ธรรมดาที่ไหน NT โชว์รายได้ปี 2564 ทะลุแสนล้านบาท กำไร 3,142 ล้านบาท หลังรับรู้รายได้จากการคืนค่า USO หรือบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมกว่า 3 พันล้านบาท ตอกย้ำความเป็นหน่วยงานสื่อสารดิจิทัลหลักของชาติที่ไม่ได้หวังแค่ทำธุรกิจสนใจแต่กำไรอย่างเดียว พร้อมเผยทิศทางปี 2565 รุกตลาดภาครัฐ การให้บริการผู้มีรายได้น้อย และบุกโครงการ USO พร้อมเดินหน้าจับมือพันธมิตร เตรียมปิดดีลสำคัญคลื่น 700 MHz เดินหน้าโครงการ 5G สุดพลังเต็มความสามารถ
บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ครบรอบการควบรวมกิจการ 1 ปีเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเห็นได้ชัดคือ แบรนด์และโลโก้ใหม่ของ NT ที่หลายคนเริ่มชินตากันบ้างแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่ตอกย้ำให้เห็นว่าการควบรวมเดินมาถูกทางแล้วคือผลประกอบการ รายได้ และกำไร รวมถึงทิศทางในอนาคตว่า NT จะสามารถประคองตัวเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติได้ตามความคาดหวังแล้วจะสามารถรักษาตัวรอดบนสมรภูมิการแข่งขันบนยอดคลื่นดิจิทัลที่ถาโถมใส่ได้หรือไม่
***ส่องที่มากำไร 3,142 ล้านบาท
“จากการควบรวม มีเรื่องดีคือเรามีกำไรแน่นอน” น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ NT กล่าวพร้อมให้ข้อมูลว่า NT คาดการณ์รายได้ 12 เดือน (7 ม.ค.-31 ธ.ค.2564) อยู่ที่ 98,254 ล้านบาท รายจ่ายปี 2564 อยู่ที่ 96,066 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายโครงการเกษียณก่อนกำหนดอีก 2,464 ล้านบาท ซึ่งทำให้ NT มีผลประกอบการขาดทุน 276 ล้านบาท แต่ NT รับรู้รายได้เพิ่มจากค่าธรรมเนียม USO (Universal Service Obligation หรือบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม) ปี 2554-2555 จำนวน 3,418 ล้านบาท ทำให้ปี 2564 NT มีกำไรสุทธิ 3,142 ล้านบาท
สำหรับรายได้ปี 2564 จำนวน 98,254 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้จากการให้บริการ 38,156 ล้านบาท รายได้จากพันธมิตร 52,610 ล้านบาท ผลตอบแทนทางการเงินและรายได้ 4,178 ล้านบาท รายได้ข้อพิพาท AIS DPC TRUE จำนวน 3,310 ล้านบาท ยังไม่รวมรายได้รับคืนค่าธรรมเนียม USO ปี 2554-2555 จำนวน 3,418 ล้านบาท ซึ่งหากรวมกันจะทำให้ NT มีรายรับอยู่ที่ 101,672 ล้านบาท
ขณะที่รายจ่ายปี 2564 อยู่ที่ 98,530 ล้านบาท ประกอบด้วย รายจ่ายจากการดำเนินการ 96,066 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายโครงการเกษียณก่อนกำหนด 2,464 ล้านบาท โดยรายจ่ายจากการดำเนินงาน 96,066 ล้านบาทประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินการ 53,464 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายพันธมิตร 38,438 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายอื่นและภาษีเงินได้ 2,427 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายข้อพิพาท AIS DPC TRUE จำนวน 1,737 ล้านบาท
***ยอมรับต้องใช้เวลาปรับโครงสร้างองค์กร
แต่ต้องยอมรับว่าในการควบรวมกิจการนั้น สิ่งที่หลายคนกังวลเป็นเรื่องแรกของการควบรวมกิจการคือ เรื่องโครงสร้างองค์กรและพนักงานที่มีจำนวนมาก เพราะเมื่อรวมกันแล้ว NT มีพนักงานกว่า 17,000 คน ตลอดจนโครงสร้างของระดับผู้บริหารที่ซ้ำซ้อนกันและอาจจะหาทางออกได้ยากนั้น โดยคาดว่ากว่าโครงสร้างองค์กร NT จะนิ่งน่าจะต้องรอถึงประมาณกลางปี 2565 นี้
