการซื้อกิจการช่วง 2-3 ปีนี้ ทำให้ปตท.สผ.เติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ปตท.สผ.มีรายได้อยู่ที่ 7,314 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเทียบเท่า 234,631 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% จากปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 1,211 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 38,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 68% จากปี 2563 เนื่องจากปริมาณการขายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยบริษัทได้ปรับเป้าหมายปริมาณการขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดิมที่เคยตั้งเป้าไว้ 375,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จนปิดปี 2564 ปตท.สผ.มีปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 416,141 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เป็นผลจากการเข้าร่วมทุนในโครงการโอมาน แปลง 61 ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ของประเทศโอมาน การซื้อกิจการ (M&A) ของเมอร์ฟี่ ออยล์ในประเทศมาเลเซีย ทำให้ ปตท.สผ.ปักหมุดการลงทุนในมาเลเซียอย่างจริงจัง และเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการมาเลเซีย แปลงเอช ขณะที่ราคาขายปิโตรเลียมก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 43.49 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับปี 2565 ปตท.สผ.ได้วางเป้าหมายการขายปิโตรเลียมอยู่ที่ 467,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 เนื่องจากปีนี้มีโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิเบอร์ราเคซผลิตเชิงพาณิชย์ รวมทั้งในวันที่ 24 เมษายนนี้ ปตท.สผ.จะเป็นผู้ดำเนินการ (Operator) ในโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ) นับเป็นการเริ่มสัญญาแบ่งปันผลผลิตของโครงการ จี 1/61 และถัดไปโครงการจี 2/61(แหล่งบงกช) ทำให้บริษัทรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากปริมาณการขายปิโตรเลียมตามสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็มองโอกาสในการเข้าร่วมทุนหรือทำ M&A แหล่งใหม่ที่มีศักยภาพ และเร่งพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมต่างๆ ที่บริษัทสำรวจพบในประเทศมาเลเซียด้วย


ส้มหล่น! ได้หุ้นโครงการยาดานาเพิ่ม 11.5842% โดยไม่เสียเงิน

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PTTEPI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. และเป็นผู้ร่วมทุนในโครงการยาดานา ประเทศเมียนมา ได้รับความเห็นชอบจากผู้ร่วมทุนให้เป็นผู้ดำเนินการ (Operator) โครงการแหล่งก๊าซฯ ยาดานาและในบริษัท Moattama Gas Transportation Company (MGTC) ซึ่งดำเนินธุรกิจท่อส่งก๊าซจากโครงการฯ ในประเทศเมียนมา แทนบริษัทโททาลเอนเนอร์ยี่ส์ (TotalEnergies) ที่ได้ถอนการลงทุน โดยมีผลในวันที่ 20 กรกฎาคม 2565

การถอนการลงทุนของโททาลเอนเนอร์ยี่ส์ในโครงการดังกล่าว ทำให้สัดส่วนหุ้นที่โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ถืออยู่ร้อยละ 31.2375 ต้องกระจายให้ผู้ร่วมทุนรายอื่นๆ ตามสัดส่วนการลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาการร่วมทุน (Production Operating Agreement หรือ POA) โดยไม่คิดมูลค่า ส่งผลให้ บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีสัดส่วนการลงทุนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25.5 เป็นร้อยละ 37.0842 บริษัท เชฟรอน ซึ่งมีบริษัทย่อยคือบริษัท ยูโนแคลเมียนมา ออฟชอร์ จะเป็นผู้ถือสัดส่วนการลงทุนมากที่สุด จากร้อยละ 28.2625 เพิ่มเป็นร้อยละ 41.1016 และ Myanmar Oil and Gas Enterprise (MOGE) จากร้อยละ 15 เพิ่มเป็นร้อยละ 21.8142

โครงการยาดานา ในอ่าวเมาะตะมะ มีกำลังการผลิตก๊าซฯ เฉลี่ย 770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งใช้ในเมียนมาประมาณ 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือคิดเป็นประมาณ 50% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในเมียนมา ในขณะที่ประเทศไทยก็ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากโครงการนี้เช่นกัน โดยส่งเข้าประเทศไทยประมาณ 550 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และขนาดเล็ก จำนวน 12 โรง คิดเป็นประมาณ 11% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของไทย ซึ่ง ปตท.สผ.คำนึงถึงความสำคัญของประชาชนทั้งไทยและเมียนมาที่ต้องพึ่งพาก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้า และสามารถช่วยรักษาความต่อเนื่องในการจัดหาพลังงานให้กับทั้งสองประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว จึงได้เสนอตัวเป็นผู้ดำเนินการโครงการยาดานาและ MGTC แทนโททาลเอนเนอร์ยี่ส์ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากแรงกดดันจากนานาประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมในเมียนมา อันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้โททาลเอนเนอร์ยี่ต้องถอนตัวจากเมียนมา


นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ในปี 2565 ปตท.สผ.จะให้ความสำคัญต่อกระบวนการเปลี่ยนผ่านการดำเนินการในแปลงจี 1/61 หรือแหล่งเอราวัณ ซึ่งบริษัทจะเข้าเป็นผู้ดำเนินการ (Operator) ในเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้การผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นไปอย่างราบรื่น แม้ว่าปริมาณก๊าซฯ ที่ผลิตได้จากแหล่งเอราวัณจะไม่ได้ตามสัญญาฯ ที่กำหนดไว้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สืบเนื่องจากความล่าช้าในการเข้าพื้นที่เป็นเวลากว่า 2 ปีอันเนื่องมาจากผู้รับสัมปทานปัจจุบันไม่ยินยอมให้ ปตท.สผ.เข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นเจาะหลุมผลิต เชื่อมต่อท่อเข้ากับระบบการผลิตกลางในแหล่งเอราวัณสำหรับเตรียมการผลิตก๊าซฯ ล่วงหน้าได้ ซึ่งบริษัทได้ลงทุนไปแล้ว 10,000 ล้านบาทเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าพื้นที่ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมกราคม 2565 ปตท.สผ.สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้แล้วและประเมินว่าปริมาณก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณหลังจากปตท.สผ.เป็นผู้ดำเนินการจะผลิตก๊าซฯ ได้ราว 425 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะลดลงเหลือ 250-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่ำกว่าคาดการณ์เอาไว้เนื่องจากผู้รับสัมปทานปัจจุบันไม่มีการลงทุนเจาะหลุมเพิ่มเติมในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น ปตท.สผ.จะต้องใช้เวลา 24 เดือนเพื่อเคลื่อนย้ายและติดตั้งแท่นหลุมผลิต 8 แท่น การเชื่อมต่ออุปกรณ์การผลิตและระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน รวมทั้งเจาะหลุมผลิตกว่า 100 หลุม เพื่อให้แหล่งเอราวัณกลับมาผลิตก๊าซฯ ที่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามเงื่อนไขในสัญญาแบ่งปันผลผลิต

เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตีอความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศไทย ทาง ปตท.สผ.ได้เพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯ ในแหล่งบงกช และแหล่งอาทิตย์เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนก๊าซฯ ที่หายไปจากโครงการเอราวัณ และอีกส่วนหนึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาสูง


ผลประกอบปี 65 พุ่งตามราคาน้ำมัน

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2565 ปตท.สผ.จะมีผลการดำเนินงานดีขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากปริมาณการขายและราคาขายปิโตรเลียมที่เพิ่มสูงขึ้น โดยบริษัทวางเป้าหมายปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 467,000 บาร์เรลต่อวัน โดยไตรมาส 1/2565 บริษัทจะมีปริมาณการขายเฉลี่ย 436,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ราคาก๊าซฯ จะทยอยปรับขึ้นตามสูตรอ้างอิงราคาน้ำมันย้อนหลัง 6 เดือน ซึ่งปีนี้ราคาน้ำมันและก๊าซฯจะอยู่ในระดับสูงกว่าปีที่แล้ว

ล่าสุดบริษัท พีทีทีอีพี เอชเค ออฟชอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. และบริษัท ซาปุระโอเอ็มวี อัพสตรีม (มาเลเซีย) ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุน ได้ลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับปิโตรนาส เพื่อเข้ารับสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แปลงเอสบี 412 ในประเทศมาเลเซีย จากการชนะประมูลสิทธิสำรวจปิโตรเลียมในปี 2564 ส่งผลให้ปัจจุบัน ปตท.สผ.เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตในมาเลเซียรวมทั้งสิ้น 12 สัญญานับเป็นฐานการลงทุนที่สำคัญของ ปตท.สผ.ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


บ้านปูเร่งปิดดีลซื้อแหล่งก๊าซฯ ในสหรัฐฯ เพิ่ม

ด้านบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU) เป็นบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันมีการลงทุนใน 2 แหล่งก๊าซธรรมชาติ คือ แหล่งก๊าซธรรมชาติมาร์เซลลัส (Marcellus) มลรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นแหล่งที่มีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในสหรัฐฯ และแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ (Barnett) มลรัฐเทกซัส มูลค่าการลงทุนรวม 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันบ้านปูติดอันดับ 1 ใน 20 บริษัทผู้นำธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ ด้วยกำลังผลิต 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

