xs
xsm
sm
md
lg

5 กสทช.ชุดใหม่ ‘ทำงานได้ หรือแค่ได้ทำงาน??’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เราจะหวังอะไรได้จาก 5 กสทช.ชุดใหม่ ในเมื่อเป็นการเลือกที่ดูเหมาะสมที่สุด จากการสรรหาที่บิดเบี้ยว เพราะเป็นทางเลือกที่ฉลาดที่สุดระหว่างการให้ กสทช.ชุดใหม่ได้ขับเคลื่อนภารกิจประเทศชาติ ในขณะที่หากเลือกไม่ครบ 5 คน ก็เท่ากับยืดเวลาต่ออายุให้ กสทช. ชุดเกียร์พัง ลูกสูบเสีย เดินหน้าไม่ไหว นั่งทับขุมสมบัติต่อไป ในภาวะที่การเมืองไม่แน่นอนเหมือนเล่นกระดานโต้คลื่น อาจเสียเวลาแบบไร้สาระไปอีกเป็นปี ในขณะที่ 5 กสทช.ชุดใหม่ก็รอบททดสอบที่มหาหินอย่างน้อย 3 เรื่องที่จำเป็นต้องใช้คนที่ไม่ได้รับการสรรหาเข้ามาจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเผือกร้อนวงโคจรดาวเทียมที่ผูกพันกับมหาชื่อ ‘ไทยคม’ การประมูลคลื่นความถี่ที่หมดยุคตลาดเป็นของผู้ขายไปนานแล้ว และเรื่อง OTT ที่ถือเป็นมหาวิบัติของเกือบทุกอุตสาหกรรมในประเทศ

พลันที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 มีมติให้ความเห็นชอบโหวตเลือกกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทั้งหมด 5 คน ประกอบด้วย 1.พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ด้านกิจการกระจายเสียง 2.ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ด้านกิจการโทรทัศน์ 3.ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค 4.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ 5.รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย ด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. (ด้านเศรษฐศาสตร์) ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ กสทช.จำนวน 5 คน สามารถทำหน้าที่ได้ โดยเริ่มจากการประชุมเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธาน กสทช.

คำถามที่ตามไล่หลังถึงแม้ได้ 5 กสทช.ที่สามารถทำงานได้ แต่อีก 2 กสทช.จากด้านกิจการโทรคมนาคม กับด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.(ด้านกฎหมาย) ต้องมีการสรรหาใหม่ ทั้งๆ ที่มีภาระวิกฤตจ่อคอหอยอย่างน้อย 3 เรื่องที่ต้องการคนที่มีทั้งวิสัยทัศน์และการลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยเฉพาะคนที่อ่านเกมขาด มองทะลุ คิดอะไรเป็นโซลูชันที่ครบวงจร มากกว่าแค่มีคนที่มองอะไรก็เป็นแต่ปัญหาขวางคลองเท่านั้น

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมให้ความเห็นน่าสนใจมากว่าในเวที กสทช.ถือว่าลุงร่างใหญ่ถือไพ่เหนือกว่าลุงร่างอ้วนเมื่อเทียบกับจำนวน กสทช. 4 ต่อ 1 แต่แค่ 1 คนที่ถือก็อาจเป็นได้ถึงประธาน กสทช.แต่สิ่งที่น่าคิดคือรายได้จากการผ่าตัดรักษาคนไข้ที่สูงถึงเดือนละเป็นล้านบาท เมื่อเทียบกับรายได้ประธาน กสทช.ประมาณไม่กี่แสนบาทแล้ว ในการทำงานจริงจะเป็นได้แค่ไหน หรือเป็นได้แค่ประธานพาร์ทไทม์เท่านั้น

‘ไม่เท่านั้นยังมีเงาอุ้ยอ้ายตุ๊ต๊ะ ทาบบังร่างอยู่อีก เมื่อไหร่เข้ามาเสวยอำนาจเต็มใน กสทช.ก็คงสนุกแน่’

*** 3 บททดสอบ กสทช.

เผือกร้อนก้อนใหญ่ที่ 5 กสทช.ใหม่ต้องเผชิญหากมองด้วยสายตาคนในวงการที่ช่ำชองอย่างเรื่องการประมูลวงโคจรดาวเทียม หากคิดว่ายากก็ยาก แต่หากจะแก้ปัญหาก็มีทางออก เพราะท่าทีของสำนักงาน กสทช.ที่ผ่านมาเรื่องวงโคจร อาจเรียกได้ว่าต้องกลับตัว 360 องศาหลังถูกฟ้าผ่าสนั่นซอยสายลม เพราะในการประมูลวงโคจรดาวเทียมนั้น เดิมกำหนดประมูลวันที่ 28 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา โดยชุดข่ายงานดาวเทียมทั้ง 4 ชุด ที่จะนำมาประมูลได้แก่ ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงานC1, N1 และ P1R) และวงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาขั้นต่ำ 676.914 ล้านบาท ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ 78.5E) ราคาขั้นต่ำ 366.488 ล้านบาท

ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ 119.5E) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาขั้นต่ำ 392.950 ล้านบาท และชุดที่ 4 ประกอบด้วย วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) และวงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และN5) ราคาขั้นต่ำ 364.687 ล้านบาท

ท่าทีในตอนแรกของ กสทช.ยืนยันว่า แม้ว่าจะมีเพียงไทยคมรายเดียวที่ได้ยื่นประมูลก่อนหน้านี้ กสทช.ก็ต้องเดินหน้าประมูลในวันที่ 28 ส.ค.2564 โดยยึดมาตรฐานเหมือนการประมูลคลื่นโทรคมนาคมที่มีการขยายเวลาและเดินหน้าประมูลต่อ

อีกทั้ง กสทช.มีหน้าที่ต้องรักษาวงโคจรของประเทศ ซึ่งวงโคจรต้องมีดาวเทียมใช้งาน หากประเทศไทยถูก ITU ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ได้มีการใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่ได้รับจริงภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ หรือไม่ได้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง (ไม่มีการใช้คลื่นความถี่บนดาวเทียมจริง) ย่อมมีโอกาสเกิดความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกยกเลิกสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมและคลื่นความถี่ที่ไม่มีการใช้งานจริงออกจากทะเบียนความถี่หลักระหว่างประเทศได้ (Master International Frequency Register) และส่งผลให้ประเทศไทยสิ้นสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมนั้น

แหล่งข่าวให้ความเห็นว่าเหตุผล กสทช.ตอนแรกเหมือนซี้ซั้วพูด ยกมาอ้างว่าเหลือรายเดียวก็ประมูลได้เหมือนการประมูลคลื่นโทรคมนาคม แต่ไม่พูดถึงความถี่โทรคมนาคม มีราคาอ้างอิงการประมูลครั้งหลังสุดที่ชนะคิดเป็นหมื่นล้านบาท ไม่เหมือนราคาวงโคจรดาวเทียมที่คิดจากเริ่มต้นแค่ไม่กี่ร้อยล้านบาท เหมือนตั้งใจประเคนให้มากกว่า ส่วนเหตุผลการรักษาวงโคจรดาวเทียมก็มีวิธีแก้ตั้งร้อยแปดไม่จำเป็นต้องมีการประมูลวงโคจรเท่านั้นถึงจะรักษาสิทธิได้

แต่ความตั้งใจประเคนให้ก็ถูกฟ้าผ่าลงตรงหน้า เพราะหลังจากคนที่เกี่ยวข้องรับรู้สัญญาณเบื้องบน ไม่ใช่แค่ข้ออ้างเบื้องหน้าให้รอ กสทช.ชุดใหม่ ก็เหยียบเบรกจนแป้นพังทำหน้าเลิ่กลั่ก เพราะที่ประชุม กสทช. วันที่ 18 ส.ค.2564 ได้พิจารณาข้อเท็จจริงใหม่เกี่ยวกับการประมูล ได้มีมติให้ทบทวนมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2564 วาระที่ 5.2.17 เรื่อง การดำเนินการตามกระบวนการคัดเลือกและวันจัดการประมูลสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) โดยที่ประชุม กสทช. ได้มีมติยกเลิกการประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ที่กำหนดจัดประมูลในวันที่ 28 ส.ค.2564 ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอเนื่องจากมีผู้ยื่นขอรับอนุญาตเพียงรายเดียว อาจไม่ทำให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรมในการประมูล พร้อมให้คืนค่าหลักประกันการประมูลและค่าพิจารณาคำขอรับอนุญาตแก่ผู้รับเอกสารการคัดเลือกทุกราย

รวมถึงให้สำนักงานฯ ไปปรับปรุงประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ให้มีความเหมาะสม เพื่อรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรมในการประมูล

‘อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับชื่อไทยคมตอนนี้เป็นของร้อนหมด’