“จริงอยู่ที่การปรับโครงสร้างองค์กรเราต้องใช้บริษัทที่ปรึกษาที่ว่าจ้างมาทำงานซึ่งเขาจะมีกระบวนการเป็นระยะๆ ของเขา แต่เราต้องนำมาปรับใช้กับสภาพการทำงานตามความเป็นจริงขององค์กรหรือวัฒนธรรมองค์กรด้วย บางตำแหน่งที่มีการรวมกัน หรือโยกไปทำงาน คนที่นั่งทำงานเขาจะเริ่มรู้แล้วว่าเขาเหมาะสมหรือไม่ ทำได้หรือเปล่า แล้วมันจะค่อยๆ ลงตัวเองโดยธรรมชาติ”
น.อ.สมศักดิ์ ยืนยันว่า คนทำงานในพื้นที่จริงๆทั้งบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เขาทำงานด้วยกันได้ เขาพร้อมใจ ไม่ได้มีปัญหา แต่ต้องรอเวลา เพราะจริงๆ แล้วจำนวนพนักงานที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 10,000 คน ซึ่งตอนนี้ NT มีพนักงาน 17,000 คน และมีโครงการเกษียณก่อนกำหนดทุกปี ดังนั้น โครงสร้างองค์กรใหม่จะบอกเองว่าพนักงานพร้อมจะอยู่ NT ต่อหรือร่วมโครงการเกษียณก่อนกำหนด
***เน้นจับมือพันธมิตร-ใช้ทรัพยากรร่วมกัน
สิ่งที่เห็นได้ชัดของการทำงานในปี 2564 ที่ผ่านมาคือ การทำงานร่วมกับพันธมิตร NT มีพันธมิตรในทุกกลุ่มธุรกิจของ NT ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม กลุ่มบริการระหว่างประเทศ กลุ่มโทรศัพท์ประจำที่และบรอดแบนด์ กลุ่มโทรศัพท์มือถือและกลุ่มบริการดิจิทัล รวมๆ แล้วมากกว่า 10 บริษัท เช่น การจับมือกับบริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA บริษัทตัวแทนจำหน่ายของอาลีบาบาคลาวด์ ในการนำโซลูชัน 5G ของอาลีบาบามาให้บริการในโครงการต่างๆ ของประเทศในการนำคลื่น 26GHz สร้างเมือง 5G อัจฉริยะและการจับมือกับบริษัท ซุปเปอร์แนป (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ สัญชาติสหรัฐอเมริกาในการบุกตลาดคลาวด์ต่างชาติ ทำให้ไม่ต้องลงทุนคลาวด์ในมาตรฐานที่สูงขึ้นเพื่อให้สามารถรับลูกค้าต่างชาติได้ เป็นต้น
“สิ่งสำคัญของการจับมือเป็นพันธมิตรคือเราต้องเปลี่ยนคู่แข่งให้เป็นคู่ค้า การทำงานร่วมกันกับทรัพยากรที่เรามีอยู่ บวกกับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของพันธมิตรทำให้เราสามารถลดต้นทุนและหารายได้อย่างคุ้มค่า รวมถึงการเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร ด้วยการเคลียร์ข้อพิพาทคดีต่างๆ ทำให้ NT ไม่ขาดทุน และมีกำไร”
นอกจากนี้ กำไรที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการบริหารจัดการต้นทุนที่ลดลงจากการควบรวมกิจการที่ทำให้บางตำแหน่งลดลง พื้นที่การทำงานลดลงจากการควบรวม และจากการเวิร์กฟอร์มโฮม ทำให้มีพื้นที่ในการสร้างรายได้ด้วยการปล่อยเช่า ตลอดจนการใช้ทรัพยากรร่วมกันทำให้ไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน
เป็นที่ทราบกันดีว่า ทรัพยากรของ NT มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.เสาโทรคมนาคมรวมกันกว่า 25,000 ต้นทั่วประเทศ 2.เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ (ซับมารีน เคเบิล) 9 ระบบ 14 POP เชื่อมต่อไปยังทุกทวีป 3.ถือครองคลื่นความถี่หลักเพื่อให้บริการรวม 6 ย่านความถี่ มีปริมาณ 600 MHz 4.ท่อร้อยสายใต้ดินมีระยะทางรวม 4,000 กิโลเมตร 5.สายเคเบิลใยแก้วนำแสง 4 ล้านคอร์กิโลเมตร 6.ดาต้า เซ็นเตอร์ 13 แห่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และ 7.ระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่เข้าถึงได้จากทุกเลขหมายในโลก รวมถึงมีศูนย์บริการทั่วประเทศกว่า 500 แห่ง