จากสถานการณ์ราคาก๊าซฯ ในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ยิ่งเกิดสงครามยูเครนกับรัสเซียราคาก๊าซฯ ดีดตัวสูงขึ้นไปอีก ทำให้ธุรกิจก๊าซฯ มีส่วนสำคัญช่วยให้ผลประกอบการบริษัทเติบโตขึ้น โดยปี 2565 บ้านปูเตรียมงบลงทุนธุรกิจก๊าซฯ ไว้ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อแหล่งก๊าซฯ ใหม่ในสหรัฐฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

เช่นเดียวกับธุรกิจถ่านหินที่ปีนี้ราคาถ่านหินได้ปรับตัวเพิ่มสูงทะลุ 400 เหรียญสหรัฐต่อตัน ผลพวงจากสงครามทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซฯ พุ่งขึ้น หลายประเทศหันมาใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ดังนั้นปี 2565 บ้านปูวางตั้งเป้าเพิ่มการขายถ่านหินเป็น 42 ล้านตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 36 ล้านตัน ซึ่งเป็นการผลิตถ่านหินจากเหมืองในอินโดนีเซียและออสเตรเลีย ราว 40 ล้านตัน ส่วนอีก 2 ล้านตันเป็นการซื้อถ่านหินคุณภาพดีมาผสมเพื่อจำหน่าย

นอกจากนี้ ยังมองหาโอกาสลงทุนธุรกิจเหมืองแร่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นนิกเกิล ลิเทียม อะลูมิเนียมในออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย โดยอยู่ระหว่างศึกษาว่าจะเป็นการลงทุนใหม่ หรือลงทุนเหมืองที่ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งบ้านปูไม่มีนโยบายที่จะลงทุนซื้อเหมืองถ่านหินเพิ่มเติมอีกต่อไปแต่มุ่งเดินหน้าภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter ด้วยการขยายพอร์ตพลังงานสะอาดและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานที่ตอบรับกับเทรนด์พลังงานโลก


นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU )กล่าวว่า ในปีนี้การลงทุนของบ้านปูยังคงโฟกัสไปที่ธุรกิจก๊าซฯ โรงไฟฟ้าก๊าซและพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคนี้ และประเทศที่บริษัทมีฐานการลงทุนอยู่แล้วทั้งในสหรัฐฯ กลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิก โดยบริษัทตั้งงบลงทุนในปี 2565 อยู่ที่ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจก๊าซฯ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ และอีก 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ลงทุนเทคโนโลยีพลังงาน

สำหรับผลประกอบการในปี 2565 บริษัทน่าจะมีผลประกอบการดีต่อเนื่องจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 4,124 ล้านเหรียญสหรัฐ และกำไรสุทธิ 304 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากราคาถ่านหินและก๊าซฯ ยังปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทได้เพิ่มปริมาณการขายถ่านหิน ในปีนี้ด้วย ส่วนปริมาณการจำหน่ายก๊าซฯ ในปีนี้น่าจะทรงตัวใกล้เคียงเดิมเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ราคาก๊าซฯ ปรับตัวสูงขึ้นกล่าวได้ว่าเป็นปีทองของธุรกิจนี้ ธุรกิจไฟฟ้าก็จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นจากโครงการที่จ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปีนี้ รวมทั้งการทำ M&A

โดยผลประกอบการในปี 2564 บ้านปูมีรายได้จากการขาย 4,124 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 133,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,841 ล้านเหรียญสหรัฐ แยกเป็นรายได้จากธุรกิจถ่านหิน 2,909 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1,031 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากราคาขายถ่านหินเพิ่มขึ้น 68% มาอยู่ที่ 91.17เหรียญสหรัฐต่อตัน ธุรกิจก๊าซฯ มีรายได้จากการขาย 891 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 771 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีปริมาณการขาย 246.22 พันลูกบาศก์ฟุต เพิ่มขึ้น 117% จากปีก่อน ธุรกิจไฟฟ้าและไอน้ำมีรายได้จากการขาย 244 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 47 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม สงครามที่ยืดเยื้อทำให้ราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันดิบจะยังอยู่ในระดับสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในช่วง 3-6 เดือนนี้ และมีโอกาสเห็นราคาน้ำมันดิบแตะ 140-150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแต่ไม่ยืนราคานี้ตลอดทั้งปี คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 95-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ E&P แต่ไม่ส่งผลดีต่อเงินในกระเป๋าของประชาชน ดังนั้นคนไทยจึงควรร่วมกันประหยัดการใช้พลังงานลง ช่วยลดภาระภาครัฐในการอัดฉีดเม็ดเงินอุ้มราคาพลังงานด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น