แม้กระทั่งการโอนทรัพย์สินของไทยคมมายังบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT ที่ตอนแรกจะมีเรื่องเข้าบอร์ดให้จ้างไทยคมมาโอปอเรตดาวเทียมต่อในช่วงแรก เพราะคน NT บางส่วนที่ควบรวมมามีแต่ราคาคุยว่าเตรียมการไว้หมดแล้ว พร้อมรับงานทันที แต่ถึงเวลาจริงก็ไม่สามารถทำได้เหมือนที่คุยไว้ ทำให้ NT ต้องรีบแก้ปัญหาใช้วิธีจ้างทำสัญญารายคนเหมือนการจ้างเอาต์ซอร์สแทน แล้วลืมเรื่องความคิดที่จะจ้างไทยคม ล้างออกจากสมองให้หมดสิ้น เพราะเรื่องดาวเทียมควรจะต้องอยู่ในมือของรัฐเมื่อหมดสัญญา ดาวเทียมเป็นเรื่องของความมั่นคงและการกระจายความรู้ความเจริญในพื้นที่ห่างไกล เพราะเมื่อหมดสัญญาก็หมดเวลาสร้างความร่ำรวยได้แล้ว

‘วิธีแก้ปัญหาเรื่องวงโคจรดาวเทียม อย่ายึดติดเป็นพวกหัวสี่เหลี่ยมก็น่าจะแก้ปัญหาได้’

เรื่องต่อมาที่น่าจะต้องใช้เซียนด้านโทรคมนาคมตัวจริงในการบริหารจัดการ คือการต่อยอด 5G เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและการประมูลคลื่นความถี่อย่างคลื่น 3500 MHz ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่ตลาดเคยเป็นของผู้ขายหรือของ กสทช.ไม่ว่าจะขายคลื่น 3G 4G หรือแม้กระทั่ง 5G บางส่วนก็ขายหมด แล้วราคาดีด้วย ทำเงินเข้ารัฐหลายแสนล้านบาท ซึ่งคนที่มองแต่ผลสำเร็จเบื้องหน้าอาจจะเห็นว่าง่าย แต่ในการทำงานจริงเบื้องหลังยากกว่าที่เห็น ต้องวิ่งประสานกับทุกฝ่ายทั้งผู้ประกอบการและผู้มีอำนาจ ชักชวนให้เข้ามาประมูล สร้างบรรยากาศให้เกิดการแข่งขัน สร้างเงื่อนไขที่เกิดได้จริง เพื่อจะได้เคาะราคาจริง สู้กันจริง

แต่ยามนี้สายตาที่มองคลื่นความถี่ของโอเปอเรเตอร์เริ่มเปลี่ยนไป เพราะเท่าที่มีอยู่ก็มากเกินพอจำเป็นไปแล้ว เพราะตลาดผู้ใช้บริการก็มีเพียงเท่านี้ การเติบโตไม่ได้พุ่งสูงขึ้นมากมายนัก ถึงตอนนี้ยังมีโอเปอเรเตอร์บางรายอยากคืนคลื่น นอกเหนือจาก NT ที่อยากจะคืนความถี่ 700 MHz ใจจะขาดแต่หากคืนย่อมต้องมีแพะมารับผิดชอบการตัดสินใจประมูลตอนนั้น ทางออกที่พยายามไม่ทำร้ายใครคือการเจรจากับ AIS ที่อาจขายให้สัก 5 MHz และที่เหลืออีก 5 MHz ก็เป็นพาร์ตเนอร์ธุรกิจกันแบบวินวิน เพราะตอนนี้บรอดแบนด์ของ NT ก็ถือว่าสวยงามมากพอมีชายหนุ่มมาเดินตาม

‘พอเห็นว่าเคยประมูลคลื่นได้เงินหลายแสนล้านบาท อาจคิดว่าง่ายๆ ลองเป็น กสทช.ดู จะรู้ว่าที่เห็นกับความเป็นจริงมันฟ้ากับเหวเลย’

อีกประเด็นที่สำคัญคือทุกวันนี้โอเปอเรเตอร์ลงทุนเครือข่ายไปสักอีกกี่แสนล้านบาทก็ตาม แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่กลับตกใส่ผู้ให้บริการ OTT (Over The Top) อย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล ทวิตเตอร์ แกร็บ ลาซาด้า และที่เหลืออีกมากซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของต่างชาติทั้งสิ้น เพราะตอนนี้คนเริ่มตอบรับชีวิตดิจิทัลเร็วกว่าที่คาดไว้มาก วันนี้โควิดได้เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การล่าอาณานิคมยุคใหม่ ที่ไม่ใช่การใช้กำลังไปยึดประเทศ แต่เป็นการล่าอาณานิคมด้วยเทคโนโลยี ผ่านบริการ OTT

