xs
xsm
sm
md
lg

‘ปตท.สผ.’ เข้าคุมโครงการแหล่งก๊าซยาดานาในพม่า หลัง ‘โททาล’ ถอนตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - บริษัท ปตท.สผ. (PTTEP) ระบุว่าบริษัทจะเข้าควบคุมการดำเนินงานของแหล่งก๊าซยาดานา (Yadana) ในพม่าตั้งแต่เดือน ก.ค. หลังจากบริษัทโททาลเอเนอร์ยีส์ (TotalEnergies) ของฝรั่งเศส ถอนตัวออก

เมื่อเดือน ม.ค. บริษัทเชฟรอน (Chevron) และบริษัทโททาลเอเนอร์ยีส์ ได้ประกาศถอนตัวออกจากพม่า โดยอ้างถึงสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายลงหลังการรัฐประหารในปีที่ผ่านมา

ปตท.สผ. ระบุในคำแถลงว่าการเข้าถึงพลังงานอย่างเท่าเทียมเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนมีสิทธิ

“หลังจากการตัดสินใจของบริษัทโททาลเอเนอร์ยีส์ที่จะถอนตัวจากโครงการยาดานา ปตท.สผ. ได้พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อดำเนินการเป็นผู้ดำเนินงานสืบต่อเพื่อให้มั่นใจว่าการจัดหาก๊าซธรรมชาติมีความต่อเนื่อง” คำแถลงระบุ

พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายตั้งแต่กองทัพเข้าโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในเดือน ก.พ.2564 และใช้กำลังรุนแรงเข้าปราบปรามการชุมนุมประท้วงต่อต้านการปกครองของพวกเขา

ฝ่ายต่อต้านหลายพันคนถูกจับกุมตัว และกองทัพที่เผชิญกับการต่อต้านจากกองกำลังติดอาวุธถูกกล่าวหาว่าระดมยิงและโจมตีทางอากาศในพื้นที่ของพลเรือน แต่รัฐบาลทหารกล่าวว่าพวกเขากำลังต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย

ปตท.สผ. กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการรักษาความต่อเนื่องในการตอบสนองความต้องการด้านพลังงาน และอธิบายว่ายาดานาเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทั้งในพม่าและไทย

ปัจจุบันบริษัทโททาลเอเนอร์ยีส์ถือหุ้น 31% ของโครงการนี้

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงผู้ดำเนินการในโครงการยาดานาจะมีผลในวันที่ 20 ก.ค. ซึ่งปตท.สผ. ระบุว่าบริษัทจะถือหุ้น 37.1% บริษัท Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) ถือหุ้น 21.8% ขณะที่บริษัทย่อยของเชฟรอนจะถือหุ้น 41.1%

โครงการยาดานาผลิตก๊าซได้ราว 770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยที่ก๊าซประมาณ 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันถูกใช้ในพม่า หรือคิดเป็นประมาณ 50% ของความต้องการใช้ก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าในพม่า ขณะที่ส่วนที่เหลืออีก 550 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันถูกส่งออกมาไทยและเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า 12 แห่ง หรือคิดเป็นประมาณ 11% ของความต้องการก๊าซธรรมชาติของประเทศ.
กำลังโหลดความคิดเห็น