ทั้งหมดนี้เป็นแต้มต่อสำคัญของ NT ในการใช้ทรัพยากรและบุคลากรร่วมกัน สิ่งที่มีอยู่แล้วหากซ้ำซ้อนกันไม่ต้องสร้างใหม่ ให้นำมาใช้ร่วมกัน หรือในพื้นที่ไหนที่มีซ้ำซ้อนกันให้ใช้เป็นทรัพยากรสำรองซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่างราชบุรี โมเดล ที่ได้นำร่องด้วยการสำรวจโครงข่ายทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องสายไฟเบอร์ ออปติก อุปกรณ์โครงข่าย ทีมช่าง ตลอดจนศูนย์บริการ เพื่อนำมาใช้ในการผสานเน็ตเวิร์กของทั้ง 2 บริษัทเดิมให้บริการกับลูกค้าของ NT ในจังหวัดราชบุรี ทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 30 แห่ง เช่น รพ.ราชบุรี ร.ร.ปากท่อพิทยาคม บริษัท ราชาเซรามิค จำกัด และบริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด เป็นต้น และตั้งเป้าจะขยายการทำงานในรูปแบบนี้ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศให้เร็วที่สุด
***รับนโยบายตั้งเป้าเป็น IT หน่วยงานรัฐ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าข้อได้เปรียบของ NT คือการมีทรัพยากรจำนวนมากครบเครื่องทุกอย่างตามชื่อบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ แต่ทำไม NT ถึงแข่งขันกับเอกชนได้อย่างยากลำบาก เรื่องนี้ น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจัยหลักมาจากงบประมาณด้านการตลาดที่ NT ไม่สามารถทำได้อย่างเอกชน แต่สิ่งที่ NT ทำได้คือการรุกเข้าตลาดภาครัฐ หน่วยงานราชการที่มีงบประมาณ
จากการที่ได้รับมอบนโยบาย ปี 2565 จาก “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่ต้องการให้ NT เป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัลเต็มรูปแบบในปี 2566-2568 ด้วยการเริ่มทำหน้าที่เป็นเหมือนฝ่ายคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานรัฐ เพื่อเป็นส่วนกลางให้ภาครัฐใช้บริการดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งคลื่นความถี่ คลาวด์ อี-ออฟฟิศ ตลอดจนเรื่องไซเบอร์ ซิเคียวริตี หรือแม้แต่บริการดาวเทียม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการประหยัดงบประมาณ ไม่ต้องจัดสรรซ้ำซ้อน และคาดว่าจะมีรายได้จากกลุ่มธุรกิจดิจิทัลมากกว่า 7,600 ล้านบาท ภายในปี 2569 นั้น ทำให้เป้าหมายของ NT คือการให้บริการภาครัฐ ตลอดจนให้บริการประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและมีรายได้น้อย
ที่สำคัญคือต้องเน้นทำโครงการเพื่อสังคม หรือโครงการ USO เพื่อให้คนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่ NT มีอยู่ ตัวอย่างเช่น NT Mobile ไม่ต้องใช้งบประมาณในการโฆษณาเหมือนเอกชนแต่เน้นการทำตลาดเชิงรุกไปยังพื้นที่ที่ประชากรมีรายได้น้อยเพื่อให้ได้ใช้บริการในราคาไม่แพงจาก NT หรือ ดาวเทียมไทยคม 4 ที่เหลืออายุการใช้งานเพียง 2 ปี ซึ่งการลงทุนใหม่ไม่คุ้มค่า นำมาให้บริการกับประชาชนในพื้นที่ห่างไกลแทน ซึ่งการลงทุนในโครงการ USO สามารถนำมาลดหย่อนและทำรายได้คืนให้ NT ได้ด้วย
*** เดินหน้าปิดดีล 700 MHz
สำหรับความคืบหน้าการให้บริการ 5G ผ่านคลื่น 700 MHz ซึ่ง NT ประมูลมาจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 10 MHz ในราคา 34,306 ล้านบาท เมื่อเดือน ก.พ.2563 นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเป็นพันธมิตรกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือน ม.ค.2565 โดยเรื่องนี้ NT ได้รับมอบนโนยบายมาจาก “รมว.ดีอีเอส” ให้เดินหน้าหลังจากที่การเจรจาไม่คืบหน้าตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 ที่ผ่านมา จนกระทั่งทรูและบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กำลังควบรวมบริษัทกัน ดังนั้น คาดว่าจะทำให้กลายเป็นปัจจัยเร่งให้ดีลนี้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว ซึ่งมีหลายโมเดลที่กำลังพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกัน การโอนคลื่นแบบถูกกฎหมาย หรืออาจจะเป็นแนวทางในการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการคลื่นดังกล่าว