OTT หรือบริการสื่อสาร แพร่ภาพ และกระจายเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ปัจจุบันทำรายได้มหาศาลเมื่อเทียบกับเงินลงทุนจำนวนเพียงน้อยนิด เพราะอาศัยวิ่งบนเครือข่ายมีสายและเครือข่ายไร้สายโทรศัพท์มือถือที่ผู้ให้บริการลงทุนหลายแสนล้านบาท การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ แทบจะทั้งหมดขับเคลื่อนผ่าน OTT ไม่ว่าจะซื้อของออนไลน์ก็ผ่านลาซาด้า ช้อปปี้ ถ้าจะหาความบันเทิงสนุกสนานดูหนังก็เน็ตฟลิกซ์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูป ถ้าเป็นเรื่องอาหารก็สั่งแกร็บ ไลน์แมน ทั้งหมดเป็นแพลตฟอร์ม OTT ที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศ ถ้าคนไปใช้บริการก็ต้องจ่ายเงินผ่านไปยังต่างประเทศเกือบทั้งหมด

‘การกำกับ OTT วันนี้ไม่ใช่แค่ กสทช.หน่วยงานเดียว ยังต้องประสานกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการแสดงวิสัยทัศน์ของ 5 กสทช.ไม่รู้พูดถึงเรื่อง OTT ไว้มากน้อยแค่ไหนอย่างไรบ้าง และแต่ละคนมองเห็นขนาดของปัญหาใหญ่เล็กแค่ไหน และมีทางแก้ไขอย่างไรบ้าง’

เคยมีคนเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ OTT ในประเทศไทยไว้ 3 เรื่องก็คือ 1.ต้องรีบกำกับดูแลบริการ OTT อย่างเร่งด่วน เพราะถ้าไม่รีบกำกับ OTT เศรษฐกิจจะฟื้นตัวยาก เงินจะไหลออกต่างประเทศหมด ตามพฤติกรรมประชาชนที่ตอบรับวิถีดิจิทัลที่รวดเร็วจนคาดไม่ถึง 2.ประเทศไทยจะต้องมีแพลตฟอร์ม OTT เป็นของตนเอง เหมือนประเทศเพื่อนบ้านที่มี OTT อย่างประเทศสิงคโปร์ก็มีแกร็บ มาเลเซียก็มีไอฟลิกซ์ อินโดนีเซียก็มี Go-Jek ซึ่งนอกจากทำรายได้ให้ประเทศตนเองแล้วยังทำให้เงินไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ และ 3.ถ้ายังไม่มี OTT เป็นของเราเอง รัฐบาลก็ควรสนับสนุนและยกระดับการซื้อขายสินค้าตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายโดยไม่ต้องผ่าน OTT ให้ขยายไปทั่วประเทศ เพราะจะทำให้เงินไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ

‘ไม่มีช่วงน้ำผึ้งพระจันทร์แล้วตอนนี้ ต้องรีบแก้ปัญหาแค่ 3 เรื่องถือว่ารับน้องใหม่ ไม่ต้องไปคิดเรื่องทรูควบรวมกับดีแทค เพราะระดับนั้นไม่มีทางทำผิดกฎหมายอยู่แล้ว เอาแค่ดูแลผู้บริโภค ประชาชนให้ดีๆ ไม่ให้ถูกเอาเปรียบเหมือนปัจจุบันที่ปัญหารกเต็มพันทิปไปหมด หน่วยงานกำกับดูแลไม่สนใจ คำถามวันนี้คือ 5 กสทช.จะทำงานได้ หรือได้แค่ทำงาน องค์ประกอบมันบิดเบี้ยวไปหมดหรือเปล่า ไม่ว่ารู้ว่าใครทำงานได้ ทำงานเป็นแต่ไม่ใช้ ยังมีเรื่องอำนาจในการลงมติอีก ต้องประชุม 5 คนให้ครบห้ามลา ห้ามขาด ตอนลงมติถ้า 4 ต่อ 1 ก็ไม่เป็นไรเพราะถือว่าเสียงข้างมากเลยกึ่งหนึ่ง แต่ถ้า 3 ต่อ 2 จะถือว่าเลยกึ่งหนึ่งหรือไม่ เพราะนับจาก 5 เสียงที่มีหรือต้องนับว่าเป็น 7 เสียงเต็มคณะ กสทช. ทุกอย่างดูเหมือนมัวๆ ไปหมด’


กำลังโหลดความคิดเห็น